สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ทรงเป็นพระมเหสีเพียงพระองค์เดียวในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระมเหสีพระองค์แรกตามแบบยุโรปในประเทศไทย นอกจากนั้นพระองค์ยังทรงเป็นพระมเหสีเพียงพระองค์เดียวที่ทรงตกเป็นจำเลยของรัฐบาลอีกด้วย
สารบัญ |
[แก้] พระประวัติ
สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ประสูติเมื่อวันอังคารที่ ๒๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๔๗ ทรงเป็นพระธิดาใน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ ต้นราชสกุล สวัสดิวัตน์ และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภาพรรณี ทรงมีพระนามเดิมว่า หม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี สวัสดิวัตน์ ชาววังต่างเรียกพระองค์ว่า ท่านหญิงนา
[แก้] ขณะยังทรงพระเยาว์
เมื่อทรงเจริญพระชันษาได้ ๒ ปี พระบิดาได้นำเข้าไปถวายตัวแด่ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ตามราชประเพณีของเจ้านายสมัยก่อนที่ถวายตัวเข้าไปอยู่ในวังตั้งแต่มีพระชันษายังน้อย ซึ่งในระยะนั้นสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถประทับอยู่ที่พระตำหนักสวนสี่ฤดู พระราชวังดุสิต ซึ่งในเวลานี้ หม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณีกำลังทรงศึกษาภาษาไทยเบื้องต้นอยู่
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตในวันที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ หม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณีทรงมีพระชันษาได้ ๖ ปี ได้ทรงย้ายสถานที่พักจากพระราชวังดุสิต ไปพระบรมมหาราชวังตามสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถไปด้วย และได้เสด็จเข้าทรงศึกษาในโรงเรียนราชินีพร้อมด้วยหม่อมเจ้าคนอื่นๆทั้งหลายอีกด้วย
เมื่อเสร็จการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพแล้ว สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถได้เสด็จย้ายจากพระบรมมหาราชวังไปสู่วังพญาไทอีก ซึ่งพระองค์ได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระตำหนักขึ้นใหม่ และได้ประทับ ณ วังแห่งนี้เป็นการถาวรจนตลอดพระชนมชีพของพระองค์
เมื่อหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณีมีพระชันษาได้ ๘ ปีเศษ และได้ผ่านการพระราชพิธีเกศากันต์(โกนจุก)แล้ว ก็ได้ทรงรู้จักกับ ร้อยโท สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมขุนสุโขทัยธรรมราชา ซึ่งได้เสด็จนิวัติกลับกรุงเทพมหานคร หลังจากทรงได้สำเร็จการศึกษาวิชาการทหารจากประเทศอังกฤษแล้ว สาเหตุก็อันเนื่องมาจากสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอฯ ได้เสด็จมาประทับที่พระราชวังพญาไทกับพระราชชนนีเป็นครั้งคราว และหม่อมเจ้าหญิงรำพรรไพณีจะเป็นผู้ที่สนิทกันมากที่สุดด้วย
[แก้] ท่านหญิงนา
ในสมัยที่สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณียังทรงพระเยาว์นั้น ชาววังได้เรียกขานพระนามว่าพระองค์ว่า ท่านหญิงนา พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ผู้ทรงนิพนธ์หนังสือเรื่อง เกิดวังปารุสก์ ได้เล่าถึงที่มาของพระนามนี้ว่า
