มักซ์ เวเบอร์
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
มักซิมิเลียน เวเบอร์ (21 เมษายน ค.ศ. 1864 – 14 มิถุนายน ค.ศ. 1920) เป็นนักเศรษฐศาสตร์การเมืองและนักสังคมวิทยาชาวเยอรมัน ถือกันว่าเวเบอร์เป็นผู้ก่อตั้งวิชาสังคมวิทยาสมัยใหม่และรัฐประศาสนศาสตร์ งานชิ้นหลัก ๆ ของเขาเกี่ยวข้องกับสังคมวิทยาศาสนาและสังคมวิทยาการปกครอง นอกจากนี้เขายังมีงานเขียนอีกหลายชิ้นในสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ งานที่ผู้คนจดจำได้มากที่สุดของเวเบอร์คือ ความเรียงเรื่องจริยธรรมโปรเตสแตนท์และจิตวิญญาณแห่งทุนนิยม ซึ่งเป็นงานชิ้นแรกของเขาในสาขาสังคมวิทยาศาสนา ในงานชิ้นดังกล่าว เวเบอร์เสนอว่าศาสนาเป็นหนึ่งในสาเหตุหลัก ๆ ที่นำไปสู่เส้นทางการพัฒนาทางวัฒนธรรมที่ต่างกันระหว่างโลกประจิม (the Occident) กับโลกบูรพา (the Orient) ในงานที่มีชื่อเสียงอีกชิ้นหนึ่งของเขาที่ชื่อการเมืองในฐานะที่เป็นอาชีวะ เวเบอร์นิยามรัฐว่ารัฐคือหน่วยองค์ (entity) ซึ่งผูกขาดการใช้กำลังทางกายภาพที่ถูกกฎหมาย ซึ่งนิยามนี้ได้กลายเป็นจุดศูนย์กลางในการศึกษาวิชารัฐศาสตร์ตะวันตกสมัยใหม่ในเวลาต่อมา
สารบัญ |
[แก้] ประวัติและอาชีพ
เวเบอร์ เกิดที่เมืองเออร์เฟิร์ต ประเทศเยอรมนี เขาเป็นลูกชายคนโตในครอบครัวที่มีบุตรเจ็ดคนของ มักซ์ เวเบอร์ ซีเนียร์ นักการเมืองและข้าราชการท้องถิ่นคนสำคัญ และมารดา เฮลีน ฟาเลนสไตน์ น้องชายของเขาอัลเฟรด เวเบอร์ก็เป็นนักสังคมวิทยาและนักเศรษฐศาสตร์เช่นเดียวกัน การที่พ่อของเขาเข้าไปเกี่ยวข้องกับกิจการสาธารณะมากมาย ทำให้เวเบอร์เติบโตขึ้นในครอบครัวที่เต็มไปด้วยกลิ่นไอของการเมือง นอกจากนี้ครอบครัวของเขาเองยังได้ต้อนรับนักวิชาการที่มีชื่อเสียงและบุคคลสาธารณะมากมาย เวเบอร์เองก็ยังได้แสดงความโดดเด่นและสนใจในด้านวิชาการ ของขวัญวันคริสต์มาสที่เขามอบให้กับผู้ปกครอง เมื่อเขายังมีอายุ 13 ปีคือ ความเรียงแนวประวัติศาสตร์ชื่อว่า "ทิศทางของประวัติศาสตร์เยอรมัน พร้อมกับการอ้างอิงพิเศษถึงจุดยืนของจักรพรรติและสันตะปาปา" และ "อาณาจักรโรมัน ตั้งแต่ช่วงของคอนสแตนตินที่หนึ่ง จนถึงช่วงของการอพยพของประเทศ" ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าเวเบอร์จะเข้าศึกษาในด้านสังคมวิทยา
เมื่ออายุได้สิบสี่ปี เขาเขียนจดหมายที่อ้างอิงถึง โฮเมอร์, เวอร์จิล, ซิเซอโร และ ลีวี นอกจากนี้เขายังมีความรู้เกี่ยวกับ เกอร์เธ่, สพิโนซา, คานท์ และ โชเพนเฮาเออร์ ก่อนที่เขาจะเข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัย
ในปี ค.ศ. 1882 เขาเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยไฮเดนเบิร์กในสาขากฎหมาย เขาได้เข้าเป็นสมาชิกของกลุ่มดวลมีด และเรียนในสาขากฎหมายเช่นเดียวกับพ่อของเขา นอกจากการเรียนในด้านกฎหมายแล้ว เวเบอร์ยังได้เข้าฟังการบรรยายในวิชาเศรษฐศาสตร์ และศึกษาประวัติศาสตร์ยุคกลาง เขายังได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับศาสนวิทยาเป็นจำนวนมาก เขายังได้เข้ารับราชการเป็นทหารเป็นระยะ ๆ ที่เมืองสตราบูร์ก ในช่วงฤดูใบไม้ผลิของปี ค.ศ. 1884 เวเบอร์ย้ายกลับบ้านและเข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยแห่งเบอร์ลิน ตลอดช่วงเวลา 8 ปีหลังจากนั้น ยกเว้นแค่ในบางช่วง เวเบอร์ได้พักอาศัยอยู่กับบิดามารดา ตั้งแต่ดำรงฐานะเป็นนักเรียน เป็นทนายในศาล และเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยเบอร์ลิน ในปี ค.ศ. 1886 เวเบอร์ได้สอบเนติบัญญัติผ่าน ในช่วงท้ายทศวรรษ 1880 เวเบอร์ยังคงหมั่นศึกษาด้านประวัติศาสตร์ และได้รับปริญญาเอกในสาขากฎหมายในปี ค.ศ. 1889 ด้วยวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของระบบยุติธรรมชื่อว่า ประวัติศาสตร์องค์กรธุรกิจยุคกลาง สองปีถัดจากนั้นเขาได้เขียนผลงาน ประวัติศาสตร์การเกษตรแบบโรมันและความสำคัญต่อกฎหมายบุคคลและกฎหมายมหาชน ซึ่งเป็นวิทยานิพนธ์ระดับสูงกว่าปริญญาเอก ที่จำเป็นสำหรับการเข้าเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย
ในระหว่างที่เขาทำผลงานวิทยานิพนธ์ระดับสูงกว่าปริญญาเอก เขาได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับนโยบายทางสังคม. ในปี ค.ศ. 1888 เขาได้เข้าร่วมกลุ่ม "Verein für Socialpolitik" ซึ่งเป็นกลุ่มของนักเศรษฐศาสตร์ชาวเยอรมันผู้อยู่ในสายประวัติศาสตร์ ที่เชื่อว่าหน้าที่ของเศรษฐศาสตร์คือการแก้ปัญหาทางสังคมต่างๆ ของยุคสมัย และได้ริเริ่มการศึกษาทางสถิติของปัญหาทางเศรษฐศาสตร์ในระดับมหภาค. ในปี ค.ศ. 1890 กลุ่มดังกล่าวได้เริ่มโครงการวิจัยเพื่อศึกษา "ปัญหาชาวโปแลนด์" ซึ่งหมายถึงปัญหาของการทะลักล้นเข้ามาของคนงานในสวนจากต่างประเทศ เมื่อคนงานภายในประเทศต่างย้ายเข้ามาในเมืองในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม เวเบอร์ได้รับดูแลโครงการนี้ และเป็นผู้เขียนหลักของรายงานผลที่ได้ รายงานดังกล่าวได้รับการยกย่องว่าเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของการทำวิจัยเชิงประจักษ์ และยืนยันตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์การเกษตรของเวเบอร์
