วัดสวนดอกวรมหาวิหาร
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
- สำหรับ วัดสวนดอก ในจังหวัดอื่นดูที่ วัดสวนดอก
วัดสวนดอก หรือ "วัดบุปผาราม" ปัจจุบันตั้งอยู่บนถนนสุเทพ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
[แก้] ประวัติ
"วัดสวนดอก" หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "วัดบุปผาราม" ในอดีตบริเวณวัดเป็นสวนดอกไม้ (ต้นพยอม) ของเจ้านายฝ่ายเหนือใน ราชวงศ์เม็งราย ในปี พ.ศ.๑๙๑๔ (ศักราชนี้ถือตามหนังสือชินกาลมาลีปกรณ์ของพระรัตนปัญญาเกตุ) พระเจ้ากือนา กษัตริย์องค์ที่ ๘ แห่ง ราชวงศ์เม็งราย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเป็น "พระอารามหลวง" เพื่อให้เป็นที่จำพรรษาของ "พระมหาเถระสุมน" ผู้ประดิษฐานพระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ ในแผ่นดินล้านนา และสร้างองค์พระเจดีย์เพื่อประดิษฐาน "พระบรมสารีริกธาตุ" ๑ ใน ๒ องค์ ที่ "พระมหาเถระสุมน" อัญเชิญมาจากสุโขทัย ในปี พ.ศ.๑๙๑๒ (องค์หนึ่งประดิษฐานอยู่ในพระเจดีย์ ใน วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร)
ในสมัย ราชวงศ์เม็งราย วัดสวนดอก มีความเจริญรุ่งเรืองมาก แต่หลังจากสิ้น ราชวงศ์เม็งราย บ้านเมืองตกอยู่ในอำนาจพม่า ทั้งเกิดจลาจลวุ่นวาย วัดนี้จึงกลายสภาพเป็นวัดร้างไป วัดสวนดอก ได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่อีกครั้ง ในรัชสมัย พระเจ้าบรมราชาธิบดีกาวิละ แห่ง ราชวงศ์ทิพย์จักราธิวงศ์ (เจ้าเจ็ดตน) และได้รับการทำนุบำรุงจาก เจ้านายฝ่ายเหนือ และประชาชนเชียงใหม่มาโดยตลอด
วัดสวนดอก ต่อได้รับการบูรณะครั้งสำคัญ ๒ ครั้ง ครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๕๔๐ พระราชชายา เจ้าดารารัศมี ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญรวบรวมพระอัฐิ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ และ พระประยูรญาติ มาประดิษฐานรวมกัน และต่อมาอีกครั้งหนึ่งในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ เป็นการบูรณะปฏิสังขรณ์องค์พระวิหารโดย ครูบาเจ้าศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนา
[แก้] ปูชนียสถานสำคัญภายในวัด
- พระเจดีย์ใหญ่ทรงลังกาบรรจุ "พระบรมสารีริกธาตุ"
พระเจดีย์ใหญ่ทรงลังกา สร้างขึ้นในปี พ.ศ.๑๙๑๔ แต่ครั้ง พระเจ้ากือนา กษัตริย์องค์ที่ ๘ แห่ง ราชวงศ์เม็งราย โปรดเกล้าฯ ให้สร้าง "พระอารามหลวง" โดยโปรดเกล้าให้สร้าง "พระเจดีย์ทรงลังกา" ขึ้นเพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ที่ "พระมหาเถระสุมน" ได้อัญเชิญมาจากสุโขทัย ในปี พ.ศ.๑๙๑๒ ซึ่งแต่เดิมมีเจดีย์แบบสุโขทัย (ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์) อยู่ทางทิศตะวันตกขององค์พระเจดีย์ใหญ่ แต่ได้ปรักหักพังลง
- องค์พระประธาน "พระเจ้าเก้าตื้อ" และพระวิหาร
"พระเจ้าเก้าตื้อ" เป็นพระพุทธรูปหล่อองค์ใหญ่มหึมา สร้างด้วยโลหะหนัก 9 โกฏิตำลึง ("ตื้อ" เป็นคำในภาษาไทยเหนือ แปลว่า หนักพันชั่ง) พระญาเมืองแก้ว กษัตริย์องค์ที่ ๑๓ แห่ง ราชวงศ์เม็งราย โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๐๔๗ "พระเจ้าเก้าตื้อ" เป็นพระพุทธรูปแบบเชียงแสน หน้าตักกว้าง ๘ ศอก เพื่อเป็นพระองค์ประธานใน วัดพระสิงห์ แต่เนื่องมีน้ำหนักมากไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ จึงได้ถวายเรือนหลวงของพระองค์เป็นพระวิหาร พระราชทานชื่อว่า "วัดเก้าตื้อ" แทน ซึ่งต่อมาภายหลังได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ในสมัย ครูบาเจ้าศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนา ในปี พ.ศ.๒๔๗๕
- กู่เจ้านายฝ่ายเหนือ "ราชตระกูล ณ เชียงใหม่"
ในปี พ.ศ. ๒๔๕๐ พระราชชายา เจ้าดารารัศมี ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้านายฝ่ายเหนือใน ราชตระกูล ณ เชียงใหม่ ทรงเห็นว่าทำเลที่ตั้งของ วัดสวนดอก กว้างขวาง จึงโปรดให้อัญเชิญรวบรวมพระอัฐิของ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ และ พระประยูรญาติ มาประดิษฐานรวมกัน ณ ที่นี่ รวมทั้งได้ประทานทรัพย์ให้การทำนุบำรุงมาโดยตลอดพระชนม์ชีพ หลังจาก พระราชชายา เจ้าดารารัศมี สิ้นพระชนม์ ได้มีการแบ่งพระอัฐิของพระองค์มาประดิษฐานไว้ ณ กู่เจ้านายฝ่ายเหนือ แห่งนี้ (อีกส่วนหนึ่งแบ่งประดิษฐานไว้ใน สุสานหลวง วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร) ปัจจุบัน กู่เจ้านายฝ่ายเหนือ แห่งนี้ ได้ถูกจดทะเบียนให้เป็นโบราณสถานสำคัญ ภายใต้การกำกับดูแลของกรมศิลปากร