หมึกมหึมา
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
|
หมึก โคลอสซัล สควิด หรือ หมึกมหึมา (Colossal Squid หรือ Antarctic Giant Cranch Squid) เชื่อว่าเป็นหมึกสปีชีส์ที่ขนาดใหญ่ที่สุด และเป็นสปีชีส์เดียวในสกุล Mesonychoteuthis
ประเมินจากตัวอย่างที่ขนาดเล็กกว่าและยังไม่โตเต็มวัย คาดว่าขนาดตัวเต็มวัยใหญ่ที่สุดอาจถึง 14 เมตร จึงเป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังขนาดใหญ่ที่สุดด้วย [1]
สารบัญ |
[แก้] ข้อมูลทางชีววิทยา
หนวดไม่เหมือนหมึกชนิดอื่นที่มีปุ่มดูดยาวเป็นแถวหรือมีฟันซี่เล็ก แต่มีทั้งปุ่มดูดและตะขอที่แหลมคม ลำตัวกว้างกว่า หนากว่า และหนักกว่าหมึกชนิดอื่น เชื่อว่ามีแมนเทิลที่ยาวกว่าหมึกชนิดอื่น แต่มีหนวดสั้นกว่าเมื่อเทียบตามสัดส่วน
จะงอยปากใหญ่ที่สุดในบรรดาหมึกที่รู้จักกัน มีขนาดและความแข็งแรงมากกว่าในหมึกสกุล Architeuthis และเชื่อว่า มีดวงตาที่ใหญ่ที่สุดในอาณาจักรสัตว์
ถิ่นอาศัยมีบริเวณหลายพันกิโลเมตร ตั้งแต่ทวีปแอนตาร์กติก ขึ้นไปทางใต้ของทวีปอเมริกาใต้, ทางใต้ของทวีปแอฟริกา และทางใต้ของนิวซีแลนด์ กล่าวคือมีถิ่นอาศัยในมหาสมุทรทางตอนใต้ของโลกที่ล้อมรอบขั้วโลกใต้เป็นวงกลม
เรารู้วงจรชีวิตน้อยมาก เชื่อว่าล่าเหยื่อเช่น หนอนทะเลและหมึกชนิดอื่นในทะเลลึก โดยใช้แสงเรืองจากตัวเอง อาจกินปลาขนาดเล็ก เพราะชาวประมงจับได้ขณะจับปลาจิ้มฟัน
ยังไม่เคยมีการสังเกต การสืบพันธุ์ของหมึกชนิดนี้ แต่อนุมานได้จากลักษณะทางกายวิภาค ตัวผู้ไม่มี hectocotylus (หนวดในสัตว์ประเภทหมึกซึ่งใช้ปล่อยอสุจิไปในตัวเมีย) จึงคาดว่าใช้ ลึงค์ โดยสอดใส่อสุจิเข้าสู่ร่างกายของตัวเมียโดยตรง
เชื่อว่าศัตรูตามธรรมชาติที่สำคัญคือ วาฬสเปิร์ม ซึ่งซากวาฬจำนวนมากมีแผลบนหลัง คล้ายปุ่มดูดของหมึกขนาดใหญ่ และซากจะงอยปากหมึก ที่พบในกระเพาะของวาฬสเปิร์มแอนตาร์กติกที่อาศัยในมหาสมุทรตอนใต้ ถึง 14% เป็นของหมึกชนิดนี้ ทำให้อนุมานได้ว่ามีปริมาณ 77% ของน้ำหนักอาหารที่วาฬเหล่านี้ในบริเวณนั้นกิน มีสัตว์ชนิดอื่นอีกที่อาจกินหมึกชนิดนี้ในช่วงวัยต่างๆ ได้แก่ วาฬจมูกขวด, วาฬไพล็อต, แมวน้ำช้างขั้วโลกใต้, ปลาจิ้มฟันพาตาโกเนีย, ฉลามขี้เซาแปซิฟิก และนกอัลบาทรอส โดยซากจะงอยปากจากตัวเต็มวัย พบได้แต่ในกระเพาะอาหารสัตว์ขนาดใหญ่พอจะล่าตัวเต็มวัยได้เท่านั้น เช่น วาฬสเปิร์ม และฉลามขี้เซาแปซิฟิก ขณะที่นักล่าอื่นกินได้เพียงวัยอ่อน
จากตัวอย่างไม่กี่ชิ้น โดยเฉพาะซากจะงอยปากที่พบในกระเพาะอาหารของวาฬสเปิร์ม จึงคาดว่า หมึกที่โตเต็มวัยน่าจะอาศัยที่ความลึกอย่างน้อย 2,200 เมตร ขณะที่ตัวที่ยังไม่โตเต็มที่อาศัยที่ความลึก 1,000 เมตรเป็นอย่างมาก
[แก้] ประวัติการค้นพบ
- พ.ศ. 2468 (1925) สปีชีส์นี้ถูกพบครั้งแรก โดยพบเพียงหนวด 2 เส้นในกระเพาะอาหารของวาฬสเปิร์ม
