มวยไทย
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
มวยไทย คือศิลปะการต่อสู้ของคนไทย ที่ใช้หมัด ศอก แขนท่อนล่าง เท้า แข้ง เข่า ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ศรีษะ และลำตัวในการต่อสู้ ศิลปะการต่อสู้ลักษณะนี้ หลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้มีการฝึกหัด ยกตัวอย่างเช่นกัมพูชา เรียกว่า ประดั่ญ เซเรีย ขอมมวย(Pradal Serey) ลาว เรียก มวยลายลาว(มวยเสือลากหาง)
สารบัญ |
[แก้] ความหมายของคำว่า"มวย"
- อาจมีที่มาจากลักษณะการ ม้วนเชือกหรือผ้า เพื่อใช้หุ้มฝ่ามือและท่อนแขน เพื่อใช้ป้องกันอันตรายขณะต่อสู้ หรืออาจเพิ่มอันตรายในการ ชก กระแทกฟาดโดยการผสม กับ กาวแป้ง และ ผงทราย คล้ายลักษณะของ มวยผม ของ ผู้หญิงที่นิยมไว้ผมยาว(เกล้ามวย)ได้แก่ หญิงไทย/ลาวโซ่ง/หญิงล้านนาในสมัยโบราณ หรือนักมวยจีน(มุ่นผม)ซึ่งนิยม ถักเป็นเปีย แล้วม้วนพันรอบคอ ของตนซึ่งสามารถใช้ในการต่อสู้ในบางครั้ง
- หรือกลายจากภาษาเขมร " ประดั่ญ มูย" ซึ่งหมายถึง นักต่อสู้ตัวต่อตัว /นักต่อสู้หมายเลขหนึ่ง..ประดั่ญ (นักต่อสู้)..มูยหรือมวย (หมายเลขหนึ่ง) มีการต่อสู้ในลักษณะเดียวกับ มวย ของ ชาวไทย มุสลิมในท้องถิ่นทาง ภาคใต้ ตลอดจนแหลม มลายู เรียกว่า ซีละ หรือ ปัญจสีลัต มีผู้บัญญัติศัพท์ว่า มวยไทยพหุยุทธ์ โดยเปรียบว่า เป็นการต่อสู่แบบรวมเอาศิลปะการต่อสู้(Martial Art)ทุกแขนง โดยใช้อวัยวะทุกส่วนร่วมด้วยได้แก่ ...การใช้ ศีรษะ คาง เพื่อชน กระแทก โขก ยี ...ใช้ ท่อนแขน ฝ่ามือ และกำปั้น จับล็อก บล็อก บัง เหวี่ยง ฟัด ฟาด ปิด ปัด ป้อง ฟาด ผลัก ยัน ทุบ ชก ไล่แขน ศอก ถอง ทั้งทำลายจังหวะเมื่อเสียเปรียบและหาโอกาศเข้ากระทำเมื่อได้เปรียบ ...ส่วนขา แข้ง เข่า ฝ่าเท้า ส้นเท้า ปลายเท้า ใช้ในการบัง ถีบ เตะ ปัด กวาด ฟาด กระแทก ทำให้บอบช้ำและเสียหลักและใช้ลำตัวในการการทุ่มทับจับหัก (มีคณะนักมวยดังในอดีตคือ ค่าย ส.ยกฟัด ใช้มาก)การประกอบรวมแม่แบบชุดต่อสู้รวมเรียกว่า แม่ไม้ และลูกไม้
[แก้] ประวัติศาสตร์ของมวยไทย
ประวัติศาสตร์อันยาวนานของมวยไทยเริ่มมีและใช้กันในการสงครามในสมัยก่อน ในปัจจุบันมีการดัดแปลงมวยไทยมาใช้ในกองทัพโดยเรียกว่า เลิศฤทธิ์ ซึ่งแตกต่างจากมวยไทยในปัจจุบันที่ใช้เป็นการกีฬา โดยมีการใช้นวมขึ้นเพื่อป้องกันการอันตรายที่เกิดขึ้น มวยไทยยังคงได้ชื่อว่า ศาสตร์การโจมตีทั้งแปด ซึ่งรวม สองมือ สองเท้า สองศอก และสองเข่า (บางตำราอาจเป็น นวอาวุธ ซึ่งรวมการใช้ศีรษะโจมตี หรือ ทศอาวุธ ซึ่งรวมการใช้บั้นท้ายกระแทกโจมตีด้วย)
