อำเภอขุนยวม
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สถิติ | |
---|---|
จังหวัด: | จังหวัดแม่ฮ่องสอน |
พื้นที่: | 1,698.3 ตร.กม. |
ประชากร: | 19,243 (พ.ศ. 2543) |
ความหนาแน่น: | 11.3 คน/ตร.กม. |
รหัสไปรษณีย์: | 58140 |
รหัสทางภูมิศาสตร์: | 5802 |
แผนที่ | |
![]() |
อำเภอขุนยวม เป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดแม่ฮ่องสอน พื้นที่อยู่ท่ามกลางขุนเขาและสายน้ำ ประชากรมีเชื้อสายทั้งชาวเขา ไทยใหญ่ จีน และพม่า นับเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดและของภาคเหนือ
อำเภอขุนยวมเดิมเป็นเมืองขนาดเล็ก เรียกกันว่า เมืองขุนยวม ประชากรส่วนใหญ่เป็น "ชาวไทยใหญ่" หรือ "ชาวไต" พวกเขาเรียกเมืองนี้ว่า "บ้านกุ๋นลม" (เพราะหมู่บ้านนี้มีอากาศหนาวเย็น มีลมพัดตลอดเวลา) มีเจ้าเมือง เรียกว่า "ชานกะเล" ชื่อว่า "พญาสิงหนาทราชา" เป็นเจ้าเมืองคนแรก
เมื่อ พ.ศ. 2453 เมืองขุนยวมได้ยกฐานะขึ้นเป็นอำเภอ โดยมี "ขุนเดชประชารักษ์" เป็นนายอำเภอคนแรก นายอำเภอคนปัจจุบัน คือ นายสัมฤทธ สวามิภักดิ์
สารบัญ |
[แก้] ที่ตั้ง
อำเภอขุนยวมตั้งอยู่บนที่ราบกว้างใหญ่ สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 600 เมตร มีพื้นที่รวม 2,365 ตารางกิโลเมตร มีตำแหน่งที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ดังนี้
- ทิศเหนือ จรด ตำบลห้วยโป่ง อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน
- ทิศตะวันออก จรด ตำบลแม่ศึก อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่
- ทิศใต้ จรด ตำบลแม่ลาหลวง อำเภอแม่ลาน้อย
- ทิศตะวันตก จรดชายแดน รัฐกะยา สหภาพพม่า
[แก้] การแบ่งเขตการปกครอง
อำเภอขุนยวม มี 6 ตำบล, 43 หมู่บ้าน, เทศบาลตำบล 1 แห่ง, อบต. 4 แห่ง, สภาตำบล 2 แห่ง
- ตำบลเมืองปอน มี 10 หมู่บ้าน
- ตำบลแม่เงา มี 8 หมู่บ้าน
- ตำบลขุนยวม มี 6 หมู่บ้าน
- ตำบลแม่ยวมน้อย มี 8 หมู่บ้าน
- ตำบลแม่อูคอ มี 6 หมู่บ้าน
- ตำบลแม่กิ๊ มี 5 หมู่บ้าน
[แก้] ประชากร
ประชากรส่วนใหญ่ของอำเภอขุนยวมมีเชื้อสายไทยใหญ่ หรือชาวไต ประกอบด้วยครัวเรือนทั้งหมด 5,275 ครัวเรือน มีประชากร 21,500 คน ชาย 11,197 คน หญิง 10,303 คน
[แก้] แหล่งท่องเที่ยว
แหล่งท่องเที่ยวภายในอำเภอขุนยวม มีทั้งแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ และศิลปวัฒนธรรม ดังนี้
- วัดต่อแพ บ้านต่อแพ ต.แม่เงา ห่างจากบริเวณตลาดขุนยวมประมาณ 7 กิโลเมตร มีวิหารขนาดใหญ่แบบพม่า สร้างขึ้นอย่างงดงาม ภายในวัดมีผ้าม่านทอและปักด้วยศิลปะพม่าสมัยโบราณ
- วัดม่วยต่อ (วัดพระธาตุ) ตำบลเมืองปอน ระหว่างเขตอำเภอขุนยวมกับอำเภอแม่ลาน้อย
