ประเทศวานูอาตู
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
|
|||||
คำขวัญ: Let us stand firm in God | |||||
เพลงชาติ: Yumi, Yumi, Yumi | |||||
เมืองหลวง | พอร์ตวิลา |
||||
เมืองใหญ่สุด | พอร์ตวิลา | ||||
ภาษาราชการ | ภาษาบิสลามา ภาษาอังกฤษ และภาษาฝรั่งเศส | ||||
รัฐบาล | สาธารณรัฐ | ||||
- ประธานาธิบดี | กัลกอต มาตัสเกเลเกเล | ||||
- นายกรัฐมนตรี | ฮัม ลินี | ||||
เอกราช วันที่ |
จากฝรั่งเศสและสหราชอาณาจักร 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2523 |
||||
เนื้อที่ - ทั้งหมด - พื้นน้ำ (%) |
12,200 กม.² (อันดับที่ 162) ไมล์² น้อยมาก |
||||
ประชากร - ก.ค. 2549 ประมาณ - ? - ความหนาแน่น |
208,869 (อันดับที่ 182) ? 16/กม² (อันดับที่ 188) /ไมล์² |
||||
GDP (PPP) - รวม - ต่อประชากร |
2546 ค่าประมาณ 580 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (อันดับที่ 205) 2,900 ดอลลาร์สหรัฐ (อันดับที่ 121) |
||||
HDI (2546) | 0.659 (อันดับที่ 118) – กลาง | ||||
สกุลเงิน | วาตู (VUV ) |
||||
เขตเวลา | (UTC+11) | ||||
รหัสอินเทอร์เน็ต | .vu | ||||
รหัสโทรศัพท์ | +678 |
วานูอาตู (Vanuatu) หรือชื่อทางการคือ สาธารณรัฐวานูอาตู (Republic of Vanuatu) เป็นประเทศหมู่เกาะที่ตั้งอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของประเทศออสเตรเลีย 1,750 กม. และตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของนิวแคลิโดเนีย ทางทิศตะวันตกของประเทศฟิจิ และทางทิศใต้ของหมู่เกาะโซโลมอน 500 กม. ชื่อของประเทศนี้ในยุคอาณานิคม คือ นิวเฮอร์ไบรดส์ (New Herbrides)
สารบัญ |
[แก้] ประวัติศาสตร์
เกาะจำนวนมากของวานูอาตูมีผู้อาศัยมานานนับพัน ๆ ปี หลักฐานที่เก่าแก่ที่สุด พบว่ามีอายุย้อนไปถึงประมาณ 2,000 ปีก่อนคริสตกาล และเมื่อ ค.ศ. 1606 นักสำรวจชาวโปรตุเกส ชื่อ เปโดร เฟร์นันเดซ เด กีโรส (Pedro Fernández de Quirós) ก็นับเป็นชาวยุโรปคนแรกที่เดินทางมาถึงหมู่เกาะนี้ ชาวยุโรปเริ่มตั้งถิ่นฐานในหมู่เกาะดังกล่าวในปลายศตวรรษที่ 18 หลังจากกัปตันเจมส์ คุก นักสำรวจชาวอังกฤษได้เดินทางมายังหมู่เกาะแห่งนี้ เมื่อระหว่างการเดินทางครั้งที่ 2 ของเขา
เมื่อ ค.ศ. 1906 ฝรั่งเศสและสหราชอาณาจักรตกลงที่จะปกครองดินแดนนี้ร่วมกัน โดยเรียกหมู่เกาะแห่งนี้ว่า "นิวเฮอร์ไบรดส์" ครั้นถึงทศวรรษ 1960 ประชากรชาววานูอาตูเริ่มกดดันเพื่อก่อตั้งรัฐบาลของตนเอง และภายหลังก็เรียกร้องเอกราชคืน และในที่สุดอังกฤษและฝรั่งเศสก็ยอมคืนอำนาจอธิปไตยอย่างสมบูรณ์สู่เจ้าของพื้นที่อีกครั้ง เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม ค.ศ. 1980 (พ.ศ. 2523)
ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1990 วานูอาตูประสบความผันผวนทางการเมือง และในที่สุดก็นำไปสู่รัฐบาลแบบกระจายอำนาจมากขึ้น
