วิตามินเค
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วิตามินเค (Vitamin K) เป็นวิตามินในกลุ่มที่ละลายได้ดีในไขมัน รูปแบบที่พบในธรรมชาติ มี 2 รูปแบบ ได้แก่ วิตามินเค I (Vitamin K I) หรือ ฟิลโลควิโนน (phylloquinone) เป็นรูปแบบที่พบในพืชและสัตว์ และ วิตามินเค II (Vitamin K II) หรือ เมนาควิโนน (menaquinone) เป็นรูปแบบที่พบในเนื้อเยื่อตับ และยังสามารถสร้างได้โดยแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในร่างกาย สำหรับวิตามินเค III (Vitamin K III) หรือ เมนาไดโอน (menadione) นั้น เป็นโมเลกุลที่สังเคราะห์ขึ้น ซึ่งจะถูกเปลี่ยนเป็น เมนาควิโนน โดยตับ
สารบัญ |
[แก้] หน้าที่
วิตามินเค มีความสำคัญต่อการแข็งตัวของเลือด
ร่างกายใช้วิตามินเคในกระบวนการเติมหมู่คาร์บอกซิลหลังการแปลรหัสอาร์เอ็นเอเป็นโปรตีน (posttranslational carboxylation) ของกรดกลูตามิก (glutamic acid) ซึ่งจำเป็นต่อการจับกับแคลเซียมของโปรตีนที่มีหมู่คาร์บอกซิลในตำแหน่งแกมมา (γ-carboxylated proteins) เช่น โปรธรอมบิน หรือ แฟคเตอร์ II (prothrombin or factor II), แฟคเตอร์ VII, IX และ X (factors VII, IX and X), โปรตีนซี (protein C), โปรตีนเอส (protein S)และโปรตีนอื่นๆที่เป็นองค์ประกอบของกระดูก
ยาในกลุ่มวอร์ฟาริน (Warfarin) จะขัดขวางกระบวนการนี้ ทำให้วิตามินเคไม่สามารถเปลี่ยนไปเป็นไฮโดรควิโนน (hydroquinone) ซึ่งเป็นรูปแบบที่ออกฤทธิ์ได้
[แก้] แหล่งที่พบ
วิตามินเคพบมากในอาหารประเภทผักใบเขียว นอกจากนี้ยังพบในเนื้อสัตว์ นม เนย น้ำมันมะกอก น้ำมันถั่วเหลือง กาแฟ และลูกแพร์
ปริมาณที่ร่างกายต้องการ คือ 100 ไมโครกรัมต่อวัน
[แก้] ภาวะขาดวิตามินเค
อาการที่แสดงถึง ภาวะขาดวิตามินเค (Hypovitaminosis K) คือ มีเลือดออกในอวัยวะต่างๆ เช่น ช่องกระโหลกศีรษะ ลำไส้ หรือ ผิวหนัง โดยจะพบมากในช่วงอายุ 1 สัปดาห์แรกของทารกแรกเกิด ทั้งนี้เป็นเพราะทารกมีไขมันสะสมน้อย ตับของทารกยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ ลำไส้ยังปราศจากเชื้อแบคทีเรียที่สังเคราะห์วิตามิน ประกอบกับวิตามินเคที่ผ่านมาทางรกและน้ำนมจากมารดานั้นมีปริมาณน้อย
สำหรับภาวะขาดวิตามินเคในผู้ใหญ่นั้น มักเกิดร่วมกับสาเหตุบางอย่าง เช่น โรคเรื้อรังของระบบทางเดินอาหารบางชนิด โรคทางเดินน้ำดีอุดตัน หลังจากการผ่าตัดลำไส้เล็ก หรือได้รับยาปฏิชีวนะที่มีฤทธิ์ครอบคลุมเชื้อกว้าง
การวินิจฉัยทำได้โดยการตรวจ เวลาโปรธรอมบิน (prothrombin time ; PT) ซึ่งผู้ที่มีภาวะขาดวิตามินเคจะใช้เวลานานกว่าปกติ หรือตรวจปริมาณวิตามินเคโดยตรงด้วยวิธี HPLC
การรักษาทำได้โดยให้วิตามินเคในรูปยาฉีด 10 มิลลิกรัมครั้งเดียว ในผู้ป่วยที่โรคเรื้อรังอื่นอาจเสริมด้วยวิตามินเคในรูปยากิน 1-2 มิลลิกรัมต่อวัน หรือ ในรูปยาฉีด 1-2 มิลลิกรัมต่อสัปดาห์
[แก้] ภาวะวิตามินเคเป็นพิษ
ภาวะวิตามินเคเป็นพิษ (Hypervitaminosis K) คือ การได้รับวิตามินเคมากเกินไป สามารถทำให้เกิดภาวะเม็ดเลือดแดงแตก และภาวะบิลิรูบินในเลือดต่ำในทารกได้
วิตามินเค เป็นบทความเกี่ยวกับ ชีวเคมี อินทรีย์เคมีและชีวโมเลกุล ที่ยังไม่สมบูรณ์ ต้องการตรวจสอบ เพิ่มเนื้อหา หรือเพิ่มแหล่งอ้างอิง คุณสามารถช่วยเพิ่มเติมหรือแก้ไข เพื่อให้สมบูรณ์มากขึ้น ข้อมูลเกี่ยวกับ วิตามินเค ในภาษาอื่น อาจสามารถหาอ่านได้จากเมนู ภาษาอื่น ด้านซ้ายมือ |