ช่วงทศวรรษ 1890 จัดว่าเป็นช่วงที่เวเบอร์ประสบผลสำเร็จในอาชีพการงาน ในปี ค.ศ. 1893 (พ.ศ. 2436) เขาแต่งงานกับลูกพี่ลูกน้องห่าง ๆ มาเรียน ชไนต์เกอร์ ผู้ที่เป็นปัญญาชนและนักสตรีนิยมที่เป็นที่รู้จักอยู่แล้วในฐานะที่เป็นนักเขียน ปีถัดมาเขาเข้ารับตำแหน่งในช่วงสั้น ๆ เป็นศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยไฟร์บัวร์ก จากนั้นก็ย้ายไปรับตำแหน่งที่มหาวิทยาลัยไฮเดนเบิร์ก ในปี ค.ศ. 1896 (พ.ศ. 2439) แต่เนื่องจากอาการป่วย เขาจำต้องลดและถึงขั้นต้องหยุดงานวิชาการลงในปีถัดมา และต้องรักษาตัวอยู่จนถึงปี ค.ศ. 1901 (พ.ศ. 2444) อาการป่วยดังกล่าวเชื่อกันว่าเป็นอาการเจ็บป่วยจิตใจ เนื่องมาจากการเสียชีวิตของบิดาซึ่งเขาเพิ่งจะได้มีปากเสียงก่อนหน้านั้น และยังไม่ทันได้มีโอกาสจะพูดคุยปรับความเข้าใจ
ในปี ค.ศ. 1903 (พ.ศ. 2446) เขาได้รับหน้าที่เป็นบรรณาธิการของ Archives for Social Science and Social Welfare อย่างไรก็ตามเขารู้สึกว่ายังไม่พร้อมที่จะกลับไปสอนอีกครั้ง และคงทำงานเป็นเพียงนักวิชาการอิสระโดยใช้ทุนจากมรดกที่ได้รับมา ในปี ค.ศ. 1904 (พ.ศ. 2447) เขาได้เดินทางไปที่สหรัฐอเมริกา และเข้าร่วมการประชุมใหญ่ด้านศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ที่จัดขึ้นร่วมกับงานแสดงสินค้านานาชาติ ที่เมืองเซนต์หลุยส์ ในปี ค.ศ. 1905 (พ.ศ. 2448) เขาได้ตีพิมพ์ความเรียง จริยธรรมโปรเตสแตนท์และจิตวิญญาณแห่งทุนนิยม งานชิ้นนี้กลายเป็นงานที่โด่งดังที่สุดของเขา และเป็นงานที่วางรากฐานให้กับงานวิจัยถัดๆ ไปของเขาที่เกี่ยวข้องกับผลของวัฒนธรรมและศาสนากับพัฒนาการของระบบเศรษฐกิจ
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 เวเบอร์รับทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลของทหารที่เมืองไฮเดนเบิร์ก ในปี ค.ศ. 1918 (พ.ศ. 2461) เวเบอร์เป็นที่ปรึกษาให้กับคณะกรรมการสงบศึกของฝ่ายเยอรมันในการทำสนธิสัญญาแวร์ซายส์ และเป็นคณะกรรมการที่ร่างรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐไวมาร์ เวเบอร์เองมีความกลัวอย่างยิ่งต่อการปฏิวัติเยอรมัน เขาจึงพยายามให้มีการเพิ่มมาตราที่ 48 ซึ่งในเวลาถัดมาอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ได้ใช้มาตรานี้ในการประกาศกฎอัยการศึกและเข้ายึดอำนาจได้ในที่สุด
