อำเภอสวรรคโลก
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สถิติ | |
---|---|
จังหวัด: | จังหวัดสุโขทัย |
พื้นที่: | 586.192 ตร.กม. |
ประชากร: | 88,901 (พ.ศ. 2005) |
ความหนาแน่น: | 151.7 คน/ตร.กม. |
รหัสไปรษณีย์: | 64110 |
รหัสทางภูมิศาสตร์: | 6407 |
แผนที่ | |
![]() |
อำเภอสวรรคโลก เป็นหนึ่งใน 9 อำเภอของจังหวัดสุโขทัย
สารบัญ |
[แก้] สภาพด้านภูมิศาสตร์ทั่วไป
พื้นที่ : 586.192 ตารางกิโลเมตร
อาณาเขต : ทิศเหนือติดต่อกับ อำเภอศรีสัชนาลัย ทิศตะวันออกติดต่อกับอำเภอศรีนคร และ จังหวัดอุตรดิตถ์ ทิศใต้ติดต่อกับอำเภอศรีสำโรง ทิศตะวันตกติดต่อกับอำเภอทุ่งเสลี่ยม
การแบ่งเขตการปกครอง ประกอบด้วย 14 ตำบล 117 หมู่บ้าน
ตำบลทั้งหมดได้แก่
- ตำบลเมือง
- ตำบลในเมือง
- ตำบลหนองกลับ
- ตำบลบางยม
- ตำบลย่านยาว
- ตำบลวังไม้ขอน
- ตำบลวังพิณพาทย์
- ตำบลบางขลัง
- ตำบลคลองกระจง
- ตำบลนาทุ่ง
- ตำบลเมืองบางยม
- ตำบลป่ากุมเกาะ
- ตำบลท่าทอง
- ตำบลปากน้ำ
แหล่งน้ำที่สำคัญคือ แม่น้ำยม อุณหภูมิทั่วไป : สูงสุดอยู่ที่ 32.92 องศาเซลเซียส ต่ำสุดอยู่ที่ 22.59 องศาเซลเซียส ปริมาณน้ำฝนทั้งปี 1,233.10 มิลลิเมตร (2547) รหัสไปรษณีย์ : 64110
[แก้] ประวัติความเป็นมาของเมืองสวรรคโลก
เมืองสวรรคโลกเดิมตั้งอยู่ที่อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี มีฐานะเป็นเมืองลูกหลวงในนาม เมืองศรีสัชนาลัย ต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยาประมาณ พุทธศักราช 1994 พระเจ้าติโลกราช เจ้าเมืองเชียงใหม่ ได้ยกทัพมายึดเมืองศรีสัชนาลัย และได้เปลี่ยนชื่อเมืองเชลียง (ศรีสัชนาลัยเดิม) เป็นเมืองเชียงชื่น ต่อมาเมื่อ พุทธศักราช 2017 สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทำการตีเมืองเชียงชื่นคืน และทรงเปลี่ยนชื่อเมืองเชียงชื่นเป็น เมืองสวรรคโลก นับแต่บัดนั้น
ในสมัยกรุงธนบุรี ถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เมืองสวรรคโลกนั้นถูกพม่าข้าศึกเข้ามาตีบ่อยครั้ง เจ้าเมืองสวรรคโลกจึงตัดสินใจย้ายเมืองจาก อุทยานศรีสัชนาลัย มาอยู่ที่บ้านท่าชัย ตำบลศรีสัชนาลัยในปัจจุบัน ต่อมาราวพุทธศักราช 2379 รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เมืองสวรรคโลกมีปลัดปกครองนามว่า นาค ได้นำงาช้างเนียม ไปถวายพระเจ้าอยู่หัว เกิดความดีความชอบ จึงได้รับการแต่งตั้งเป็น พระยาสวรรคโลก มีบรรดาศักดิ์เป็น พระยาวิชิตภักดี (ต้นตระกูลวิชิตนาค) ได้ใช้บ้านพักหรือ จวน ที่บ้านวังไม้ขอน เป็นที่ว่าการเมืองสวรรคโลก ดังนั้นเมืองสวรรคโลกจึงย้ายมาจากบ้านท่าชัยมาตั้งรกรากที่เมืองสวรรคโลกใหม่ (สวรรคโลกปัจจุบัน) นับแต่นั้นมา