“เพื่อนเล่นที่ข้าพเจ้ารักมากที่สุดเป็นหญิง และแก่กว่าข้าพเจ้าราวสามปี เป็นหม่อมเจ้าธิดาของเสด็จปู่สวัสดิ์ ทรงนามว่า รำไพพรรณี และเรียกกนในเวลานั้นว่า ท่านหญิงนา หม่อมเจ้าหญิงนั้นโดยมากจะเรียกกันว่า ท่านหญิงใหญ่ ท่านหญิงเล็ก ท่านหญิงน้อย ดังนี้เป็นต้น การถูกเรียกว่าท่านหญิงนานั้น ผู้อ่านบางคนอาจจะเห็นว่าแปลก เรื่องราวเป็นเช่นนี้ เมื่อเล็ก ๆ อยู่เป็นเด็กที่มีรูปร่างอ้วน จึงถูกล้อว่าเป็นเต่า สำหรับไทยเราการถูกเรียกว่าเต่าเมื่อเล็ก ๆ ไม่เป็นของเสียหาย แม้ทูลหม่อมลุงก็เคยถูกสมเด็จย่าเรียกว่าเต่า อย่างไรก็ดี เมื่อท่านหญิงนายังเล็ก ๆ อยู่ ได้ถูกถามว่า “อยากเป็นอะไร อยากเป็นเต่าทองหรือเต่านา” ท่านหญิงองค์เล็กได้ยิ้มและตอบว่า อยากเป็นเต่านา และก็เลยกลายเป็นท่านหญิงนาตั้งแต่นั่นมา”
[แก้] อภิเษกสมรส
เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๐ หลังจากสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมขุนสุโขทัยธรรมราชา ได้ทรงลาสิกขาจากการผนวช ณ พระตำหนักทรงพรต วัดบวรนิเวศวิหารแล้ว ก็ได้กราบบังคมทูลพระกรุณา และขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวที่จะเสกสมรสกับหม่อมเจ้ารำไพพรรณี โดยได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ประกอบพิธีอภิเษกสมรสพระราชทานขึ้น ณ วังศุโขทัย ถนนสามเสน และพระราชพิธีอภิเษกสมรสที่ พระที่นั่งวโรภาษพิมาน พระราชวังบางปะอิน
ส่วน วังศุโขทัย นั้น ได้สร้างขึ้นก่อนที่ทั้ง ๒ พระองค์จะทรงเษกสมรสกัน โดยเป็นเรือนหอที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ พระราชทานสร้างให้บริเวณคลองสามเสน
[แก้] รัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
หลังจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จสวรรคตในวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๘ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา ได้เสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติเป็น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว หม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี จึงทรงต้องเสด็จขึ้นเป็นพระราชินีแห่งราชอาณาจักรสยาม และทรงได้รับพระราชทานสถาปนาเป็น สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี
ในวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ คณะราษฎรได้ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ประทับอยู่ที่ วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
เมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๖ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ไปทรงเจริญทางพระราชไมตรีกับประเทศทางทวีปยุโรป และได้ทรงรับการผ่าตัดและรักษาพระเนตร ณ ประเทศอังกฤษ
ถึงแม้จะทรงอยู่ที่ยุโรป แต่ก็ยังมีการขัดแย้งเจรจาเกี่ยวกับการเมืองกับทางกรุงเทพมหานครสืบเนื่องกันอยู่ตลอดเวลา จนในที่สุด ก็มีการขัดแย้งกันระหว่างพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว กับรัฐบาล เช่นในเรื่องที่รัฐบาลได้แต่งตั้งพรรคพวก เข้าเป็นสมาชิกผู้เทนราษฎรประเภทที่สอง และรัฐบาลไม่ได้ให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชนอย่างเพียงพอ ไม่ตรงกับพระราชปณิธานอย่างแน่วแนของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ดังนั้นในวันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๗ ขณะที่ยังประทับอยู่ในประเทศอังกฤษ จึงทรงเลือกโอกาสสุดท้ายที่จะแสดงความไม่เห็นพ้องกับคณะผู้บริหารประเทศด้วยการตัดสินพระราชหฤทัยว่า
