โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า
ชื่อ | โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า (รร.จปร.) |
ชื่อ (อังกฤษ) | Chulachomklao Royal Military Academy (CRMA) |
ก่อตั้ง | 5 สิงหาคม พ.ศ. 2430 |
ประเภทสถาบัน | โรงเรียนทหาร-ตำรวจ |
ผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า | พล.ท. กมล แสนอิสระ |
ที่ตั้ง/วิทยาเขต | ถนนสุวรรณศร ตำบลพรหมณี อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก 26001 |
เว็บไซต์ | www.crma.ac.th |
โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าเป็นสถาบันการศึกษาทางทหาร ในระดับอุดมศึกษาในสังกัดกองทัพบก ตั้งอยู่ที่ อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก
ต้นไม้สัญลักษณ์ประจำโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า คือ จำปีสิรินธร
[แก้] ประวัติ
โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า กำเนิดขึ้นพร้อม ๆ กับกรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ โดยเมื่อ 1 ตุลาคม 2411 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จขึ้นครองราชย์ขณะที่พระองค์ทรงมี พระชนมายุเพียง 15 พระพรรษาอำนาจการปกครองบ้านเมืองอยู่กับสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ซึ่งเป็นผู้แทนพระองค์ จากหลักฐานปรากฏในพระราชหัตถเลขาที่ทรงประทานแก่ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ แสดงให้เห็นชัดว่าฐานะของพระองค์ในระยะที่เสวยราชย์ใหม่ ๆ นั้ล่อแหลมต่ออันตรายยิ่ง แต่ก็ด้วยพระอัจฉริยะอันสูงส่งของพระองค์จึงสามารถรอดพ้นจากภยันตรายอันน่าวิตกนี้นได้ พระองค์ทรงจัดให้ราขบุตรในตระกูล และ บุตรข้าราขการที่เยาว์วัย ซึ่งขณะนั้นได้เข้าไปอยู่ในพระราชวังชั้นในหลายคนด้วยกัน รวมกันแล้วฝึกวิชาการทหารตามยุทธวิธีอย่างใหม่ขึ้น และเรียกทหารเด็กเหล่านั้นว่า "ทหารมหาดเล็กไล่กา" โดยให้มีหน้าที่ไล่กาที่บินมารบกวนข้าวสุกในเวลาทรงบาตร และยืนตั้งแถวรับเสด็จฯ ในที่นั้นทุกเวลาเช้า ทหารมหาดเล็กในตอนแรกมีประมาณ 12 คน ในจำนวนนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กับพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าเทวันอุไทยวงษ์ เป็นทหารมหาดเล็กไล่กาด้วย ทหารมหาดเล็กไล่กาทุกคนมีอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน ส่วนใหญ่ไว้ผมจุกจากการที่พระองค์รู้สึกว่าไม่ปลอดภัยนัก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งบอดีการ์ดขึ้น 24 คน โดยทรงเลือกจากมหาดเล็กข้าหลวงเดิมที่เฝ้าพระฉากรักษาการณ์ภายในห้องบรรทมของพระองค์นั่นเอง เมื่อฝึกหัดการทหารจนมีความเชี่ยวชาญขึ้นมากแล้ว จึงโปรดเกล้าฯ ให้เข้าแถวยืนรับเสด็จในเวลาเสด็จฯ ออกพระชาลาพระที่นั่งอัมรินทรวินิจฉัย และต่อมาได้มีหน้าที่ในขบวนแห่ตามเสด็จฯ ไปในที่ต่าง ๆ ด้วย ทหารมหาดเล็กข้าหลวงเดิมในครั้งนั้นเรียกว่า "ทหาร 2 โหล"
