อำเภอลี้
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สถิติ | |
---|---|
จังหวัด: | จังหวัดลำพูน |
พื้นที่: | 1,702.12 ตร.กม. |
ประชากร: | 49,193 (พ.ศ. 2547) |
ความหนาแน่น: | - คน/ตร.กม. |
รหัสไปรษณีย์: | 51110 |
รหัสทางภูมิศาสตร์: | 5104 |
แผนที่ | |
อำเภอลี้ เป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดลำพูน มีเนื้อที่เกือบครึ่งหนึ่งของจังหวัด นับเป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน และมีโบราณสถานหลายแห่งน่าเที่ยวชมอีกด้วย
สารบัญ |
[แก้] ตำนานเมืองลี้
อำเภอลี้ เป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาเก่าแก่ โดยได้ก่อตั้งเมืองมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย ก่อน พ.ศ. 1800 มีพระนางจามะรี เป็นราชธิดาของเจ้าเมืองหลวงพระบาง เป็นหัวหน้าใน การอพยพผู้คนหลบหนีลี้ภัยข้าศึกและโรคระบาดจากเมืองหลวงพระบางลงมายังทางทิศใต้สู่แคว้นลานนาไทย ได้สร้างเมือง ณ บริเวณ วัดพระธาตุดวงเดียว เนื่องจากมีลักษณะภูมิประเทศเหมาะสม มีสายน้ำ 3 สาย มาบรรจบกัน ปัจจุบันเรียกว่า "แม่ลี้" "แม่แต๊ะ" และ "แม่ไป" จึงตั้งชื่อเมืองว่า "เมืองลี้" เมืองลี้เจริญรุ่งเรืองตลอดมา จวบจนทางกรุงสุโขทัยได้ยกทัพมาตี โดยกวาดต้อนผู้คนและ ทรัพย์สินไปยังกรุงสุโขทัย เมืองลี้จึงกลายเป็นเมืองร้าง ต่อมามีผู้คนอพยพมาจาก เชียงใหม่ ลำพูน เถิน และตาก เข้ามาตั้งหลักแหล่งอยู่อาศัยจนถึงกลางสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เจ้าเมืองลำพูน หรือ นครหริภุณไชย ได้แต่งตั้งเจ้าเมืองมาปกครองและตั้งเป็น "เมืองลี้" ขึ้นอีกครั้งหนึ่ง และในปีพุทธศักราช 2454 ได้ยกฐานะขึ้นเป็น "อำเภอลี้" ตั้งแต่ได้รับการยกฐานะเป็นอำเภอจนถึงปัจจุบัน รวมเป็นเวลา 92 ปี
บริเวณที่สร้างเมืองลี้ในอดีต ปัจจุบันยังคงปรากฏหลักฐานซากกำแพงเมืองให้เห็นบริเวณวัดพระธาตุดวงเดียว วัดพระธาตุห้าดวง วัดพระธาตุแท่นคำ วัดลี้หลวง วัดโปงกาง (ปัจจุบันวัดนี้เป็นวัดร้าง) ซึ่งวัดดังกล่าวตั้งอยู่บริเวณ 2 ข้างทางถนนสายพหลโยธิน อยู่ในเขตพื้นที่ หมู่ที่ 4 หมู่ที่ 6 และหมู่ที่ 15 ตำบลลี้
[แก้] ภูมิศาสตร์
พื้นที่อำเภอลี้กว้างขวางเกือบครึ่งหนึ่งของจังหวัดลำพูน มีจำนวนพื้นที่ทั้งหมด 1,702.12 ตารางกิโลเมตร สภาพพื้นที่โดยทั่วไปเป็นที่สูง ส่วนมากเป็นภูเขาต้นน้ำลำธารหรือลำห้วย แม่น้ำหรือลำห้วย เกือบทุกสายไหลมารวมกันเป็น "แม่น้ำลี้" แล้วไหลลงสู่แม่น้ำปิงที่บ้านวังสะแกง เขตกิ่งอำเภอเวียงหนอง ล่อง แม่น้ำลี้เป็นแม่น้ำสายสำคัญที่ไหลผ่านจากทางทิศใต้ขึ้นไปทางทิศเหนือ โดยผ่าน 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอลี้ อำเภอทุ่งหัวช้าง อำเภอบ้านโฮ่ง และกิ่งอำเภอเวียงหนองล่อง จังหวัดลำพูน แม่น้ำลี้จึงเปรียบเสมือนเส้นโลหิตสายใหญ่ที่หล่อเลี้ยงชีวิตทั้ง 4 อำเภอสำหรับสภาพอากาศโดยทั่วไปมี 3 ฤดู ได้แก่ ฤดูร้อน ฤดูฝน และฤดูหนาว ส่วนใหญ่อากาศเย็นสบาย ในฤดูหนาวอากาศจะหนาวเย็น
