ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (The Stock Exchange of Thailand - SET) เป็นตลาดหลักทรัพย์ของประเทศไทย จัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พ.ศ. 2517 อยู่ภายใต้การกํากับดูแลโดยสํานักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) เปิดทำการซื้อขายขึ้นอย่างเป็นทางการครั้งแรกในวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2518 ทำหน้าที่เป็นตลาดรองเพื่อแลกเปลี่ยนซื้อขายตราสารทุน ของบริษัทต่างๆ ที่ขึ้นทะเบียนไว้ และ เพื่อให้สามารถระดมเงินทุนเพิ่มเติมจากสาธารณะได้โดยสะดวก ปัจจุบันการดำเนินงานของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย อยู่ภายใต้พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535
เวลาทำการของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยคือวันจันทร์ถึงวันศุกร์ มี 2 ช่วงคือ ช่วงเช้า 10.00น. - 12.30น. ช่วงบ่าย 2.30น. - 4.30 น. และหยุดตามวันหยุดของทางราชการ กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์คนปัจจุบันคือ นางภัทรียา เบญจพลชัย
สารบัญ |
[แก้] ประวัติความเป็นมาของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ประวัติความเป็นมา ประเทศไทยได้มีการจัดตั้งบริษัทเงินทุนและหลักทรัพย์ขึ้นเป็นครั้งแรกในรูปของบริษัทหลักทรัพย์ก่อนด้านอื่นเมื่อวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2492 คือบริษัทเบิร์ด จนกระทั้งถึงปี พ.ศ. 2506 จึงเริ่มเดินงานด้านกิจการนายหน้าค้าหุ้นอย่างจริงจัง ในระยะนี้มีบริษัทหลักทรัพย์เกิดขึ้นอีกบริษัท คือ บริษัทลีกวนมิ้ง จำกัด จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2502 ครั้งถึงปี พ.ศ. 2503 กลุ่มเอกชนส่วนใหญ่เป็นชาวต่างประเทศได้จัดตั้งสถาบันการเงินประเภทบริษัทจัดการลงทุน(Investment Management Company)ขึ้นดำเนินการในลักษณะ"กองทุนรวม" (Mutual Fund)โดยให้ใช้ชื่อว่ากองทุนรวมไทย (Thai Investment Fund) หรือ TIF ต่อมาในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2505 กลุ่มอุตสหกิจไทยเอกชนได้ร่วมกันจัดตั้งกิจการดำเนินงานในลักษณะสถานปริวรรตหุ้นที่เรียกว่าตลาดหลักทรัพย์โดยใช้ชื่อว่า บริษัทตลาดหุ้นกรุงเทพ จำกัด(Bangkok Stock Exchange)
ตลาดหุ้นกรุงเทพ (Bangkok Stock Exchange) ตลาดดังกล่าวใช้เป็นสถานที่ซึ่งสมาชิกชุมนุมเพื่อแลกเปลี่ยนชื้อขายหลักทรัพย์ ตลาดหุ้นที่มีอยู่ขณะนั้นไม่ได้ทำหน้าที่ตลาดหุ้นอย่างแท้จริง คือ การซื้อขายหุ้นที่สมาชิกกระทำให้ลูกค้านั้นมิได้กระทำในตลาดหุ้น แต่จะกระทำที่สำนักงานของสมาชิกแต่ละคน นอกจากนี้การบริหารตลาดหุ้นก็ยังไม่มีประสิทธิภาพดีพอ อุปสรรคที่สำคัญในการดำเนินธุรกิจหลักทรัพย์ คือ บริษัทหลักทรัพย์ต่างๆ มีทุนในปริมาณจำกัดทำให้ไม่สามารถขยายธุรกิจในด้านนี้ได้อย่างกว้างขวางเพียงพอและไม่คึกคักเท่าที่ควร ถึงแม้ว่าจะมีพื้นฐานในการจัดตั้งที่ดีการซื้อขายในตลาดหุ้นกรุงเทพ ก็ไม่ได้รับความสนใจมากนักมูลค่าการซื้อขายมีเพียง 160 ล้านบาทในปี พ.ศ. 2511 และ 114 ล้านบาทในปี พ.ศ. 2512 การซื้อขายมีปริมาณลดลงเป็น 46 ล้านบาทในปี พ.