พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ พระนามเดิม พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ ทรงเป็นผู้วางรากฐานการบริหารงานของกองทัพเรือ ทรงได้รับการเชิดชูในหมู่ทหารเรือเป็น "พระบิดาแห่งกองทัพเรือไทย" เรียกขานพระองค์ว่า "เสด็จเตี่ย" ทรงเป็นต้นราชสกุล "อาภากร"
สารบัญ |
[แก้] พระประวัติ
พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ ๒๘ ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาโหมด ธิดาเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) ผู้บัญชาการทหารเรือวังหลวง ประสูติเมื่อวันที่ ๑๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๒๓ ทรงมีพระกนิษฐา และพระอนุชา ร่วมพระมารดา ๒ พระองค์ คือ พระองค์เจ้าหญิงอรองค์อรรคยุพา (สิ้นพระชนม์เมื่อทรงพระเยาว์) และพระองค์เจ้าสุริยงประยุรพันธ์
ทรงเข้าเป็นนักเรียนในโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ เมื่อทรงมีพระชนมายุได้ ๑๓ พรรษา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสด็จไปทรงศึกษาต่อ ณ ประเทศอังกฤษพร้อมกับ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งขณะนั้น ทรงดำรงพระอิสริยศักดิ์เป็น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ ในปี พ.ศ. ๒๔๓๖ ทรงเข้าศึกษาต่อในโรงเรียนนายเรืออังกฤษ ในปี พ.ศ. ๒๔๓๙ ต่อจากนั้นทรงศึกษาต่อ ในมหาวิทยาลัยทหารเรือ โรงเรียนปืนใหญ่ และโรงเรียนตอร์ปิโด จนได้เลื่อนยศเป็นเรือเอก รวมเวลาที่ทรงศึกษาอยู่ในราชนาวีอังกฤษ ๖ ปีเศษ
ทรงเสด็จกลับประเทศไทย ในวันที่ ๒๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๔๓ จึงได้รับพระราชทานยศเป็น นายเรือโท (ปัจจุบันเทียบเท่า นาวาตรี) ทรงได้รับการเฉลิมพระอิสริยศเป็น กรมหมื่นชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ดำรงตำแหน่ง รองผู้บัญชาการกรมทหารเรือ และทรงดำรงตำแหน่ง เจ้ากรมยุทธศึกษาทหารเรือ ใน พ.ศ. ๒๔๔๙ พระองค์ได้แก้ไขปรับปรุงระเบียบการในโรงเรียนนายเรือ ทรงเป็นครูสอนนักเรียนนายเรือ ทรงจัดเพิ่มเติมวิชาสำคัญสำหรับชาวเรือ เพื่อให้เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว สามารถเดินเรือทางไกลในทะเลน้ำลึกได้ คือวิชาดาราศาสตร์ ตรีโกณมิติ พีชคณิต อุทกศาสตร์ การเดินเรือเรขาคณิต
ทรงเป็นเรี่ยวเเรงสำคัญที่ทำให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นความสำคัญและโปรดเกล้าฯ พระราชทาน พระราชวังเดิม ให้เป็นที่ตั้งของโรงเรียนนายเรือ เมื่อวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๔๙ ทำให้กิจการทหารเรือมีรากฐานมั่นคง และกองทัพเรือจึงยึดถือวันดังกล่าวของทุกปีเป็น "วันกองทัพเรือ"
พ.ศ. ๒๔๕๔ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดให้พระองค์ออกจากราชการอยู่ชั่วระยะหนึ่ง ได้ทรงศึกษาวิชาแพทย์แผนโบราณ จากตำราไทย ทรงเขียนตำราสมุดข่อยด้วยฝีพระหัตถ์ของพระองค์เอง และรับรักษาโรคให้ประชาชนทั่วไปโดยไม่คิดมูลค่า ทรงเรียกพระองค์เองว่า "หมอพร"
พ.ศ. ๒๔๖๐ ประเทศไทยได้เข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และกองทัพเรือยังขาดผู้มีความรู้ความสามารถ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมหมื่นชุมพรเขตอุดมศักดิ์ เสด็จกลับเข้ารับราชการในตำแหน่ง เจ้ากรมจเรทหารเรือ และดำรงตำแหน่ง เสนาธิการทหารเรือในปี พ.ศ. ๒๔๖๑
