เซด
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เซด (ซัยดฺ) อัชชะฮีด เป็นบุตรของ อิมามซัยนุลอาบิดีน บุตรของ อิมามฮุเซน บุตรของ อะลีย์ บินอะบีฏอลิบ เกิดในนครมะดีนะหฺ เมื่อรุ่งอรุณของวันหนึ่งในราวปี ฮ.ศ. 66 มารดาของท่านเป็นทาสมาจากสินธุ ซึ่ง อัลมุคตารฺ อัษษะกอฟีย์ ผู้นำการปฏิวัติในนครกูฟะหฺ ได้ซื้อนางไว้เพื่อมอบแก่ อิมามซัยนุลอาบิดีน
สารบัญ |
[แก้] เซดเรียนรู้จากสามอิมาม
เซด เติบโตภายใต้การเลี้ยงดูของ อิมาม ซัยนุลอาบิดีน ผู้เป็นบิดา ศึกษาวิชาความรู้จากทางศาสนาจากบิดา, จาก อิมาม อัลบากิร พี่ชายผู้เป็นอิมามที่ห้า และจากอิมาม อัศศอดิก ผู้เป็นอิมามที่หก จนมีความรู้สูงส่ง และมีลูกศิษย์มากมาย
เซด ยังได้ประพันธ์ตำราทางนิติบัญญัติอิสลามและวิทยาการเกี่ยวกับอัลกุรอานหลายเล่มอีกด้วย เซด ลือนามว่าเป็นบุรุษที่ซื่อสัตย์ บำเพ็ญแต่คุณงามความดี มีจิตใจกล้าหาญ เป็นนักพูดที่ดี เฉลียวฉลาด มีความจำดีเยี่ยม เจริญรอยตามบิดาและบรรพบุรุษใน ตระกูลฮาชิม ผู้เป็นอิมามและศาสนทูต เหล่านักปราชญ์ร่วมสมัยและรุ่นหลัง ต่างก็สรรเสริญเยินยอคุณงามความดีของ เซด ไว้มากมาย
[แก้] แผนกำจัดเซด
ฮิชาม บุตรอับดุลมะลิก แห่งตระกูลอุมัยยะหฺ ผู้เป็น คอลีฟะหฺแห่งอาณาจักรอุมะวียะหฺ มีความหวาดหวั่นต่อตระกูลฮาชิม เฉกเช่นบรรพบุรุษของตนในอดีต จึงสอดส่องพฤติกรรมและการเคลื่อนไหวของตระกูลฮาชิมนี้ตลอดมา
เมื่อฮิชามได้ขึ้นครองบัลลังก์เป็นคอลีฟะหฺ, สิ่งแรกที่ฮิชามทำก็คือการปลดผู้ปกครองแคว้นต่าง ๆ ออกจากตำแหน่ง และให้คนสนิทของตนเข้าดำรงตำแหน่งแทน ในแคว้นอิรักนั้น, ฮิชามได้แต่งตั้ง ยูซุฟ บินอุมัร อัษษะกอฟีย์ ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้ปกครองแคว้น แทน คอลิด บินอับดิลลาหฺ อัลกุศอรีย์ ที่ถูกปลดออกไป ยูซุฟ ผู้ปกครองแคว้นคนใหม่ ได้ฉวยโอกาสการเปลี่ยนแปลงอำนาจครั้งนี้ บั่นทอนอำนาจและบารมีของคู่อริด้วยการสั่งให้จับกุม คอลิด ผู้ปกครองแคว้นคนก่อน แล้วนำไปลงโทษทรมานฐานทุจริต ยักยอกทรัพย์สินของคลังหลวง ในขณะเดียวกันก็ใช้ คอลิด ให้เป็นอุปกรณ์ในการดำเนินแผนการณ์ปราบปรามเสี้ยนหนามอำนาจของคอลีฟะหฺแห่งตระกูลอุมัยยะหฺอีกด้วย โดยการบังคับให้ คอลิด อ้างว่าตนได้ซื้อที่ดินแปลงหนึ่งของเซดในเมืองมะดีนะหฺ หลังจากนั้นก็ได้มีจดหมายถึง คอลีฟะหฺ ฮิชาม ในกรุงดามัสคัส ยื่นคำร้องให้คอลีฟะหฺ เรียกตัวเซดไปสอบสวน
