พระราชชายา เจ้าดารารัศมี
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระราชชายา เจ้าดารารัศมี (๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๑๖ - ๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๖) เจ้าหญิงแห่งราชวงศ์ฝ่ายเหนือผู้มีบทบาทสำคัญยิ่งต่อการรวมล้านนาเข้ากับสยาม เจ้าหญิงผู้เป็นดั่งดวงประทีปแห่งล้านนา ผู้มากด้วยพระอัจฉริยภาพ เจ้าหญิงผู้ทรงพลิกฟื้นศิลปะวัฒนธรรมแห่งแผ่นดินล้านนา เจ้าหญิงผู้เสด็จลงมาถวายตัว สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ด้วยเหตุทางการเมือง ก่อเกิดเป็นตำนานรักอันยิ่งใหญ่ระหว่างสองพระองค์ที่ยากจะพรรณนา
[แก้] พระประวัติ
พระราชชายา เจ้าดารารัศมี ทรงมีพระนามเดิมว่า "เจ้าดารารัศมี" พระนามเล่นว่า "อึ่ง" ประสูติเมื่อวันอังคาร ขึ้น ๔ ค่ำ เดือน ๘ ปีระกา (หากนับทางเหนือ เป็นเดือน ๑๐) หรือตรงกับวันที่ ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๑๖ เมื่อเวลา ๐๐.๓๐ น.เศษ ณ คุ้มหลวงกลางเวียง (ที่ตั้งของ "ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่หลังเดิม) ทรงเป็นราชธิดาใน พระเจ้าอินทวิชยานนท์, พระเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ ๗ กับ แม่เจ้าทิพไกรสรราชเทวี มีพระพี่นางร่วมพระมารดาหนึ่งพระองค์ คือ เจ้าหญิงจันทรโสภา
เมื่อทรงพระเยาว์ เจ้าดารารัศมีทรงศึกษาหนังสือทั้งอักษรไทยเหนือ และอักษรไทยใต้ (ภาคกลาง) และยังศึกษาขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ เป็นอย่างดี และทรงโปรดการขี่ม้าเป็นอย่างยิ่ง
[แก้] เหตุแห่งการเสด็จเข้าวังหลวง
หลังจาก อังกฤษ ได้ขยายอิทธิพลเข้าครอบครอง พม่าแล้ว อังกฤษได้พยายามขยายอิทธิพลเข้ามายังนครเชียงใหม่และอาณาจักรหัวเมืองฝ่ายเหนือ โดย สมเด็จพระบรมราชินีนาถวิกตอเรียแห่งสหราชอาณาจักร ได้ส่งราชทูตมาทูลขอ เจ้าดารารัศมี ราชธิดาพระองค์เล็กใน พระเจ้าอินทวิชยานนท์ ไปเป็นพระราชธิดาบุญธรรม ในเวลานั้นไม่ปรากฏหลักฐานว่า พระเจ้าอินทวิชยานนท์ ทรงมีรับสั่งกราบทูลตอบกลับไปว่าอย่างไร
อย่างไรก็ตาม ความดังกล่าวได้ถึงพระเนตรพระกรรณ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปี พ.ศ. ๒๔๒๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิชิตปรีชากร (เวลานั้นดำรงตำแหน่งเทียบได้กับผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในภาคพายัพ) ได้อัญเชิญพระกุณฑล (ตุ้มหู) และพระธำมรงค์เพชร ไปพระราชทานเป็นของขวัญแด่ เจ้าดารารัศมี เพื่อเป็นการหมั้นหมาย รวมทั้ง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีโสกันต์ฯ พระราชทานตามแบบอย่างเจ้านายใน "พระบรมราชจักรีวงศ์" เป็นกรณีพิเศษ คล้อยหลัง ๓ ปี เจ้าดารารัศมี ได้โดยเสด็จพระราชบิดาลงมาเข้าเฝ้าและถวายตัวในวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๒๙ (ตรงกับ วันพฤหัสบดี ขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๓ ปีจอ อัฐศก จุลศักราช ๑๒๔๘)
