พระสังฆราช
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สังฆราช แปลว่า ราชาของสงฆ์ ราชาของหมู่คณะ หมายถึงพระมหาเถระผู้เป็นใหญ่สูงสุดในสังฆมณฑล เรียกเต็มว่า สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เรียกย่อว่า สมเด็จพระสังฆราช
สังฆราช อีกความหมายหนึ่งเป็นชื่อตำแหน่งพระมหาเถระผู้ใหญ่สูงสุดเช่นนั้น โดยเรียกว่า ตำแหน่งสังฆราช หรือ ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช
สังฆราช ในสังฆมลฑลไทย กฎหมายกำหนดให้มีพระองค์เดียวมาตั้งแต่โบราณ ทั้งนี้เพื่อป้องกันความแตกแยกสามัคคีในหมู่สงฆ์ จึงเท่ากับดำรงอยู่ในฐานะ พระสังฆบิดร ด้วย
สารบัญ |
[แก้] สังฆราชในสังฆมลฑลไทย
สังฆราช หรือที่เรียกในสังฆมลฑลไทยว่า สมเด็จพระสังฆราช เป็นตำแหน่งที่มีมานานแล้ว ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย ดังมีหลักฐานจากศิลาจารึก ของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ได้จารึกคำว่าสังฆราชไว้ด้วย
สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก เป็นตำแหน่งสมณศักดิ์สูงสุดฝ่ายพุทธจักรของคณะสงฆ์ไทย ทรงเป็นประธานการปกครองคณะสงฆ์ ตำแหน่งนี้น่าจะมีที่มาจากคณะสงฆ์ไทย นำแบบอย่างมาจาก ลัทธิลังกาวงศ์ ซึ่งพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ได้ทรงอัญเชิญพระเถระผู้ใหญ่ของลังกา ที่เชี่ยวชาญในพระไตรปิฎก เข้ามาเผยแผ่พระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทในประเทศไทย
[แก้] สมัยกรุงสุโขทัยและสมัยกรุงศรีอยุธยา
ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ได้เพิ่มตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชเป็น สกลมหาสังฆปรินายก มีอำนาจว่ากล่าวออกไปถึงหัวเมือง โดยมีพระสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ เจ้าคณะใหญ่ฝ่าย คามวาสี เป็นสังฆราชขวา สมเด็จพระวันรัตเจ้าคณะฝ่ายอรัญวาสี เป็นสังฆราชซ้าย องค์ใดมีพรรษายุกาลมากกว่า ก็ได้เป็นพระสังฆราช ในปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา พระอริยมุนี ได้ไปสืบอายุพระพุทธศาสนาที่ลังกาทวีป มีความชอบมาก เมื่อกลับมาได้รับสมณศักดิ์สูงขึ้นตามลำดับจนเป็นสมเด็จพระสังฆราช พระเจ้าเอกทัศน์มีพระราชดำริให้คงราชทินนามนี้ไว้ จึงทรงตั้งราชทินนามสมเด็จพระสังฆราชเป็น สมเด็จพระอริยวงศาสังฆราชาธิบดี และมาเป็น สมเด็จพระอริยวงศาญาณ ในสมัยกรุงธนบุรี และได้ใช้ต่อมาจนถึง รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ จึงได้ทรงปรับปรุงเพิ่มเติมเป็น สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ ซึ่งได้ใช้มาจนถึงปัจจุบัน
ตามทำเนียบสมณศักดิ์ตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ที่มีตำแหน่งสังฆปรินายก 2 องค์ ที่เรียกว่า พระสังฆราชซ้าย ขวา ดังกล่าวแล้ว ยังมีคำอธิบายอีกประการหนึ่งว่า สมเด็จพระอริยวงศ์ เป็นพระสังฆราชฝ่ายขวาว่า คณะเหนือ พระพนรัตน์เป็นพระสังฆราชฝ่ายซ้ายว่า คณะใต้ มีสุพรรณบัตรจารึกพระนามเมื่อทรงตั้งทั้ง 2 องค์ แต่ที่สมเด็จพระพนรัตน์ โดยปกติไม่ได้เป็นสมเด็จ ส่วนพระสังฆราชฝ่ายขวานั้นเป็นสมเด็จทุกองค์ จึงเรียกว่าสมเด็จพระสังฆราช จึงเป็นมหาสังฆปริณายก มีศักดิ์สูงกว่าพระสังฆราชฝ่ายซ้าย ที่พระพนรัตน์แต่เดิม ทรงยกเกียรติยศเป็นสมเด็จแต่บางองค์ มาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จึงเป็นสมเด็จทุกองค์
เมื่อครั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี วิธีการปกครองพระราชอาณาจักรในครั้งนั้น หัวเมืองใหญ่ที่ห่างไกลจากราชธานี เป็นเมืองประเทศราชโดยมาก แม้เมืองใหญ่ที่อยู่ใกล้ราชธานี ก็ตั้งเจ้านายในราชวงศ์ออกไปครอง ทำนองเจ้าประเทศราช เมืองใหญ่แต่ละเมือง จึงน่าจะมีสังฆราชองค์หนึ่ง เป็นสังฆปรินายกของสังฆบริษัทในเมืองนั้น ดังปรากฏเค้าเงื่อนในทำเนียบชั้นหลัง ยังเรียกเจ้าคณะเมืองว่าพระสังฆราชอยู่หลายเมือง จนมาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ จึงได้ทรงเปลี่ยนมาเป็นสังฆปาโมกข์
พระสงฆ์ฝ่ายคามวาสีและอรัญวาสีนี้มีมาแต่ครั้งพุทธกาล คือฝ่ายที่พำนักอยู่ใกล้เมืองเพื่อศึกษาพระธรรมวินัย เรียกว่า คามวาสี อีกฝ่ายหนึ่งบำเพ็ญสมณธรรมในที่สงบเงียบตามป่าเขา ห่างไกลจากบ้านเมืองเรียกว่า อรัญวาสี ภิกษุ แต่ละฝ่ายยังแบ่งออกเป็นคณะ แต่ละคณะจะมีพระราชาคณะปกครอง หัวหน้าพระราชาคณะเรียกว่า สมเด็จพระราชาคณะ
[แก้] การวางรูปแบบการปกครองคณะสงฆ์ของไทย
