โคลนถล่ม
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
โคลนถล่ม เป็นภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นตามเชิงเขา โดยอาจจะเป็นการถล่มของโคลน น้ำ สิ่งปฏิกูล เศษขยะ ดินเปียก ฝุ่นผง เถ้าภูเขาไฟ ต้นไม้ และท่อนซุง
โคลนถล่มอาจเกิดหลังจากฝนตกหนักและเกิดน้ำท่วมฉับพลัน สาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดโคลนถล่มก็คือ การตัดไม้ทำลายป่า ทำให้ไม่มีรากไม้ที่จะยึดดิน ทำให้ดินถล่มได้ง่าย
สารบัญ |
[แก้] โคลนถล่มในประเทศไทย
- 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 เกิดฝนตกหนัก และน้ำท่วมฉับพลัน ส่งผลให้มีดินโคลนถล่มในพื้นที่ อ. ลับแล จ. อุตรดิตถ์ คาดว่าผู้เสียชีวิตอาจจะถึง 100 ราย
- 10 สิงหาคม พ.ศ. 2544 น้ำป่าโคลนถล่ม ที่ ต. น้ำก้อ ต. น้ำชุน ต. หนองไขว่ ใน อ. หล่มสัก จ. เพชรบูรณ์ บ้านเรือนเสียหาย 515 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 131 คน
- 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2544 น้ำป่าทะลักจากอุทยานแห่งชาติเวียงโกศัย ถล่มใส่หลายหมู่บ้านใน อ. วังชิ้น จ. แพร่ มีผู้เสียชีวิต 23 ศพ ศูนย์หาย 16 ราย บาดเจ็บ 58 ราย
- 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2531 ที่ ต. กะทูน อ. พิปูน จ. นครศรีธรรมราช มีผู้เสียชีวิตถึง 700 ศพ
ลักษณะหมู่บ้านในหุบเขา ที่ถูกดินถล่ม ( อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ ) |
[แก้] โคลนถล่มที่ ตำบลกระทูน อำเภอพิปูน จังหวัดนครศรีธรรมราช
ก่อนวันเกิดเหตุ 3- 4 วันได้เกิดพายุดีเพรสชั่น มีฝนตกปรอยๆ ต่อเนื่องมาหลายวัน ทำให้พื้นดินรวมทั้งเชิงเขาที่ชาวบ้านขึ้นไปปลูกยางพาราบนพื้นที่เดิมที่เปรียบเสมือนฟองน้ำตั้งเอียงที่พอซับน้ำได้พอประมาณเท่านั้น หมดขีดความสามารถในการอุ้มน้ำ น้ำที่อุ้มไว้อย่างเอียงๆ เต็มที่แล้วนั้น นอกจากจะทำให้ดินมีน้ำหนักมากขึ้น ยังลดความฝืดของอณูดินเองกับหล่อลื่นรากพืชที่ช่วยกันต้านแรงดึงดูดของโลกไว้ เมื่อมีฝนระลอกใหญ่ตกเพิ่มเติมลงมาในวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2531 ดังกล่าว จึงทำให้พื้นที่ที่หมดขีดความสามารถในการอุ้มน้ำส่วนบนบางส่วนพังทลายลงมาในรูปของโคลนถล่มพร้อมกับต้นไม้เดิมและต้นยางพาราไหลทลายทับถมลงมาในลักษณะโดมิโน พื้นที่ลาดชันบางส่วนแม้จะแข็งแรงรับนำหนักตัวเองได้พอควรอยู่ก่อน ย่อมไม่อาจรับน้ำหนักโคลนและท่อนไม้ที่ไหลทลักที่มีความเร่งเพิ่มยกกำลังสองตามกฎแรงดึงดูดของโลก นอกจากนี้น้ำส่วนบนที่เบากว่ายังยกระดับสูงได้อย่างรวดเร็วภายในเวลานับเป็นเพียงนาทีเท่านั้น บ้านเรือนที่ปกติปลูกสูงพอสมควรก็มักถูกทำลายได้มากมายในพริบตาเช่นกัน
แอ่งตำบลกระทูนมีพื้นที่ประมาณ 70 ตารางกิโลเมตร มีทางน้ำและลำธารหลายสายซึ่งรับน้ำจากเชิงเขาโดยรอบที่เรียกว่าพื้นที่รับน้ำ (Watershed) ที่ประมาณจากแผนที่ภูมิประเทศเพียง 200-300 ตารางกิโลเมตรไหลมารวมที่ช่องระบายน้ำออกจากแอ่งเขาพิปูนที่กว้างเพียงประมาณ70 เมตร ทำให้โคลนและซุงมารวมจุดขวางทางอยู่ ความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินจึงเกิดสูงมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์
เหตุการณ์ในลักษณะนี้ไม่เกิดขึ้นบ่อย แต่เป็นที่ตระหนักกันดีในเชิงอุทกศาสตร์และการป้องกันภัยธรรมชาติ ชาวบ้านและทางราชการที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงจึงให้ความสำคัญน้อย และมักปล่อยให้มีการตั้งถิ่นฐานในพื้นที่เสี่ยงนั้นต่อไปอีกเมื่อเวลาเนิ่นออกไปด้วยเหตุผลทางสังคม กฎหมายที่มีอยู่ก็เพียงเพื่อบรรเทาและให้ความช่วยเหลือในระยะสั้น มิได้กำหนดมาตรการทางกฎหมายในด้านการตั้งถิ่นฐานระยะยาวบนพื้นที่เสี่ยงไว้
ปรากฏการณ์โลกร้อน (Global warming) แม้จะเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติระยะยาว แต่การพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็วและการเผาผลานเชื้อเพลิงซากดึกดำบรรพ์จำนวนมหาศาลของมนุษย์กำลังเพิ่มอัตราความเร็วและความรุนแรงของภัยธรรมชาติที่รุนแรงและค่อนข้างพยากรณ์ได้ยาก ประเทศไทยมีพื้นที่เสี่ยงสูงเช่นนี้มากมายหลายแหล่ง รวมทั้งพื้นที่ที่กรมทรัพยากรธรณีได้ประกาศไว้แล้วจึงไม่ควรละเลยภัยธรรมชาติประเภทโคลนถล่มอีกต่อไป
[แก้] อ้างอิง
- ย้อนรอยวิปโยค "น้ำท่วม-โคลนถล่ม" มติชน 24 พ.ค. 2549 จากเว็บกรมทรัพยากรธรณี
[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น
- พระราชบัญญัติป้องกันฝ่ายพลเรือน พ.ศ. 2522
- รู้ได้อย่างไรว่าที่ไหนจะเกิด ดินถล่ม-โคลนถล่ม? กรุงเทพไอที นสพ. กรุงเทพธุรกิจ 9 ก.ย. 2547
โคลนถล่ม เป็นบทความเกี่ยวกับ ธรรมชาติ และศาสตร์ต่างๆที่เกี่ยวข้อง ที่ยังไม่สมบูรณ์ ต้องการตรวจสอบ เพิ่มเนื้อหา หรือเพิ่มแหล่งอ้างอิง คุณสามารถช่วยเพิ่มเติมหรือแก้ไข เพื่อให้สมบูรณ์มากขึ้น ข้อมูลเกี่ยวกับ โคลนถล่ม ในภาษาอื่น อาจสามารถหาอ่านได้จากเมนู ภาษาอื่น ด้านซ้ายมือ |