พ.ศ. ๒๔๖๒ ทรงได้รับแต่งตั้งให้เป็นข้าหลวงพิเศษออกไปจัดหาซื้อเรือในภาคพื้นยุโรป เรือที่จะจัดซื้อนี้ได้รับพระราชทานนามว่า "เรือหลวงพระร่วง" ทรงเป็นผู้บังคับการเรือ นำเรือหลวงพระร่วงเดินเรือข้ามทวีปจากประเทศอังกฤษ เข้ามายังกรุงเทพมหานคร ด้วยพระองค์เอง
ทรงเป็นนักยุทธศาสตร์ที่เล็งเห็นการไกล พระองค์ได้ทูลเกล้าฯ ขอพระราชทานที่ดินบริเวณอำเภอสัตหีบ สร้างเป็นฐานทัพเรือ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๕ เนื่องจากทรงเห็นว่า อ่าวสัตหีบเป็นอ่าวที่มีขนาดใหญ่ น้ำลึกเหมาะแก่การฝึกซ้อมยิงตอร์ปิโด มีเกาะน้อยใหญ่รายล้อม สามารถบังคับคลื่นลมได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้เมื่อเรือภายนอกแล่นผ่านบริเวณนี้จะไม่สามารถมองเห็นฐานทัพได้เลย
พ.ศ. ๒๔๖๖ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เสด็จในกรมฯ ทรงดำรงตำแหน่ง เสนาบดีกระทรวงทหารเรือ ต่อจากสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทรงดำรงตำแหน่งได้ไม่นานก็ได้กราบบังคมลาออกจากราชการ เพื่อพักผ่อนรักษาพระองค์ที่จังหวัดชุมพร ทรงถูกฝนประชวรเป็นพระโรคหวัดใหญ่ สิ้นพระชนม์ที่ ตำบลทรายรี ในวันที่ ๑๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๖ สิริพระชนมายุได้ ๔๔ พรรษา
กองทัพเรือไทยถือเอาวันที่ ๑๙ พฤษภาคมของทุกปี ซึ่งเป็นวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ของพระองค์ เป็น "วันอาภากร"
[แก้] งานพระนิพนธ์
- เพลงดอกประดู่ (เพลงสัญลักษณ์ของกองทัพเรือไทย)
- เพลงเดินหน้า (เดิมแบ่งเป็น 2 เพลง ชื่อ "เกิดมาทั้งทีมันก็ดีอยู่แต่เมื่อเป็น" และ "เกิดมาทั้งทีมันก็มีอยู่แต่ทุกข์ภัย") สันนิษฐานว่าทรงพระนิพนธ์ขึ้นในช่วงที่ทรงออกจากราชการในสมัยต้นรัชกาลที่ 6
- เพลงดาบของชาติ ทรงพระนิพนธ์ไว้เป็นโคลงสี่สุภาพ
- เพลงสรรเสริญพระบารมี สำนวนขับร้องของทหารเรือ (ขึ้นต้นว่า "ข้าวรพุทธเจ้า เหล่ายุทธพลนาวา...")
- ตำราอติสาระวัด เป็นสมุดข่อยตำราแพทย์ไทยแผนโบราณที่ทรงเขียนด้วยพระองค์เองเมื่อ พ.ศ. 2454
[แก้] พระโอรสพระธิดา
ทรงอภิเษกสมรสกับ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทิพยสัมพันธ์ พระธิดาจอมพล สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช เมื่อวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๔๓ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ กรุณาพระราชทานน้ำสังข์ในพิธีอภิเษกสมรส ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง มีพระโอรส ๓ พระองค์ คือ
-
- หม่อมเจ้าเกียรติ อาภากร ประสูติและสิ้นชีพตักษัยในวันเดียวกัน ประมาณปี พ.ศ. ๒๔๔๖
- พลโท พลเรือโท พลอากาศโท พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา (ประสูติเมื่อวันที่ ๒๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๔๗ สิ้นพระชนม์ ๑๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๙)
- พลอากาศโท หม่อมเจ้ารังษิยากร อาภากร (ประสูติเมื่อวันที่ ๑๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๔๙ สิ้นชีพตักษัย ๓๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๘)
พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทิพยสัมพันธ์ ทรงน้อยพระทัย พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ และปลงชีพพระองค์เอง เมื่อวันที่ ๒๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๕๑ เวลา ๑๐.๕๐ น.
พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ ทรงมีพระโอรสและพระธิดา อันเกิดแก่หม่อม ดังนี้
- หม่อมกิม อาภากร ณ อยุธยา
- ท่านหญิงจารุพัตรา ศุภชลาศัย (๒๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๔๗ - ๒๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๑๖)
- ท่านหญิงเริงจิตร์แจรง อาภากร (๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๔๘ - ๑๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๖)
- หม่อมเจ้าหญิงสุคนธ์จรุง อาภากร (๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๔๙ - ๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๐(นับแบบใหม่จะเป็น ๒๔๕๑))
- หม่อมแฉล้ม อาภากร ณ อยุธยา
- ท่านหญิงศิริมาบังอร เหรียญสุวรรณ (๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๔๗ - ๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘)
- พันเอก หม่อมเจ้าชายดำแคงฤทธิ์ อาภากร (๒๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๔๘ - ๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๐๕)
- หม่อมเมี้ยน อาภากร ณ อยุธยา
- เรือเอก หม่อมเจ้าชายสมรบำเทอง อาภากร (๑๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๔๘ - ๑๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๓)
- หม่อมช้อย อาภากร ณ อยุธยา
- พลเรือเอก หม่อมเจ้าครรชิตพล อาภากร (๒๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๔๙ - ๒๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๐๙)
- หม่อมแจ่ม อาภากร ณ อยุธยา
- หม่อมเจ้ารุจยากร อาภากร (๑๙ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๙ - ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๙)
[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น
- พระประวัติ พลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ จากเว็บไซต์ของกองทัพเรือ
- รวบรวมพระประวัติ จาก pantown
- จุฬาลงกรณราชสันตติวงศ์ พระนามพระราชโอรส พระราชธิดา และพระราชนัดดา
ทหารเรือวังหน้า | พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว · กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ |
ทหารเรือวังหลวง | สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ · เจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ |
กระทรวงทหารเรือ / กองทัพเรือ |
พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ · พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นปราบปรปักษ์ · สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ · พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม · พระยาชลยุทธโยธินทร์ · สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช · สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต · พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ · สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนครราชสีมา · พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกร · พระยาปรีชาชลยุทธ์ (วัน จารุภา) · พระยาวิชิตชลธี (ทองดี สุวรรณพฤกษ์) · สินธุ์ กมลนาวิน · พระยาวิจารณ์จักรกิจ (บุญชัย สวาทะสุข) · หลวงพลสินธวาณัติก์ (เปล่ง พลสินธ์ สมิตเมฆ) · หลวงยุทธศาสตร์โกศล (ประยูร ยุทธศาสตร์โกศล) · หลวงชำนาญอรรถยุทธ์ (เอื้อน กุลไกรเวส) · สวัสดิ์ ภูติอนันต์ · ครรชิตพล อาภากร · จรูญ เฉลิมเตียรณ · ถวิล รายนานนท์ · กมล สีตกะลิน · เฉิดชาย ถมยา · สงัด ชลออยู่ · อมร ศิริกายะ · กวี สิงหะ · สมุทร์ สหนาวิน · สมบูรณ์ เชื้อพิบูลย์ · ประพัฒน์ จันทวิรัช · นิพนธ์ ศิริธร · ธาดา ดิษฐบรรจง · ประพัฒน์ กฤษณจันทร์ · วิเชษฐ การุณยวนิช · ประเจตน์ ศิริเดช · วิจิตร ชำนาญการณ์ · สุวัชชัย เกษมศุข · ธีระ ห้าวเจริญ · ประเสริฐ บุญทรง · ทวีศักดิ์ โสมาภา · ชุมพล ปัจจุสานนท์ · สามภพ อัมระปาล · สถิรพันธุ์ เกยานนท์ |