เซด ซึ่งไม่เคยมีความเกี่ยวข้องกับ คอลิด เลย ก็จำเป็นต้องเดินทางจากนครมะดีนะหฺ สู่กรุงดามัสคัส ตามคำสั่งของคอลีฟะหฺ อันที่จริงจุดประสงค์ของแผนการณ์นี้ก็คือการหาเรื่องให้เซดต้องได้รับความลำบาก เพราะคอลีฟะหฺทราบมาแล้วว่า เซด คือผู้ต่อต้านการปกครองของตระกูลอุมัยยะหฺ และเป็นบุรุษที่เด่นที่สุดหลังจาก อิมาม อัศศอดิก ผู้เป็นผู้นำของชนมุสลิมที่เคร่งครัดศาสนาในสมัยนั้น
เซด จึงจำเป็นต้องเดินทางสู่ดามัสคัสเพื่อให้คอลีฟะหฺไต่สวนคดี หากไม่เดินทางไป ก็คงจะต้องถูกกล่าวหาว่าขัดขืนคำสั่งคอลีฟะหฺ ซึ่งอาจจะถูกลงโทษได้ แต่เมื่อเซดเดินทางไปถึงก็สาบานว่า ไม่ได้มีการขายที่ดินแก่คอลิดเลย คอลีฟะหฺจึงไม่อาจหาสาเหตุเพื่อลงโทษเซดได้, จึงอนุญาตให้ท่านเดินกลับไปมะดีนะหฺได้
ฝ่ายผู้ปกครองแคว้นอิรัก เมื่อแผนการณ์แรกล้มเหลวก็ลงโทษทรมาน คอลิด ต่อไปอีกครั้ง เพื่อให้กุคำกล่าวหาว่า ตนได้ฝากทรัพย์สินไว้มากมายกับคนห้าคนคือ หนึ่ง เซด, สอง มุฮัมมัด บินอุมัร บินอะลีย์ บินอะบีฏอลิบ, สาม ดาวูด บินอะลีย์ บินอับดิลลาหฺ บินอิลยาซ บิน อับดิลมุฏฏอลิบ, สี่ ซะอัด บินอับดิรรอฮฺมาน บินเอาฟฺ และ ห้า อัยยูบ บินซะละมะหฺ บินอับดิลลาหฺ บินอัลอับบาส อิบนุลวะลีด อัลมัคซูมีย์ และได้แจ้งเรื่องนี้แก่คอลีฟะหฺ ให้ส่งตัวเซดและอีกสี่คนนั้น ไปสอบสวนในกรุงดามัสคัสอีกครั้ง บุรุษทั้งห้าจึงเดินทางไกลไปกรุงดามัสคัสตามคำสั่งของคอลีฟะหฺ การสอบสวนจึงเริ่มมีขึ้น แต่พวกเขาต่างก็ปฏิเสธคำกล่าวหานั้น คอลีฟะหฺ จึงสั่งให้ข้าราชการกลุ่มหนึ่งคุมผู้ต้องหาเหล่านั้น ไปสอบสวนคดีในอิรัก ยกเว้น อัยยูบ บินสะละมะหฺ ซึ่งคอลีฟะหฺได้สั่งให้ยกเว้น เพราะเขาเป็นญาติของคอลีฟะหฺ
เมื่อมาถึงอิรักแล้ว เจ้าเมืองอิรักก็จัดการสอบสวนคดี เซดตอบว่า คอลิดจะฝากทรัพย์สินไว้กับตนได้อย่างไร ในเมื่อเขาเองก็ด่าทอบรรพบุรุษของตนบนมินบัร เมื่อคอลิดถูกนำตัวออกมา คอลิดก็ยอมรับสารภาพว่า ตนไม่ได้ฝากทรัพย์สินไว้กับเซดแต่ประการใด แต่เนื่องจากถูกทรมาน จึงต้องยอมพูดตามที่เขาสั่งให้พูด เจ้าเมืองอิรักก็ไม่สามารถเอาผิดเซดและพรรคพวกได้ จึงจำเป็นต้องปล่อยตัวไป
[แก้] เซดปลุกระดมปวงชนให้ก่อการปฏิวัติ
