สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก (พระราชสมภพ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๓๔ - สวรรคต ๒๔ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๒) ทรงเป็นพระบรมราชชนก (พระบิดา) ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๘ และรัชกาลที่ ๙ ทรงมีคุณูปการแก่กิจการแพทย์สมัยใหม่ของไทยเป็นอย่างมาก ประชาชนโดยทั่วไปมักคุ้นเคยกับพระนามเดิมว่า "กรมหลวงสงขลานครินทร์" ส่วนชาวต่างประเทศเรียกพระนามว่า "เจ้าฟ้ามหิดล"
สารบัญ |
[แก้] พระราชประวัติ
[แก้] ขณะทรงศึกษา
สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนกทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ ๖๙ ในพระบาทสมเด็จฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และองค์ที่ ๗ ใน สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ประสูติเมื่อวันศุกร์ เดือนยี่ ปีเถาะ ขึ้น ๓ ค่ำ (ตรงกับวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๓๔ ตามปฏิทินเก่า, ถ้านับตามปฏิทินสากล ต้องเป็น พ.ศ. ๒๔๓๕) ทรงพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดชฯ
ในเบื้องต้น ทรงเข้าศึกษา ณ โรงเรียนราชกุมารในพระบรมมหาราชวัง และเข้าเรียนโรงเรียนนายร้อยชั้นประถม เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๗ หลังจากนั้นได้เสด็จไปศึกษาต่อในสหราชอาณาจักร พร้อมด้วยนักเรียนทุนหลวงในสมัยนั้นหลายพระองค์และหลายคนด้วยกัน และเข้าศึกษาในโรงเรียนแฮร์โรว์ (Harrow) ในกรุงลอนดอน อังกฤษ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๘
ในปี พ.ศ. ๒๔๕๐ เข้าศึกษาในโรงเรียนเตรียมนายร้อยปรัสเซีย ในเมืองพอทสดัม ประเทศเยอรมนี ตามพระประสงค์ของพระราชบิดา และศึกษาต่อที่โรงเรียนนายร้อยในกรุงเบอร์ลิน แล้วทรงเข้าศึกษาวิชาทหารเรือมือร์วิค ในเมืองเฟนส์บวก และทรงได้ออกแบบเรือดำน้ำประกวดจนได้รับรางวัล และเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๕ ทรงได้รับยศนายเรือตรี ทั้งในกองทัพเรือแห่งเยอรมัน และแห่งราชนาวีสยาม
[แก้] เสด็จนิวัติกลับประเทศ
ในปี พ.ศ. ๒๔๕๗ (ค.ศ.๑๙๑๔) สมเด็จพระบรมราชชนกทรงลาออกจากกองทัพเรือเยอรมัน เสด็จนิวัติกลับประเทศไทย เนื่องจากการอุบัติสงครามโลกครั้งที่ ๑ พระองค์ทรงเข้ารับราชการในกระทรวงทหารเรือ ในตำแหน่งสำรองราชการ กรมเสนาธิการทหารเรือได้รับพระราชทานยศเป็นนายเรือโท ตั้งแต่วันที่ ๒ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๘
หลังจากทรงศึกษาวิธีบริหารราชการจาก และระเบียบราชการทหารเรือ จากกรมเสนาธิการทหารเรือ ประมาณ ๔ เดือนแล้ว ก็ทรงย้ายไปรับตำแหน่งในกองอาจารย์นายเรือ แผนกตำรากรมยุทธศึกษาทหารเรือ
ในปี พ.ศ. ๒๔๕๙ (ค.ศ. ๑๙๑๖) สมเด็จกรมพระยาชัยนาทนเรนทร ผู้ทรงดำรงตำแหน่งผู้ช่วยปลัดทูลฉลอง และ ผู้บัญชาการราชแพทยาลัย ทรงพิจารณาเห็นว่า โรงเรียนแพทย์อยู่ในฐานะล้าหลังมาก เมื่อเทียบกับโรงเรียนในยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านวิทยาศาสตร์ ดังนั้นทรงตกลงพระทัยที่จะปรับปรุงเป็นการใหญ่ แต่ก็ต้องประสบปัญหาว่าหาผู้ที่มีวิชามาเป็นอาจารย์ไม่ได้ จึงได้ทรงพยายามชักชวนผู้รู้มาร่วมงาน พร้อมทั้งได้ขอร้องให้กระทรวงธรรมการติดต่อกับมูลนิธิร็อกกี เฟลเลอร์ ให้ช่วยจัดอาจารย์ในวิชากายวิภาคศาสตร์ สรีรวิทยา พยาธิวิทยาและศัลยกรรมมา