- พ.ศ. 2524 (1981) ตัวอย่างถูกจับได้โดยเรือลากอวนของรัสเซีย ในทะเลรอสส์ นอกชายฝั่งทวีปแอนตาร์กติก ความยาวรวม 3.9 เมตร ภายหลังพบว่าเป็นหมึกเพศเมียสปีชีส์นี้ที่ยังไม่โตเต็มที่
- พ.ศ. 2546 (2003) ตัวอย่างที่สมบูรณ์ถูกพบใกล้ผิวน้ำ ความยาวรวม 6 เมตร แมนเทิลยาว 2.5 เมตร และหนักประมาณ 195 กิโลกรัม
- พ.ศ. 2548 (2005) 25 มิถุนายน ตัวอย่างยังมีชีวิตถูกจับได้ที่ความลึก 1,625 เมตร ขณะมันกำลังล่า ปลาจิ้มฟันแอนตาร์กติก นอกชายฝั่งหมู่เกาะจอร์เจียใต้
แม้ไม่ได้นำขึ้นเรือ แต่ประมาณว่า แมนเทิลยาวมากกว่า 2.5 เมตร หนวดเทนทาเคิลยาว 230 เซนติเมตร และหนักประมาณ 150-200 กิโลกรัม [3]
- พ.ศ. 2550 (2007) 14 กุมภาพันธ์ ตัวอย่างขนาดใหญ่ที่สุดถูกจับได้โดยเรือหาปลา ซาน แอสไปริง ของนิวซีแลนด์ นอกชายฝั่งทวีปแอนตาร์ติกา และนำขึ้นเรือกลับมาศึกษา ความยาวรวม 10 เมตร หนัก 494 กิโลกรัม และประกาศเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ ว่าเป็นหมึกขนาดใหญ่ที่สุดที่เคยจับได้
ความยาวนี้ยังน้อยกว่าขนาดโตเต็มวัยที่คาดการณ์ไว้ แม้เบื้องต้นคาดว่าเป็นเพศผู้ แต่ก็ยังไม่ทราบเพศ (15 มีนาคม 2550) ตัวอย่างถูกแช่แข็งก่อนเคลื่อนย้ายไป เต ปาปา ตองแกร์วา พิพิธภัณฑ์แห่งชาตินิวซีแลนด์ [4] [5] [6] [7] [8]
[แก้] อ้างอิง และดูเพิ่ม
- ↑ บพิธ จารุพันธุ์,รศ. นันทพร จารุพันธุ์,รศ. สัตววิทยา. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ภาควิชาสัตววิทยา, พิมพ์ครั้งที่4, 2547. หน้า171
- ↑ Photograph by Alexander Remeslo. The Search for the Giant Squid. New York: The Lyon's Press, p. 147.
- ↑ จดหมายข่าวจอร์เจียใต้: หมึกมหึมาหายากที่จับได้ขณะยังมีชีวิต
- ↑ ข่าว BBC: หมึกขนาดใหญ่ที่สุด
- ↑ ข่าว BBC: ชาวประมงนิวซีแลนด์ดึงหมึกขึ้นจากน้ำลึกของแอนตาร์กติก
- ↑ ข่าว BBC: วิทยาศาสตร์ปวดหัวของหมึกมหึมา
- ↑ ข่าว BBC: แช่แข็งก่อนย้ายไปพิพิธภัณฑ์แห่งชาตินิวซีแลนด์
- ↑ ข่าว yahoo รายงานจาก AP News: นักวิทยาศาสตร์ต้องละลายน้ำแข็งหมึกด้วยเตาอบไมโครเวฟขนาดยักษ์
[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น
- รายการโครงการเว็บไซต์สิ่งมีชีวิต: Mesonychoteuthis hamiltoni
- TONMO.com: เอกสารข้อเท็จจริง
- New Zealand Herald: ชาวประมงพบหมึกใหญ่ที่สุดในโลก
- USA Today: หมึกมหึมาถูกจับได้ในแอนตาร์กติก
- BBC: สุดยอดหมึกขึ้นเหนือผิวน้ำแอนตาร์กติก
- MarineBio: Mesonychoteuthis hamiltoni
หมึกมหึมา เป็นบทความเกี่ยวกับ สัตว์ ที่ยังไม่สมบูรณ์ ต้องการตรวจสอบ เพิ่มเนื้อหา หรือเพิ่มแหล่งอ้างอิง คุณสามารถช่วยเพิ่มเติมหรือแก้ไข เพื่อให้สมบูรณ์มากขึ้น ข้อมูลเกี่ยวกับ หมึกมหึมา ในภาษาอื่น อาจสามารถหาอ่านได้จากเมนู ภาษาอื่น ด้านซ้ายมือ |