นักศึกษาวิชาทหาร
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
นักศึกษาวิชาทหาร (นศท.) นิยมเรียกกันว่า ร.ด. เป็นกำลังสำรองของกองทัพไทยที่ฝึกหัดจากเยาวชนที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป ภายใต้การควบคุมของกรมการรักษาดินแดน หรือ หน่วยบัญชาการกำลังสำรองในปัจจุบัน
ภายหลังจากการยกเลิกการฝึกยุวชนทหารในปี พ.ศ. 2490 ในปีถัดมา พลโท หลวงชาตินักรบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในสมัยนั้น ได้พิจารณาเห็นว่า การสงครามในอนาคตนั้น พลเมืองทุกคนไม่จำกัดเพศและวัย ย่อมจะต้องมีส่วนร่วมในสงครามด้วยกันทั้งสิ้น จึงมีความจำเป็นต้องขยายโครงสร้างของกองทัพ พร้อมกับพัฒนาระบบกำลังสำรองควบคู่กันไป
กระทรวงกลาโหมจึงจัดตั้งกรมการรักษาดินแดนขึ้น ตามพระราชบัญญัติ จัดระเบียบป้องกันราชอาณาจักร พุทธศักราช 2491 และคำสั่งทหารที่ 54/2477 ลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2491 เพื่อดำเนินการตามวัตถุประสงค์ดังกล่าว กิจการนักศึกษาวิชาทหารจึงเริ่มมีขึ้นนับแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
[แก้] การคัดเลือก
ช่วงเดือนพฤษภาคมของทุกปีจะมีการคัดเลือกนักเรียนนักศึกษาในสถาบันการศึกษาต่างๆเพื่อเข้าเป็นนักศึกษาวิชาทหารโดยผู้เช้ารับการคัดเลือกจะต้องมีคุณลักษณะดังนี้
- เป็นชายหรือหญิงมีสัญชาติไทย
- อายุไม่เกิน 22 ปีบริบูรณ์ นับตามกฎหมายว่าด้วยการรับราชการทหาร และต้องได้รับ คำยินยอมจาก บิดา มารดา หรือผู้ปกครอง
- ไม่พิการ ทุพพลภาพ หรือมีโรค ซึ่งไม่สามารถจะรับราชการทหารได้ ตามกฎหมาย ว่าด้วยการรับราชการทหาร พ.ศ. 2497
- ไม่เป็นบุคคล ซึ่งไม่มีคุณวุฒิที่จะเป็นทหารได้เฉพาะบางท้องที่ ตามกฎหมาย ที่ออกตามความในมาตรา 13 (3) แห่งพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2497
- มีดัชนีความหนาของร่างกาย (BMI) อยู่ในเกณฑ์ปกติ และต้องไม่อยู่ในภาวะ โรคอ้วน ซึ่งมีดัชนีความหนาของร่างกาย ตั้งแต่ 30 กิโลกรัมต่อตารางเมตรขึ้นไป (ดัชนีความหนาของร่างกาย (BMI) = นำหนักตัว (กก.) / ส่วนสูง² (ม.²) )
- มีน้ำหนัก ขนาดรอบตัว ขนาดส่วนสูง ตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้
นอกจากนี้ผู้สมัครจะต้องมีคุณสมบัติดังนี้
- กำลังศึกษาอยู่ในสถานศึกษาที่ หน่วยบัญชาการกำลังสำรอง เปิดทำการฝึกวิชาทหาร
- สำเร็จการศึกษาตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3หรือเทียบเท่าขึ้นไป และมีผลการศึกษา ของชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 หรือเทียบเท่า ตั้งแต่ 1.0 ขึ้นไป
- ผู้สมัครต้องผ่านการทดสอบร่างกาย ตามเกณฑ์ที่กำหนด
[แก้] หลักสูตรและการเรียนการสอน
หลักสูตรนักศึกษาวิชาทหารแบ่งการเรียนเป็น 5ชั้นปีโดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้
- นศท. ชั้นปีที่ 1 และ 2 ให้มีความรู้วิชาทหารเบื้องต้นในระดับลูกแถว เพื่อให้ บังเกิดความมีระเบียบวินัยเสริมสร้างบุคลิกลักษณะทหาร สามารถใช้อาวุธประจำกายและทำการ ยิงอย่างได้ผล
- นศท. ชั้นปีที่ 3 ให้มีความรู้วิชาทหารในระดับผู้บังคับหมู่ เพื่อให้มีความพร้อม ในการควบคุมบังคับบัญชา หน่วยในการปฏิบัติการรบในแบบและการรบนอกแบบ
- นศท. ชั้นปีที่ 4 ให้มีความรู้วิชาทหารในระดับรองผู้บังคับหมวด เพื่อให้มีความพร้อม ในการควบคุมบังคับบัญชา หน่วยในการปฏิบัติการรบในแบบและการรบนอกแบบ
- นศท. ชั้นปีที่ 5 ให้มีความรู้วิชาทหารในระดับผู้บังคับหมวดเพื่อให้มีความพร้อม ในการควบคุมบังคับบัญชา หน่วยในการปฏิบัติการรบในแบบและการรบนอกแบบ
การเรียนการสอนนักศึกษาวิขาทหารแบ่งออกเป็นภาคที่ตั้งและภาคสนาม ในส่วนภาคที่ตั้งทำการเรียน 20 สัปดาห์สัปดาห์ละ 1 วันที่หน่วยฝึกนักศึกษาวิชาทหารในส่วนกลาง (นสร.) และส่วนภูมิภาค (มทบ. และ จทบ.) ส่วนการฝึกภาคสนามจะทำการฝึกเฉพาะนักศึกษาวิชาทหารชั้นปีที่ 3 ขึ้นไป โดยนักศึกษาวิชาทหารชั้นปีที่ 3 จะทำการฝึกทั้งในส่วนกลาง (เขาชนไก่) สำหรับนักศึกษาวิชาทหารในส่วนกลาง (กรุงเทพฯ, นครปฐม, ปทุมธานี, สมุทรปราการ, สมุทรสาคร และนนทบุรี) และส่วนภูมิภาค (มทบ.) ส่วนการฝึกในชั้นปีที่ 4 และ 5 จะทำการฝึกในส่วนกลางทั้งหมด
[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น
![]() |
นักศึกษาวิชาทหาร เป็นบทความเกี่ยวกับ ทหาร การทหาร หรืออาวุธ ที่ยังไม่สมบูรณ์ ต้องการตรวจสอบ เพิ่มเนื้อหา หรือเพิ่มแหล่งอ้างอิง คุณสามารถช่วยเพิ่มเติมหรือแก้ไข เพื่อให้สมบูรณ์มากขึ้น ข้อมูลเกี่ยวกับ นักศึกษาวิชาทหาร ในภาษาอื่น อาจสามารถหาอ่านได้จากเมนู ภาษาอื่น ด้านซ้ายมือ |