โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ
ชื่อ | โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ |
ชื่อ (อังกฤษ) | The Bangkok School for The blind |
ก่อตั้ง | 12 มกราคม พ.ศ. 2482 |
ประเภทโรงเรียน | เอกชน ดำเนินการโดย มูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทยฯ |
อาจารย์ใหญ่ | จิราพร เอี่ยมดิลก |
คำขวัญ | ใฝ่ศึกษา พึ่งพาตนได้ รับใช้สังคม สั่งสมคุณธรรม |
เพลงประจำสถาบัน | เพลงพระราชนิพนธ์ยิ้มสู้ |
สีประจำสถาบัน | ดำ-เหลือง |
ที่อยู่ | 420 ถนนราชวิถี แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400 |
เว็บไซต์ | www.blind.or.th |
โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ เป็นโรงเรียนสอนคนตาบอดแห่งแรกในประเทศไทย ภายใต้การดำเนินงานของ มูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์
สารบัญ |
[แก้] ประวัติ
มิสเจนีวีฟ คอล์ฟิลด์ สตรีตาบอดชาวอเมริกัน ได้ริเริ่มก่อตั้งโรงเรียน เมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2482 ใช้ชื่อว่า โรงเรียนสอนคนตาบอด โดยใช้บ้านหลังเล็กๆ ที่ ถนนคอชเช่ ศาลาแดง นับว่าเป็น โรงเรียนสอนเด็กพิการ เป็นแห่งแรกในประเทศไทย นักเรียนคนแรก คือ หม่อมเจ้าหญิงพวงมาศผกา ดิศกุล ได้มีผู้มีจิตกุศล ช่วยเหลือ และสนับสนุน โดยตั้งเป็น มูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย ในวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2482 นับเป็น มูลนิธิสงเคราะห์คนพิการ แห่งแรกในประเทศไทย ต่อมา ได้ย้าย โรงเรียนสอนคนตาบอด ไปอยู่ตามที่ต่างๆ เนื่องจากมีนักเรียนเพิ่มมากขึ้น และเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2
จนในที่สุดปี พ.ศ. 2492 รัฐบาลสมัย จอมพล ป.พิบูลสงคราม อนุมัติให้เช่าที่ดินของ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เนื้อที่ 8 ไร่เศษ ณ สี่แยกตึกชัย ถนนราชวิถี เป็นที่ตั้งของ โรงเรียนสอนคนตาบอด จนมาถึงปัจจุบัน
ปีการศึกษา 2503 โรงเรียนฯ ได้เข้าสู่ระบบการศึกษาของ กระทรวงศึกษาธิการ ภายใต้สังกัด สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน
เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2520 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ จัดเป็นโรงเรียนเอกชนการกุศล ปัจจุบันมีนักเรียนกว่า 250 คน ทั้งนักเรียน ประจำ - ไปกลับ โดยเปิดสอนตั้งแต่ระดับชั้น อนุบาล ถึง ประถมศึกษาปีที่ 6 ส่วนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ทางโรงเรียนจัดการศึกษา แบบเรียนร่วม เมื่อ ปีการศึกษา 2540