เซดพักอยู่ในนครกูฟะหฺแห่งอิรักหลายวัน ก่อนที่จะถูกทางการสั่งให้ออกจากนคร เพราะเกรงว่าเซดจะทำการปลุกระดมมวลชนให้ต่อต้านการปกครองของตระกูลอุมัยยะหฺ ท่านจึงออกเดินทางมุ่งหน้ากลับไปยังนครมะดีนะหฺ เมื่อเดินทางมาถึง อัลกอดิซียะหฺ หรือ อัษษะอฺละบียะหฺ ชาวเมืองกูฟะหฺกลุ่มหนึ่งได้เดินทางตามมาถึง และขอให้เซดเดินทางไปอัลกูฟะหฺ พวกเขาสี่หมื่นคนจะเป็นไพล่พล ก่อการปฏิวัติโค่นล้มอาณาจักรอุมาวียะหฺ เซดจึงได้กล่าวว่า ฉันกลัวว่า ”พวกท่านจะทำกับฉัน เหมือนอย่างที่พวกท่านทำกับบิดาและปู่ของฉัน” พวกเขาต่างก็สาบานว่า จะต่อสู้อย่างจริงจังภายใต้การนำของเซด
ดาวูด บินอะลีย์ ที่เดินทางมาด้วยกันก็กล่าวตักเตือนไม่ให้หลงเชื่อพวกชาวเมืองกูฟะหฺ เพราะได้เคยทรยศต่อ อะลีย์ บินอะบีฏอลิบ, อัลฮะซัน และอัลฮุเซน มาแล้วในอดีต แต่เซดไม่เชื่อคำแนะนำของดาวูด ทั้งสองจึงแยกทางกัน เซดเดินทางกลับไปอัลกูฟะหฺอีกครั้งพร้อมกับพวกที่มาเชิญ อับดุลลอหฺ อัลมะฮัฎ ในมะดีนะหฺเมื่อทราบข่าวก็ส่งจดหมายเตือนภัยของชาวกูฟะหฺ
เมื่อเซดมาถึงเมืองกูฟะหฺ ซะละมะหฺ บินกะฮีล อัลอัฎรอมีย์ นักปราชญ์แห่งกูฟะหฺ ได้เตือนสติเรื่องการทรยศของชาวกูฟะหฺในอดีตอีกเช่นกันหลังจากนั้นเขาก็ขออนุญาตลาออกจากเมืองกูฟะหฺไปอาศัยอยู่ที่เมืองยะมามะหฺ เพราะเดาได้ว่าชาวกูฟะหฺจะต้องทรยศต่อเซดเป็นแน่
อีกคนหนึ่งที่ห้ามปรามไม่ให้เซดรับสัญญาของชาวเมืองกูฟะหฺคือ ซะกะรียา บินอะบีซาอิดะหฺ
แล้วเซดก็เดินทางเข้าเมืองกูฟะหฺในเดือนเชาวาล ปี ฮ.ศ. 120 แล้วพำนักอยู่ในเมืองนี้เป็นเวลา 15 เดือน และในบัสเราะหฺ 2 เดือน รวบรวมไพร่พลที่ให้คำสัตยาบันแก่เขาได้ทั้งหมด 25,000 คน ล้วนเป็นชาวเมืองกูฟะหฺ นอกจากนี้ยังสามารถรวบรวมไพร่พลจากมะดาอิน, บัศเราะหฺ, วาซิฏ, เมาศิล, ญะซีเราะหฺ, ร็อยย์ (เรย์), คุรอซาน และญุรญาน ได้อีกมากมาย ส่วนนักปราชญ์ในเมืองกูฟะหฺเกือบทุกคนก็ให้คำสัตยาบันสนับสนุนการปฏิวัติของเซด
ฝ่ายฮิชามเมื่อใดข่าวว่า เซดรวบรวมไพร่พลอยู่ในเมืองกูฟะหฺ ก็เขียนจดหมายต่อว่าเจ้าเมืองอิรักว่า เหตุใดจึงปล่อยให้เซดรวบรวมไพร่พลอยู่ และให้หาทางทำลาย
[แก้] ล้มแผนการปฏิวัติ
เมื่อเวลาออกรบใกล้เข้ามาแล้ว ชาวกูฟะหฺเริ่มลังเลต่อการนำของเซด จัดหาวิธีที่จะล้มเลิกขบวนการปฏิวัตินี้ ด้วยการตั้งคำถามที่ล่อแหลมว่า เซดมีความเห็นอย่างไรเกี่ยวกับคอลีฟะหฺคนแรกคืออะบูบักริ และคอลีฟะฮ์คนที่สองคือ อุมัร ในกองทัพของเซดนั้นมีไพร่พลที่มีทัศนะในเรื่องนี้แตกต่างกัน บ้างก็นับถือคอลีฟะหฺ ทั้งสอง บ้างก็ไม่นับถือคอลีฟะหฺทั้งสอง แต่ทั้งสองฝ่ายก็มีจุดมุ่งหมายเดียวกันนั่นคือ การโค่นล้มระบอบการปกครองที่ขัดกับกฎบัญญัติอิสลาม เพื่อก่อตั้งรัฐอิสลามที่แท้จริง เซดตอบคำถามนี้ว่า ”ฉันไม่เคยได้ยินบรรพบุรุษของฉันคนใดที่ตัดความเกี่ยวพันกับคนทั้งสอง และไม่มีผู้ใดกล่าวต่อเขาทั้งสองนอกจากด้วยสิ่งที่ดี”