- ทิศเหนือ ติดต่อ อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน
- ทิศใต้ ติดต่อ เขตอำเภอเถิน อำเภอแม่พริก จังหวัดลำปาง และอำเภอสามเงา
จังหวัดตาก
- ทิศตะวันออก ติดต่อ เขตอำเภอทุ่งหัวช้าง จังหวัดลำพูน และอำเภอเถิน จังหวัดลำปาง
- ทิศตะวันตก ติดต่อ เขตอำเภอสามเงา จังหวัดตาก อำเภอฮอด และอำเภอดอยเต่า จังหวัดเชียงใหม่
[แก้] สัญลักษณ์ของอำเภอ
- คำขวัญประจำอำเภอ
- น้ำตกเย็นใส
- น้ำใจคนดี
- มีเหมืองถ่านหิน
- เป็นถิ่นนักบุญ
- สีประจำอำเภอ
ส่วนนี้ของบทความยังไม่สมบูรณ์ คุณสามารถช่วยวิกิพีเดียได้โดยเพิ่มเติมเนื้อหาในส่วนนี้ |
- ต้นไม้ประจำอำเภอ
ส่วนนี้ของบทความยังไม่สมบูรณ์ คุณสามารถช่วยวิกิพีเดียได้โดยเพิ่มเติมเนื้อหาในส่วนนี้ |
[แก้] การแบ่งเขตการปกครอง
อำเภอลี้แบ่งการปกครองออกเป็น 8 ตำบล 96 หมู่บ้าน
- เขตเทศบาล จำนวน 2 แห่ง ประกอบด้วย
1. เทศบาลตำบลวังดิน หมู่บ้านในเขตรับผิดชอบ ได้แก่ หมู่ที่ 4, หมู่ที่ 6, หมู่ที่ 14, และ หมู่ที่ 15
2. เทศบาลตำบลแม่ตืน หมู่บ้านในเขตรับผิดชอบ ได้แก่ หมู่ที่ 3, หมู่ที่ 11 และหมู่ที่ 12
- เขตองค์การบริหารส่วนตำบล จำนวน 8 แห่ง ประกอบด้วย ตำบลลี้ ตำบลป่าไผ่ ตำบลก้อ
ตำบลศรีวิชัย ตำบลแม่ตืน ตำบลนาทราย ตำบลแม่ลาน และตำบลดงดำ
[แก้] ประชากร
ข้อมูลครัวเรือนและประชากร จำนวนหลังคาเรือนทั้งสิ้น 13,090 ครัวเรือน จำนวนประชากรทั้งสิ้น 49,193 คน
- แยกเป็นประชากรชาย 24,750 คน
- แยกเป็นประชากรหญิง 24,443 คน
(ที่มาของข้อมูล, จากข้อมูล จปฐ. ปี 2547)
[แก้] แหล่งท่องเที่ยว
- 1.อุทยานแห่งชาติแม่ปิง มีแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ดังนี้ แก่งก้อ น้ำตกก้อหลวง ทุ่งกิ๊ก ถ้ำยาวี
- 2.ถ้ำป่าไผ่ เป็นถ้ำขนาดใหญ่ มีรอยพระพุทธบาท ตั้งอยู่หมู่ที่ 1 ตำบลป่าไผ่
- 3.ผาตั้ง เป็นภูเขาหินอ่อน ตั้งอยู่ หมู่ที่ 1 ตำบลแม่ลาน
- 4.หมู่บ้านกระเหรี่ยงห้วยต้ม เป็นหมู่บ้านชาวเขาเผ่ากระเหรี่ยง ตั้งอยู่ หมู่ที่ 8 ตำบลนาทราย
ที่มาของข้อมูลทรัพยากรธรรมชาติและแหล่งท่องเที่ยว “ อุทยานแห่งชาติแม่ปิง “
- 5.วัดบ้านปาง ตั้งอยู่บนเนินเขาบ้านปาง หมู่ที่ ๑ ตำบลศรีวิชัย ห่างจากตัวอำเภอลี้ ๓๘ กิโลเมตร ตามเส้นทางสายลี้-บ้านโฮ่ง-เชียงใหม่ กิโลเมตรที่ ๘๙ เป็นวัดซึ่งครูบาศรีวิชัยบวชเรียนเป็นวัดแรกภายในบริเวณวัดนอกจากจะร่มรื่นด้วยต้นไม้น้อยใหญ่ มีโบสถ์วิหารสวยงาม และยังมีพิพิธภัณฑ์อัฐบริขารครูบาศรีวิชัย ซึ่งเก็บของใช้ส่วนตัวของท่านไว้อย่างครบถ้วน ได้แก่ สบง จีวร หมอน กระโถน และแจกัน เป็นต้น