จากปี ค.ศ. 1918 เวเบอร์ได้กลับมาสอน เริ่มที่มหาวิทยาลัยเวียนนา. ต่อมาในปี ค.ศ. 1919 (พ.ศ. 2462) ที่มหาวิทยาลัยมิวนิค ที่มิวนิคนี่เองที่เขาได้เป็นหัวหน้าสถาบันด้านสังคมวิทยาแห่งแรกในมหาวิทยาลัยเยอรมัน อย่างไรก็ตามเขาไม่เคยได้รับตำแหน่งด้านสังคมวิทยาโดยตรงเลย
เวเบอร์เสียชีวิตด้วยโรคปอดบวมที่มิวนิคเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน ค.ศ. 1920 (พ.ศ. 2463) งานหลายชิ้นของเขาได้ถูกรวบรวม เรียบเรียง และจัดพิมพ์หลังจากที่เขาได้เสียชีวิตแล้ว ผู้ที่มีส่วนสำคัญในการตีความผลงานของเวเบอร์นั้นรวมไปถึงนักสังคมวิทยาที่มีชื่อเสียง เช่น ทาลคอตต์ พาร์สันส์ และ ซี. ไรท์ มิลส์
[แก้] ผลงาน
มักซ์ เวเบอร์ ถูกจัดให้เป็นหนึ่งในบิดาของสังคมวิทยา เคียงคู่ไปกับ คาร์ล มาร์กซ (Karl Marx) อีมิล เดอร์ไคหม์ (Emile Durkheim) และ วิลเฟรโด ปาเรโต (Vilfredo Pareto) อย่างไรก็ตามในขณะที่ ปาเรโตและเดอร์ไคหม์ใช้แนวทางปฏิฐานนิยมตามคองต์ (Auguste Comte) เวเบอร์ได้ใช้วิธีการศึกษาสังคมวิทยาในรูปแบบที่แตกต่างออกไป ในรูปแบบที่อยู่ในแนวต่อต้านปฏิฐานนิยม (antipositivism), แนวจิตนิยม (idealism) และแนวการตีความความหมาย (อรรถปริวรรตศาสตร์ หรือ hermeneutics) ซึ่งทิศทางนี้มีลักษณะคล้ายคลึงกับของเวอร์เนอร์ ซอมบาร์ท (Werner Sombart) ผู้เป็นเพื่อนของเขาและเป็นผู้ที่ถูกกล่าวถึงมากที่สุดเมื่อกล่าวถึงสังคมวิทยาแนวเยอรมัน งานในสมัยแรกของเวเบอร์เกี่ยวข้องกับสังคมวิทยาของสังคมอุตสาหกรรมแต่เขามีชื่อเสียงในงานถัด ๆ ไป ที่เกี่ยวกับสังคมวิทยาศาสนาและสังคมวิทยาการปกครอง
ประเด็นหลักของการศึกษาค้นคว้าของเวเบอร์ก็คือคำถามที่ว่า "อะไรคือลักษณะเฉพาะที่ทำให้สังคมตะวันตกแตกต่างจากที่อื่น?" ความแตกต่างที่สำคัญที่เขาสนใจเช่น การเกิดขึ้นของระบบทุนนิยม หรือความแตกต่างในการจัดระดับชนชั้นภายในสังคม ในขณะที่ คาร์ล มาร์กซ วิเคราะห์โดยเริ่มจาก ฐาน หรือโครงสร้างทางเศรษฐกิจ แต่เวเบอร์มุ่งประเด็นไปที่ โครงสร้างส่วนบน ซึ่งเกี่ยวกับอุดมการณ์และความเชื่อ ในการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงสังคม เวเบอร์พยายามหาจุดเปลี่ยนของความเชื่อพื้นฐานและ "ปัจจัย" ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนั้น ปัจจัยดังกล่าวอาจไม่เหลือร่องรอยใด ๆ หรืออาจดูไร้เหตุผลโดยสิ้นเชิงกับความเชื่อที่มีอยู่ในปัจจุบัน ทั้งนี้เพราะว่าหน้าที่ของมันมีเพื่อกระตุ้นการเปลี่ยนแปลงความเชื่อของคนกลุ่มใหญ่เท่านั้น หลังจากที่ความเชื่อพื้นฐานได้เปลี่ยนไปแล้ว ทุกอย่างจะถูกทำให้ดูสมเหตุสมผลอย่างสมบูรณ์ในตัวเอง โดยไม่จำเป็นต้องอ้างอิงกับปัจจัยหรือสาเหตุเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงนั้นอีกต่อไป