เมื่อชาวเมืองกูฟะหฺที่สนับสนุนเซดได้ยินเช่นนั้น ต่างถอนตนออกจากทัพของเซด จนเหลือผู้สนับสนุนไม่เกิน 500 คน ในจำนวนนี้มี 220 คนที่สามารถออกทัพจับศึก
[แก้] การต่อสู้
เมื่อเซดทราบว่ายูซุฟ บินอุมัรเจ้าเมืองอิรัก ได้ประกาศให้ตามจับตน อีกทั้งทราบมาว่า ชายสองคนซึ่งเป็นพรรคพวกของตน ถูกทางการจับแล้วนำไปฆ่า เซดจึงรีบสั่งให้ลุกขึ้นต่อสู้ก่อนเวลาที่เคยกำหนดไว้กับไพร่พลในหัวเมืองอื่น ๆ โดยให้มีการปฏิวัติในคืนวันที่ 1 เดือนศอฟัร ปี ฮ.ศ. 122 (อังคาร ที่ 5 มกราคม ค.ศ. 740) ซึ่งตรงกับคืนวันอังคาร ทว่าก่อนที่ทัพของเซดจะออกศึก อัลฮะกัม อิบนุศศ็อลติ ได้รวบรวมชาวเมืองกูฟะหฺให้เข้าไปในมัสยิดใหญ่ในเมืองแล้วให้ทหารล้อมไว้เป็นเวลาสามวันสามคืน โดยให้พาเสบียงจากบ้านของตน
ในวันอังคาร อัลฮะกัม อิบนุศศ็อลติ ได้สั่งให้ปิดตลาดและปิดประตูมัสยิดขังผู้คนไว้ในนั้น หลังจากนั้นก็ส่งจดหมายไปแก่เจ้าเมืองอิรัก ซึ่งตอนนั้นอยู่ในเมืองฮัรเราะหฺ ให้ทราบข่าวคราวความคืบหน้าของการปฏิวัติ เพื่อจะได้จัดการต่อต้าน เจ้าเมืองอิรัก จึงส่ง ญะอฺฟัร อิบนุลอับบาส อัลกินดีย์ พร้อมกับทหารม้า 50 คน เพื่อศึกษาสถานการณ์ในเมืองกูฟะหฺ
ในคืนอังคารนั้น พวกทหารของเจ้าเมืองก็ได้บุกเข้าไปในบ้านของ มุอาวิยะหฺ บินอิซฮาก บินเซด บินฮาริษะหฺ อัลอันศอรีย์ แต่ก็ไม่พบ
เช้าวันพุธ เจ้าเมืองอิรัก ก็ออกไปที่เนินเขา ซึ่งอยู่ไม่ไกลจาก อัลฮีเราะหฺ โดยมีเหล่าผู้นำแห่งกุเรชและเผ่าอื่น ๆ ตามไปด้วยราว 200 คน ในวันเดียวกันนี้ เซด ได้ส่ง อัลกอซิม บินกะษีร อัลอัฎรอมีย์ และ ศ็อดดาม ให้ออกไปตะโกนในเมืองว่า ยามันซูร อะมิด แต่ก็พบกับ ญะอฺฟัร อิบนุลอัลอับบาส อัลกินดีย์ และพรรคพวก จึงเกิดการต่อสู้กัน จน ศ็อดดาม ถูกฆ่าและ กอซิม นั้นก็ถูกจับตัวไปให้แก่ อัลฮะกัม อิบนุศศ็อลติ เมื่อถูกไต่ถาม อัลกอซิม ไม่ยอมตอบจึงถูกนำไปตัดคอที่หน้าจวนเจ้าเมือง
ในวันแห่งการต่อสู้นั้นมีผู้คนที่ยังยืนหยัดอยู่กับเซดเพียง 218 คนเท่านั้น เซดจึงถามว่า ”พรรคพวกของเราไปไหนกันหมด” ก็มีผู้ตอบว่า ”ถูกขังอยู่ในมัสยิดใหญ่” เซดกล่าวว่า ”ขอสาบาน สิ่งนี้ ไม่ใช่ข้ออ้างที่ดีสำหรับผู้ที่ได้ให้คำสัตยาบันต่อเรา”