ศ. 2513 และลดลงเหลือ 28 ล้านบาทในปี พ.ศ. 2514 การซื้อขายหุ้นกู้มีมูลค่าถึง 87 ล้านบาทในปี พ.ศ. 2515 แต่การซื้อขายหุ้นก็ยังไม่เป็นที่สนใจ โดยมูลค่าการซื้อขายหุ้นที่ต่ำที่สุดมีเพียง 26 ล้านบาทเท่านั้น และ ในที่สุดตลาดหุ้นกรุงเทพก็ต้องปิดกิจการลง เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่าตลาดหุ้นกรุงเทพไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เนื่องจากขากการสนับสนุนจากภาครัฐ ประกอบกับประชาชนยังขาดความรู้ความเข้าใจที่เพียงพอ ในเรื่องตลาดทุน การพัฒนาบริษัทต่างๆในประเทศไทยส่วนใหญ่จึงเกิดจากเงินทุนของเจ้าของกิจการเป็นส่วนใหญ่ ถ้ามีเงินไม่เพียงพอก็กู้ยืมจากสถาบันการเงินที่มีอยู่ในขณะนั้น
ในปี พ.ศ. 2510 ธนาคารแห่งประเทศไทยได้เชิญศาสตราจารย์ซิดนีย์ เอ็ม. รอบบินส์(Sydney M.Robbins) ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาตลาดทุน และเป็นศาสตราจารย์ประจำภาควิชาการเงิน จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย สหรัฐอเมริกา เข้ามาช่วยศึกษาโครงสร้างตลาดเงินและตลาดทุนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2512 ต่อมาเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2513 ก็ได้เสนอรายงานต่อธนาคารแห่งประเทศไทย ในเอกสารชื่อ"A Capital Market in Thailand" หรือ "ตลาดทุนในประเทศไทย" รายงานฉบับนี้ชี้ให้เห็นถึงปริมาณหลักทรัพย์และผู้สนใจซื้อขายหลักทรัพย์ในขณะนั้นว่ามีอยู่จำนวนมาก รวมทั้งมีปัญหากฎหมายและอื่นๆอีกหลายประการ และได้เสนอแนะหลักการและแนวทางเพื่อการแก้ไขปัญหาตลาดทุนของประเทศไทยไว้
ในปี พ.ศ. 2515 รัฐบาลได้เข้ามามีบทบาทโดยการแก้ไข"ประกาศคณะปฏิวัติที่ 58 เกี่ยวกับการควบคุมธุรกิจ การค้า ที่มีผลกระทบต่อความปลอดภัยและความเป็นอยู่ของประชาชน" การแก้ไขดังกล่าวส่งผลให้รัฐบาลสามารถกำกับดูแล การดำเนินงานของบริษัทเงินทุนและหลักทรัพย์ ซึ่งทำให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีระเบียบและยุติธรรม ผลจากข้อเสนอแนะของศาสตราจารย์ซิดนีย์ เอ็ม. รอบบินส์ ทางคณะกรรมการมีความเห็นว่าควรรวมการซื้อขายหลักทรัพย์ในประเทศไทยให้อยู่ที่เดียวกัน และควรเปิดโอกาสใหประชาชนทั่วไปได้เห็นวีธีการประมูลซื้อขายด้วย ในที่สุดกระทรวงการคลังได้พิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการจัดตั้งตลาดหุ้น และได้มีการประกาศใช้ประราชบัญญัติตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พ.ศ. 2517 เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2517 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดให้มีแหล่งกลางสำหรับการซื้อขายหลักทรัพย์ เพื่อส่งเสริมการออมทรัพย์และการระดมทุนในประเทศ ตามมาด้วยการแก้ไขบทบัญญัติเกี่ยวกับรายได้เพื่อให้สามารถนำเงินออมมาลงทุนในตลาดทุนได้ เมื่อได้เตรียมการต่างๆแล้วจึงได้เปิดทำการซื้อขายครั้งแรกเมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2518 และทำพิธีเปิดตลาดหลักทรัพย์อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2518 และทำพิธีเปิดตลาดหลักทรัพย์อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2518 ภายใต้การควบคุมของกระทรวงการคลัง และไต้ทำการเปลี่ยนชื่อภาษาอังกฤษเป็นจากเดิม "Securities Exchange of Thailand" มาเป็น "Stock Exchange of Thailand"(SET)เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2534