[แก้] สังคมวิทยาศาสนา
งานชิ้นแรกของเวเบอร์เกี่ยวกับสังคมวิทยาศาสนาคือความเรียงชื่อ จริยธรรมโปรเตสแตนท์และจิตวิญญาณแห่งทุนนิยม ต่อด้วยงานวิเคราะห์ ศาสนาของจีน: ลัทธิขงจื้อและลัทธิเต๋า, ศาสนาของอินเดีย: สังคมวิทยาของศาสนาฮินดูและศาสนาพุทธ และ ศาสนายูดาโบราณ งานเกี่ยวกับศาสนาอื่นๆ ต้องชะงักลงเนื่องจากเวเบอร์ได้เสียชีวิตอย่างกะทันหันในปี ค.ศ. 1920 (พ.ศ. 2463) ซึ่งทำให้แผนที่จะวิเคราะห์ศาสนาอื่น ๆ ต่อเนื่องจากศาสนายูดาโบราณ (รวมถึงศาสนาคริสต์และศาสนาอิสลาม) ต้องหยุดลง
เรื่องหลัก ๆ ที่เวเบอร์สนใจก็คือผลกระทบของแนวคิดทางศาสนาต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ความสัมพันธ์ระหว่างการแบ่งระดับชั้นทางสังคมกับแนวคิดทางศาสนา และลักษณะเฉพาะบางอย่างของอารยธรรมตะวันตก
เป้าหมายของเวเบอร์ก็คือการหาเหตุผลของความแตกต่างในเส้นทางการพัฒนาระหว่างโลกประจิมและโลกบูรพา เขาวิเคราะห์ว่าแนวคิดจากศาสนาคริสต์นิกายพูริตันมีผลอย่างมาก กับทิศทางการพัฒนาของระบบเศรษฐกิจของประเทศในยุโรปและสหรัฐอเมริกา และเขาได้พบอีกว่ายังมีปัจจัยอื่นๆ อีกที่ผลต่อการพัฒนานี้ ปัจจัยที่สำคัญที่เวเบอร์กล่าวถึงมีตัวอย่างเช่น แนวคิดแบบเหตุผลนิยมจากการศึกษาวิทยาศาสตร์ ที่นำผลการสังเกตมารวมกันกับคณิตศาสตร์, การพัฒนาของแนวคิดแบบวิชาการและการเกิดขึ้นของระบบการยุติธรรม, การทำให้การบริหารการปกครองเป็นระบบที่มีเหตุผล, และ การเกิดขึ้นของบรรษัทขนาดใหญ่ โดยสรุปก็คือการศึกษาสังคมวิทยาศาสนาของเวเบอร์นั้น เป็นแค่การศึกษาเข้าไปในช่วงเวลาช่วงหนึ่งของการปลดปล่อยสังคมจากยุคเวทมนตร์ หรือที่เวเบอร์เรียกว่าขั้นตอน "การถอดปีกเทพนิยายออกจากโลก" ("disenchantment of the world") ซึ่งเขาเชื่อว่าเป็นช่วงเวลาที่เป็นจุดแตกต่างเฉพาะของวัฒนธรรมตะวันตก
[แก้] จริยธรรมโปรเตสแตนท์และจิตวิญญาณแห่งทุนนิยม
ความเรียงเรื่อง จริยธรรมโปรเตสแตนท์และจิตวิญญาณแห่งทุนนิยม นั้น นับว่าเป็นงานที่โด่งดังที่สุดของเวเบอร์ อย่างไรก็ตาม มีผู้กล่าวว่างานชิ้นนี้ไม่ควรจะถูกพิจารณาว่าเป็นการศึกษานิกายโปรเตสแตนท์ หากแต่เป็นบทนำให้กับงานชิ้นถัด ๆ มาของเวเบอร์ โดยเฉพาะในเรื่องที่เขาศึกษาความเกี่ยวข้องระหว่างแนวคิดของศาสนาต่าง ๆ กับพฤติกรรมทางด้านเศรษฐศาสตร์