บางท่านถือว่าวานูอาตูเป็นหนึ่งในเกาะสวรรค์ที่ยังคงสภาพดังเดิมอย่างแท้จริง
[แก้] การเมือง
รัฐสภาของวานูอาตูเป็นแบบสภานิติบัญญัติสภาเดียว มีสมาชิก 52 คน สมาชิกเหล่านี้ได้รับการเลือกตั้งทุกๆ 4 ปี จากการลงคะแนนเสียง ผู้นำพรรคหลักในรัฐสภา มักจะได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี และเป็นผู้นำคณะรัฐบาล สำหรับประมุขของรัฐ คือประธานาธิบดี ได้รับเลือกคราวละ 5 ปี จากรัฐสภาและประธานรัฐบาลท้องถิ่น 6 จังหวัด อย่างไรก็ตามการจัดตั้งรัฐบาลนั้นยังปรากฏปัญหาหลายต่อหลายครั้ง อันเนื่องมาจากแตกแยกระหว่างผู้พูดภาษาอังกฤษและฝรั่งเศส
[แก้] สถานการณ์ทางการเมือง
พรรครัฐบาลปัจจุบันประกอบด้วยพรรคเล็ก 8 พรรค และอาจจะทำให้พรรคเล็กเหล่านั้นไปอยู่กับฝ่ายค้านก็ได้ ทำให้รัฐบาลวานูอาตูอาจจะโดนมติไม่ไว้วางใจในเร็ว ๆ นี้
[แก้] การแบ่งเขตการปกครอง
วาตูอาตูแบ่งการปกครองเป็น 6 จังหวัด (province) ดังนี้
- จังหวัดมาลัมปา (Malampa)
- จังหวัดเปนามา (Penama)
- จังหวัดซันมา (Sanma)
- จังหวัดเชฟา (Shefa)
- จังหวัดตาเฟีย (Tafea)
- จังหวัดตอร์บา (Torba)
[แก้] ภูมิศาสตร์
วานูอาตูมิได้เป็นเกาะเพียงเกาะเดียว ความจริงแล้วเป็นหมู่เกาะ มีเกาะน้อยใหญ่ทั้งหมด 83 เกาะ ในจำนวนนี้ มีอยู่ 2 เกาะ ได้แก่ เกาะแมตทิว (Matthew) และเกาะฮันเตอร์ ซึ่งถือเป็นดินแดนของนิวแคลิโดเนีย (ฝรั่งเศส)
ในบรรดาเกาะทั้ง 83 เกาะนั้น มี 14 เกาะที่มีเนื้อที่มากกว่า 100 ตารางกิโลเมตร ได้แก่
- เกาะเอสปีรีตูซันตู (Espiritu Santo) : 3,956 ตารางกิโลเมตร
- เกาะมาลากูลา (Malakula) : 2041 ตารางกิโลเมตร
- เกาะเอฟาเต (Éfaté) : 900 ตารางกิโลเมตร
- เกาะเอร์โรมันโก (Erromango) : 888 ตารางกิโลเมตร
- เกาะแอมบริม (Ambrym) : 678 ตารางกิโลเมตร
- เกาะแทนนา (Tanna) : 555 ตารางกิโลเมตร
- เกาะปองต์โกต (Pentecôte) : 491 ตารางกิโลเมตร
- เกาะเอปี (Épi) : 445 ตารางกิโลเมตร
- เกาะแอมเบ (Ambae) หรือ เอาบา (Aoba) : 402 ตารางกิโลเมตร
- เกาะวานัวลาวา (Vanua Lava) : 334 ตารางกิโลเมตร
- เกาะซันตามาเรีย (Santa Maria) : 328 ตารางกิโลเมตร
- เกาะมาเอโว (Maéwo) : 304 ตารางกิโลเมตร
- เกาะมาโล (Malo) : 180 ตารางกิโลเมตร) และ
- เกาะอะนาตอม (Anatom) หรือ อาเนติอุม (Aneityum) : 159 ตารางกิโลเมตร
เกาะส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูง เดินเป็นภูเขาไฟมาก่อน มีสภาพอากาศแบบเขตร้อน หรือกึ่งเขตร้อน เมืองที่ใหญ่สุด คือเมืองหลวง ชื่อว่า "พอร์ตวิลา" ตั้งอยู่บนเกาะเอฟาเต และเมืองลูแกงวีล บนเกาะเอสปีรีตูซันตู
จุดที่สูงสุดของวานูอาตู คือภูเขา Tabwemasana มีความสูง 1,879 เมตร (6,158 ฟุต) อยู่บนเกาะเอสปิริตู ซานโต เช่นเดียวกัน
[แก้] นิเวศวิทยา