- 6.วัดพระธาตุห้าดวง(เวียงเจดีย์ห้าหลัง) ตั้งอยู่ที่ตำบลลี้ สามารถเดินทางไปตามทางหลวงหมายเลข ๑๐๖ ห่างจากที่ว่าการอำเภอลี้ประมาณ ๒ กิโลเมตร สันนิษฐานว่าเป็นบริเวณเวียงเก่าลี้ เพราะมีซากกำแพงและคูเมืองตั้งเป็นแถว วัดนี้เป็นที่ตั้งของหมู่เจดีย์ ๕ องค์ ตามตำนานกล่าวว่าพระนางเจ้าจามเทวี กษัตริย์ครองเมืองหริภุญไชย ได้ยินข่าวจากราษฎรเมืองลี้ว่ามีดวงแก้ว ๕ ดวง ปรากฏเห็นอยู่บ่อยครั้ง จึงได้เสด็จมาดูด้วยพระองค์เอง เวลากลางคืนจึงได้ทอดพระเนตรเห็นแสงสว่างจากดวงแก้วทั้ง ๕ ดวง ลอยอยู่บนกองดิน ๕ กอง จึงได้สอบถามความเป็นมาก็ทราบว่า คือพระเมโตธาตุ (น้ำไคลมือ) ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธะเจ้าที่เคยล้างพระหัตถ์ และน้ำก็ไหลผ่านปลายนิ้วทั้ง ๕ ลงพื้นดิน พระนางจึงเกิดศรัทธาสร้างพระธาตุเจดีย์ครอบกองดินทั้ง ๕ กองไว้ และในวันที่ ๒๐ เมษายน ของทุกปี จะมีประเพณีสรงน้ำพระธาตุห้าดวง
- 7. วัดพระบาทห้วยต้ม เป็นวัดที่ใหญ่ที่สุดของอำเภอลี้ เป็นวัดประจำหมู่บ้านชาวเขาพระบาทห้วยต้ม ตั้งอยู่หมู่ที่ ๘ ตำบลนาทราย ห่างจากตัวอำเภอประมาณ ๑๐ กิโลเมตร แยกจากทางหลวงหมายเลข ๑๐๖ บริเวณกิโลเมตรที่ ๔๖-๔๗ เข้าไปประมาณ ๕ กิโลเมตร บริเวณทางเข้ามีอนุสาวรีย์พระครูบาชัยวงศาตั้งอยู่ วัดพระบาทห้วยต้มมีอาณาบริเวณกว้างขวาง ภายในมีสิ่งก่อสร้างทำจากศิลาแลงที่ขุดได้จากบ่อศิลาแลงด้านหลังของวัด และมีองค์พระธาตุที่ได้รับการตกแต่งอย่างงดงาม โดยครูบาชัยวงศา พระอาจารย์ชื่อดังของทางภาคเหนือเป็นผู้บูรณะก่อสร้างและจากศรัทธาของบรรดาชาวกะเหรี่ยงที่อยู่รอบบริเวณวัด ชาวกะเหรี่ยงเหล่านี้นอกจากจะทำไร่ทำสวนแล้ว ยังมีอาชีพเป็นช่างฝีมือ ทอผ้า ทำสร้อยคอ และเครื่องเงินเป็นอุตสาหกรรมครัวเรือน และทุกปีประมาณเดือนธันวาคมชาวกะเหรี่ยงจะจัดงานชุมนุมชาวกะเหรี่ยงและสืบสานวัฒนธรรม มีกิจกรรมน่าสนใจ อาทิ การแสดงทางวัฒนธรรมชาวดอย การแข่งขันกีฬาพื้นบ้าน และออกร้านจำหน่ายสินค้าฝีมือชาวกะเหรี่ยง บริเวณบ้านพระบาทห้วยต้ม
- 8. อุทยานแห่งชาติแม่ปิง สามารถเดินทางไปตามหลวงหมายเลข ๑๐๖ (สายลำพูน-ลี้) บริเวณกิโลเมตรที่ ๔๗ แล้วเข้าทางหลวงหมายเลข ๑๐๘๗ (สายลี้ –ก้อ) บริเวณกิโลเมตรที่ ๒๐– ๒๑ ก็ถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติแม่ปิง เดิมนั้นเป็นป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่หาด-แม่ก้อ ได้ประกาศจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ เมื่อวันที่ ๑๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๔ มีพื้นที่ ๑,๐๐๓ ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่อำเภอดอยเต่า จังหวัดเชียงใหม่ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน และอำเภอสามเงา