ต่อมาได้เพิ่มจำนวนขึ้นเป็น 72 คน แต่งตั้งเป็นกองทหารมหาดเล็กสำหรับรักษาพระองค์อย่างใกล้ชิด เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยตั้งโรงเรียนสอนหนังสือควบคู่ไปกับการฝึกด้านการทหารด้วยกองทหารมหาดเล็กในเวลานั้นมีอาวุธที่ทันสมัยและการแต่งกายประณีตมีการกินอยู่บริบูรณ์เป็นสุขสบาย ด้วยเดชะพระบารมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ชุบเลี้ยง และทรงเอาเป็นราชธุระสอดส่องอยู่ทั่วไป ส่งผลให้พระบรมวงศานุวงศ์ เสนาบดี ข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยตลอดจนสามัญชนที่มีสกุลเป็นหลักฐานต่างมีความชื่นชมยินดีและพากันส่งบุตรหลานเข้ารับราชการ เป็นทหารมหาดเล็กสามารถเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทได้ในตำแหน่งมหาดเล็กหลวง บรรดาผู้ที่มีอายุเยาว์วัย โปรดเกล้าฯ ให้แยกออกเป็นพวกหนึ่งต่างหาก ไม่ต้องมีหน้าที่ประจำกองทหารมีแต่การฝึกหัดเช่นนักเรียนทหาร มีพวกทหารมหาดเล็กไล่กาเดิมบางคนซึ่งเมื่อเติบโตขึ้นแล้วเข้ามาสมทบด้วย การที่มีทหารมหาดเล็กรุ่นเยาว์เช่นนี้ได้เป็นธรรมเนียมสืบต่อมา เข่นมีพวก "ทหารสก๊อต" สำหรับแห่โสกันต์ เป็นต้น
พ.ศ. 2414 โปรดเกล้าฯ ให้ขยายกองทหารมหาดเล็กออกเป็นกองร้อย ๆเรียกว่า "กอมปานี" ถึง 6 กอมปานี จัดตั้งเป็น "กรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์" ( ราชวัลลภแปลว่าที่รักสนิทคุ้นเคยของพระราชา )
พ.ศ. 2415 โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งสถานที่สอนวิชาการและระเบียบการขึ้นในกรมทหารมหาดเล็ก รวมทั้งให้มีการสอนวิชาภาษาอังกฤษและภาษาไทยด้วย เรียกสถานศึกษาว่า "คะเด็ตทหารมหาดเล็ก" ส่วนนักเรียนเรียกว่า "คะเด็ต"
พ.ศ. 2423 โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งกรมทหารหน้าขึ้น ( ซึ่งต่อมาได้วิวัฒนาการเป็นกรมยุทธนาธิการ ) จึงกำเนิด "คะเด็ตทหารหน้า" ขึ้นอีกแห่งหนึ่ง ได้เร่งปรับปรุงกิจการทหารโดยลำดับ เมื่อเจริญกว้างขวางและเป็นแบบแผนขึ้นบ้างแล้ว จึงโปรดเกล้าฯ ให้สมเด้จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช จัดตั้งโรงเรียนสอนวิชาทหาร สำหรับทหารบกทั่วไปขึ้น โดยให้ใช้พื้นที่บริเวณหลังพระราชวังสราญรมย์เป็นสถานที่ตั้ง ( ปัจจุบันเป็นสถานที่ตั้งของกรมแผนที่ทหาร ) รวมคะเด็ตทหารมหาดเล็ก คะเด็ตทหารหน้า นักเรียนแผนที่ และส่วนที่เป็นทหารสก๊อตเข้าด้วยกัน ใช้ชื่อรวมว่า "คะเด็ตสกูล" สำหรับนักเรียนเรียกว่า "คะเด็ต" มีนายพันเอกนิคาลวอลเกอร์ ( NICAL WALGER) เป็นผู้บังคับการคนแรก
5 สิงหาคม 2430 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จมาทรงกระทำพิธีเปิดโรงเรียนคะเด็ตสกูล
14 มกราคม 2431 ได้ตราข้อบังคับขนานนามโรงเรียนคะเด็ตสกูลเสียใหม่ว่า "โรงเรียนทหารสราญรมย์"
6 ตุลาคม 2440 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กองโรงเรียนนายสิบมาสมทบด้วย เปลี่ยนชื่อโรงเรียนเป็น "โรงเรียนสอนวิชาทหารบก"
25 พฤศจิกายน 2441 ได้เปลี่ยนชื่อโรงเรียนเป็น "โรงเรียนทหารบก" เปิดโอกาสให้รับบุคคลสามัญที่มีคุณสมบัติตามข้อกำหนดเข้าเป็นนักเรียนนายร้อยได้ ต่อมามีผู้สนใจเข้ารับการศึกษาเพิ่มมากขึ้น จึงโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายนักเรียนนายสิบไปสังกัดกองพลทหารบกตามเดิม และ เมื่อ 26พฤษภาคม 2446 ได้เปลี่ยนชื่อโรงเรียนเป็น "โรงเรียนนายร้อยทหารบก"
ต่อมาอีก 5 ปีพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯทรงเห็นว่าสถานที่โรงเรียนนายร้อยทหารบกคับแคบไปแล้วไม่เพียงพอแก่การที่จะผลิตนักเรียนเพิ่มขึ้นทันกับความต้องการของสถานการณ์