[แก้] เหตุแห่งการเมืองไปสู่ความรักระหว่างสองพระองค์
เมื่อพระองค์เสด็จเข้ามาประทับใน พระบรมมหาราชวัง พระราชบิดาได้ประทานเงินค่าตอไม้ เพื่อสร้างพระตำหนักขนาดใหญ่ขึ้นใหม่เพื่อเป็นที่ประทับของ พระราชชายาฯ และข้าราชบริพารในพระองค์ ในระหว่างที่ประทับอยู่ใน พระบรมมหาราชวัง ทรงดำรงพระองค์อย่างเรียบง่าย มิได้สนพระทัยต่อการถูกมองพระองค์ว่าเป็น "เจ้าหญิงเมืองลาว" แต่ประการใด ทรงให้ข้าราชบริพารในพระตำหนักแต่งกายด้วยผ้าซิ่นแบบล้านนา รวมทั้งให้ศึกษาศิลปะดนตรีไทย ดนตรีสากล การขับร้อง และการฟ้อนรำ ทั้งนี้ พระราชชายาฯ สามารถทรงเครื่องดนตรีได้หลากหลายชนิด แต่ที่ทรงโปรดและถนัดที่สุดคือ จะเข้ พระราชชายาฯ ยังทรงสนพระทัยในการถ่ายรูปซึ่งถือเป็นเรื่องใหม่ในสมัยนั้น นอกเหนือไปจากพระปรีชาสามารถด้านการขี่ม้า
ด้วยการดำรงพระองค์อย่างเรียบง่าย หากแต่แฝงไว้ด้วยพระปรีชาญาณ ความมุ่งมั่น และความเชื่อมั่นในพระองค์ กอปรกับความจงรักภักดีที่ทรงมีต่อพระราชสวามี จึงเป็นที่โปรดปรานฯ ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในที่สุด พระราชชายาฯ ซึ่งขณะนั้นยังทรงดำรงตำแหน่ง "เจ้าจอม เจ้าดารารัศมี" ก็ทรงพระครรภ์ และมีพระประสูติกาลพระราชธิดา เมื่อวันที่ ๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๓๒ ทรงพระนามว่า พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าหญิงวิมลนาคนพีสี ในคราวนั้นจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนตำแหน่ง "เจ้าจอม เจ้าดารารัศมี" ขึ้นที่ "เจ้าจอมมารดา เจ้าดารารัศมี"
พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าหญิงวิมลนาคนพีสี หรือพระนามเรียกขานในหมู่ข้าราชบริพารว่า เสด็จเจ้าน้อย เป็นที่โปรดปรานฯ ใน พระราชบิดา ยิ่งนัก ด้วยทรงเป็นเจ้าหญิงพระองค์น้อยที่ฉลองพระองค์ซิ่นแบบเจ้านายเมืองเหนือตลอดเวลา เป็นที่น่าเสียดายว่า พระธิดาทรงมีพระชันษาเพียง ๓ ปี ๔ เดือน ๑๘ วัน ก็ได้ประชวรและสิ้นพระชนม์ลง เมื่อวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๓๕ (ต่อมาทรงได้รับโปรดเกล้าฯ เฉลิมพระนาม ขึ้นเป็น "พระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้าหญิงวิมลนาคนพีสี" "พระเจ้าพี่นางเธอ พระองค์เจ้าหญิงวิมลนาคนพีสี" และ "พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงวิมลนาคนพีสี" ตามลำดับ)
การสิ้นพระชนม์ของพระราชธิดาในคราวนี้นั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเสียพระทัยยิ่งนัก ทรงมีรับสั่งกับ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กล่าวโทษพระองค์เอง ว่า "ทรงเสียพระทัยยิ่งนัก ที่ทรงมิได้ตั้งพระธิดาให้เป็น "เจ้าฟ้า" เป็นเหตุให้พระธิดาสิ้นพระชนม์" แต่สำหรับ พระราชชายาฯ แล้วนั้น ทรงเสียพระทัยอย่างที่สุด ไม่สามารถรับสั่งเป็นคำพูดได้ ทรงฉีกทำลายพระฉายาทิสลักษณ์ที่เป็นภาพ "พระราชสวามี" ประทับร่วมอยู่กับ "พระองค์" และ "พระราชธิดา" เสียจนหมดสิ้น อย่างไรก็ตาม หลังจากทรงได้รับพระหัตถเลขาฯ จากพระราชบิดาที่ส่งมาประทานแล้ว ทำให้ทรงมีพระทัยดีขึ้นโดยลำดับ ต่อมาภายหลัง พระราชชายาฯ มิได้ทรงมีพระประสูติกาลอีกเลย ทั้งที่โดยความจริงแล้วนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตั้งพระทัยเอาไว้ ถึงอย่างไรก็ตาม พระราชชายาฯ ก็ยังทรงมุ่งมั่นรับใช้เบื้องพระยุคลบาท และถวายความจงรักภักดีต่อพระราชสวามีอย่างหาที่สุดไม่ได้
[แก้] โปรดเกล้าฯ สถาปนาพระอิสริยยศขึ้นเป็น "พระราชชายา เจ้าดารารัศมี"
เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๕๑ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระอิสริยยศ "เจ้าจอมมารดา เจ้าดารารัศมี" ขึ้นเป็น "พระราชชายา เจ้าดารารัศมี" นับเป็นพระอิสริยยศในตำแหน่งพระมเหสีเทวีที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน จึงนับได้ว่า "พระราชชายา เจ้าดารารัศมี" ทรงเป็นพระมเหสีลำดับที่ ๕ ในเวลานั้น (ไม่นับ สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ที่สิ้นพระชนม์ก่อนหน้านั้น)
[แก้] การเสด็จประพาสนครเชียงใหม่
นับแต่ พระราชชายาฯ เสด็จมาประทับใน พระบรมมหาราชวัง ก็มิได้เสด็จกลับเชียงใหม่อีกเลย แม้คราวที่ พระราชบิดาเสด็จถึงแก่พิราลัย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๐ ก็ตาม ครั้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๑ เจ้าอินทวโรรสสุริยวงศ์, เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ ๘ พระเชษฐาต่างพระมารดา ได้ลงมาเฝ้า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชชายาฯ จึงกราบถวายบังคมขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเสด็จนครเชียงใหม่ เพื่อเยี่ยมพระประยูรญาติพร้อมกับพระเชษฐา ในครานั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานอนุญาต ด้วยไม่ทรงอยากขัดพระทัย
อย่างไรก็ตาม การเสด็จพระราชดำเนินของพระราชชายาฯ ในคราวนี้นั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงเป็นห่วงและเอาพระทัยใส่ยิ่งนัก ในวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๕๑ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชสวามี เสด็จพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ทั้งฝ่ายหน้าฝ่ายใน ตลอดจนข้าราชการชั้นผู้ใหญ่มาส่งเสด็จ พระราชชายาฯ ขึ้นรถไฟที่สถานีรถไฟสามเสน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และ พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าดิลกนพรัฐ พระราชโอรสใน เจ้าจอมมารดาเจ้าทิพเกษร ณ เชียงใหม่ โดยเสด็จไปส่ง พระราชชายาฯ ถึงปากน้ำโพ นครสวรรค์ ซึ่งเป็นจุดสิ้นสุดของทางรถไฟสายเหนือ ตลอดการเสด็จ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพระยา กรม กองโดยเสด็จ มี ธงดารารัศมี ประจำพระองค์ประดับ เพื่อแสดงพระฐานะพระมเหสีเทวีในพระองค์ เมื่อ พระราชชายาฯ เสด็จถึงปากน้ำโพ ได้เสด็จพระราชดำเนินต่อทางชลมารค ทรงประทับในเรือเก๋งประพาส มีเรือในขบวนเสด็จกว่า ๕๐ ลำ มีการปักธงทิวเป็นขบวนไปตามลำน้ำปิง เมื่อผ่านเขตอำเภอ จังหวัด มณฑลใด มีเจ้าหน้าที่ปลูกพลับพลาประทับร้อน ประทับแรม และคอยรับส่งเสด็จตลอดเขตของตนทุกแห่ง