"บัดนี้ข้าพเจ้าเห็นว่า ความประสงค์ของข้าพเจ้าที่จะให้ราษฎรมีสิทธิออกเสียงในนโยบายของประเทศโดยแท้จริง ไม่เป็นผลสำเร็จ และเมื่อข้าพเจ้ารู้สึกว่าบัดนี้เป็นอันหมดหนทางที่ข้าพเจ้าจะช่วยเหลือหรือให้ความคุ้มครองแก่ประชาชนได้ต่อไปแล้ว ข้าพเจ้าจึงขอสละราชสมบัติออกจากตำแหน่งพระมหากษัตริย์แต่บัดนี้เป็นต้นไป"
หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประกาสที่จะทรงสละราชสมบัติแล้ว พระองค์พร้อมกับสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี และพระประยูรญาติสนิทบางพระองค์ จึงทรงย้ายที่ประทับจากใจกลางเมืองไปอยู่ในชนบทใกล้กรุงลอนดอน ทรงวางพระองค์เยี่ยงคหบดีชนบท ทรงจัดสวน เลี้ยงนกเลี้ยงปลา เสด็จประพาสทัศนศึกษาตามโบราณสถานต่างๆ ฯลฯ
ในช่วงที่ประทับอยู่ในสหราชอาณาจักรนั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระประชวรอยู่เนืองๆ แต่สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีก็ยังทรงปรนิบัติพระองค์ จนถึงวันที่ ๓๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ ขณะที่ทั้ง ๒ พระองค์ประทับอยู่ที่พระตำหนักคอมพ์ตัน ตำบลเวอร์จิเนียวอเตอร์ ประเทศอังกฤษ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จสวรรคตโดยฉับพลันด้วยพระหทัยวาย ทรงมีพระชนมพรรษา ๔๘ พรรษา
สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีทรงจัดการเรื่องพระบรมศพและถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นการภายใน ในวันที่ ๓ มิถุนายน ปีนั้น นับเป็นงานพระบรมศพของพระมหากษัตริย์ไทยที่เรียบและง่ายที่สุดตั้งแต่มีชาติไทยมา ไม่มีพระเมรุมาศ ไม่มีเสียงประโคมย่ำยาม และไม่มีแม้แต่พระสงฆ์สวดพระอภิธรรม นับว่าเป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ซึ่งต้องทรงสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักไป
[แก้] สงครามโลก
สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ยังทรงประทับอยู่ในประเทศอังกฤษต่อไปเหมือนเดิม ถึงแม้ว่าเพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จสวรรคตไปแล้ว เพราะการคมนาคมติดต่อระหว่างประเทศยังไม่มีความปลอดภัย เนื่องจากอยู่ในช่วงสงคราม และเมื่อประเทศไทยประกาศสงครามกับอังกฤษ และอเมริกา ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒นั้น คนไทยผู้ซึ่งพำนักอยู่ในต่างประเทศจำนวนหนึ่ง จึงได้ประกาศตัวเป็นเสรีไทย ทำงานประสานกับเสรีไทยในกรุงเทพมหานคร
สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี แม้จะมิได้ทรงมีพระนามร่วมในคณะเสรีไทยอย่างเป็นทางราชการ แต่ก็ได้พระราชทานพระกรุณาอุดหนุนจุนเจือกิจการของเสรีไทยในประเทศอังกฤษมาตลอด ซึ่งในขณะนั้นมีเสรีไทยทั้งหมดเพียง ๓๖ คนในประเทศอังกฤษ
[แก้] เสด็จกลับประเทศไทย
ในปี พ.ศ. ๒๔๙๒ รัฐบาลได้กราบบังคมทูล สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี เชิญเสด็จกลับสู่กรุงเทพมหานคร พร้อมกับพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่ออัญเชิญขึ้นประดิษฐานไว้ ณ ที่อันควรแก่พระบรมราชอิสริยยศในพระบรมมหาราชวัง