ในเวลานั้น ซึ่งขาดแคลนนายทหาร จึงโปรดเกล้าฯให้ซื้อที่ดินติดถนนราชดำเนินนอก เป็นเนื้อที่ประมาณ 30 ไร่เศษ ดำเนินการก่อสร้างโรงเรียนนายร้อยชั้นมัธยม (โรงเรียนนายร้อยชั้ปฐมยังคงอยู่ ณ โรงเรียนทหารสราญรมย์เดิม) เสร็จแล้วพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงกระทำพิธีเปิดโรงเรียนเมื่อ 26 ธันวาคม 2452 ดังข้อความในราชกิจจานิเบกษาเล่มที่ 26 ได้บรรยายไว้ว่า
...ครั้นเวลาบ่ายพระบรมวงษานุวงษ์ แลข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อย ทั้งฝ่ายทหาร พลเรือนผู้ที่ใช้เสื้อยศ สวมกางเกง แต่งเต็มยศขาว ประดับเครื่องราชอิสชศริยาภณ์ มาประชุมพร้อมกันที่โรงเรียนครั้นเวลาบ่าย 4 โมง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเครื่องจอมพลทหารบก ประดับเครื่องราชอิศริยาภร์ อันเปนโบราณมลคลนพรัตนราชวราภรณ์ เสด็จพระราชดำเนินจากพระราชวังสวนดุสิต โดยรถม้าพระที่นั่ง มีทหารม้าแห่นำตามเสด็จ เมื่อเสด็จพระราชดำเนินถึงประตูโรงเรียน ผู้บัญชาการโรงเรียนทหารบกรับเสด็จ แลแถวนักเรียนนายร้อยในบังคับบัญชา ผู้บังคับบัญชา ซึ่งจัดอยู่ที่สนามที่ว่าการนั้น กระทำวันทยาวุธถวายคำนับ แตรวงบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี พระบาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตรวจแถวนักเรียนแล้ว ประทับรถพระที่นั่งที่บรรไดว่าการ เสด็จพระราชดำเนินเข้าสู่ห้องประชุม ประทับเหนือพระราชบัลลังก์ พระบรมวงษานุวงษ์ ข้าราชการเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทพร้อมกัน ผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ กราบบังคมทูลรายงานการสร้างโรงเรียนแล้ว ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเปิดโรงเรียนมีพระราชดำรัสตอบแลมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้นับว่าโรงเรียนนี้ได้เปิดแล้ว ผู้บัญชาการโรงเรียนทหารบกนำสิ่งของรางวัลขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า พระราชทานรางวัลแก่นายทหารแลนักเรียนที่สอบไล่วิชาได้ดีในโรงเรียนนายร้อยนี้ ตามพระราชประเพณีที่เคยมีมาแต่กาลก่อน ครั้นเสร็จแล้ว เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วย พระบรมวงษานุวงษ์ แล ข้าราชการผู้ใหญ่ประทับโต๊ะเสวยเครื่องว่างเลี้ยงของว่างแก่ผู้ที่มาประชุมในการนี้ทั่วไปเมื่อเสร็จการเลี้ยงแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินโดยรถม้าพระที่นั่ง ทอดพระเนตรบริเวณโรงเรียนโดยรอบ แล้วเสด็จประทับรถพระที่นั่งที่สนามน่าเรือนผู้บังคับการ มีนักเรียนนายร้อยมาประชุมเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทพร้อมกัน หัวน่านักเรียน นายเต็น กราบบังคมทูลพระกรุณาแสดงความจงรักภักดี ต่อใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาทและความระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณในนามของนักเรียนทั้งปวงแล้ว นักเรียนพร้อมกันโห่ถวายไชยมงคล 3 ลา มีพระราชดำรัสตอบ แล้วเสด็จพระราชดำเนินกลับพระราชวังสวนดุสิต เหล่านักเรียนทั้งปวงพากันวิ่งตามรถพระที่นั่งโห่ร้องเซ็งแซ่แสดงความยินดีในการที่ได้มีโอกาสเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทในวันนี้ไปจนตลอดทางเสด็จพระราชดำเนิน...