ในความเรียงนี้ เวเบอร์ยกประเด็นที่ว่าจริยธรรมและแนวคิดของนิกายพูริตัน (ที่จัดว่าเป็นนิกายโปรเตสแตนท์แขนงหนึ่ง) มีอิทธิพลต่อพัฒนาการของระบบทุนนิยม โดยทั่วไปแล้ว การอุทิศตนให้กับศาสนามักทำให้เกิดการละเลิกในสิ่งที่เกี่ยวข้องกับทางโลก ซึ่งรวมถึงการดิ้นรนทางเศรษฐกิจ ปัญหาก็คือทำไมลักษณะเช่นนี้จึงไม่เกิดขึ้นในกรณีของนิกายโปรเตสแตนท์? เวเบอร์พิจารณาปัญหาดังกล่าวในความเรียงนี้
เขานิยาม "จิตวิญญาณแห่งทุนนิยม" ว่าเป็นแนวคิดและอุปนิสัยที่เอื้อต่อการมุ่งเป้าหากำไรทางเศรษฐกิจอย่างเหตุผลนิยม เวเบอร์ชี้ให้เห็นว่า ถ้าพิจารณาเป็นรายบุคคลแล้ว การมีจิตวิญญาณดังกล่าวนั้นมิได้จำกัดอยู่เฉพาะในวัฒนธรรมตะวันตก แต่ปัจเจก - ที่เวเบอร์เรียกว่านักเริ่มกิจการ (entrepreneurs) ระดับยอด - ไม่สามารถจะเริ่มระบบระเบียบทางเศรษฐกิจใหม่ (ซึ่งคือระบบทุนนิยม) เพียงคนเดียวได้ ตัวอย่างของอุปนิสัยและแนวโน้มต่าง ๆ ที่เวเบอร์เสนอมาก็เช่น ความต้องการกำไรโดยลงแรงน้อยที่สุด, แนวคิดที่ว่าการทำงานคือคำสาปและความลำบากที่ควรจะต้องหลีกเลี่ยง โดยเฉพาะในกรณีที่งานนั้นหนักหนาเกินกว่าการจะมีชีวิตที่สุขสบาย เวเบอร์เขียนไว้ว่า: "การที่วิถีชีวิตที่ปรับเข้าอย่างดีกับหนทางของทุนนิยมจะกลายเป็นวิถีชีวิตหลักเหนือแนวทางอื่น ๆ ได้นั้น จะมีที่มาจากแนวคิดของปัจเจกใดคนหนึ่งเพียงอย่างเดียวคงไม่ได้ แต่จะต้องเกิดขึ้นมาจากวิถีชีวิตที่เหมือน ๆ กันของคนทุกคนในกลุ่ม"
หลังจากที่เขาได้นิยามจิตวิญญาณของทุนนิยมแล้ว เวเบอร์ได้ชี้ให้เห็นว่ามีหลายสาเหตุที่ทำให้ควรศึกษาต้นตอของจิตวิญญาณนี้ จากแนวคิดทางศาสนาของกลุ่มปฏิรูปของนิกายโปรเตสแตนท์ ผู้สังเกตการณ์หลายคนเช่น วิลเลียม เพตตี, มอนเตสควิว, เฮนรี โทมัส บัคเคิล, จอห์น คีตส์ และอีกหลาย ๆ คน ได้ให้ความเห็นในลักษณะเดียวกันนี้
เวเบอร์ได้แสดงว่าแนวคิดของบางกลุ่มผู้นับถือนิกายโปรเตสแตนท์ ทำให้การแสวงหาผลกำไรและสะสมทุนนั้น มีความเกี่ยวข้องในด้านบวกกัีบความเชื่อด้านจิตวิญญาณและศีลธรรม อย่างไรก็ตาม การกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจนี้ไม่ใช่เป้าหมายโดยตรงความเชื่อนั้น แต่จัดว่าเป็นแค่ผลพลอยได้ ซึ่งมีผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมกับการวางแผนและการปฏิเสธตนเองในการแสวงหากำไรทางเศรษฐกิจ
เวเบอร์กล่าวว่าเขาหยุดการค้นคว้าเกี่ยวกับนิกายโปรเตสแตนท์เนื่องจากเพื่อนร่วมงานของเขา เอิร์นสท์ โทรเอลทสช์ นักศาสนวิทยา ได้เริ่มงานของหนังสือ คำสอนด้านสังคมของโบสถ์คริสต์และสาขาย่อย อีกสาเหตุหนึ่งก็คือบทความนี้ได้เปิดแนวทางคร่าว ๆ ให้่กับเขา ในการศึกษาเปรียบเทียบศาสนากับสังคมอื่น ๆ ซึ่งเวเบอร์ได้กระทำในงานชิ้นถัด ๆ ไป