ส่วน นัศรุ บินคุซัยมะหฺ และพรรคพวกเมื่อได้ยินเสียงคนตะโกนเรียกก็ออกไปดู จึงเห็น อัมรุ บินอับดิลเราะฮฺมาน ซึ่งเป็นศอฮิบ อัชชุรเฏาะหฺ(ผู้กอง) ของ อัลอะกิบ อิบนุสส็อลติ และตำรวจอีกหลายนาย ก็เกิดการปะทะกันจน ผู้กองนั้นถูกฆ่าตาย และเหล่าตำรวจนั้นก็หนีไปหลังจากนั้น นัศรุ และไพร่พล ก็เข้ารวมกับกองทัพใหญ่ภายใต้การนำของเซด ซึ่งกำลังต่อสู้กับกองทัพที่มาจาก ซีเรีย มีไพร่พลทั้งหมด 500 คน เซดและพรรคพวกก็เข้าโจมตีกองทัพนี้จนพ่ายแพ้หนีไป
เซดได้นำทัพผ่านบ้านของ อะนีซ บินอัมริ ที่เคยให้คำสัตยาบัน ว่าจะร่วมต่อสู้ จึงเรียกให้ออกมาร่วมทัพ แต่ชายคนนี้ก็ไม่ยอมออกมา เซดได้นำไพร่พลจนกระทั่งถึงสถานที่หนึ่งที่ชื่อ อัลกันนาซะหฺ ซึ่งเป็นใจกลางเมือง ที่นั่นมีกองทหารจากซีเรียตั้งทัพอยู่ เซดและพรรคพวกจึงบุกเข้าโจมตี จนกระทั่งพวกทหารซีเรีย แตกทัพหนีไป
หลังจากนั้นเซดก็นำทัพ ออกจากเมืองจนกระทั่งมาถึงที่ อัลญะบานะหฺ ซึ่งอยู่ระหว่างเมือง ฮีเราะหฺ และ กูฟะหฺ จึงแลเห็น ยูซุฟ บิน อุมัร เจ้าเมือง อิรัก ที่รออยู่บนเนินเขา เซดพยายามจะบุกขึ้นเนินเขาเพื่อเข้าโจมตีเจ้าเมืองและพวกทหารบนเนิน แต่ไม่อาจจะทำได้ เพราะว่า รอยยาน บินซะละมะหฺ นำกองทัพจากซีเรียบุกโจมตีเข้ามาด้านหลัง
เซดจึงนำทัพเข้าเมืองกูฟะหฺอีกครั้ง แล้วต่างคนต่างก็แยกเข้าเขตต่าง ๆ ในเมือง จนกระทั่งปะทะกับกองทหารม้าของเจ้าเมือง กองทหารของเซดต่างก็หนีเข้าซอย เหลือเพียงชายคนหนึ่งไม่ทราบชื่อ เข้าไปในมัสยิดหลังหนึ่งแล้วนมาซสองร่อกอัต หลังจากนั้น ก็ออกมาต่อสู้กับพวกทหาร แล้วถูกทหารคนหนึ่งใช้เสาตีจนเสียชีวิต
ส่วนพวกที่หนีเข้าซอยนั้นก็ออกมาต่อสู้กับทหารของเจ้าเมือง สมาชิกของเซดคนหนึ่งได้วิ่งเข้าไปในบ้านของ อัลดุลลอห์ บินเอาฟิ พวกทหารจึงบุกเข้าไปในบ้านแล้วนำตัวเขาไปพบกับเจ้าเมือง เจ้าเมืองจึงสั่งให้ฆ่าชายคนนี้เสีย นัศรุ บินคุซัยมะหฺ ได้แนะนำให้เซดนำไพร่พลไปที่มัสยิดใหญ่เพราะที่นั่นมีชาวเมืองกูฟะหฺ ถูกกักขังอยู่ เซดกล่าวว่า ”พวกเขาทรยศอย่างที่เคยทำกับ ฮุเซน ในอดีต” นัศรุ จึงกล่าวว่า ”ส่วนฉันก็จะต่อสู้อยู่กับท่านด้วยดาบนี้จนกว่าฉันจะถูกฆ่า”
ในขณะที่เซดนำพรรคพวกเข้าใกล้มัสยิดใหญ่นั้น อุบัยดิลลาหฺ อิบนุลอับบาส อัลกินดีย์ ได้เห็นเข้าจึงนำทัพเข้าโจมตีทัพของเซด จนมีการปะทะกันที่หน้าประตู อุมัร บินสะอิด บินอะบีวักกอศ แต่ทัพของ อุบัยดิลลาหฺ ก็พ่ายแพ้ มีทหารล้มตายมากมาย อุบัยดิลลาหฺ เองและทหารที่เหลือก็หนีจนกระทั่งถึงบ้าน อัมรุ บินฮะรีษ ที่อยู่ในเขต อัซซับเคาะหฺ ใกล้กับมัสยิดใหญ่