[แก้] ดัชนีกลุ่มอุตสาหกรรม และดัชดีหมวดอุตสาหกรรม
นอกเหนือไปจากดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยซึ่งถูกคำนวณจากราคาหุ้นสามัญของทุก ๆ บริษัทจดทะเบียนในกระดานหลักแล้ว ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยยังได้สร้างดัชนีกลุ่มอุตสาหกรรม และหมวดอุตสาหกรรม ซึ่งคำนวณจากราคาหุ้นสามัญทั้งหมด ที่อยู่ในแต่ละกลุ่มหรือหมวดอุตสาหกรรม
ดัชนีกลุ่มอุตสาหกรรม ถูกนำมาใช้เป็นครั้งแรกในวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2546 โดยมีระดับดัชนีเริ่มต้นที่ 100 จุด
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ประกอบไปด้วย 8 กลุ่มอุตสาหกรรมดังต่อไปนี้
- เกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร
- สินค้าอุปโภคบริโภค
- ธุรกิจการเงิน
- สินค้าอุตสาหกรรม
- อสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง
- ทรัพยากร
- บริการ
- เทคโนโลยี
[แก้] มูลค่าตลาด
10 อันดับหลักทรัพย์ที่มีมูลค่าตลาดสูงสุด
อันดับ | บริษัท | มูลค่าตลาด | กลุ่ม |
---|---|---|---|
1 | ปตท. | 594,575,290,100 | Energy |
2 | ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม | 344,976,271,500 | Energy |
3 | ปูนซีเมนต์ไทย | 288,000,000,000 | Construction |
4 | แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส | 262,792,492,070 | Communication |
5 | ธนาคารกรุงเทพ | 211,881,561,234 | Banking |
6 | ธนาคารกสิกรไทย | 160,781,026,478 | Banking |
7 | ธนาคารกรุงไทย | 133,039,013,100 | Banking |
8 | ไออาร์พีซี | 132,600,000,000 | Energy |
9 | ไทยออยล์ | 120,361,644,507 | Energy |
10 | ธนาคารไทยพาณิชย์ | 117,330,977,502 | Banking |
ในวันที่ 22/09/2549
[แก้] ดูเพิ่ม
- ตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (MAI) ตลาดหลักทรัพย์ของประเทศไทย ที่เน้นกิจการขนาดกลางและขนาดย่อมและกิจการเกี่ยวกับนวัตกรรม
[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น
- ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
- สถาบันพัฒนาความรู้ตลาดทุน
- สํานักงานคณะกรรมการกํากับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
- สมาคมบริษัทหลักทรัพย์
- สมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์
- ชมรมนักลงทุนเน้นคุณค่าไทย
- ข่าวประชาสัมพันธ์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เป็นบทความเกี่ยวกับ เศรษฐศาสตร์ การเงิน ธุรกิจ หรือ การค้า ที่ยังไม่สมบูรณ์ ต้องการตรวจสอบ เพิ่มเนื้อหา หรือเพิ่มแหล่งอ้างอิง คุณสามารถช่วยเพิ่มเติมหรือแก้ไข เพื่อให้สมบูรณ์มากขึ้น ข้อมูลเกี่ยวกับ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในภาษาอื่น อาจสามารถหาอ่านได้จากเมนู ภาษาอื่น ด้านซ้ายมือ |