การเดินทางเป็นไปอย่างล่าช้า ใช้เวลานานถึง ๒ เดือน ๙ วัน จึงเสด็จถึงนครเชียงใหม่ เมื่อวันที่ ๙ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๒ ณ ที่นั้น เจ้าพระยาสุรสีห์วิสิษฐ์ศักดิ์ ข้าหลวงใหญ่มณฑลพายัพ พร้อมด้วย พระประยูรญาติ เจ้านายฝ่ายเหนือ ข้าราชการทหาร พลเรือน ประชาชนแต่ละอำเภอ คหบดี ต่างจัดขบวนแห่ของตน มีขบวนทหาร ตำรวจ ข้าราชการขี่ม้าเข้าแถวนำ แต่งขบวนเป็นภาพคนสมัยโบราณ คนป่า เรื่องชาดกรามเกียรติ์ และนิทานพื้นบ้าน มีขบวนกลองชนะ กลองสะบัดไชย กลองเมือง แตรวง กลองพม่า ต่อกันเป็นระยะๆ ตามหน้าบ้านมีการตั้งเครื่องบูชารายทางมิได้ขาด ถึงที่ประทับคุ้มหลวง จัดเป็นข้างหน้าข้างใน มี สนม กรมวังกำกับอย่างใน พระบรมมหาราชวัง มีทหารกองเกียรติยศตั้งรับเสด็จอย่างสง่างาม
ระหว่างประทับที่เชียงใหม่ พระราชชายาฯ ได้เสด็จเยี่ยมพระประยูรญาติ ณ นครลำพูน และ นครลำปาง เสด็จเยี่ยมราษฎรในที่ต่างๆ รวมทั้งได้เสด็จไปนมัสการพระธาตุ พระพุทธบาท และปูชนียสถานสำคัญอย่างสำราญพระราชหฤทัย ตลอดห้วงการเสด็จประพาสเชียงใหม่ในครั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชโทรเลข และพระราชหัตถเลขา แสดงความรักอาทรห่วงใย พระราชทาน พระราชชายาฯ และ พระราชชายาฯ ก็ทรงตอบถวายกลับโดยตลอด
[แก้] การเสด็จนิวัติพระนคร
พระราชชายาฯ ประทับอยู่ ณ นครเชียงใหม่ได้หกเดือนเศษ ก็ถึงคราวเสด็จนิวัติ พระนคร ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดเตรียมการรับเสด็จอย่างยิ่งใหญ่ มีขบวนรับเสด็จอย่างมืดฟ้ามัวดิน ขบวนเรือเสด็จประกอบด้วยเรือถึง ๑๐๐ ลำเศษ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จประทับเรือยนต์หลวงมารอรับ พระราชชายาฯ ที่อ่างทอง แล้วเสด็จพระราชดำเนินพร้อมกันไปประทับแรม ณ พระราชวังบางปะอิน โปรดเกล้าฯ พระราชทานสร้อยพระกรประดับเพชรเป็นการรับพระขวัญ ทรงประทับแรมอยู่ ณ พระราชวังบางปะอิน เป็นเวลา ๒ คืน จึงเสด็จพระราชดำเนินถึง พระนคร ในวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๒ ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จัดพระราชทานเลี้ยงฉลองขึ้น พระตำหนักสวนฝรั่งกังไส (พระราชวังดุสิต) พระตำหนักใหม่ที่โปรดเกล้าฯ สร้างพระราชทาน พระราชชายาฯ โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ เจ้านายฝ่ายเหนือ ที่โดยเสด็จลงมาร่วมโต๊ะเสวยทุกองค์
[แก้] "วันวิปโยค" พระราชสวามีเสด็จสวรรคต