จังหวัดตาก ที่ทำการอุทยานแห่งชาติแม่ปิงตั้งอยู่ในท้องที่ตำบลแม่ลาน อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ภายในเขตอุทยานแห่งชาติแม่ปิง มีพื้นที่บางส่วนเป็นลำน้ำปิงซึ่งยาวประมาณ ๑๔๐ กิโลเมตร และสองฝั่งแม่น้ำเป็นเกาะแก่ง หน้าผา หินงอก หินย้อย การเดินทางท่องเที่ยวลำน้ำปิงสามารถเริ่มจากอ่างเก็บน้ำดอยเต่า จังหวัดเชียงใหม่ โดยใช้เรือหางยาว แล้วมาต่อแพที่แก่งสร้อย ล่องมาจนถึงเขื่อนภูมิพล อำเภอสามเงา จังหวัดตาก ในทางกลับกันอาจจะเช่าเรือหรือแพจากเขื่อนภูมิพลล่องขึ้นไปก็ได้
[แก้] โบราณสถาน
1.วัดพุทธ (วัดราษฎร์) จำนวน 48 วัด 2.สำนักสงฆ์ จำนวน 35 แห่ง 3.โบสถ์คริสต์ (โปแตสแตนท์) จำนวน 1 แห่ง (อยู่ที่ หมู่ที่ 5 ตำบลป่าไผ่)
อำเภอลี้ ได้ชื่อว่า “ เป็นเมืองแห่งนักบุญของลานนาไทย “ มีวัดสำคัญหลายวัดที่มี ตำนานแห่งนักบุญ และมีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจ ดังนี้
- 1.วัดบ้านปาง เป็นวัดถิ่นกำเนิดของครูบาเจ้าศรีวิชัย ตั้งอยู่ หมู่ที่ 1 ตำบลศรีวิชัย
- 2.วัดพระพุทธบาทผาหนาม เป็นวัดของลูกศิษย์ครูบาเจ้าศรีวิชัย คือ พระครูบาขาวปี ตั้งอยู่ หมู่ที่ 12 ตำบลป่าไผ่
- 3.วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม เป็นวัดพระครูบาพัฒนกิจจานุรักษ์ (หลวงปู่ครูบาวงษา)ตั้งอยู่ หมู่ที่ 8 ตำบลนาทราย
- 4.วัดพระพุทธบาทผาผึ้ง มีรอยพระพุทธบาท ตั้งอยู่ หมู่ที่ 1 ตำบลแม่ลาน
- 5.วัดพระธาตุห้าดวง ตั้งอยู่บริเวณเมืองเก่า หมู่ที่ 15 ตำบลลี้
- 6.วัดพระธาตุดวงเดียว ตั้งอยู่บริเวณเมืองเก่า หมู่ที่ 15 ตำบลลี้
- 7.วัดพระธาตุแท่นคำ ตั้งอยู่บริเวณเมืองเก่า หมู่ที่ 4 ตำบลลี้
- 8.วัดลี้หลวง อยู่ที่ มีพระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์เก่าแก่ สำคัญ 2 องค์ ตั้งอยู่ หมู่ที่ 6 ตำบลลี้
- 9.อนุสาวรีย์ 3 ครูบา ตั้งอยู่ตรงรอยเชื่อมระหว่างอำเภอลี้กับอำเภอเถิน จังหวัดลำปาง บ้านห้วยหญ้าไซ หมู่ที่ 4 ตำบลดงดำ
ที่มาของข้อมูลด้านการศึกษาและศาสนาจาก “ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาลำพูน เขต 2 “
[แก้] อ้างอิง
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาลำพูน เขต 2
[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น
อำเภอ และกิ่งอำเภอ ในจังหวัดลำพูน |
---|
อำเภอลี้ เป็นบทความเกี่ยวกับ จังหวัด อำเภอ หรือเขตการปกครองต่าง ๆ ของประเทศไทย ที่ยังไม่สมบูรณ์ ต้องการตรวจสอบ เพิ่มเนื้อหา หรือเพิ่มแหล่งอ้างอิง คุณสามารถช่วยเพิ่มเติมหรือแก้ไข เพื่อให้สมบูรณ์มากขึ้น ข้อมูลเกี่ยวกับ อำเภอลี้ ในภาษาอื่น อาจสามารถหาอ่านได้จากเมนู ภาษาอื่น ด้านซ้ายมือ หรือ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สถานีย่อย:ประเทศไทย |