พ.ศ. 2461 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานเพลงสยามานุสติ ให้เป็นเพลงประจำโรงเรียนนายร้อยทหารบก โรงเรียนนายร้อยชั้นปฐม และโรงเรียนนายร้อยชั้นมัธยมได้ดำเนินการมาด้วยดี ต่อมาเศรษฐกิจของชาติตกต่ำ กระทรวงกลาโหมจึงให้รวมโรงเรียนนายร้อยทั้งสองนี้เข้าด้วยกันเรียกชื่อว่า "โรงเรียนนายร้อยทหารบก " อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกรมยุทธศึกษาทหารบก
26 มีนาคม 2471 พระบามสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จมาพระราชทานกระบี่แก่นักเรียนนายร้อยทหารบกที่จบการศึกษาชั้นสูงสุดเป็นครั้งแรก และจากนั้นเป็นต้นมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานกระบี่แก่นักเรียนนายร้อยที่จบการศึกษาขั้นสูงสุดทุกปี
พ.ศ. 2477 ได้มีการจัดตั้ง โรงเรียนเทฆนิคทหารบก ขึ้นในกรมยุทธศึกษาทหารบก เพื่อผลิตนายทหารบางเหล่าที่เป็นเหล่าสายเทคนิค
ในห้วง 2 ธันวาคม 2485 ถึง 14 มกราคม 2487 ได้มีการผลิตนักเรียนนายร้อยหญิงขึ่น 1 รุ่นจำนวน 28 คนและมีรุ่นเดียว
ในห้วง 14 เมษายน 2485 ถึง พ.ศ. 2487 ได้มีการผลิตนักเรียนนายร้อยสำรองขึ้น 3 รุ่น และได้เปิดหลักสูตรอีกครั้งหนึ่งตั้งแต่ 30 เมษายน 2499 อีก 6 รุ่น รวม 9 รุ่น
ในห้วงสงครามมหาเอเซียบูรพา ประเทศไทยได้ทำสัญญาเป็นพันธมิตรไมตรีกับฝ่ายญี่ปุ่น เมื่อ 21 ธันวาคม 2487 ในปี พ.ศ. 2486 ฝ่ายพันธมิตรได้ทำการโจมตีทางอากาศต่อที่หมายในกรุงเทพมหานครอย่างหนัก ทางราชการจึงคิดแผนการย้ายเมืองหลวงไปอยู่ ณ สถานที่แห่งใหม่ในเขต จ.เพชรบูรณ์ จนกระทั่ง 10 มกราคม 2487 นักเรียนนายร้อยทุกหลักสูตรและทุกคน ได้ออกเดินทางจากกรุงเทพมหานครไปขึ้นรถไฟที่สถานีรถไฟสามเสน ไปลงที่สถานีรถไฟตะพานหิน จ.พิจิตร จากนั้นเดินเท้าต่อไปอีก 112 ก.ม. เข้าสู่หมู่บ้านป่าแดง อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์ เปิดทำการสอนนักเรียนนายร้อยอยู่ไม่นาน พอต้นปี พ.ศ. 2488 ได้เคลื่อนย้ายมาอยู่ใน จ.พระนครศรีอยุธยา จนกระทั่งสงครามสงบในเดือน กันยายน 2488 โรงเรียนนายร้อยจึงได้กลับมาอยู่ ณ สถานที่ตั้งเดิม
พ.ศ. 2489 กระทรวงกลาโหมได้ดำเนินการปรับปรุงหลักสูตรของโรงเรียนนายร้อย เป็นหลักสูตรการศึกษา 5 ปีตามแบบอย่างโรงเรียนนายร้อยทหารบกของสหรัฐอเมริกา 1 มกราคม พ.ศ. 2491 พระบามสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามโรงเรียนนายร้อยแทนชื่อเดิมว่า "โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า"
24 กุมภาาพันธ์ 2491 มีพระราชบัญญัติกำหนดวิทยฐานะผู้สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าได้วิทยฐานะวิทยาศาสตรบัณฑิต ใช้อักษรย่อว่า วทบ. ( ทบ. )