แบบแผนการปกครองคณะสงฆ์ของไทย เริ่มจัดวางหลักตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย มีการพัฒนาเพิ่มเติมใน สมัยกรุงศรีอยุธยาและต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ก็ได้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงบ้างเล็กน้อยมาตามลำดับ จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้า ฯ การปกครองคณะสงฆ์ก็ยังจัดโดยมีตำแหน่งเปรียบเทียบดังนี้
- สกลสังฆปริณายก ได้แก่สมเด็จพระสังฆราช
- มหาสังฆนายก ได้แก่เจ้าคณะใหญ่
- สังฆนายก ได้แก่เจ้าคณะรอง
- มหาสังฆปาโมกข์ ได้แก่เจ้าคณะมณฑล
- สังฆปาโมกข์ ได้แก่เจ้าคณะจังหวัดที่เป็นพระราชาคณะ
- สังฆวาห ได้แก่เจ้าคณะจังหวัดที่เป็นพระครู
[แก้] สมัยกรุงรัตนโกสินทร์
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า ฯ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้สถาปนาเปลี่ยนคำนำพระนามพระบรมราชวงศ์ระดับพระราชโอรสของพระมหากษัตริย์ผู้ทรงดำรงสมณศักดิ์ในตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชขึ้นใหม่ว่า สมเด็จพระมหาสมณเจ้า ทรงเศวตฉัตร 5 ชั้น พระราชวงศ์ชั้นรองลงมา เท่าที่ปรากฏ มีชั้นหม่อมเจ้าผู้ได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช มีคำนำหน้า พระนามว่า สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ทรงฉัตรตาดเหลือง 5 ชั้น
ตาม พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช 2505 ได้บัญญัติถึงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชได้ว่า ในกรณีตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชว่างลง ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการประกาศนาม สมเด็จพระราชาคณะ ที่มีอาวุโสสูงสุดโดยพรรษา เพื่อปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช จากนั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นำพระนามสมเด็จพระราชาคณะ 4 รูป คือ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ สมเด็จพระวันรัต สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ และ สมเด็จพระพุฒาจารย์ เสนอนายกรัฐมนตรี เพื่อนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี แล้วนำกราบถวายบังคมทูล ให้พระมหากษัตริย์ทรงวินิจฉัย และจะมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ สถาปนาสมเด็จพระราชาคณะรูปใดรูปหนึ่ง ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นสมเด็จพระสังฆราชต่อไป
[แก้] รายพระนามสมเด็จพระพระมหาสมณเจ้า สมเด็จพระสังฆราชเจ้า และสมเด็จพระสังฆราช แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
- สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) 2325-2337
- สมเด็จพระสังฆราช (ศุข) 2337-2359
- สมเด็จพระสังฆราช (มี) 2359-2362
- สมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร) 2363-2365
- สมเด็จพระสังฆราช (ด่อน) 2365-2385
- สมเด็จพระสังฆราช (นาค) 2386-2392
- สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส 2394-2396
- สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ 2434-2435
- สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) 2436-2442
- สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส 2443-2464
- สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ 2465-2480
- สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทโว) 2481-2487
- สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (หม่อมราชวงศ์ ชื่น สุจิตฺโต) 2488-2501
- สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ปลด กิตฺติโสภณ) 2503-2505
- สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช ฯ (อยู่ ญาโณทโย) 2506-2508
- สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (จวน อุฏฺฐายี มหาเถร) 2508-2514
- สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (ปุ่น ปุณฺณสิริมหาเถร) 2515-2517
- สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (วาสนมหาเถร) 2517-2531
- สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวัฑฒโน) 2532-ปัจจุบัน
[แก้] อ้างอิง
- หอมรดกไทย [1]
- พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช) ป.ธ. ๙ ราชบัณฑิต พจนานุกรมเพื่อการศึกษาพุทธศาสน์ ชุด คำวัด, วัดราชโอรสาราม กรุงเทพฯ พ.ศ. 2548