เช้าวันพฤหัสบดี วันที่ 3 ศอฟัร เจ้าเมืองได้สั่งให้ อัลอับบาส บินซะอีด อัลมุซนีย์ ผู้เป็น ศอฮิบ ชุรเฏาะหฺ (ผู้กอง) ให้นำกำลังพลไปโจมตี เซดและพรรคพวก ใน ดาร อัรริซกิ จึงเกิดการปะทะกันระหว่างสองฝ่าย นัศรุ บินคุซัยมะหฺ อัลอับซีย์ และ มุอาวิยะหฺ บินอิซฮาก อัลอันซอรีย์ ประกบคุ้มครองเซดอยู่ตลอดเวลา เมื่อทางเดินที่เต็มไปด้วยไม้และเศษไม้ อัลอับบาส ก็ตะโกนสั่งให้ทหารของพวกตนลงจากหลังม้า นาอิล บินฟัรวะหฺ ฟันขาอ่อนของ นัศรุด้วยดาบจนได้รับบาดเจ็บ นัศรุเองก็ฆ่านาอิล ไพร่พลของ อัลอับบาส ถูกฆ่าตายประมาณ 70 คน ที่เหลือก็หนีไป
เวลาบ่ายวันพฤหัสบดี เจ้าเมืองได้ส่งกำลังพลไปโจมตีเซดและพรรคพวกอีกจนมีการปะทะกันอย่างรุนแรงอีกครั้ง แต่ทหารของเจ้าเมืองก็พ่ายแพ้อีกครั้ง เซดและพรรคพวก จึงไล่ตามพวกทหารเหล่านั้น จนกระทั่งถึงเขตของตระกูลซะลีม และไล่ตามพวกเขาจนถึงสถานที่หนึ่งระหว่างบาริกและรุอาซ แล้วก็มีการต่อสู้กันที่นั่นอีกครั้ง ในการต่อสู้ที่อัซซับเคาะหฺนั้น ผู้คนเห็นเมฆสีเหลืองติดตามเซดตลอดเวลาที่เขาเคลื่อนย้าย
ในขณะที่ต่อสู้อยู่นั้น ทหารม้านายหนึ่งจาก ตระกูลกัลบิ ได้ด่าทอท่านหญิงฟาฏิมะหฺ เซดได้ยินก็โกรธเป็นอย่างยิ่งจนร้องไห้จนน้ำตาชุ่มเครา จึงหันหน้าไปทางพรรคพวก แล้วถามว่า ไม่มีใครเลยหรือที่จะโกรธเพื่อฟาฏิมะฮ์ ไม่มีใครเลยหรือที่จะโกรธเพื่อศาสนทูตของอัลลอห์ ไม่มีใครเลยหรือที่จะโกรธเพื่ออัลลอหฺ" ทหารม้าคนนั้นลงจากหลังม้าเปลี่ยนไปขี่ล่อ ซะอีด บินคอยษัม จึงใช้ดาบสั้น ตัดคอชายคนนั้นจนกระทั่งศีรษะหล่นตกลงมาข้างหน้าล่อ พวกทหารต่างก็เข้ารบหมายฆ่าซะอีด แต่พรรคพวกของเซดก็เข้าปกป้องซะอีด ดังนั้นซะอีดจึงขี่ล่อของชายนั้นเข้ามาหาเซด เซดจึงจูบซะอีดที่ดั้งจมูก แล้วกล่าวว่า ”ขอสาบาน ขอสาบานด้วยอัลลอหฺท่านได้ทำถูกต้องกับการแก้แค้นของเราแล้ว ขอสาบานด้วยอัลลอหฺ ท่านได้ประสบกับเกียรติคุณแห่งโลกนี้และโลกหน้า และขุมทรัพย์ของมันทั้งสองแล้ว” ว่าแล้วก็มอบล่อตัวนั้นให้แก่ซะอีด
เซดนำพรรคพวกมาถึงที่สะพานแล้วกล่าวต่อพรรคพวกว่า “หากฉันรู้ว่ามีการกระทำความดีที่ดีกว่าการฆ่าฟันพวกนี้ ฉันก็คงทำไปแล้ว ฉันเคยห้ามไม่ให้พวกท่านไล่ตามทหารที่หนี อย่าฆ่าฟันคนที่ได้รับบาดเจ็บ อย่าเปิดประตู ที่ปิด แต่นี่ฉันได้ยินพวกเขาด่าทออะลีย์ ดังนั้น พวกท่านก็จงฆ่าพวกเขาทุกด้าน…”