[แก้] ศาสนาของจีน: ลัทธิขงจื้อและลัทธิเต๋า
[แก้] ศาสนาของอินเดีย: สังคมวิทยาของศาสนาฮินดูและศาสนาพุทธ
[แก้] ศาสนายูดาโบราณ
[แก้] สังคมวิทยาการเมืองและการปกครอง
ในสังคมวิทยาการเมืองและการปกครอง ความเรียงที่มีบทบาทที่สุดของเวเบอร์น่าจะเป็น การเมืองในฐานะที่เป็นอาชีวะ ในความเรียงนี้ เวเบอร์ได้นิยามความหมายของรัฐที่กลายเป็นศูนย์กลางของการศึกษาต่อมาในกระแสความคิดตะวันตก กล่าวคือ รัฐคือหน่วยองค์ (entity) ที่ผูกขาดการใช้กำลังทางกายภาพที่ถูกกฎหมาย ซึ่งรัฐสามารถเลือกที่จะแบ่งปันอำนาจนี้ไปอย่างใดก็ได้ กิจกรรมทางการเมืองจึงสามารถมองได้ว่าเป็นกิจกรรมที่รัฐเข้าไปมีบทบาทบางอย่าง เพื่อส่งผลให้เกิดการจัดสรรกำลังนี้ การเมืองจึงเป็นเรื่องของอำนาจ นักการเมืองจะต้องไม่เป็นคนที่ถือ "จริยธรรมชาวคริสต์อย่างแท้จริง" ซึ่งในความหมายของเวเบอร์นั้นคือผู้ที่ยึดตามคำสอนอย่างเคร่งครัด ถึงขนาดที่ยอมยื่นแก้มอีกข้างให้คนอื่นทำร้าย ผู้ที่ทำได้ดั่งว่า เวเบอร์จัดว่าเป็นนักบุญ ดังนั้นโลกการเมืองจึงไม่ใช่โลกของนักบุญ นักการเมืองจะต้องร่วมหัวจมท้ายกับจริยธรรมของเป้าหมายสุดท้ายและจริยธรรมของความรับผิดชอบ และจะต้องมีทั้งความรักในอาชีพพิเศษของตน พร้อมด้วยความสามารถที่จะทิ้งช่วงห่างระหว่างตนเอง กับผู้ที่ถูกปกครอง
[แก้] อ้างอิง
งานของเวเบอร์มักถูกอ้างถึงจาก Gesamtausgabe (ฉบับรวมผลงาน), ที่พิมพ์โดย มอห์ร ซีเบ็ค (Mohr Siebeck) ในเมือง ทูบิงเกน (Tübingen) ประเทศเยอรมนี.
- ไรน์ฮาร์ด, เบ็นดิกซ์ (Bendix, Reinhard) (1960). Max Weber: An Intellectual Portrait. Doubleday.
- เคสเลอร์, เดอร์ค (Kaesler, Dirk) (1989). Max Weber: An Introduction to His Life and Work. University of Chicago Press.
- เวเบอร์, มาเรียน (Weber, Marianne) (1929/1988). Max Weber: A Biography. New Brunswick: Transaction Books.
- Richard Swedberg, "Max Weber as an Economist and as a Sociologist", American Journal of Economics and Sociology
- ลิวอิส เอ. โคเซอร์. นักปราชญ์ระดับโลก แปลโดย กาญจพรรษ (อังกาบ) กอศรีพร, วารุณี ภูริสินสิทธ์, นฤจร อิทธิจีระจรัส, และ จามะรี พิทักษ์วงศ์ ISBN 974-92043-8-7
มักซ์ เวเบอร์ เป็นบทความเกี่ยวกับ ชีวประวัติ ที่ยังไม่สมบูรณ์ ต้องการตรวจสอบ เพิ่มเนื้อหา หรือเพิ่มแหล่งอ้างอิง คุณสามารถช่วยเพิ่มเติมหรือแก้ไข เพื่อให้สมบูรณ์มากขึ้น ข้อมูลเกี่ยวกับ มักซ์ เวเบอร์ ในภาษาอื่น อาจสามารถหาอ่านได้จากเมนู ภาษาอื่น ด้านซ้ายมือ |