เจ้าฟ้าชายอัลเบิร์ต เจ้าชายพระราชสวามี
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เจ้าฟ้าชายอัลเบิร์ต แห่งเซกโคเบิร์ก-กอธธา (ฟรานซิส ออกัสตัส ชาร์ลส์ อัลเบิร์ต เอ็มมานูเอล ต่อมาดำรงพระอิสริยยศเป็น เจ้าชายพระราชสวามี) ประสูติ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2362 สวรรคต 14 ธันวาคม พ.ศ. 2404 พระราชสวามีในสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย แห่งสหราชอาณาจักรและประเทศในเครือจักรภพ ทรงเพียงผู้เดียวที่เป็นพระราชสวามีในสมเด็จพระราชินีนาถของอังกฤษและสหราชอาณาจักร แล้วได้รับพระราชทานพระอิสริยยศ เจ้าชายพระราชสวามี หลังจากสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียเสด็จสวรรคต ในปี พ.ศ. 2444 ราชวงศ์ฮานนอเวอร์สิ้นสุดลง และถูกแทนที่ด้วยราชวงศ์เซกโคเบิร์ก-กอธธา
สารบัญ |
[แก้] ทรงพระเยาว์
เจ้าฟ้าชายอัลเบิร์ตประสูติที่บาวาเรีย (แคว้นโคเบิร์กสมัยนั้น) ทรงเป็นพระโอรสองค์ที่ 2 ในเจ้าฟ้าชายเอิรนสท์ที่ 1 ดยุคผู้ปกครองโคเบิร์ก-กอธธา และเจ้าฟ้าหญิงหลุยส์ ดัชเชสผู้ปกครองเซก-กอธธา-ออลเทนเบิร์ก พระองค์มีพระเชษฐาคือเจ้าฟ้าชายเอิรนสท์ที่ 2 ดยุคผู้ปกครองเซก-โคเบิร์ก-กอธธา พระราชปิตุลา (ลุงที่เป็นพี่ชายพ่อ) ของพระองค์คือสมเด็จพระราชาธิบดีเลโอปอลด์ที่ 1 แห่งเบลเยียม และพระปิตุจฉา (อาผู้หญิง) คือเจ้าฟ้าหญิงวิกตอเรีย พระกนิษฐาของเจ้าฟ้าชายเอิรนสท์ พระบิดา นั้นทรงเสกสมรสกับเจ้าฟ้าชายเอ็ดเวิร์ด ออกัสตัส ดยุคแห่งเคนท์ เจ้าฟ้าหญิงวิกตอเรีย ดัชเชสแห่งเคนท์ผู้นี้เองคือพระราชมารดาในสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย นั่นหมายความว่าสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียและเจ้าฟ้าชายอัลเบิร์ตนั้นทรงเป็นลูกพี่ลูกน้องกัน นอกจากนี้ยังประสูติในปีเดียวกันอีกด้วย
ในฐานะพระราชโอรสแห่งพระประมุขแห่งรัฐซึ่งเป็นดยุค เจ้าฟ้าชายอัลเบิร์ตทรงเป็นเจ้าชายจากการประสูติ พร้อมกับพระอิสริยยศขั้นเจ้าฟ้า (HRH)
เมื่อยังทรงพระเยาว์ เจ้าฟ้าชายอัลเบิร์ตทรงสนิทสนมกับพระเชษฐามาก เนื่องจากปัญหาความไม่ลงรอยระหว่างพระบิดาและพระมารดา ซึ่งจบลงด้วยการหย่าร้าง เจ้าฟ้าหญิงหลุยส์พระมารดานั้นถูกกีดกันออกจากอาณาจักรของพระบิดา และไม่ได้พบหน้าพระราชโอรสทั้งสองอีกเลยชั่วชีวิต จนสุดท้ายก็ได้สิ้นพระชนม์เมื่อมีพระชันษาได้เพียง 30 ปีเพราะพระโรคมะเร็ง อย่างไรก็ตามเจ้าชายทั้งสองพระองค์ได้รับการศึกษาอย่างดี ทั้งสองทรงสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยบอนน์ ในสาขาวิชาที่เจ้าชายทุกพระองค์ในสมัยนั้นจะต้องเรียนคือวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ เศรษฐศาสตร์การเมือง และปรัชญา นอกจากนี้ยังทรงพระปรีชาสามารถในวิชาดนตรี ศิลปะ และกีฬาอีกหลายชนิด
[แก้] เสกสมรส
สมเด็จพระราชาธิบดีเลโอปอลด์ที่ 1 แห่งเบลเยี่ยม ซึ่งเป็นพระราชมาตุลา (พี่ชายหรือน้องชายของแม่) ของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียและเป็นพระราชปิตุลา (พี่ชายหรือน้องชายของพ่อ) ของเจ้าฟ้าชายอัลเบิร์ตนั้น ทรงมีแผนการตลอดเวลาที่จะจับให้พระราชนัดดาทั้ง 2 ของพระองค์เสกสมรสกัน เช่นเดียวกับดัชเชสแห่งเคนท์ พระราชมารดาในสมเด็จพระราชินีนาถ ซึ่งทรงพระประสงค์เช่นเดียวกัน ในเดือนพฤษภาคมพ.ศ. 2379 ดยุคผู้ปกครองเซก-โคเบิร์ก กอธธา เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยพระโอรสทั้ง 2 พระองค์เยือนพระราชวังเคนซิงตัน เพื่อที่จะพบเจ้าหญิงวิกตอเรียแห่งเคนท์ (พระอิสริยยศในขณะนั้น)
อย่างไรก็ดี สมเด็จพระเจ้าวิลเลียมที่ 4 พระราชปิตุลาของเจ้าหญิงวิกตอเรียไม่พอพระทัยกับแผนการนี้เลย ทรงพระราชประสงค์ให้พระรัชทายาทของพระองค์เสกสมรสกับเจ้าฟ้าชายอเล็กซานเดอร์ พระราชโอรสองค์รองของสมเด็จพระราชาธิบดีวิลเลียมที่ 2 แห่งเนเธอร์แลนด์
เดือนตุลาคม พ.ศ. 2382 หลังจากที่สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียครองราชย์แล้วได้ 2 ปีเศษ เจ้าฟ้าชายอัลเบิร์ต พร้อมด้วยพระเชษฐาเจ้าฟ้าชายเอิร์นสท์ เสด็จเยือนอังกฤษอีกครั้งเพื่อตกลงครั้งสุดท้าย ทั้ง 2 พระองค์ทรงหมั้นกันเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2382 สมเด็จพระราชินีนาถทรงร่างพระราชสาสน์แสดงพระราชประสงค์จะเสกสมรสถึงสภาเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน ปีเดียวกันนั้น และในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2383 ทั้งสองก็เข้าพระราชพิธีอภิเษกสมรส ที่พระราชวังเซ้นท์เจมส์ ก่อนวันพระราชพิธี 4 วัน สมเด็จพระราชินีนาถมีพระราชโองการสถาปนาพระคู่หมั้นให้ดำรงพระอิสริยยศเป็น เจ้าฟ้า (HRH) แห่งสหราชอาณาจักร พร้อมทั้งทรงแต่งตั้งเป็นอภิรัฐมนตรีสภา อย่างไรก็ตามนายกรัฐมนตรีอังกฤษในขณะนั้น (ลอร์ดเมาเบิร์น) คัดค้านพระราชดำริที่จะพระราชทานพระอิสริยยศ สมเด็จพระราชา (King Consort)
แต่ส่วนพระองค์เจ้าฟ้าชายอัลเบิร์ตแล้ว พระองค์ไม่ทรงพระราชประสงค์พระอิสริยยศของทางฝั่งอังกฤษเลย [1] เจ้าฟ้าชายอัลเบิร์ตทงบันทึกไว้ว่า "เหมือนกับเป็นการก้าวถอยหลัง สำหรับการเป็นเพียงดยุคแห่งแซ็กโซนี เรารู้สึกว่าตัวเราเองสูงส่งกว่าดยุคแห่งยอร์ค หรือแห่งเคนท์มากนัก พระอิสริยยศของพระองค์ในประเทศอังกฤษ รวมทั้งเครือจักรภพอื่นๆ (ตามพระบรมราชโองการของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย ลงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2383 สถาปนาพระองค์ให้ทรงเป็นเพียง) เจ้าฟ้าชายอัลเบิร์ต (HRH the Prince Albert) เท่านั้น จนกระทั่งอีก 17 ปีต่อมาพระองค์จึงทรงได้รับการพระราชทานสถาปนาเป็น เจ้าชายพระราชสวามี (the Prince Consort) แต่ตลอดชั่วพระชนม์ชีพนั้น พระองค์ทรงเป็นที่รู้จักในพระราชสมัญญาเจ้าชายพระราชสวามี ตลอดอยู่แล้ว
[แก้] พระราชกรณียกิจ
ส่วนนี้ของบทความยังไม่สมบูรณ์ คุณสามารถช่วยวิกิพีเดียได้โดยเพิ่มเติมเนื้อหาในส่วนนี้ |
[แก้] ปลายพระชนม์ชีพ
ส่วนนี้ของบทความยังไม่สมบูรณ์ คุณสามารถช่วยวิกิพีเดียได้โดยเพิ่มเติมเนื้อหาในส่วนนี้ |
[แก้] พระอิสริยยศ