หลังจากเสด็จนิวัติ พระนคร พระราชชายาฯ ได้ทรงประทับอยู่ใน พระราชวังดุสิต อย่างสำราญพระราชหฤทัยที่ได้ทรงกลับมารับใช้เบื้องพระยุคลบาท พระราชสวามีได้เพียง ๑๐ เดือน ก็ต้องทรงประสพกับเหตุวิปโยคคราใหญ่ในพระชนม์ชีพอีกครั้งหนึ่ง เมื่อ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชสวามี ได้เสด็จสวรรคต ในวันที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ นับรวมเวลาที่ พระราชชายาฯ เสด็จมาประทับรับใช้เบื้องยุคลบาท เป็นเวลา ๒๓ ปีเศษ
นับแต่สิ้นรัชกาล พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชชายาฯ ยังทรงประทับใน พระราชวังดุสิต มาโดยตลอด จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๔๕๗ ก็ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตกราบถวายบังคมลา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อเสด็จนิวัตินครเชียงใหม่เป็นการถาวร เมื่อได้รับพระบรมราชานุญาต ก็เสด็จขึ้นเชียงใหม่ เมื่อ วันที่ ๘ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๗ และถึงเชียงใหม่ในวันที่ ๒๒ เดือนเดียวกัน โดยประทับที่ คุ้มเจดีย์กิ่ว ริมแม่น้ำปิง แต่นั้น
[แก้] พระราชกรณียกิจสำคัญ
พระราชชายาฯ ทรงมีพระราชกรณียกิจที่ทรงคุณเอนกอนันต์ต่อล้านนาและสยาม พอสังเขป ดังนี้
- ทรงดำรงพระองค์เป็นศูนย์รวมดวงใจของข้าราชบริพารฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้
หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล พระธิดาใน สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงกล่าวถึง พระราชชายาฯ ซึ่งทรงออกพระนามว่า "เจ้าป้า" ตอนหนึ่งว่า "ข้าพเจ้ารู้สึกทึ่งและประทับใจยิ่งนัก เวลาเห็นพระองค์ท่านประทับอยู่ในที่ว่าราชการ ท่ามกลางข้าราชการฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้ จากที่เคยเห็นท่านดำรงพระองค์เรียบง่ายสงบคำเวลาประทับอยู่ในวังหลวง แต่ในที่นั่น พระองค์ท่านทรงรับสั่งว่าราชการอย่างฉะฉาน เวลาตรัสกับข้าราชการฝ่ายเหนือก็ตรัสเป็นภาษาเหนือ เวลาตรัสกับข้าราชการฝ่ายใต้ก็ตรัสเป็นภาษาใต้ รับสั่งกลับไปกลับมาอย่างคล่องแคล่วยิ่งนัก เห็นได้ชัดว่าพระองค์ทรงเป็นที่เคารพเทิดทูนของข้าราชการทุกหมู่เหล่าอย่างยิ่ง" นอกจากนั้น ยังทรงกล่าวตอนหนึ่งว่า "ฉันเคยพูดกับพวกฝรั่ง เขาว่านะว่า เจ้าเชียงใหม่ไม่เห็นจะทรงฉลาดซักเท่าไร เห็นจะมีแต่ พริ้นเซสออฟเชียงใหม่ ซึ่งหมายถึง พระราชชายาฯ นี่นะสิ ทรงฉลาดเหลือเกิน"
- ทรงฟื้นฟูศิลปะด้านการแสดงล้านนา
ทรงส่งเสริมศิลปะวัฒนธรรมอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะเรื่องดนตรีพื้นเมือง และศิลปะการแสดงพื้นเมืองนั้น ด้วยทรงมีพระนิสัยโปรดเล่นดนตรีไทย ตั้งแต่ครั้งประทับอยู่ใน พระบรมมหาราชวัง ซึ่ง วงดนตรีไทยประจำพระตำหนักของพระราชชายา นั้น มีกิตติศัพท์เลื่องลือไปทั่วฝ่ายใน เมื่อเสด็จมาประทับนครเชียงใหม่ ทรงโปรดให้รื้อฟื้นศิลปะการฟ้อนรำ การดนตรีพื้นเมืองทั้งหมด ทรงโปรดให้รวบรวมศิลปินล้านนาเก่าแก่มาเป็นบรมครูผู้ประสาทวิชาเพื่อสนับสนุนให้ความรู้แก่พระญาติและประชาชน รวมทั้งทรงโปรดให้จัดการฝึกสอนขึ้นในพระตำหนัก พระญาติของพระองค์ต่อมาได้มีบทบาทในการสานต่อพระราชปณิธานดังกล่าว อาทิเช่น เจ้าหญิงเครือแก้ว ณ เชียงใหม่ ซึ่งต่อมาเป็น ศิลปินแห่งชาติ และ เจ้าสุนทร ณ เชียงใหม่ ผู้สืบทอดการผลิตเครื่องดนตรีและการเล่นดนตรีพื้นเมือง