มวยไทยสืบทอดมาจากมวยโบราณ ซึ่งแบ่งออกเป็นแต่ละสายตามท้องที่นั้น ๆ โดยมีสายสำคัญหลัก ๆ เช่น มวยท่าเสา(ภาคเหนือ) มวยโคราช (ภาคอีสาน) มวยไชยา (ภาคใต้) มวยลพบุรีและมวยพระนคร (ภาคกลาง) มีคำกล่าวไว้ว่า "หมัดหนักโคราช ฉลาดลพบุรี ท่าดีไชยา ไวกว่าท่าเสา"
[แก้] การศึกษาศิลปะมวยไทย
ในสมัยโบราณจะมี สำนักเรียน (สำนักเรียนมวย แตกต่างจาก ค่ายมวย คือ สำนักเรียนจะมีเจ้าสำนัก หรือ ครูมวย ซึ่งมีฝีมือและชื่อเสียงเป็นที่เคารพรู้จัก มีความประสงค์ที่จะถ่ายทอดวิชาไม่ให้สูญหาย โดยมุ่งเน้นถ่ายทอดให้เฉพาะศิษย์ที่มีความเหมาะสม ส่วน ค่ายมวย เป็นที่รวมของผู้ที่ชื่นชอบในการชกมวย มีจุดประสงค์ที่จะแลกเปลี่ยนวิชาความรู้เพื่อนำไปใช้ในการแข่งขัน/ประลอง) แตกต่างกันโดยแยกเป็น สำนักหลวง และ สำนักราษฎร์ บ้างก็ฝึกเรียนร่วมกับเพลงดาบและมีดหรือการต่อสู้อื่นๆ เพื่อใช้ในการต่อสู้ป้องกันตัวและใช้ในการสงคราม มีทั้งพระมหากษัติย์และขุนนางแม่ทัพนายกองและชาวบ้านทั่วไป (ส่วนใหญ่เป็นชาย)และจะมีการแข่งขันต่อสู้/ประลองกันในงานวัดและงานเทศกาลโดยมีค่ายมวยและสำนักมวยต่างๆ ส่งนักมวยและครูมวยเข้าแข่งขันชิงรางวัล/เดิมพัน โดยยึดความเสมอภาค บางครั้งจึงมีตำนานพระมหากษัตริย์หรือขุนนางที่เชี่ยวชาญการต่อสู้ปลอมตนเข้าร่วมแข่งขันเพื่อทดสอบฝีมือที่เป็นที่ปรากฏได้แก่ พระเจ้าเสือ(ขุนหลวงสรศักดิ์) พระเจ้าตากสินมหาราช พระยาพิชัยดาบหัก ครูดอก แขวงเมืองวเศษไชยชาญ จนเมื่อไทยเสียกรุงแก่พม่า ปรากฏชื่อนายขนมต้ม ครูมวยชาวอยุธยา ซึ่งถูกกวาดต้อนเป็นเชลยศึกได้ชกมวยกับชาวพม่า ชนะหลายครั้งเป็นที่ปรากฏถึงความเก่งกาจเหี้ยมหาญของวิชามวยไทย
กีฬามวยไทยได้รับความนิยมมากในสมัยรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 5 รัชกาลที่ 6 และรัชกาลที่ 7 มีการชกมวยถวายหน้าพระที่นั่งเป็นประจำที่วังสวนกุหลาบทั้งการต่อสูประลองระหว่างนักมวย/ครูมวยชาวไทยด้วยกันและการต่อสู้ระหว่างนักมวย/ครูมวยต่างชาติ ในยุคแรกการแข่งขันมวยไทยใช้การพันมือด้วยเชือก จนกระทั่งนายแพ เลี้ยงประเสริฐ นักมวยจากท่าเสา จ.อุตรดิตถ์ ต่อยนายเจียร์ นักมวยเขมร ถึงแก่ความตาย จึงเปลี่ยนมาสวมนวมแทน ต่อมาเริ่มมีการกำหนดกติกาในการชก และมีเวทีมาตรฐานขึ้นแห่งคือเวทีมวยลุมพินีและเวทีมวยราชดำเนินจัดแข่งขันมวยไทยมาจนปัจจุบัน
ครูมวยไทยที่มีชื่อเสียงยุคนี้ได้แก่
- ครูนาค เทพหัสดินทร์ ณ อยุธยา
- ครูสุนทร(กิมเส็ง)ทวีสิทธิ์ ค่ายยนตรกิจ