นอกจากจะให้การศึกษาตามหลักสูตรแล้ว โรงเรียนฯ ยังได้ส่งเสริมนักเรียน ให้ได้เรียนรู้ในด้านภาษา ดนตรี กีฬา เทคโนโลยี และ อาชีพ ตลอดจนให้ได้รับการตรวจรักษาตา และได้รับการเอาใจใส่ดูแลด้านสุขภาพ เป็นอย่างดีด้วย
[แก้] สัญลักษณ์
ตรารูปวงกลม 2 วงซ้อนกัน ด้านบน เป็นชื่อโรงเรียนภาษาไทย ส่วนด้านล่าง เป็นชื่อโรงเรียนภาษาอังกฤษ ภายในวงกลม มีคำว่า "สงเคราะห์" อยู่ด้านบนประภาคาร และคำว่า "คนตาบอด" อยู่ด้านล่างประภาคาร
ความหมาย ประภาคาร คือ กระโจมไฟ ที่ให้แสงสว่าง แก่ผู้ที่เดินทาง ในทะเลอันกว้างใหญ่ เปรียบเสมือนกับ โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ ที่ให้แสงสว่าง และความหวัง แก่นักเรียนตาบอด
[แก้] สีประจำโรงเรียน
สีดำ - เหลือง
- สีดำ คือ ความมืด หมายถึง คนตาบอด
- สีเหลือง คือ แสงสว่าง หมายถึง ความรุ่งโรจน์ ความหวัง สติปัญญาและคุณธรรม
สองสีรวมกัน หมายถึง การศึกษานำทางคนตาบอด ให้มีสติปัญญา และคุณธรรม ให้สามารถพึ่งพาตนได้
[แก้] เพลงประจำโรงเรียน
ในปี พ.ศ. 2495 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์เพลง "ยิ้มสู้" เพื่อ สร้างขวัญ และ กำลังใจ แก่คนตาบอดทุกคน โดยทรงสอน เนื้อร้อง และ ทำนอง ให้ นักเรียนของโรงเรียนฯ ด้วยพระองค์เอง เพลงพระราชนิพนธ์ "ยิ้มสู้" จึงเป็น เพลงประจำโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ นับแต่นั้นมา
เพลงพระราชนิพนธ์ "ยิ้มสู้" (Smile)
ทำนอง : พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดชฯ
คำร้อง : พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ
โลกจะสุขสบายนั่นเป็นได้หลายทาง | ต้องหลบสิ่งกีดขวางหนทางให้พ้นไป |
จะสบความสุขสันต์สำคัญที่ใจ | สุขและทุกข์อย่างไรเพราะใจตนเอง |
ฝ่าลู่ทางชีวิตต้องคิดเฝ้าย้อมใจ | โลกมืดมนเพียงใดหัวใจอย่าคร้ามเกรง |
ตั้งหน้าชื่นเอาไว้ย้อมใจด้วยเพลง | ไยนึกกลัวหวาดเกรงยิ้มสู้ |
คนเป็นคนจะจนหรือมี | ร้ายหรือดีคงมีหวังอยู่ |
ยามปวงมารมาพาลลบหลู่ | ยิ้มละไมใจสู้หมู่มวลเภทภัย |
ใฝ่กระทำความดีให้มีจิตโสภา | สร้างแต่ความเมตตาหาความสุขสันต์ไป |
จะสบความสุขสันต์สำคัญที่ใจ | เฝ้าแต่ยิ้มสู้ไปแล้วใจชื่นบาน |
- เพลงพระราชนิพนธ์ ยิ้มสู้ (ข้อมูลไฟล์) — เปิดในเว็บเบราว์เซอร์ (รุ่นเบต้า)
- คำร้อง : พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ
- หากไม่ได้ยินเสียง โปรดดูเพิ่มที่ media help.