- อุทยานแห่งชาติน้ำตกแม่สุริน บ้านแม่สุริน ต.แม่อูคอ ห่างจากตัวอำเภอประมาณ 50 กิโลเมตร มีเนื้อที่ทั้งสิ้น 247,875 ไร่ ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2524 มีจุดเด่นคือ เป็นน้ำตกชั้นเดียว ไหลจากหน้าผาสูงประมาณ 100 เมตร นับเป็นน้ำตกที่สูงที่สุดในประเทศไทย
- ทุ่งบัวตอง บนดอยแม่อูคอ มีพื้นที่ 515 ไร่ ดอกบัวตองจะบานพร้อมๆ กัน และจะบานอยู่เพียงประมาณ 4 สัปดาห์ในช่วงเดือนพฤศจิกายนเท่านั้น
- น้ำตกแม่ยวมหลวง ก่อนถึงทุ่งบัวตอง จะมีทางแยกเข้าไปมีลักษณะเป็นน้ำตกขนาดเล็ก
- น้ำพุร้อนหนองแห้ง เป็นน้ำพุขนาดกลาง อยู่ในเขตบ้านหนองแห้ง ตำบลเมืองปอน ห่างจากตัวอำเภอประมาณ 26 กิโลเมตร
- ศูนย์วัฒนธรรมท้องถิ่นอำเภอขุนยวม อยู่ตรงข้ามวัดม่วยต่อ เป็นศูนย์ศิลปหัตถกรรมของชาวไทยใหญ่และชาวไทยภูเขาเผ่าต่างๆ และเป็นที่เก็บและจัดแสดงเครื่องมือ อุปกรณ์ต่างๆ ของทหารญี่ปุ่นที่เดินทัพเข้ามาในพื้นที่อำเภอขุนยวมในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2
[แก้] เส้นทางสู่ขุนยวม
มีถนนหลายสายที่ตัดผ่านไปยังอำเภอขุนยวม ขึ้นอยู่กับว่าจะเดินทางจากตำแหน่งไหน
- จากจังหวัดเชียงใหม่ สามารถเดินทางได้ 3 เส้นทาง คือ
- จากอำเภอจอมทอง ผ่านเส้นทางหมายเลข 108 ไปยังอำเภอแม่สะเรียงแล้วเลี้ยวขวาขึ้นไปยังอำเภอแม่ลาน้อย และเข้าสู่ขุนยวม เส้นทางโค้งมาก เส้นสภาพผิวถนนดี นิยมใช้มากกว่าเส้นทางอื่น
- จากอำเภอแม่แจ่ม ตามทางหลวงหมายเลข 1263 ผ่านบ้านแม่นาจอน บ้านปางอุ๋ง และเข้าสู่อำเภอขุนยวม สภาพเส้นทางแคบ บางช่วงขระขรุ เปลี่ยว ไม่ค่อยมีรถผ่าน แต่เหมาะกับการผจญภัย
- จากอำเภอแม่แตง ตามทางหลวงหมายเลข 1095 เข้าสู่อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน แล้วเลี้ยวลงมายังอำเภอขุนยวม สภาพถนนดี มีความโค้งน้อนกว่าเส้นทาง 108 แต่มีความสูงชันกว่า
- จากจังหวัดตาก สามารถเดินทางขึ้นมาจากทางหลวงหมายเลข 105 จนถึงอำเภอแม่สะเรียง และผ่านต่อไปโดยใช้ทางหลวงหมายเลข 108 เป็นเส้นทางที่แคบ ไม่ค่อยมีการสัญจร ถ้าไม่จำเป็นไม่ควรเดินทางจากจังหวัดตากขึ้นมาทางนี้ ตลอดทางจากอำเภอแม่สอด ถึงอำเภอสบเมย ไม่มีปั๊มน้ำมันเลย
[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น
เมืองแม่ฮ่องสอน · ขุนยวม · ปาย · แม่สะเรียง · แม่ลาน้อย · สบเมย · ปางมะผ้า |
![]() |
อำเภอขุนยวม เป็นบทความเกี่ยวกับ จังหวัด อำเภอ หรือเขตการปกครองต่าง ๆ ของประเทศไทย ที่ยังไม่สมบูรณ์ ต้องการตรวจสอบ เพิ่มเนื้อหา หรือเพิ่มแหล่งอ้างอิง คุณสามารถช่วยเพิ่มเติมหรือแก้ไข เพื่อให้สมบูรณ์มากขึ้น ข้อมูลเกี่ยวกับ อำเภอขุนยวม ในภาษาอื่น อาจสามารถหาอ่านได้จากเมนู ภาษาอื่น ด้านซ้ายมือ หรือ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สถานีย่อย:ประเทศไทย |