- ครูเขตร ศรียาภัย
ครูมวยไทยที่มีชื่อเสียงในยุคปัจจุบัน ได้แก่
- ครูแสวง ศิริไปล่
- ครูสนอง รักวานิช
- ครูไฉน ผ่องสุภา
- ครูตุ้ยยอดธง เสนานันท์
- ครูผจญ เมืองสนธิ์
- ครูปราโมทย์ หอยมุกข์ (ค่ายหนองกี่พาหุยุทธ์)
- ครูเลาะห์ มะลิพันธ์ ค่ายศิษย์ขุน
- ครูหมู ผุดผาดน้อย วรวุฒิ
- ครูวิชิต ไพรอนันต์(ฉลามขาว)
- ครูเป็ด สุรัตน์ เสียงหล่อ (ค่ายเดชรัตน์)
- ครูแปรง (มวยไชยา)
- ครูเล็ก (บ้านช่างไทย)
- ครูเจริญทอง
นักมวยไทยมีชื่อเสียงโด่งดังมากในยุคนั้นถึงปัจจุบัน คือ
- หมื่นมวยแม่นหมัด
- หมื่นชงัดเชิงชก
- นายทับ จำเกาะ (จนมีคำเรียกขานในยุคนั้นว่า หมัดนายจีน ตีนนายทับ)
- ผล พระประแดง
- ยักษ์ผีโขมด สุข ปราสาทหินพิมาย
- ทองใบ เจริญเมือง(ยนตรกิจ)
- พระเอกยอดนักมวย ชูชัย พระขรรค์ชัย
- ราวี เดชาชัย
- ขวัญใจนักเรียน อดุลย์ ศรีโสธร,
- เขียวหวาน ยนตรกิจ
- จอมเตะบางนกแขวก อภิเดช ศิษย์หิรัญ
- คงเดช ลูกบางปลาสร้อย
- เดชฤทธิ์ อิทธินุชิต(ยนตรกิจ)
- ปราบธรณี เมืองสุรินทร์
- สุภาพบุรุษนักมวย วิชาญ ชำณาญวารี ( ส.พินิจศักดิ์ )
- พรชัย (ส.ท่ายาง) แหลมฟ้าผ่า
- ไอ้หนูเมืองตรัง พุฒ ล้อเหล็ก
- ขุนค้อนเพชรฆาต หัวไทร สิทธิบุญเลิศ
- เจ้าหนูแข้งทอง ผุดผาดน้อย วรวุฒิ,
- จอมไหว้ครู สกัด เพชรยินดี
- นักชกอมตะ วิชาญน้อย พรทวี
- ม้าสีหมอก ประยุทธ อุดมศักดิ์
- ไอ้หมัดสากเหล็ก สำราญศักดิ์ เมืองสุรินทร์
- บานไม่รู้โรย ฉมวกเพชร ห้าพลัง
- พยัคฆ์หน้าหยก สามารถ พยัคฆ์อรุณ
- ฉลามดำ เชอรี่ ส.วานิช
- ขุนเข่าหน้าเปื่อย นำพล หนองกี่พาหุยุทธ
- ไอ้แรดดง เหนือธรณี ทองราชา
- เจริญทอง เกียรติบ้านช่อง
- ขุนเข่าไร้น้ำใจ หลังสวน พันธุ์ยุทธภูมิ
- ฉลามร้ายจากฝั่งทะเลตะวันออก ก้องธรณี พยัคฆ์อรุณ
- ขุนเข่ากินคน เพชรดำ ลูกบ่อไร่
- วังจั่นน้อย ส.พลังชัย
- ไอ้เซียน คฤหาสถ์ ส.สุภาวรรณ
- จอมจุมพิต แสงเทียนน้อย ส.รุ่งโรจน์
- ไอ้หมัดรีโมท ซุปเปอร์เล็ก ศรอีสาน
- ซ้ายมหากาฬ เมธี เจดีย์พิทักษ์
- แรมโบ้ พงษ์ศิริ พ.ร่วมฤดี
- จอมไถนา นำขบวน หนองกี่พาหุยุทธ
เป็นต้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีนักมวยไทยซึ่งเป็นชาวต่างชาติที่มีฝีมือเทียบชั้นกับยอดมวยไทย เช่น ไอ้กังหันนรก รามอน เด็กเกอร์ Ramon Dekker แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการของศิลปะมวยไทยที่เป็นที่แพร่หลายไปทั่วโลก จนถึงปัจจุบันนี้ มีคณะ/ค่ายมวยไทยมากมายทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีเวทีมวยไทยมาตรฐานได้แก่ เวทีลุมพินี เวทีราชดำเนิน มีสถาบันการสอนมวยไทยทั้งที่เป็นสำนักเรียน สถาบันการพลศึกษา มีการจัดการเรียนการสอนวิชามวยไทยในระดับปริญญาตรี/โท ซึ่งมหาวิทยาลัยราชภัฎหมู่บ้านจอมบึงได้มีโครงการจัดสอนถึงระดับปริญญาเอก และมีองค์กรส่งเสริมควบคุมมาตรฐานและการจัดการแข่งขันมวยไทยระดับชาติและนานาชาติ มีกฎหมายในการควบคุมและคุ้มครองการจัดชกมวย
[แก้] หลักการชกมวยไทย
การชกมวยไทยที่ดี มีหลักสำคัญ คือ มีการป้องกัน ด้วยการยืน มั่นคง เข้มแข็ง สูงเด่น การตั้งแขนป้องกัน (การการ์ดมวย)และการเก็บคาง เปรียบเสมือนป้อมปราการ พร้อมที่จะตั้งรับและโจมตีตอบโต้ด้วยแม่ไม้ ลูกไม้และการแจกลูกต่างๆ มีการเคลื่อนไหวที่องอาจมีจังหวะ มีการล่อหลอกและขู่ขวัญประดุจพญาราชสีห์ และพญาคชสีห์ อาวุธมวยที่ออกไป ต้องมีเป้าหมายและจุดประสงค์แน่นอน(แต่มักซ้อนกลลวงไว้) มีการต่อสู้ระยะไกล(วงนอก)และระยะประชิด(วงใน)และมีทีเด็ดทีขาดในการพิชิตคู่ต่อสู้ แม่ไม้มวยไทยที่รู้จักแพร่หลาย อาทิ จระเข้ฟาดหาง(หมุนตัวแล้วฟาดตวัดด้วยวงเท้าหลัง), เถรกวาดลาน(เตะกวาดล่างวงนอกรวบสองเท้าให้เสียหลัก) ,หนุมาณถวายแหวน(ชกหมัดเสยพร้อมกันสองข้าง),มอญยันหลัก(ถีบลำตัวให้เสียหลัก),หักงวงไอยรา(เหยียบคู่ต่อสู้เพื่อยกตัวเตะตวัดก้านคอ),บั่นเศียรทศกัณฑ์ (เตะก้านคอ),ปักลูกทอย(ปักศอกลงตรงหน้าขาคูต่อสู้), มณโฑนั่งแทน(กระโดดขึ้นปักศอกลงกลางกระหม่อม), หิรัญม้วนแผ่นดิน (ศอกกลับ) ,พระรามเดินดง (เตะแล้วต่อยตามข้างเดียวกัน)ฯลฯ ลูกไม้ มีทั้งลูกผสมและลูกแยก เพื่อใช้หลอกล่อและเผด็จศึก เช่น แตะตรงเตะ แตะถีบเตะ แตะตรงถีบเตะ,ลูกเตะสลับ เตะช้อน เตะตวัด เตะสูง เตะสวาบ เตะพับนอกพับใน เตะคา,ลูกถีบหน้า ถีบหลัง ถีบจิก,ลูกศอกตี ตัด งัด พุ่ง กระทุ้ง กลับ,ลูกเข่าน้อย เข่าลา เข่าโค้ง เข่าตี เข่ากระทุ้ง เข่าลอย เข่าแหลม เข่าคา,ลูกหมัดหน้า หมัดหลัง หมัดลัก หมัดอ้อม หมัดเกี่ยว หมัดสอย หมัดเสย หมัดซ้ำ หมัดหนึ่งสอง หมัดชุดสามเหลี่ยมฯลฯ
[แก้] องค์ประกอบพื้นฐานที่สำคัญของนักมวยไทย
- ขนาดและความสมส่วนของร่างกาย
- ความเข้มแข็งของร่างกายและจิตใจ
- จิตวิญญานของนักสู้
- สมาธิ ปฏิภาณ ไหวพริบ
- ความศรัทธาเชื่อมั่นกตัญญูต่อครูบาอาจารย์
- ความไม่ประมาทและการประเมินสถานการณ์ที่เหมาะสม
[แก้] การฝึกฝนวิชามวยไทย
- การสมัครตัวเป็นศิษย์ต่อสำนักเรียน/ครูมวยที่ศรัทธาเชื่อถือ
- การเตรียมร่างกายในด้าน ความอดทน แข็งแรง คล่องแคล่ว ว่องไว อ่อนตัว แข็งแกร่งทนทานต่อความเจ็บปวด