หลังจากนั้นสมเด็จกรมพระยาชัยนาทนเรนทร ได้เสด็จเข้าเฝ้าสมเด็จพระบรมราชชนก ให้ทรงหันมาสนพระทัยการแพทย์ และสาธารณสุข ที่พระองค์ทรงได้เคยศึกษามา โดยพระองค์ทรงออกอุบายเชิญสมเด็จพ่อเสด็จประทับเรือยนต์ประพาสทางน้ำ ไปตามคลองบางกอกใหญ่ คลองบางกอกน้อย พอถึงปากคลองบางกอกน้อย จึงทูลเชิญขอให้ทรงแวะที่ศิริราชพยาบาล และเมื่อพระองค์ได้ทอดพระเนตรเห็นโรงคนไข้ ซึ่งเป็นเรือนไม้หลังคาจาก มีที่ไม่พอรับคนไข้ มีคนไข้นั่งรอนอนรออยู่ตามโคนไม้ และขาดแคลนอุปกรณ์ทางแพทย์
สมเด็จพระบรมราชชนก ทรงทราบถึงความยากลำบากและขาดแคลนของศิริราช ทรงสลดพระทัยเป็นอย่างยิ่ง กรมพระยาชัยนาทนเรนทรจึงกราบทูลวิงวอนให้สมเด็จพระบรมราชชนก ทรงเข้ามาช่วยจัดการการศึกษาแพทย์ โดยมีสาเหตุดังนี้
- เพราะสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนสงขลานครินทร์ทรงเป็นเจ้าฟ้าชั้นสูง ถ้าทรงเข้ามาจัดการเรื่องนี้จะทำให้กิจการแพทย์เด่นขึ้น มีผู้โดยเสด็จช่วยเหลืองานมากขึ้น
- สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนสงขลานครินทร์ทรงมีรายได้สูงเพียงพอที่จะใช้ในการบำเพ็ญพระกุศลสาธารณะ
- ทรงเป็นเจ้าฟ้าที่มีพระปัญญาหลักแหลม มีความเพียรกล้า ทรงทำจริงไม่ย่อท้อ จะทำให้กิจการทางการแพทย์เจริญก้าวหน้าได้อย่างรวดเร็ว
และในที่สุดพระองค์ก็ทรงตกลงพระทัยที่จะทรงช่วยในการปรับปรุงการแพทย์ของประเทศไทย โดยจะเสด็จไปทรงศึกษาวิชาเฉพาะ เพื่อจะให้งานได้ผลจริงๆ และได้ดี
[แก้] ทรงศึกษาต่อ
เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๐ สมเด็จพระบรมราชชนกได้เสด็จเข้าศึกษาวิชาสาธารณสุขที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่างที่ทรงศึกษาอยู่นั้น พระองค์ทรงได้พระราชทานทุนให้แก่นักเรียนแพทย์ ไปศึกษาที่สหรัฐอเมริกาจำนวน ๒ ทุน ซึ่งทางโรงเรียนแพทย์ได้คัดเลือกออกมา ปรากฏว่าได้นักเรียนพยาบาลมา ๒ คน คือสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และนางลิปิธรรม ศรีพยัตต์
สมเด็จพระบรมราชชนก ทรงดูแลเอาใจใส่นักเรียนทั้ง ๒ ของพระองค์อย่างดี ทั้งทรงแนะนำวิธีการดำเนินชีวิต ขนบธรรมเนียมประเพณีของต่างประเทศ และทรงรับสั่งเตือนสติเสมอว่า
เงินที่ฉันได้ใช้ออกมาเรียน หรือให้พวกเธอออกมาเรียนนี้ไม่ใช่เงินของฉัน แต่เป็นเงินของราษฏรเขาจ้างให้ออกมาเรียน ฉะนั้นเธอต้องตั้งใจเรียนให้ดี ให้สำเร็จเพื่อจะได้กลับไปทำประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติ และขอให้ประหยัดใช้เงิน เพื่อฉันจะได้มีเงินเหลือไว้ช่วยเหลือผู้อื่นต่อไป
ระหว่างที่ทรงศึกษาอยู่นี้ พระองค์ทรงใช้พระนามว่า มิสเตอร์มหิดล สงขลา เช่าอะพาร์ทเม็น ซึ่งมีเพียง ๔ ห้อง และมีคนใช้เพียงคนเดียว นับเป็นที่ชื่นชมของชาวอเมริกามาก ดังที่ได้เห็นจากบทความของ ดร. เอลลิส ว่า
ในมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ก็ทรงเป็นเพียงนักเรียนแพทย์ผู้หนึ่งที่ไม่ใช่เจ้านาย ในพระนามบัตรก็มีว่า "มิสเตอร์มหิดล สงขลา" ใน เวลาที่ประทับอยู่ในประเทศที่ไม่มีเจ้านาย พระองค์ท่านก็ไม่ใช่เจ้านาย เราถือว่าการที่วางพระองค์เช่นนี้ เป็นการให้เกียรติยศอันแท้จริงแก่ประเทศของเราและสมกับพระลักษณะของการเป็นเจ้านายที่แท้จริง
ขณะทรงศึกษาวิชาสาธารณสุขชั้นปีที่ ๓ ที่สมเด็จพระบรมราชชนกได้เสด็จกลับมาร่วมงาน ถวายพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระราชชนนีพันปีหลวง
เมื่อวันที่ ๑๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๓ สมเด็จพระบรมราชชนกได้อภิเษกสมรสกับนางสาวสังวาลย์ ตะละภัฏ(สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี)
[แก้] ยุโรป
เมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๔ สมเด็จพระบรมราชชนกได้ทรงสำเร็จการศึกษา และได้รับประกาศนียบัตรการสาธารณสุข ดังนั้นพระองค์พร้อมพระชายาจึงเสด็จยุโรปประทับที่เมืองเอดินเบอร์ก สก็อตแลนด์ ทรงเป็นผู้แทนรัฐบาลไทยในการเจรจากับ มูลนิธิร็อกกี เฟลเลอร์ เกี่ยวกับการช่วยเหลือด้านการศึกษาวิชาแพทย์ในประเทศไทย ซึ่งบรรลุผลสำเร็จให้กับรัฐบาลไทย ถึงแม้จะมีการเจรจากันหลายครั้งก็ตาม
การเสด็จสหราชอาณาจักรครั้งนี้ทรงตั้งพระทัยจะศึกษาวิชาแพทย์ให้จบ แต่เนื่องจากมีอุปสรรค ได้ประชวรด้วยโรคของพระวักกะ(ระบบปอด) ประกอบกับที่อังกฤษมีอากาศชื้นและหนาวเย็น ไม่เหมาะกับโรค ดังนั้นพระบรมราชชนกจึงต้องเสด็จนิวัติกลับพระนคร เพราะมีพระราชโองการจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ทรงดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมมหาวิทยาลัย และรับตำแหน่งในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๖
ในวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๘ สมเด็จพระบรมราชชนกพร้อมพระชายาและพระธิดาเสด็จยุโรป เพื่อไปศึกษาเรื่องแพทย์ต่อ โดยได้ทรงเลือกวิชากุมารเวชศาสตร์ และพระองค์ก็ได้ทรงเสด็จกลับเมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๑
[แก้] เสด็จกลับ
พระราชกรณียกิจประการแรก เมื่อเสด็จกลับมาเมืองไทยก็คือ พระราชทานทุนให้นักเรียนออกไปศึกษา ๑๐ ทุน ในสาขาที่เกี่ยวกับการแพทย์
สมเด็จพระบรมราชชนกทรงมีความเห็นว่า นักเรียนแพทย์ที่สำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศจะได้ศึกษาเพียงเฉพาะโรคที่เกิดขึ้นในเขตนั้นเท่านั้น เมื่อกลับมาประเทศไทยควรจะศึกษาต่ออีก ๑ ปี เพื่อจะให้ได้รับความรู้และความชำนาญโรคของประเทศไทย แต่ทางการก็มิอาจทำได้ดังพระราชประสงค์ เป็นเหตุให้ไม่ทรงพอพระราชหฤทัย ดังนั้นพระองค์จึงทรงเปลี่ยนพระราชหฤทัยจากจะทรงทำงานในโรงพยาบาลศิริราช มาเป็นเสด็จไปโรงพยาบาลแมคคอร์มิค จังหวัดเชียงใหม่
[แก้] ที่เมืองเชียงใหม่
สมเด็จพระบรมราชชนกเสด็จถึงจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ ๒๔ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๒ ทรงประทับกับครอบครัวผู้อำนวยการโรงพยาบาลขณะนั้น ดร. อี.ซี. คอร์ท เป็นตึกเล็ก และทรงมีมหาดเล็กเพียงคนเดียว
พระบรมราชชนกทรงมีความเอาใจ่ใส่ในการรักษาประชาชนอย่างมาก ชาวเมืองเชียงใหม่จึงขนานพระนามของพระองค์ว่า หมอเจ้าฟ้า สมเด็จพระบรมราชชนกได้ประทับ ทีเมืองเชียงใหม่ประมาณ ๓ สัปดาห์ ก็ต้องเสด็จกลับกรุงเทพในวันที่ ๑๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๒ เนื่องในพระราชพิธี ถวายพระเพลิง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช หลังจากนั้นทรงมีพระราชประสงค์จะเสด็จกลับไปเมืองเชียงใหม่ แต่ก็มิได้เป็นไปตามพระราชประสงค์ เนื่องจากทรงประชวรต้องประทับในพระตำหนักวังสระปทุม พร้อมด้วยพระมารดา โดยไม่ได้เสด็จออกจากวังอีกเลย
และเมื่อวันที่ ๒๔ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๒ เวลา ๑๖.๔๕ น. พระบรมราชชนกก็ได้เสด็จทิวงคตด้วยโรคพระอาการบวมน้ำที่พระปับผาสะ(ปอด) พระชนมายุได้ ๓๘ พรรษา หลังจากทรงทนทรมานอยู่ได้ ๓ เดือนครึ่ง