- ทรงฟื้นฟูศิลปะการทอผ้า
ทรงฟื้นฟูและส่งเสริมกิจการทอผ้าซึ่งเคยมีชื่อเสียงมาช้านานในล้านนา ได้ทรงรวบรวมผู้ชำนาญการทอผ้ายก ผ้าซิ่นตีนจก และฝึกสอนช่างทอ โดยสร้างโรงทอผ้าที่หลังพระตำหนักของพระองค์ มีกี่ทอผ้าประมาณ ๒๐ หลัง ภายหลังพระญาติจากนครลำพูนได้มาศึกษาการทอผ้าซิ่นยกดอก และนำไปฝึกหัดคนในคุ้มหลวงที่ลำพูนจนมีความชำนาญ และได้สืบทอดต่อกันมาจวบจนปัจจุบัน กิจการด้านการทอผ้าได้แพร่หลายไปสู่หมู่ประชาชน จนกลายเป็นผลิตภัณฑ์สำคัญของเชียงใหม่และลำพูนมาตราบจนปัจจุบัน
- ทรงสนับสนุนกิจการด้านการศึกษา
ทรงอุดหนุนการศึกษาของสงฆ์ และการศึกษาในโรงเรียนชายหญิงของนครเชียงใหม่ พระราชชายาฯ ได้พระราชทานที่ดินและพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ให้แก่ โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย และ โรงเรียนดาราวิทยาลัย โดยเฉพาะ โรงเรียนดาราวิทยาลัย นั้น แต่เดิมเรียกว่า โรงเรียนสตรี ภายหลังได้รับพระราชทานนามจาก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่า โรงเรียนพระราชชายา และเปลี่ยนเป็น โรงเรียนดาราวิทยาลัย ตามพระนามของ พระราชชายาฯ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๒
- ทรงสนับสนุนกิจการด้านพระศาสนา
นอกจากทรงอุดหนุนการศึกษาของสงฆ์แล้ว ทรงทำนุบำรุงศาสนา บูรณะวัดวาอารามต่างๆ มากมายทั่วนครเชียงใหม่ พระราชชายาฯ ได้ทรงพระราชทาน ที่ดินส่วนพระองค์อันเป็นที่ตั้งของ พระตำหนักม่อนจ๊อกป๊อก บนดอยสุเทพ ถวายแก่ วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร นอกจากนั้น ได้ทรงรวบรวมอัญเชิญพระอัฐิใน พระปฐมวงศ์ผู้ครองนครเชียงใหม่ และพระประยูรญาติของพระองค์ มาบรรจุรวมกันไว้ ณ กู่เจ้านายฝ่ายเหนือ วัดสวนดอกวรมหาวิหาร
- ทรงส่งเสริมการเกษตรสมัยใหม่ ทรงริเริ่มการปลูกลำไย
พระราชชายาฯ ได้ทรงโปรดให้ใช้ พระตำหนักดาราภิรมย์ ณ สวนเจ้าสบาย อำเภอแม่ริม เป็นแปลงทดลองการเกษตรส่วนพระองค์ขนาดใหญ่ ทรงโปรดให้ เจ้าชื่น สิโรรส พระญาติสาย ราชวงศ์เม็งราย มาดูแลควบคุมพัฒนาการเกษตร ทรงริเริ่มส่งเสริมการปลูกใบยาสูบเวอร์จิเนีย ใบชา ใบหม่อน ดอกไม้เมืองหนาว และกล้วยไม้ ทั่วนครเชียงใหม่และหัวเมืองใกล้เคียง นอกจากนั้น พระองค์ยังทรงทดลองปลูกพืชใหม่ ๆ อยู่เสมอ เช่น ทรงทดลองปลูกกะหล่ำปลีสีม่วง แครอท แตงโมบางเบิด แคนตาลูป รวมทั้งลำไย ผลไม้ขึ้นชื่อของเชียงใหม่ในปัจจุบัน พระองค์ท่านก็ทรงนำมาปลูกเป็นพระองค์แรก ที่สำคัญ ทรงให้มีการศึกษาพัฒนาด้านการเกษตรอยู่เสมอ และทรงเน้นการให้ความรู้การเกษตรสมัยใหม่เข้าถึงประชาชนของพระองค์อย่างแท้จริง พระราชอัจฉริยะภาพและพระมหากรุณาธิคุณดังกล่าว ปรากฏให้เห็นถึงปัจจุบันที่ การปลูกใบชา ใบหม่อน กล้วยไม้ และลำไย กระจายอยู่ทั่วนครเชียงใหม่และเมืองใกล้เคียง ประชาชนต่างยึดถือเป็นอาชีพหลักสร้างรายได้เลี้ยงครัวเรือน