- การฝึกประสาทตา หู สัมผัส
- การฝึกใช้อวัยวะส่วนต่างๆตามลูกไม้ แม่ไม้เพื่อให้เกิดพิษสงที่ดีที่สุด
- การฝึกกับอุปกรณ์ต่างๆเพื่อเพิ่มสมรรถนภาพโดยรวมและโดยเฉพาะส่วน
- การฝึกกับคู่ซ้อม/ครู
- การฝึกแบบจำลองสถานการณ์จากน้อยไปหามาก
- การฝึกประสบการณ์ตรงโดยมีผู้แนะนำแก้ไข/การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์
- การฝึกด้านจิตใจสำหรับนักต่อสู้ชั้นสูง
- การจัดโภชนาการ การบริหารความเครียด การสร้างความผ่อนคลายและการบำบัดรักษาด้วยตนเอง/ผู้เชี่ยวชาญ
[แก้] กติกา
ปัจจุบันกีฬามวยไทยอาชีพบนเวทีมวยมาตรฐานและ กีฬามวยไทยสมัครเล่น เป็นการต่อสู้ที่มีกฏกติกาชัดเจน มีนายสนามผู้ขออนุญาตจัด มีผู้จัดชก(Promoter)มีกรรมการให้คะแนนและกรรมการตัดสิน (Judge/Julies)กรรมการตัดสินจะต้องมีอย่างน้อย สาม คน มีกรรมการตัดสินบนเวทีและกรรมการให้คะแนน การให้คะแนนนิยมให้เป็นยก ยกละ 10 คะแนน (ดูจากการใช้ศิลปะการป้องกัน/การต่อสู้ /ความบอบช้ำที่ได้รับ/อันตรายจากบาดแผล /การได้เปรียบเสียเปรียบ/การคาดการณ์ผลสุดท้ายของการต่อสู้/การตัดคะแนนจากการเอารัดเอาเปรียบคู่ชกในขณะที่ไม่เหมาะสม/การถูกทำให้เสียหลักหรือล้ม/การถูกนับ/ฯลฯ )ซึ่งพิจารณาโดยใช้หลักวิชาและประสบการณ์ของกรรมการที่ผ่านการตรวจสอบรับรองความเชี่ยวชาญเป็นที่ยอมรับ การชกจัดเป็นยกมี ๕ ยก ๆละ ๓ นาที พัก ๒ นาที (เดิมกำหนด ๔ ถึง ๖ ยก) มุ่งผลเพียงแค่ แพ้ ชนะ และการแสดงออกของศิลปะการต่อสู้ชั้นสูง ผู้ชกต้องแต่งกายตามกำหนด และมีการสวมมงคลคาดผ้าประเจียด และก่อนชกต้องมีการไหว้ครูซึ่งเริ่มจากนั่ง/คุกเข่าถวายบังคม ไหว้ขึ้นพรหมนั่ง-ยืน ท่ารำมวย (อาจมีการเดินแปลง ย่างสามขุม การรูดเชือก การบริกรรมคาถา) เพื่อสำรวจ ทักทายหรือข่มขวัญซึ่งแตกต่างกันไปตามค่าย/สำนัก ท่ารำมวย อาทิ พระรามแผลงศร, ลับหอกโมกขศักดิ์ ,กวางเหลียวหลัง ,หงส์เหิร ,สาวน้อยประแป้ง ฯลฯ มีการบรรเลงดนตรีให้จังหวะในการต่อสู้ซึ่งใช้เพลงสะหระหม่าแขกใช้ในการไหว้ครู เพลงบุหลันชกมวย และเพลงเชิด ใช้ในการต่อสู้ เครื่องดนตรีไทยที่ใช้บรรเลงประกอบด้วย ปี่ชวา ,กลองแขก,ฉิ่ง
[แก้] ดูเพิ่ม
[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น
- มวยไทย.คอม ข้อมูลมวยไทย
- มวยไทย2000.คอม ข้อมูลนักมวยไทย
- มวยไทย.co.th ข้อมูลมวยไทย
- แม่ไม้มวยไทย - รวมข้อมูล แม่ไม้มวยไทย
- มวยไทย
- Feelthailand.com Muay-Thai
- Thai-Boxing Muay-Thai
- muaychaiya
- [1] มวยไทย S1
- [2] มวยหญิง