วานูอาตูถือเป็นภูมิภาคนิเวศบกที่โดดเด่นแห่งหนึ่ง เรียกว่า "ป่าฝนวานูอาตู" วานูอาตูยังเป็นส่วนหนึ่งของเขตนิเวศออสตราเลเชีย (Australasia ecozone) ซึ่งรวมถึงพื้นที่ใกล้เคียงอย่างนิวแคลิโดเนีย และหมู่เกาะโซโลมอน รวมทั้งออสเตรเลีย ปาปัวนิวกีนี และนิวซีแลนด์
[แก้] เศรษฐกิจ
เศรษฐกิจนั้นส่วนใหญ่จะอิงกับเศรษฐกิจแบบเลี้ยงชีพ หรือเกษตรกรรมขนาดเล็ก ซึ่งเลี้ยงชีพประชากรราว 65% สำหรับการประมง บริการการเงินนอกประเทศ และการท่องเที่ยว (เมื่อปี ค.ศ. 1997 มีนักท่องเที่ยวประมาณ 50,000 คน) เป็นเศรษฐกิจหลักอันดับรองลงมา นอกจากนี้ก็ยังมีอุตสาหกรรมขนาดเล็ก รายได้จากการเก็บภาษีส่วนใหญ่มาจากภาษีนำเข้า และ 12.5% เป็นภาษีมูลค่าเพิ่มจากสินค้าและบริการ
การเติบโตของเศรษฐกิจนั้นต้องชะลอลงอันเนื่องจากส่วนใหญ่ต้องอาศัยสินค้านำเข้าสำหรับใช้ในชีวิตประจำวัน การประสบภัยธรรมชาติ และระยะทางที่ยาวไกลจากตลาดหลักและระหว่างเกาะน้อยใหญ่ แผ่นดินไหวอย่างรุนแรงในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1999 และตามด้วยสึนามิ ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมากต่อเกาะทางตอนเหนือ ทำให้ประชากรหลายพันคนไร้ที่อยู่อาศัยแผ่นดินไหวอย่างรุนแรงอีกครั้งหนึ่ง เมื่อเดือนมกราคม 2002 ก่อให้เกิดความเสียหายในวงกว้าง ในเมืองหลวง และพื้นที่โดยรอบ ทั้งยังประสบภัยจากสึนามิในเวลาต่อมาด้วย
ค่าจีดีพีของวานูอาตูเติบโตโดยเฉลี่ยไม่ถึง 3% ในทศวรรษ 1990 และตอบสนองความสนใจจากต่างประเทศ รัฐบาลจึงได้สัญญาที่จะเข้มงวดกับระเบียบด้านการเงินนอกประเทศ เมื่อกลางปี 2005 รัฐบาลได้เพิ่มความพยายามที่จะเร่งตลาดท่องเที่ยว ประเทศออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ เป็นผู้สนับสนุนหลักจากต่างประเทศของวานูอาตู
วานูอาตูเป็นเมืองปลอดภาษี ซึ่งไม่เปิดเผยข้อมูลบัญชีแก่รัฐบาลใดๆ และหน่วยงานควบคุมกฎหมาย ในวานูอาตูนั้น ไม่มีภาษีเงินได้ ไม่มีการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินตรา บริษัทต่างๆ เลือกที่จะลงทุนในวานูอาตู เพื่อหลีกเลี่ยงกฎระเบียบ และการกระทำผิดกฎหมาย
[แก้] ประชากร
ประชากร : 202,609 คน (กรกฎาคม 2547)
ประชากรส่วนใหญ่ของวานูอาตูเป็นชาวเมลานีเซียพื้นเมือง หรือนีวานูอาตู ส่วนที่เหลือประกอบด้วยชาวยุโรป เอเชีย และชาวหมู่เกาะอื่นๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิก
ภาษาที่ใช้อย่างเป็นทางการมีด้วยกัน 3 ภาษา คือ ภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส และภาษาบิสลามา อันเป็นภาษาลูกผสมแบบหนึ่ง ที่มีรากฐานจากภาษาอังกฤษ นอกจากนี้แล้วยังมีภาษาถิ่นต่างๆ อีกกว่า 100 ภาษาที่ใช้พูดกันในหมู่เกาะนี้ นับเป็นพื้นที่ซึ่งมีความหนาแน่นของภาษาสูงที่สุดในภูมิภาคใดๆ ของโลก (โดยเฉลี่ยมีผู้พูดเพียง 2,000 คนต่อ 1 ภาษา) พื้นที่ซึ่งมีความหนาแน่นใกล้เคียงกันก็คือ ปาปัวนิวกินี