- ทรงพระราชทานนามกุหลาบสีชมพูกลิ่นหอมพันธุ์หนึ่ง ถวายแด่พระราชสวามี ว่า "จุฬาลงกรณ์"
พระราชชายาฯ ทรงดำรงพระองค์เป็นสตรีชั้นนำของประเทศ ทรงเป็น สมาชิกกิตติมศักดิ์ ของ ราชสมาคมกุหลาบแห่งประเทศอังกฤษ ทรงริเริ่มและสนับสนุนการปลูกกุหลาบทั่วนครเชียงใหม่ และหัวเมืองใกล้เคียง ภายหลังทรงพบกุหลาบขนาดใหญ่พันธุ์หนึ่ง ซึ่งมีสีชมพูระเรื่อ ส่งกลิ่นหอมตลอดเวลา ทำให้ทรงหวนระลึกถึง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชสวามีที่เสด็จสวรรคตไปแล้ว จึงได้พระราชทานนามกุหลาบพันธ์นั้นตามพระนามในพระราชสวามีว่า "จุฬาลงกรณ์" พระราชชายาฯ ทรงโปรดให้สร้างแปลงเพาะพันธุ์บน พระตำหนักม่อนจ๊อกป๊อก บนดอยสุเทพ ซึ่งมีอากาศเย็นทั้งปี เมื่อเสด็จมาประทับ ณ พระตำหนักดาราภิรมย์ ในช่วงปลายพระชนม์ชีพ ก็ทรงโปรดให้ปลูกกุหลาบ "จุฬาลงกรณ์" โดยรอบพระตำหนัก และทรงตัดดอกถวายสักการะ พระราชสวามี ซึ่งต่อมาภายหลัง สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำกุหลาบ "จุฬาลงกรณ์" มาเพาะพันธุ์และทรงโปรดให้ปลูกประดับโดยรอบ พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์
[แก้] วาระสุดท้ายแห่งพระชนม์ชีพ
พระราชชายา เจ้าดารารัศมี ได้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจที่ทรงคุณเอนกอนันต์และดำรงพระองค์เป็นที่สักการะเทิดทูนในหมู่พสกนิกรชาวล้านนา ในบั้นปลายพระชนม์ชีพได้ทรงประทับอยู่ใน พระตำหนักดาราภิรมย์ ณ สวนเจ้าสบาย อำเภอแม่ริม พระตำหนักที่ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สร้างถวายแวดล้อมด้วยพระประยูรญาติและข้าราชบริพารในพระองค์อย่างมีความสุขเป็นเวลานานถึง ๒๐ ปี
ตกกระทั่งวันที่ ๓๐ เดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๖ ได้ทรงเริ่มประชวรด้วยพระโรคพระปัปผาสะพิการ (โรคปอดพิการ) นายแพทย์ทั้งในประเทศและต่างประเทศได้พยายามถวายการรักษาพยาบาล พระอาการมีแต่ทรงกับทรุด พลตรี เจ้าแก้วนวรัฐ, เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ ๙ พระเชษฐา จึงเชิญเสด็จมาประทับ ณ คุ้มรินแก้ว ในตัวเมืองเชียงใหม่ เพื่อสะดวกกับพระประยูรญาติผลัดเปลี่ยนกันเข้าเฝ้าเยี่ยมพระอาการ และเป็นการง่ายที่แพทย์จะถวายการรักษา
ความทราบถึงพระกรรณ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน อัญเชิญด้ายสายสิญจน์มาผูกพระกร พระราชทานทุนทรัพย์ส่วนพระองค์ในการรักษาพยาบาล และโปรดเกล้าฯ ให้แพทย์ถวายรายงานให้ทรงทราบเป็นประจำวัน ขณะเดียวกัน พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้ นายแพทย์กรมรถไฟขึ้นมาประจำกับแพทย์ทางเชียงใหม่ถวายการดูแลพระอาการอย่างใกล้ชิด นอกจากนั้น พลตรี เจ้าแก้วนวรัฐ พระประยูรญาติ และข้าราชบริพาร ยังได้จัดซื้อเครื่องเอกซเรย์ชนิดย้ายที่ได้จากอินโดนีเซียส่งมาทางเครื่องบิน เพื่อฉายดูพระปัปผาสะ เป็นการช่วยแพทย์แผนปัจจุบัน แต่พระอาการของพระองค์ก็มิได้บรรเทาอย่างใด
