กฎหมายสาธารณสุข
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
การคุ้มครองสุขภาพประชาชนของพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535
ในการดำเนินชีวิตประจำวันวันของคนในสังคม มักจะมีการประกอบกิจกรรมต่างๆหลากหลาย การปล่อยปละละเลย ไร้กฎกติกาควบคุม ย่อมส่งผลกระทบต่อสุขภาพส่วนรวมของคนในสังคมอย่างเลี่ยงไม่พ้น
เพื่อให้ประชาชนมีการดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ การออกเทศบัญญัติตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 เพื่อคุ้มครองสุขภาพของประชาชนจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด
[แก้] เจตนารมณ์ของกฎหมายสาธารณสุข
เจตนารมณ์ของกฎหมายสาธารณสุข คือ ความต้องการให้ประชาชน อยู่ในสภาวะแวดล้อมที่ไร้มลพิษ เช่น อาศัยอยู่ในอาคารที่ถูกสุขลักษณะ มีห้องน้ำห้องส้วม มีที่เก็บรวบรวมขยะมูลฝอย มีการระบายอากาศที่ดี มีแสงสว่างเพียงพอ ที่หรือทางสาธารณะในชุมชนสะอาด เป็นระเบียบ กินอาหารที่ปลอดภัยไม่มีสารปนเปื้อน ทำงานในสถานที่ทำงานที่สะอาด ปลอดภัย มีชีวิตชีวา มีมาตรการป้องกันอันตรายต่อสุขภาพ จากการกระทำของบุคคล หรือ จากสถานประกอบการ
ดังนั้น การคุ้มครองสุขภาพประชาชนตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 จำเป็นต้องอาศัยรายละเอียดจากกฎกระทรวง ซึ่งเป็นคำแนะนำของคณะกรรมการสาธารณสุขที่กำหนดเป็นมาตรฐานทางวิชาการเป็นแนวทางให้ราชการส่วนท้องถิ่นออกข้อกำหนดท้องถิ่นสำหรับบังคับใช้ในพื้นที่ และ ให้บริการสาธารณกิจที่เกี่ยวข้องกับวิถีการดำเนินชีวิตของประชาชน ซึ่งประกอบด้วย การควบคุมการกำจัดสิ่งปฏิกูล มูลฝอยที่เกิดจากครัวเรือน และ ชุมชน การควบคุมสุขลักษณะอาคารให้ อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ดี ปราศจากความสกปรกรกรุงรัง และ ไม่มีผู้คนอยู่อาศัยมากเกินไป การควบคุมดูแลกิจการเกี่ยวกับอาหาร เช่น ตลาดสด ร้านอาหาร ร้านขายของชำ หาบเร่ แผงลอย ให้ถูกสุขลักษณะ ซึ่งนอกจากโครงสร้างอาคารสถานที่สะอาดเป็นระเบียบแล้ว ยังรวมไปถึงประเภทและชนิดของ อาหาร ภาชนะ อุปกรณ์ต้องมีความสะอาด ปลอดภัย การควบคุมดูแลกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพจำนวน 133 กิจการ ต้องควบคุมทั้งกระบวนการผลิต และ การให้บริการที่อาจก่อเกิดมลพิษ หรือ เป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชน ให้มีระบบที่ถูกหลักวิชาการ วิธีการขจัด หรือ ป้องกันมลพิษที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และ ต้องไม่ก่อให้เกิดเหตุเดือดร้อนรำคาญ อันเป็นการละเมิดสิทธิของประชาชนข้างเคียง
การกำหนดเขตห้ามเลี้ยงและปล่อยสัตว์ ไม่ให้เกินกว่าจำนวนที่กำหนด รวมทั้งเงื่อนไขการปฏิบัติเพื่อป้องกันปัญหา และ ไม่ก่อให้เกิดเหตุเดือดร้อนรำคาญ
การกำหนดเขตควบคุมการ จำหน่ายสินค้าในที่หรือทางสาธารณะ เพื่อเกิดความเป็นระเบียบในชุมชน
นอกเหนือจากกฎกระทรวงแล้ว ก่อนที่ราชการส่วนท้องถิ่นจะออกใบอนุญาต หรือ ออกหนังสือรับรองการแจ้งกับผู้ประกอบการ จำเป็นอย่างยิ่งที่ราชการส่วนท้องถิ่น จะต้องดำเนินการตรวจความถูกต้องของเอกสาร ควบคู่ไปกับการตรวจสอบอาคารสถานที่ อุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ พร้อมทั้งให้คำแนะนำทางวิชาการ โดยอาศัยคำแนะนำจากเจ้าพนักงานสาธารณสุข ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานสายวิชาการทุกครั้ง
หากดำเนินการอย่างเคร่งครัดทุกขั้นตอนแล้ว ความศักดิ์สิทธ์ของกฎหมายสาธารณสุข ในการคุ้มครองสุขภาพของประชาชนก็จะบรรลุเจตนารมณ์ของการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น และ ธำรงไว้ซึ่งความเป็นกฎหมายมหาชน ย่อมบังเกิดขึ้นอย่างแน่นอน