[แก้] วัตถุประสงค์
- เพื่อให้การศึกษาแก่คนตาบอดทั้งหญิงและชายโดยไม่ได้จำกัดเชื้อชาติและศาสนา
- เพื่อให้การศึกษาสายสามัญในระดับก่อนประถม และประถมศึกษา และสนับสนุนการศึกษาแบบเรียนร่วมในระดับมัธยมศึกษา
- เพื่อร่วมมือกับทางราชการ และองค์การต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อส่งเสริมกิจกรรมที่เป็นประโยชน์แก่คนตาบอด
[แก้] วิสัยทัศน์
โรงเรียนมุ่งให้นักเรียนได้พัฒนาทางด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม สติปัญญา รู้จักคิดเป็นทำเป็นและสามารถแก้ปัญหาได้ ให้พัฒนาทางด้านวิชาการ ภาษา ดนตรี กีฬา เทคโนโลยี และอาชีพ เต็มตาม ศักยภาพ เป็นที่ยอมรับของชุมชน ส่งเสริมและสนับสนุนระบบเรียนร่วม และให้มีวินัย คุณธรรม จริยธรรม ช่วยเหลือตนเองในการดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุข
[แก้] เป้าหมายในการจัดการศึกษา
- พัฒนาหลักสูตร และการจัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับวุฒิภาวะและวัยของผู้เรียน เน้นกิจกรรมด้านภาษา ดนตรี กีฬา เทคโนโลยี และอาชีพ
- พัฒนาส่งเสริมระบบการส่งต่อการเรียนร่วม โดยการเตรียมความพร้อม จัดหาสื่อ ประสานงาน ประเมินผล และติดตาม
- พัฒนากิจกรรมที่ส่งเสริมวินัย คุณธรรม จริยธรรม ของนักเรียน สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตของตนเอง และในสังคมได้
- พัฒนาการบริหารและการจัดการให้มีคุณภาพที่จะสนับสนุนการศึกษาของโรงเรียนอย่างมี ประสิทธิภาพ
- พัฒนาด้านอาคาร สถานที่ ห้องสมุด และสิ่งแวดล้อมให้มีความร่มรื่น สะอาด สวยงาม และเอื้อต่อการเรียนการสอน
[แก้] จุดเน้นของโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ
- ส่งเสริมการเรียนการสอนโดยเน้นให้นักเรียนตาบอด พัฒนาเต็มตามศักยภาพของตน ในด้านวิชาการ มี ผลสัมฤทธิ์การเรียนในระดับสูง สามารถเข้าสู่การเรียนร่วมในโรงเรียนปกติได้อย่างมีความสุข
- สนับสนุนและส่งเสริมความสามารถเฉพาะตน ของนักเรียนตาบอดในด้านต่างๆ เช่น ภาษา ดนตรี กีฬา คอมพิวเตอร์ การช่วยตนเองในชีวิตประจำวัน และงานอาชีพเพื่อศึกษาต่อในระดับสูงตามความสามารถ และความถนัด ตามวิสัยทัศน์ของมูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์
- ส่งเสริมให้ปรับกระบวนการเรียนการสอนของครูให้เกิดประสิทธิผลตามเป้าหมายโดยเน้นนักเรียนเป็นสำคัญ
- พัฒนาห้องสมุดให้เป็นแหล่งวิทยาการเพื่อให้ครูและนักเรียนสามารถศึกษาค้นคว้า และเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง
- รณรงค์สร้างให้นักเรียนมีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ คือ มีระเบียบวินัย ความรับผิดชอบ มีคุณธรรม และมีจิตสำนึกในการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
- ส่งเสริมให้ครู เจ้าหน้าที่ และนักเรียนมีจิตสำนึกในความขยัน ซื่อสัตย์ นิยมไทย ดำเนินชีวิต ตามแนวพระราชดำริ มีเศรษฐกิจพอเพียงมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ธรรมชาติและพัฒนาสิ่งแวดล้อม
- พัฒนาครูและเจ้าหน้าที่ให้เป็นผู้มีความรู้ มีคุณธรรม มีวิสัยทัศน์กว้างไกลสามารถทำงานเป็นทีม และปฏิบัติตนให้ทันยุคทันสมัยอยู่เสมอ
- ส่งเสริมให้องค์กรในชุมชนมีส่วนร่วมและให้การสนับสนุนช่วยเหลือการบริหารการจัดการศึกษาของ โรงเรียน
- พัฒนาระบบข้อมูล สารสนเทศ การตรวจสอบ ติดตามประเมินผลและรายงานผลรวมทั้งการนำสื่อเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ มาใช้ในการบริหารการจัดการ และพัฒนาการเรียนการสอนอย่างมีประสิทธิภาพ
- ปรับปรุงการนิเทศ ติดตาม ประเมินคุณภาพ การบริหารงาน การจัดการ และการศึกษาอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง