แม่น้ำยม
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
แม่น้ำยม เป็นแม่น้ำที่มีต้นกำเนิดอยู่ในป่าดงดิบสูงชันสลับซับซ้อนบนเทือกเขาผีปันน้ำและเทือกเขาแดนลาว ซึ่งอยู่ในเขตจังหวัดเชียงราย พะเยา และแพร่ มีความยาวประมาณ 555 กิโลเมตร กระแสน้ำไหลผ่านที่ราบสูงของจังหวัดแพร่ สุโขทัย พิษณุโลก และพิจิตร ไปบรรจบกับแม่น้ำน่านที่อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ เกิดเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำสายสำคัญของพื้นที่ราบลุ่มภาคกลางของประเทศไทย
สภาพโครงสร้างทางน้ำของแม่น้ำยมมีลักษณะแบบกิ่งไม้ ประกอบด้วยลำน้ำสาขา 77 สาย ระดับน้ำสูงสุดในฤดูฝน ลดลงเมื่อถึงฤดูหนาว และต่ำสุดในฤดูร้อน ภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงตามอิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ
[แก้] สิ่งมีชีวิตในแม่น้ำยม
ชนิดและปริมาณพันธุ์ไม้ในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำยมเปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาล คือ มีมากในฤดูหนาวและฤดูร้อน ลดลงในฤดูฝนซึ่งเป็นช่วงที่ระดับน้ำสูงและกระแสน้ำไหลแรงจนทำให้พืชใต้น้ำและบนผิวน้ำถูกพัดพากระจัดกระจายไป พืชใต้น้ำมีเพียงชนิดเดียวคือสาหร่ายหางกระรอกซึ่งเจริญเติบโตได้ดีที่สุดในฤดูร้อน เนื่องจากระดับน้ำไม่สูงมาก แสงแดดสามารถส่องถึงได้ นอกจากนี้ยังพบต้นกก พืชที่ทนทานต่อสภาพแวดล้อม โผล่พ้นน้ำกระจายอยู่ทั่วไป แม่น้ำยมมีพืชชายน้ำหลายชนิด เช่น หญ้าคา หญ้าแพรก พง และอ้อ
ในแม่น้ำยมมีปลาน้ำจืด 38 ชนิด ปริมาณปลามีมากที่สุดในช่วงฤดูฝนถึงต้นฤดูหนาว ปลาที่พบมาก ได้แก่ ปลาตะเพียน ปลาสร้อย ปลาซิว และปลารากกล้วย
[แก้] อ้างอิง
- นทีศรียมนา, กรมวิชาการ, กรุงเทพฯ, 2544