แต่เมื่อพระองค์เสด็จกลับมา พระตำหนัก วังศุโขทัย ซึ่งเคยเป็นที่ประทับได้กลับกลายเป็นของกระทรวงสาธารณสุขไปเสียแล้ว พระองค์จึงทรงต้องเสด็จไปประทับอยู่ในตำหนักของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก วังสระปทุมแทน เนื่องจากสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีได้เชิญเสด็จสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีไปอยู่ร่วมกับพระองค์ โดยทรงไปประทับอยู่ที่นั่นนานถึง ๓ ปี ถึงได้เสด็จพระราชดำเนินกลับมาประทับที่พระตำหนักวังสุโขทัยอีกครั้ง
[แก้] พระราชกรณียกิจ
เมื่อสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีได้เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรพื้นที่ในจังหวัดจันทบุรี ซึ่งในขณะนั้นเส้นทางคมนาคมยังไม่สะดวก พระองค์ทรงเลือกที่ดินบริเวณตำบลบ้านแก้ว จังหวัดจันทบุรี ด้วยทรงเห็นว่าเป็นทำเลที่มีธรรมชาติงดงาม และมีความเงียบสงบต้องกับพระราชอัธยาศัยของพระองค์ และระยะทางก็อยู่ไม่ห่างไกลจากตัวเมืองจนเกินไปนัก
สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ทรงกู้เงินจากธนาคารไปจัดซื้อที่ดินบริเวณสองฝั่งคลองบ้านแก้วจากเจ้าของที่ดินเดิม รวมเนื้อที่ประมาณ ๖๘๗ ไร่ พระราชทานนามว่า สวนบ้านแก้ว และยังโปรดเกล้าฯ ให้ข้าราชบริพารทำการปรับที่ดินพร้อมกับสร้างที่ประทับชั่วคราวทำด้วยไม้ไผ่หลังคามุงจาก โดยได้เสด็จพระราชดำเนินไปประทับแรมครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๓ ต่อมาจึงมีการสร้างพระตำหนักหลังอื่นๆต่อมา
สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี มีพระราชประสงค์ที่จะให้ สวนบ้านแก้ว นี้ดำเนินกิจการในด้านการปลูกพืชผักสวนครัว ปลูกไม้ผลนานาชนิด ทั้งที่เป็นพืชไม้ผลในท้องถิ่นและพืชและไม้ผลจากที่อื่น ตลอดจนมีการเลี้ยงสัตว์ เพื่อที่จะให้เป็นไร่ตัวอย่างมากกว่าเป็นการค้า โดยทำการทดลองว่าหากปลูกพืชหรือเลี้ยงสัตว์ชนิดใดได้ผลดี ก็จะทรงนำเอาความรู้นั้นออกเผยแพร่แก่ประชาชน โดยมีนักวิชาการเกษตรจากสถานีทดลองเกษตรจังหวัดจันทบุรีที่เป็นข้าราชบริพารเก่ามาช่วยเหลือแนะนำทางด้านวิชาการ และเมื่อโครงการนี้ประสบผลไปด้วยดี พระองค์จึงทรงนำโครงการนี้ไปเผยแพร่แก่ประชาชน ปรากฏว่าโครงการนี้เป็นไปได้ด้วยดีด้วย
นอกจากนั้น พระองค์ยังทรงเปิดโรงงานทอเสื่อ สิ่งของขึ้นชื่อของเมืองจันทบุรี โรงพยาบาลประจำจังหวัดอีกด้วย
ในปี พ.ศ. ๒๕๑๑ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ทรงตัดสินพระราชหฤทัยขาย สวนบ้านแก้ว ให้แก่กระทรวงศึกษาธิการ เนื่องจากทางกระทรวงต้องการที่ดินสร้างวิทยาลัยครูจันทบุรี จึงทรงตัดสินพระทัยขายให้ในราคาถูก ดังนั้นพระองค์จึงต้องเสด็จกลับมาประทับอยู่ในวังศุโขทัยตามเดิม แม้กระนั้นก็มิได้ทรงละทิ้งกิจการทอเสื่อและผลิตสินค้าจากเสื่อ โปรดเกล้าฯ ให้ดำเนินกิจการเช่นเคยแต่ในปริมาณงานที่ลดลง และโปรดเกล้าฯ ให้ใช้พระตำหนักน้ำในวังศุโขทัยที่อยู่ติดริมคลองสามเสนเป็นสถานที่ทอเสื่อและผลิตสินค้าที่ทำจากเสื่อ ภายใต้การควบคุมอย่างใกล้ชิดของพระองค์เอง
[แก้] สวรรคต
เวลา ๑๕ นาฬิกา ๕๐ นาที วันที่ ๒๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๗ ณ พระตำหนักวังศุโขทัย สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จสวรรคต ด้วยพระหทัยวาย พระบรมศพได้ประดิษฐาน ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง ถวายพระเพลิงพระบรมศพ ณ พระเมรุมาศ ท้องสนามหลวง ในปีรุ่งขึ้น