ยุวชนทหาร
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ยุวชนทหาร คือ เยาวชนที่ได้รับการฝึกวิชาทหารขึ้นในช่วงระหว่าง พ.ศ. 2477 - 2490 เนื่องจากรัฐบาลไทยสมัยจอมพล ป.พิบูลสงครามมีนโยบายพื้นฟูการฝึกวิชาทหารให้แก่ประชาชน โดยทำการฝึกจากนักเรียนและนิสิตนักศึกษาตามอย่างการฝึกยุวชนนาซีของเยอรมนีและอิตาลี
สารบัญ |
[แก้] วีรกรรมของยุวชนทหาร
วีรกรรมครั้งยิ่งใหญ่ของยุวชนทหารคือ การร่วมมือกับทหารและตำรวจเพื่อต่อต้านการรุกรานจากกองทัพญี่ปุ่นในสงครามมหาเอเชียบูรพาเมื่อวันที่ 8 ธันวาคมพ.ศ. 2484 ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ วีรกรรมของยุวชนทหารที่โดดเด่นที่สุดในการรบครั้งนั้นคือ วีรกรรมที่สะพานท่านางสังข์ จังหวัดชุมพร (ต่อมาได้มีการนำเหตุการณ์ดังกล่าวไปสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง "ยุวชนทหาร เปิดเทอมไปรบ" โดยบริษัทแกรมมี่ฟิลม์ เมื่อ พ.ศ. 2543) ปัจจุบันรัฐบาลได้กำหนดให้วันดังกล่าวเป็นวันนักศีกษาวิชาทหาร ซึ่งที่อนุสาวรีย์ยุวชนทหาร เชิงสะพานท่านางสังข์ จังหวัดชุมพรนั้น จะมีพิธีวางพวงมาลาและการสวนสนามของนักศึกษาวิชาทหาร ในทุกวันที่ 8 ธันวาคม ของทุกปี เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ในครั้งนั้นด้วย
[แก้] ธงประจำกองยุวชนทหาร
ยุวชนทหารมีธงประจำกองเช่นเดียวกับธงชัยเฉลิมพลของหน่วยทหารต่างๆ โดยทั่วไป ปรากฏความในพระราชบัญญัติธง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2481 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัตฺธง พ.ศ. 2479 ว่า ธงประจำกองยุวชนทหารมีอยู่ 2 ชนิด คือ
- ธงยุวชนนายทหาร พื้นเป็นสีธงชาติ ขนาดกว้าง 50 เซนติเมตร ยาว 70 เซนติเมตร ตรงกึ่งกลางธงมีรูปวงกลมสีแดงขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 22 เซนติเมตร มีขอบรอบวงกลมสีเหลืองกว้าง 6 มิลลิเมตร กลางวงกลมมีรูปอย่างตราหน้าหมวกยุวชนทหารสีเหลือง แต่ไม่มีรูปสมอ มีอักษรสีเหลืองขนาดพองามว่า "ยุวชนนายทหาร" เป็นแถวโค้งโอบใต้ขอบวงกลม ที่มุมบนทางคันธงมีอักษรพระบรมนามาภิไธยย่อสีแดง ขลิบริมสีเหลือง รัศมีสีฟ้า อยู่ใต้รูปพระมหามงกุฎสีเหลือง ที่ยอดธงมีแถบธงชาติห้อย 2 แถบ ยอดคันธงเป็นรูปปลายหอกสั้นทำด้วยโลหะสีเงิน มีรูปอุณาโลมทั้งสองข้าง ทั้งนี้ถ้าส่วนใดมิได้กำหนดขนาดไว้ให้มีขนาดพองาม
- ธงยุวชนทหาร มีลักษณะและสัณฐานอย่างธงยุวชนนายทหาร แต่ใต้วงกลมให้ระบุนามจังหวัดที่ได้รับพระราชทาน โดยมีข้อความหน้านามจังหวัดดั่งนี้ "ยุวชนทหารจังหวัด......."
[แก้] การสิ้นสุดของขบวนการยุวชนทหาร
การฝึกยุวชนทหารถูกยกเลิกใน พ.ศ. 2490 ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลงได้ 2 ปี ตามพระราชบัญญัติยกเลิกพระราชบัญญัติยุวชนแห่งชาติ พุทธศักราช 2486 พ.ศ. 2490 เนื่องจากภาวะขาดแคลนครูฝึกและงบประมาณ อย่างไรก็ตาม แนวคิดเกี่ยวกับการฝึกยุวชนทหารนี้ได้พัฒนาต่อมาเป็นการฝึกนักศึกษาวิชาทหาร ภายใต้การควบคุมของกรมการรักษาดินแดน หรือหน่วยบัญชาการกำลังสำรองในปัจจุบัน