ระหว่าง พุทธศักราช 2411-2435 เมืองสวรรคโลก มีเมืองอยู่ในความปกครองทั้งสิ้น 6 เมือง ได้แก่
- เมืองด้ง
- เมืองบางขลัง
- เมืองบางยม
- เมืองพิรามรงค์
- เมืองวิเศษไชยสัตย์
- เมืองศรีพนมมาศ
ครั้นเมื่อ พุทธศักราช 2459 ทางราชการได้เปลี่ยนชื่อเมืองสวรรคโลกเป็น จังหวัดสวรรคโลก มีอำเภอในการปกครอง 2 อำเภอ คือ อำเภอสวรรคโลก และอำเภอศรีสัชนาลัย และในวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2474 กระทรวงมหาดไทยได้ประกาศยุบจังหวัดสุโขทัยให้มาอยู่ในความปกครองของจังหวัดสวรรคโลก จังหวัดสวรรคโลกจึงมีอำเภออยู่ในความปกครอง 5 อำเภอ และ 2 กิ่งอำเภอ ได้แก่
- อำเภอสวรรคโลก
- อำเภอศรีสัชนาลัย
- อำเภอสุโขทัยธานี
- อำเภอศรีสำโรง
- อำเภอกงไกรลาศ
- กิ่งอำเภอคีรีมาศ
- กิ่งอำเภอบ้านด่านลานหอย
ราว เดือนเมษายน พุทธศักราช 2482 กระทรวงมหาดไทยสั่งยุบจังหวัดสวรรคโลกให้ไปตั้งจังหวัดสุโขทัย ฐานะของจังหวัดสวรรคโลกจึงถูกลดให้เป็น อำเภอสวรรคโลก นับแต่นั้นมา แต่ถึงแม้ว่าจังหวัดสวรรคโลกจะถูกยุบไปแล้วแต่ชื่อ “จังหวัดสวรรคโลก” ยังปรากฏกับสถานที่ทำการสองแห่งคือ ศาลจังหวัดสวรรคโลก และ สำนักงานอัยการจังหวัดสวรรคโลก และชื่อ “เมืองสวรรคโลก” ก็ปรากฏกับสถานที่สองแห่งคือ เทศบาลเมืองสวรรคโลก และโรงเรียนเทศบาลเมืองสวรรคโลก
สรุปแล้ว นับแต่เมืองสวรรคโลกมีผู้ปกครองอย่างเป็นทางการคือ พระยาวิชิตภักดี ได้โยกย้ายเมืองสวรรคโลกมาที่สวรรคโลกปัจจุบันตั้งแต่ พุทธศักราช 2379 ถึงปัจจุบัน นับเป็นเวลาทั้งสิ้น 170 ปี
[แก้] ความเป็นอยู่ – วิถีชีวิต
(ข้อมูลต่อไปนี้อ้างอิงจำนวนในเขตเทศบาลเมืองสวรรคโลก)
ในเขตเทศบาลเมืองสวรรคโลก มีประชากรรวมทั้งสิ้น 20,786 คน แบ่งเป็นชาย 34,482 คน หญิง 36,513 คน ความหนาแน่นเฉลี่ยของปะชากรประมาณ 3,112 คนต่อตารางกิโลเมตร ที่อยู่อาศัยจำนวน 5,735 หลังคาเรือน (ข้อมูล ณ วันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2548)
การประกอบอาชีพ : ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพด้านการพานิชยกรรมและบริการทั่วไป (ร้อยละ 2.3 ของพื้นที่) กิจการพาณิชน์ที่เด่นในอำเภอเช่น บริษัท คิว คอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งจำหน่ายเครื่องปรับอากาศมามากกว่า 30 ปี