พระราชชายา เจ้าดารารัศมี ประชวรอยู่นาน ๗ เดือนเศษ ก็เสด็จสิ้นพระชนม์ เมื่อวันที่ ๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๖ เมื่อเวลา ๑๕.๑๔ น. ณ คุ้มรินแก้ว สิริพระชนมายุ ๖๐ พรรษา ๓ เดือน ๑๓ วัน
[แก้] ธงดารารัศมี
- ดารารัศมี เป็นธงประจำพระองค์พระราชชายา เจ้าดารารัศมี มีพระนามย่อประดับรูปดาว ซึ่ง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดทำขึ้น
[แก้] เพลงเจ้าดารารัศมี
- ฟ้างามยามแสงดาราส่องงามฟากฟ้าเหนืออาณาเชียงใหม่
- กระพริบวาว..วาววับระยับเด่นไกลสูงลอยเฉิดฉันวิไล..ทั่วแดนแคว้นแดนล้านนา
-
- แคว้นใดใฝ่หาราณี..ดารารัศมีขวัญฤดีราชา
- ประทับในหทัยแห่งองค์จุฬา เชิดชูศักดิ์ศรีลานนาเลอล้ำค่าเทียมทัน
- งามสมคำกล่าวขานน้อมนำสถานใกล้ไกล โยงผูกไมตรีสัมพันธ์
- ทรงสรรสร้างพราวพร่างงานเสกสรร
- ชนทั่วหล้าจำนรรจ์วัฒนธรรมบ้านเกิดเมืองนอน
-
- ร้างนานถิ่นฐานเวียงพิงค์กลับมาแอบอิงสายน้ำปิงเหมือนก่อน
- กระพริบวาววาววับพิงคนคร ..ทอดกายให้หายอาวรณ์
- ประทับนอนสูงเจ้าสบาย....
- งามสมคำกล่าวขานน้อมนำสถานใกล้ไกล โยงผูกไมตรีสัมพันธ์
- ทรงสรรสร้างพราวพร่างงานเสกสรร
- ชนทั่วหล้าจำนรรจ์วัฒนธรรมบ้านเกิดเมืองนอน
-
- ร้างนานถิ่นฐานเวียงพิงค์กลับมาแอบอิงสายน้ำปิงเหมือนก่อน
- กระพริบวาววาววับพิงคนคร ..ทอดกายให้หายอาวรณ์
- ประทับนอนสูงเจ้าสบาย
- งามสมคำกล่าวขานน้อมนำสถานใกล้ไกล โยงผูกไมตรีสัมพันธ์
- ทรงสรรสร้างพราวพร่างงานเสกสรร
- ชนทั่วหล้าจำนรรจ์วัฒนธรรมบ้านเกิดเมืองนอน
-
- ร้างนานถิ่นฐานเวียงพิงค์กลับมาแอบอิงสายน้ำปิงเหมือนก่อน
- กระพริบวาววาววับพิงคนคร ..ทอดกายให้หายอาวรณ์
- ประทับนอนสูงเจ้าสบาย
[แก้] อ้างอิง
- นงเยาว์ กาญจนจารี. ดารารัศมี : พระประวัติพระราชชายา เจ้าดารารัศมี. เชียงใหม่ :สุริวงศ์บุ๊คเซนเตอร์, ๒๕๓๙.
- หนานอินแปง. พระราชชายา เจ้าดารารัศมี : เจ้าหญิงแห่งเวียงพิงค์สู่ราชสำนักอย่างทรงเกียรติ. กรุงเทพฯ :ไพลินสีน้ำเงิน, ๒๕๔๒.
- ปราณี ศิริธร ณ พัทลุง. เพ็ชร์ล้านนา. (ครั้งที่ ๒) เชียงใหม่ :ผู้จัดการ ศูนย์ภาคเหนือ, ๒๕๓๘.
- เจ้าวงศ์สัก ณ เชียงใหม่, คณะทายาทสายสกุล ณ เชียงใหม่. เจ้าหลวงเชียงใหม่. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน), ๒๕๓๙.
- คัมภีร์ คัมภีรญาณนนท์, นาวาอากาศเอก. เจ้านายฝ่ายเหนือ. http://www.globalgroup.in.th/encyclopedia_lanna.html.
เพิ่มเติม
- ผู้จัดการรายวัน. "เจ้าดารารัศมี" ดวงใจแห่งเมืองเหนือของพุทธเจ้าหลวง. [1]
|
สมเด็จพระบรมราชินีนาถ และ พระภรรยาเจ้า ใน รัชกาลที่ ๕ แก้ | ||||||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
|