การต่อสู้รุนแรงขึ้นอีก เหล่าม้าของทหาร หวาดกลัวต่อม้าของเซด และพรรคพวก ทำให้กองทัพทหารระส่ำระสาย อัลอับบาส บินซะอีด อัลมุซนีย์ จึงขอให้เจ้าเมืองหนุนกำลังพลและกำลังม้า เจ้าเมืองจึงสั่งให้ สุลัยมาน บินกีซาน อัลกัลบีย์ นำทหารจากเมือง ก็อยกอน และ บุคอรอ เข้ามาหนุน เซด และพรรคพวกพยายามต่อสู้กับทัพหนุนนี้แต่ไม่สามารถเอาชนะได้ มุอาวิยะหฺ บินอิซฮาก ที่คอยปกป้องเซด ก็ถูกฆ่า
[แก้] เซดถูกสังหาร
คืนนั้น เซดถูกยิงด้วยธนูลึกลับดอกหนึ่ง ที่หน้าผากจนทะลุเข้าไปในสมอง เซดจึงถอยทัพกลับ แต่เจ้าเมืองหารู้ไม่ว่า เซดบาดเจ็บ คิดว่าคงถอยทัพกลับไปพักผ่อน อันที่จริงผู้ที่ยิงธนูนั่นคือ รอชิด เป็นทาสของเจ้าเมืองอิรัก พรรคพวกของเซด ช่วยกันพาเขาเข้าไปในบ้านของ ฮัรรอน บินกะรีมะหฺ ใน ซักกะหฺ อัลบะรีด ซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลจากมัสยิดใหญ่มากนัก แล้วไปหาหมอมารักษา หมอเห็นอาการแล้ว ก็บอกว่า หากเอาธนูออกแล้วเซดก็ต้องตายเซดบอกว่า สำหรับฉันแล้วการตายจะดีกว่า หมอจึงดึงธนูออก เซดก็เสียชีวิตทันที
เซดเมื่อเสียชีวิตนั้นมีอายุเพียง 46 ปีหรือ 47 ปี
เป็นธรรมเนียมของผู้ปกครองแห่งอาณาจักรมุอาวียะหฺ ที่จะนำศพของศัตรูของพวกตนไปทำการอนาจาร เพื่อเป็นการขู่ประชาชนไม่ให้เอาเยี่ยงอย่าง บรรดาพรรคพวกของเซดตกลงกันว่าจะซ่อนศพของเซดไม่ให้พวกทหารรู้ บางคนออกความคิดว่า เราควรจะใส่เสื้อเกราะแก่ท่านแล้วถ่วงท่านลงในแม่น้ำ บ้างก็บอกว่า ควรฝังไว้ในสวนอินทผาลัม บ้างก็บอกว่าควรตัดศีรษะของท่านแล้วทิ้งให้ปะปนกับเหล่าศพที่ตายในสนามรบ ทว่าบุตรชายของเซดไม่เห็นด้วยกับวิธีสุดท้ายนี้ เมื่อตกลงกันไม่ได้ว่าจะทำอย่างไร ซะวะบะหฺ บินษาบิต ก็ออกความคิดให้ไปฝังริมคลองที่อยู่ในสวนของชาวบ้าน แล้วเอาหญ้าและดินมากลบ แล้วขุดคูให้น้ำไหลผ่าน
[แก้] ศพถูกตรึงที่ไม้กางเขน
ฝ่ายเจ้าเมืองอิรัก เมื่อรู้ว่า เซด เสียชีวิตแล้วก็สั่งให้คนค้นหาสถานที่ฝังศพโดยประกาศจะให้รางวัลอย่างงามแก่ผู้รู้เบาะแส ก็มีผู้เห็นคนหนึ่งไปบอกเพื่อรับรางวัล เจ้าเมืองจึงสั่งให้คนไปขุดเอาศพออกมาจากสุสาน แล้วเอามาทิ้งที่หน้าจวน หลังจากนั้นก็ได้สั่งให้ตัดศีรษะของเซดเพื่อส่งไปให้คอลีฟะหฺ ฮิชาม ในกรุงดามัสคัส พร้อมกับศีรษะพรรคพวกของเซด พวกเขาถอดเสื้อผ้าออกจากลำตัวของเซด แล้วนำร่างที่เปลือยเปล่านั้นไปตอกที่ไม้กางเขนให้ขาขึ้นข้างบน คอลงข้างล่าง แล้วให้ปักไว้ที่ลานตลาด อัลกันนาซะหฺ ส่วนพรรคพวกของเซด อีกหลายคนคนก็ถูกตรึงที่ไม้กางเขนเช่นกัน ในจำนวนนั้นมี มุอาวิยะหฺ บินอิซฮาก, นัศรุ บินซุลัยมะหฺ และ ซิยาด อัลฮินดีย์