ศาสนาคริสต์เป็นศาสนาที่ประชากรนับถือมากที่สุดในวานูอาตู มีหลายคณะนิกายด้วยกัน สำหรับ Presbyterian เป็นนิกายที่มีผู้นับถือมากที่สุด นั่นคือมีผู้นับถืออยู่ประมาณ 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมด
สำหรับลัทธิคาร์โก (Cargo) ก็ได้รับความนิยมนับถือจากผู้ศรัทธาจำนวนหนึ่ง
[แก้] วัฒนธรรม
วานูอาตูยังคงมีความหลากหลายของวัฒนธรรมอย่างเหนียวแน่น ทั้งที่เป็นวัฒนธรรมในท้องถิ่น และได้รับอิทธิพลจากต่างประเทศ วัฒนธรรมของวานูอาตูอาจแบ่งได้ตามภูมิภาคหลักๆ 3 ภาคดังนี้
- ภาคเหนือ ความมั่งคั่งจะพิจารณาได้จากว่าผู้คนสามารถให้ทรัพย์สินได้มากเท่าใด (โดยเฉพาะสุกร ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์ของความมั่งคั่ง ทั่วทั้งหมู่เกาะแห่งนี้)
- ภาคกลาง ถือเป็นแหล่งวัฒนธรรมโปลีนีเซียแบบดั้งเดิมมากกว่า
- ภาคใต้ มีวัฒนธรรมการมอบตำแหน่งที่เกี่ยวกับสิทธิพิเศษ
นอกจากนี้ชายหนุ่มจะมีพิธีต่าง ๆ เกี่ยวกับการเข้าสู่ความเป็นผู้ใหญ่ เพื่อการเริ่มต้นชีวิตวัยผู้ใหญ่
[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น
- แผนที่วานูอาตู
- รัฐบาลสาธารณรัฐวานูอาตู
- เอนไซโคลพีเดียบริทานิกา - เว็บเพจประเทศวานูอาตู
- แผนที่วานูอาตู
- แหล่งข้อมูลเกี่ยวกับเครื่องดื่มของวานูอาตู
- วานูอาตูออนไลน์
- สำนักงานการท่องเที่ยวแห่งชาติวานูอาตู
- ในภาพ: ภูเขาไฟวานูอาตู
- อันดับที่ 1 ดัชนีความสุข
ออสเตรเลีย | ออสเตรเลีย · เกาะนอร์ฟอล์ก · หมู่เกาะโคโคส (คีลิง) · เกาะคริสต์มาส | |
เมลานีเซีย | ติมอร์ตะวันออก · ฟิจิ · หมู่เกาะโมลุกกะ และ นิวกินีตะวันตก (อินโดนีเซีย) · นิวแคลิโดเนีย · ปาปัวนิวกินี · หมู่เกาะโซโลมอน · วานูอาตู | |
ไมโครนีเซีย | กวม · คิริบาส · หมู่เกาะมาร์แชลล์ · หมู่เกาะนอร์เทิร์นมาเรียนา · สหพันธรัฐไมโครนีเซีย · นาอูรู · ปาเลา | |
โพลินีเซีย | อเมริกันซามัว · หมู่เกาะคุก · เฟรนช์โปลินีเซีย · ฮาวาย · นิวซีแลนด์ · นีอูเอ · หมู่เกาะพิตแคร์น · ซามัว · โตเกเลา · ตองกา · ตูวาลู · วาลลิสและฟุตูนา |
กานา · กายอานา · เกรเนดา · แกมเบีย · คิริบาส · เคนยา · แคเมอรูน · แคนาดา · จาเมกา · ซามัว · เซเชลส์ · เซนต์คิตส์และเนวิส · เซนต์ลูเซีย · เซนต์วินเซนต์และเกรนาดีนส์ · เซียร์ราลีโอน · แซมเบีย · โดมินิกา · ตรินิแดดและโตเบโก · ตองกา · ตูวาลู · แทนซาเนีย · โมซัมบิก · ไซปรัส · ไนจีเรีย · นามิเบีย · นาอูรู · นิวซีแลนด์ · บรูไน · บอตสวานา · บังกลาเทศ · บาร์เบโดส · บาฮามาส · เบลีซ · ปากีสถาน · ปาปัวนิวกินี · ฟิจิ · มอริเชียส · มอลตา · มัลดีฟส์ · มาเลเซีย · มาลาวี · ยูกันดา · เลโซโท · วานูอาตู · ศรีลังกา · สวาซิแลนด์ · สหราชอาณาจักร · สิงคโปร์ · หมู่เกาะโซโลมอน · ออสเตรเลีย · อินเดีย · แอนติกาและบาร์บูดา · แอฟริกาใต้