- พ.ศ. 2362-พ.ศ. 2369: His Highness Prince Albert of Saxe-Coburg-Saalfield, Duke in Saxony
- พ.ศ. 2369-พ.ศ. 2383: His Highness Prince Albert of Saxe-Coburg and Gotha, Duke in Saxony
- พ.ศ. 2383-พ.ศ. 2400: His Royal Highness Prince Albert of Saxe-Coburg and Gotha, Duke in Saxony
- พ.ศ. 2400-พ.ศ. 2404: His Royal Highness The Prince Consort
[แก้] เกร็ด
เจ้าฟ้าชายอัลเบิร์ตเป็นที่รู้จักกันดีในพระราชสมัญญา "ตาแห่งยุโรป" (Grandfather of Europe) จากการเสกสมรสกับสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย พระองค์ทรงมีพระเจ้าลูกเธอ 9 พระองค์ และมีพระเจ้าหลานเธอ 40 พระองค์ ซึ่งบางพระองค์ได้เสด็จขึ้นเถลิงราชย์เช่น สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5แห่งสหราชอาณาจักร สมเด็จพระจักรพรรดิวิลเลียมที่ 2 แห่งเยอรมัน สมเด็จพระราชาธิบดีโอลาฟที่ 5 แห่งนอร์เวย์ และสมเด็จพระราชาธิบดีคารอลที่ 2 แห่งโรมาเนีย สมเด็จพระราชาธิบดีจอร์จที่ 2 แห่งกรีซ สมเด็จพระราชาธิบดีอเล็กซานเดอร์ที่ 1 แห่งกรีซ สมเด็จพระราชาธิบดีปอล แห่งกรีซ และเจ้าฟ้าชายวอลดิเมอร์ ซึ่งเป็นรัชทายาทผู้จะสืบราชบัลลังก์รัสเซีย สมเด็จพระราชินีโซฟี แห่งกรีก สมเด็จพระราชินีม้อด แห่งนอร์เวย์ สมเด็จพระจักรพรรดินีซารินาอเล็กซานดรา แห่งรัสเซีย สมเด็จพระราชินีมารี แห่งโรมาเนีย และสมเด็จพระราชินีวิกตอเรีย แห่งสเปน
พระราชนัดดาของพระราชนัดดาของพระองค์คือพระเจ้าแผ่นดินประเทศยุโรปทุกพระองค์ในปัจจุบัน (ยกเว้นสมเด็จพระราชินีนาถเบียทริกซ์ แห่งเนเธอร์แลนด์) คือสมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร สมเด็จพระราชินีนาถมาร์เกรเธที่ 2 แห่งเดนมาร์ก สมเด็จพระราชาธิบดีคาร์ลที่ 16 กุสตาฟ แห่งสวีเดน สมเด็จพระราชาธิบดีควน คาลอสที่ 1 แห่งสเปน สมเด็จพระราชาธิบดีคอนสแตนตินที่ 2 แห่งกรีซ นอกจากนี้ยังรวมถึงสมเด็จพระราชินีแอนน์ มาเรีย แห่งกรีซ และเจ้าฟ้าชายฟิลิป ดยุคแห่งเอดินบะระ ด้วย
[แก้] ดูเพิ่ม
สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย แห่งสหราชอาณาจักร
พระราชสันตติวงศ์ในสมเด็จพระบรมราชินีนาถวิกตอเรีย
สมเด็จพระราชาธิบดีคริสเตียนที่ 9 แห่งเดนมาร์ก
[แก้] ในประเทศไทย
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต ทรงพระนิพนธ์พระราชประวัติสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย และเจ้าฟ้าชายอัลเบิร์ต ไว้ในแบบนวนิยายอิงประวัติศาสตร์เรื่อง "พระราชินีนาถวิคตอเรีย" (สะกดตามที่ทรงใช้)
[แก้] เชิงอรรถ
- ↑ (เจ้าฟ้าชายจอร์จ แห่งเดนมาร์ก ซึ่งเป็นคอนสอร์ทชายพระองค์ต่อมา (พระราชสวามีในสมเด็จพระราชินีนาถแอนน์)นั้น ทรงได้รับการสถาปนาเป็นดยุคแห่งคัมเบอร์แลนด์จากพี่เขยของพระองค์ (สมเด็จพระเจ้าวิลเลียมที่ 3)
สมัยก่อนหน้า: สมเด็จพระราชินีอเดเลด |
เจ้าชายพระราชสวามีแห่งสหราชอาณาจักร ใน สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย |
สมัยถัดไป: สมเด็จพระราชินีอเล็กซานดรา |