การเกษตรกรรม (ร้อยละ 29.9 ของพื้นที่) ส่วนใหญ่จะมีการเพาะปลูก-เกษตรกรรมอยู่ในเขตรอบนอกเทศบาล แต่ในเขตเทศบาลจะเป็นศูนย์รวมธุรกิจการค้าพืชไร่ที่สำคัญ จะมีทั้งแหล่งรับซื้อพืชไร่ต่างๆ ส่วนการอุตสาหกรรมนั้นมีการอุตสาหกรรม (หลายประเภท อาทิเช่น โรงงานสกัดน้ำมันพืช (ศรทอง) โรงงานทำไอศกรีม (จัมโบ้ เอ) โรงงานผลิตและย้อมกระดาษสา โรงสีข้าว โรงงานผลิตน้ำดื่ม ฯลฯ รายได้เฉลี่ยของประชากรต่อปีอยู่ระหว่าง 20,000 ถึง 30,000 บาท
ศาสนา : ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ มีวัดที่สำคัญในอำเภอ ได้แก่ วัดสว่างอารมณ์วรวิหาร (วัดจวน) และวัดสวรรคาราม (วัดกลาง)
การศึกษา : ในเขตเทศบาลมีโรงเรียนทั้งโรงเรียนสังกัดเทศบาลและเอกชนทั้งสิ้น 9 โรงเรียน แบ่งออกเป็นโรงเรียนสังกัดเทศบาลฯ 5 โรง และโรงเรียนเอกชน 4 โรง (นอกเขตมีอย่างเช่น โรงเรียนมัธยม 1 แห่ง และโรงเรียนอนุบาลสวรรคโลก สังกัด สพฐ. 1 แห่ง ฯลฯ)
สาธารณสุข : โรงพยาบาล 1 แห่ง (นอกเขตเทศบาล) อนามัย 1 แห่ง ศูนย์บริการสาธารณสุขสังกัดเทศบาล 1 แห่ง คลินิกเอกชนอีก 10 แห่ง
[แก้] สถานที่ท่องเที่ยว (สถานที่ที่น่าสนใจ)
[แก้] สวนหลวงพระร่วงเฉลิมพระเกียรติ (ทุ่งแม่ระวิง)
สวนหลวงพระร่วงเฉลิมพระเกียรติ (ทุ่งแม่ระวิง) ตั้งอยู่หมู่ที่ 9 ตำบลป่ากุมเกาะ แต่เดิมเคยเป็นหนองน้ำสาธารณะขนาดใหญ่ ปัจจุบันมีพื้นที่ทั้งหมด 830 ไร่ โดยแบ่งเป็นพื้นน้ำ 645 ไร่ พื้นดิน 185 ไร่ ลักษณะของสวนนี้เป็นเกาะมีน้ำล้อมรอบมองเห็นทิวทัศน์ได้ เหมาะสำหรับที่จะพักผ่อน ภายในบริเวณมีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจ ได้แก่ สะพานไม้โบราณ ที่ข้ามอ่างน้ำเกาะกลางทุ่งแม่ระวิง มีความยาว 300 เมตร สักการะบูชาพระร่วง ณ วงเวียนประดิษฐานรูปพระร่วง อยู่ปากทางเข้าเกาะกลางทุ่งแม่ระวิง สักการะบูชาพระมหาโพธิสัตว์ เจ้าแม่กวนอิม และนมัสการศาลปู่ก๊อก ข้างที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลป่ากุมเกาะ พักผ่อนศาลาที่พักริมทาง ชมวิวทิวทัศน์รอบเกาะ และเป็นแหล่งศึกษาดูงานหลายด้าน เช่น โครงการเกษตรผสมผสาน ได้แก่ ทำนา ทำสวน เลี้ยงไก่ พิพิธภัณฑ์ชาวนาแหล่งรวบรวมอุปกรณ์ชาวนาโบราณแสดงถึงวิถีชีวิตของชาวนาสมัยสุโขทัย แปลงสวนสมุนไพรสาธิต เรือนเพาะชำกล้าไม้ นอกจากนั้นภายในบริเวณสวนแห่งนี้มีอาคารเอนกประสงค์ที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์ของดีจังหวัดสุโขทัย สอบถาม ข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ องค์การบริหารส่วนตำบลป่ากุมเกาะ โทร.