ศพของเซด ถูกตรึงอยู่บนไมกางเขนเป็นเวลาหลายปี เมื่อฮิชามขึ้นครองราชย์เป็นคอลีฟะหฺ ส่วนฮิชามเมื่อได้เห็นศีรษะก็ตกรางวัลให้เพียงคนละ 10 ดิรฮัม แล้วสั่งให้ปักศีรษะเหล่านั้นไว้ที่ประตูดามัสคัส หลังจากนั้นฮิชามก็สั่งให้พาศีรษะของเซดไปยังเมืองมะดีนะหฺ เพื่อให้ญาติพี่น้องของเซดได้เห็น แล้วนำไปปักบนสุสานศาสดามุฮัมมัด ผู้เป็นบรรพบุรุษของเซดหนึ่งวันหนึ่งคืน ชาวเมืองจึงขอร้องให้ มุฮัมมัด บินอิบรอฮีม บินฮิชาม อัลมัคซูมีย์ ซึ่งเป็นเจ้าเมืองมะดีนะหฺ เอาศีรษะนั้นออกจากสุสานแห่งท่านศาสดานั้นเสีย แต่เจ้าเมืองมะดีนะหฺก็ปฏิเสธ ฝ่ายตระกูลฮาชิม เมื่อเห็นการเหยียดหยามดังกล่าวก็ร้องห่มร้องไห้ได้ยินกันทั่วเมือง เสมือนวันที่ฮุเซนหลานตาของศาสนทูตถูกสังหารเสียชีวิต
หลังจากนั้นเจ้าเมืองก็สั่งให้เอาหัวไปปักด้วยทวนแล้วเอาไปตั้งไว้ที่ท้ายมัสยิด แล้วสั่งให้ทุกคนเข้ามัสยิดเพื่อฟังการปราศรัยของเจ้าเมือง และแล้วบรรดานักพูดและเหล่าผู้นำ ต่างก็ด่าทออะลีย์, ฮุเซน, เซด รวมทั้งพรรคพวกผู้สนับสนุน เมื่อนักพูดคนใดปราศรัยเสร็จแล้ว ตัวแทนเผ่าต่าง ๆ ก็ลุกขึ้นยืนด่าทอพวกเขาเหล่านั้น พวกเขาทำอย่างนี้จนครบ 7 วัน โดยคนในตระกูลอุษมานจะเป็นพวกแรกที่ลุกขึ้นด่าทอจนสะใจ
[แก้] ศีรษะถูกนำไปอิยิปต์
แล้วหลังจากนั้น จึงมีคำสั่งให้นำศีรษะเซดไปอิยิปต์ แล้วแห่ให้คนทั่วทั้งนครได้ดู เพื่อขู่ไม่ให้เอาเยี่ยงอย่าง หลังจากนั้นพวกเขาก็เอาศีรษะ ตั้งในมัสยิดกลางในนคร ต่อมามีคนขโมยศีรษะที่ตั้งอยู่บนมิมบัรของมัสยิดนั้นไปฝังในมัสยิด มุฮฺริซ อัลกิซซีย์ เวลาผ่านไปสี่ร้อยกว่าปี ในวันอาทิตย์ เดือนรอบีอุลเอาวัล ปี ฮ.ศ. 525 (กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1131) มีผู้คนค้นพบศีรษะนี้ หลังจากที่มัสยิดนี้ได้พังลงมาแล้ว ถึงแม้ว่า ร่างของเซดจะถูกตรึงอยู่ที่ตออินทผลัมเป็นเวลานานก็ตาม ร่างของเซดก็ไม่ได้ เน่าเปื่อย คนที่ผ่านไปผ่านมาในเมืองก็เห็นเซด ด้วยมุมมองที่ต่างกัน บ้างก็คิดว่า สมควรแล้วที่กบฎจะได้รับการตอบแทนเช่นนี้ บ้างก็คิดว่า นี่คือนักสู้ที่ต่อต้านอธรรม
ต่อมาเมื่อถึงสมัย คอลีฟะหฺ อัลวะลีด เมื่อเขาได้ข่าวว่ายะฮฺยา บินเซด ทำการปฏิวัติ เหมือนบิดา ก็สั่งให้เผาร่างของเซด แล้วเอาเถ้าถ่านและกระดูกที่ป่นแล้ว ไปทิ้งในแม่น้ำฟุรอต (ยูเฟรติส)