จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
แมวป่าหัวแบน แมวป่าชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Prionailurus planiceps อยู่ในวงศ์เสือและสิงโต (Felidae) ที่มีขนาดเล็กที่สุด โดยเป็นแมวป่าขนาดเล็ก ขาและหางสั้น ใบหูเล็ก ขนตามลำตัวสีน้ำตาลแดงหรือส้ม ส่วนปลายของขนแต่ละเส้นมีขาวปนเทาหรือเหลืองอ่อน ลักษระเด่นคือ หัวที่มีรูปร่างยาวและแบน อันเป็นที่มาของชื่อ ลูกแมวป่าหัวแบนจะมีจุดสีขาวบริเวณหลังหู อุ้งเท้าแคบและยาว มีขนากลำตัวและหัวยาว 46.5 - 48.5 ซ.ม. ความยาวหาง 12.8 - 13 ซ.ม. น้ำหนัก 1.5 - 2.2 ก.ก. มีการกระจายพันธุ์อยู่ทางภาคใต้ของประเทศไทย มาเลเซีย เกาะสุมาตราและเกาะบอร์เนียว โดยอาศัยและหากินอยู่ตามพื้นที่ชุ่มน้ำ เช่น ป่าพรุ หรือป่าที่น้ำท่วมขังหรือพื้นที่ใกล้แหล่งน้ำ อาหารได้แก่ สัตว์ขนาดเล็ก เช่น กบ ปลา สัตว์น้ำชนิดต่าง ๆ รวมถึงผลไม้บางประเภทด้วย จัดเป็นเสือชนิดที่หายากชนิดหนึ่งของโลก เนื่องจากพบเห็นตัวได้ยากและมีรายงานพบเห็นในธรรมชาติเพียงไม่กี่ครั้ง แม้แต่ภาพถ่ายก็ยังมีเพียงไม่กี่รูปเท่านั้น สถานะของแมวป่าหัวแบนในสหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ (IUCN) จัดให้อยู่ในระดับ LR/nt คือ สัตว์ที่มีความเสี่ยงน้อยต่อการสูญพันธุ์แต่อาจเป็นไปได้ที่จะเข้าสู่สถานภาพมีความเสี่ยงสูงต่อการสูญพันธุ์ในอนาคต
[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น