0 - 5564 – 2100
[แก้] พิพิทธภัณฑสถานแห่งชาติ สวรรควรนายก
พิพิทธภัณฑสถานแห่งชาติ สวรรควรนายก เป็นพิพิทธภัณฑสถานแห่งชาติที่ก่อกำเนิดขึ้นตามเจตนารมณ์ของพระสวรรควรนายก (ทองคำ จิตรธร) อดีตเจ้าอาวาสวัดสวรรคาราม (วัดกลาง) และเจ้าคณะจังหวัดสุโขทัย ซึ่งท่านมีความสนใจในการศึกษาและอนุรักษ์มรดกศิลปวัฒนธรรม และได้สะสมโบราณศิลปวัตถุไว้จำนวนมาก กับทั้งได้แสดงเจตนารมณ์ว่าเมื่อมรณภาพแล้ว ให้ยกทรัพย์ที่สินสะสมไว้เป็นสมบัติของชาติ โดยขอให้กรมศิลปากรจัดตั้งพิพิธฑภัณฑสถานขึ้นภายในวัดสวรรคาราม
ในปีพุทธศักราช 2524 กรมศิลปากรได้รับมอบโบราณวัตถุ จากวัดสวรรคารามและได้นำมาจัดแสดง รวมทั้งได้เคลื่อนย้ายโบราณวัตถุจำนวนหนึ่งจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ โบราณวัตถุที่ได้จากการสำรวจ ขุดค้น และขุดแต่งทางโบราณคดี ในบริเวณเมืองศรีสัชนาลัย โบราณวัตถุประเภทเครื่องถ้วยสังคโลกที่กรมศิลปากร ได้จากแหล่งเรืออับปางในอ่าวไทย บริเวณอ่าวสัตหีบ ใกล้เกาะคราม รวมทั้งโบราณวัตถุที่ประชาชนมอบให้ นำมาจัดแสดงไว้ด้วยกัน เพื่อแสดงให้เห็นถึงหลักฐานแห่งความเจริญรุ่งเรืองของบ้านเมืองที่สืบเนื่องมาแต่อดีตกาล จากนั้นเมื่อจัดการจัดแสดงตามหลักพิพิธภัณฑ์แล้วเสร็จ กรมศิลปากรได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สวรรควรนายก เมื่อวันที่ 15 มีนาคม พุทธศักราช 2527 และเพื่อเป็นอนุสรณ์แด่พระสวรรควรนายก ผุ้อุทิศโบราณศิลปวัตถุให้เป็นสมบัติของชาติ จึงได้ตั้งชื่อพิพิธภัณฑสถานแห่งชาตินี้ว่า “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สวรรควรนายก” ภายในมีการจัดแสดงแบ่งออกเป็น 4 หัวเรื่องได้แก่
- เมืองสวรรคโลก บ่งบอกถึงความเป็นมาและโบราณวัตถุที่พบในเมือง
- เครื่องถ้วยสังคโลก เครื่องชามตั้งแต่สมัยสุโขทัย มีมากมายหลายลวดลาย
- พระพุทธรูป อยู่ชั้นบนของอาคาร แบ่งกลุ่มตามรูปแบบศิลปะ-สมัย
- พระสวรรควรนายก จัดแสดงประวัติและผลงานของพระสวรรควรนายก
เปิดให้บริการในวันพุธถึงวันอาทิตย์ เวลา 09.00 – 16.00 น. ปิดทำการในวันจันทร์ วันอังคาร และในวันหยุดนักขัตฤกษ์ ค่าธรรมเนียมเข้าชม ชาวไทย 10 บาท ชาวต่างชาติ 30 บาท ยกเว้น พระภิกษุ สามเณร นักบวช และนักเรียน นักศึกษา ในเครื่องแบบ สนใจรายละเอียดติดต่อ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สวรรควรนายก โทร.0-5564-1571 (ข้อมูลจากเอกสารให้ความรู้ของพิพิทธภัณฑ์)
[แก้] อนุสาวรีย์พ่อขุนศรีอินทราทิตย์
ตั้งอยู่ที่วัดคุ้งวารี ต.ย่านยาว เป็นอนุสาวรีย์ทีสร้างขึ้นเพื่อเชิดชูเกียรติแก่พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ผู้เป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์พระร่วง และอาณาจักรสุโขทัย ซึ่งจากการสันนิษฐานทางข้อมูลประวัติศาสตร์และลักษณะทางภูมิศาสตร์ บริเวณวัดคุ้งวารีแห่งนี้ พ่อขุนศรีอินทราทิตย์หรือพ่อขุนบางกลางหาวให้ขณะนั้น ได้นำกองทัพของพระองค์มาพักแรมอยู่ที่นี่ก่อนที่จะเข้าไปโจมตี ขอมสมาดโขลญลำโพงที่กำลังปกครองสุโขทัยอยู่ ร่วมกับพ่อขุนผาเมือง แล้วเมื่อศึกเสร็จสิ้น จึงสถาปนาตนขึ้นเป็นพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ แห่งกรุงสุโขทัย