ต่อมาโรงเรียนนายร้อย พระจุลจอมเกล้า ณ ถนนราชดำเนินนอกอยู่ในสภาพแออัด้วยมีจำนวนนักเรียนนายร้อยเพิ่มขึ้นสถานที่ฝ ึกศึกษา เล่นกีฬา และสถานที่พักผ่อนไม่เพียงพอ ขาดสภาพสิ่งแวดล้อมสำหรับการเป็นโรงเรียนนายร้อยหลักของประเทศ ความทราบถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงทรงมีพระราชดำริให้โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า มีสถานที่ตั้งแห่งใหม่ ณ บริเวณเขาชะโงก อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก โรงเรียนนายร้อยแห่งนี้ได้กระทำพิธีวางศิลาฤกษ์ เมื่อ 5 สิงหาคม 2524 โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพลตรีหญิงสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ขณะดำรงพระยศพันเอก ได้เสด็จฯ มากระทำพิธีและเมื่อ 30 กรกฎาคม 2529 ข้าราชการ ลูกจ้าง นักเรียนนายร้อย พร้อมด้วยศิษย์เก่า ได้พร้อมใจกันเดินเท้าออกจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าสถานที่ตั้งเดิมเ ข้าสู่สถานที่ตั้งแห่งใหม่ โดยมีพลตรีหญิงสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยาบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธานในการนำกำลังพลเข้าสู่สถานที่ตั้งแห่งใหม่ด้วยความเรียบร้อยพร้อมเพรียงกัน อันเป็นนิมิตหมายที่ดี สำหรับการดำเนินกิจการของโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าในภายภาคหน้า ต่อมาวันที่ 5 สิงหาคม พุทธศักราช 2529 ซึ่งเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมเสด็จพระราชดำเนิน ทรงเปิดโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า จังหวัดนครนายก ก็ได้รับการจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ถึงกำเนิดของโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเก ล้า ยุคปัจจุบัน ณ บัดนั้น...[1] [2]
[แก้] หลักสูตร
ส่วนนี้ของบทความยังไม่สมบูรณ์ คุณสามารถช่วยวิกิพีเดียได้โดยเพิ่มเติมเนื้อหาในส่วนนี้ |
[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น
รายชื่อสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทย แบ่งตามประเภท |
---|
โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า เป็นบทความเกี่ยวกับ สถานศึกษา ที่ยังไม่สมบูรณ์ ต้องการตรวจสอบ เพิ่มเนื้อหา หรือเพิ่มแหล่งอ้างอิง คุณสามารถช่วยเพิ่มเติมหรือแก้ไข เพื่อให้สมบูรณ์มากขึ้น ข้อมูลเกี่ยวกับ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ในภาษาอื่น อาจสามารถหาอ่านได้จากเมนู ภาษาอื่น ด้านซ้ายมือ |