[แก้] เสาหลักเมืองสวรรคโลก
สันนิษฐานว่าเสาไม้นี้เป็นเสาหลักเมืองมาตั้งแต่สมัยของ พระยาวิชิตภักดี (นาค) โดยสร้างไว้เป็นหลักเมืองของเมืองสวรรคโลก ครั้นเมื่อเกิดการโยกย้ายเมืองจากบ้านท่าชัยมาที่เมืองสวรรคโลกปัจจุบัน
[แก้] พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน (โรงเรียนอนันตนารีเดิม)
รวมของพื้นบ้านที่เก่าแก่ของชาวสวรรคโลกไว้ อีกทั้งยังมีห้องเก็บภาพที่ควรจดจำในอดีตของเมืองสวรรคโลกต่างๆ มากมาย อาทิ รูปภาพที่ข้าหลวงประจำจังหวัดร่วมกันถ่ายเป็นครั้งสุดท้ายก่อนที่จังหวัดสวรรคโลก จะถูกยุบเป็นอำเภอสวรรคโลก, อาคารโรงเรียนอนันตนารี โรงเรียนหญิงล้วนประจำจังหวัด, อาคารโรงเรียนสวรรควิทยา โรงเรียนชายล้วนประจำจังหวัด, เหตุการณ์ไฟไหม้ในสวรรคโลก, การรวมโรงเรียนอนันตนารีและโรงเรียนสวรรควิทยา เป็นโรงเรียนเดียวกัน ในนาม โรงเรียนสวรรค์อนันต์วิทยา, เมื่อ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จเยี่ยมเยียนพสกนิกรที่สวรรคโลก ฯลฯ
[แก้] วัดสว่างอารมณ์วรวิหาร (วัดจวน)
วัดสว่างอารมณ์วรวิหาร หรือ วัดจวน เป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองของชาวสวรรคโลกมาแต่ช้านาน เพราะคำว่า “จวน” นั้นมาจากความหมายที่ว่า ที่ว่าการของผู้ปกครอง อันหมายถึงจวนของพระยาวิชิตภักดี พระยาผู้ปกครองเมืองสวรรคโลกในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 และได้ทำการโยกย้ายเมืองสวรรคโลกมาที่นี่ จึงได้สร้างวัดเพื่อเป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองแก่เมืองสวรรคโลกโดยใช้ชื่อว่าวัดสว่างอารมณ์วรวิหาร หรือ วัดจวนที่ติดปากชาวบ้านเรียกกันจนถึงปัจจุบัน ปัจจุบัน วัดสว่างอารมณ์เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาที่สำคัญของชาวสวรรคโลก และเป็นที่ที่ใช้จัดงานต่างๆ เป็นประจำอีกด้วย
[แก้] การเดินทาง
[แก้] ทางรถยนต์
- ทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข 101 สวรรคโลก-สุโขทัย 38 กม.
- ทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข 1180 สวรรคโลก-ศรีนคร 18 กม.
- ทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข 1048 สวรรคโลก-ทุ่งเสลี่ยม 30 กม.
- ทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข 101 สวรรคโลก-ศรีสัชนาลัย 30 กม.
[แก้] ทางรถไฟ
สาย สวรรคโลก-กรุงเทพฯ ไป-กลับ วันละ 2 เที่ยว
[แก้] ทางอากาศ
สนามบินสุโขทัย (บางกอกแอร์เวย์) อยู่ห่างจากเทศบาลไปทางทิศใต้ตามถนนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำยม มีเที่ยวบินเดินทาง ดังนี้
- สุโขทัย – กรุงเทพฯ ไป-กลับ วันละ 3 เที่ยวบิน
- สุโขทัย – เชียงใหม่ ไป-กลับ วันละ 2 เที่ยวบิน
- สุโขทัย – เสียมราฐ วันละ 1 เที่ยวบิน
อำเภอ ใน จังหวัดสุโขทัย | ![]() |
||
---|---|---|---|
อำเภอ: |
เมืองสุโขทัย - บ้านด่านลานหอย - คีรีมาศ - กงไกรลาศ - ศรีสัชนาลัย - ศรีสำโรง - สวรรคโลก - ศรีนคร - ทุ่งเสลี่ยม |