วิกิพีเดีย:ห้าเสาหลัก
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ผู้ใช้วิกิพีเดียบางคนเชื่อว่านโยบายทั้งหมดของวิกิพีเดียนั้น ตั้งอยู่บน ห้าเสาหลัก ที่นิยามลักษณะของวิกิพีเดีย:
- วิกิพีเดียคือสารานุกรม ที่มีองค์ประกอบของทั้งสารานุกรมทั่วไป สารานุกรมเฉพาะด้าน และที่เก็บสถิติ วิกิพีเดีย ไม่ใช่ ไม่ใช่ที่รวบรวมแหล่งข้อมูลต้นฉบับ ไม่ใช่ที่ป่าวประกาศ ไม่ใช่หนังสือพิมพ์ ไม่ใช่เครื่องให้บริการเว็บไซต์ฟรี ไม่ใช่ที่รวบรวมบทความยกยอตนเอง ไม่ใช่ที่รวบรวมของที่ระลึก ไม่ใช่ที่ทดลองประชาธิปไตยกับอนาธิปไตย หรือที่รวบรวมลิงก์ นอกจากนี้ที่นี่ยังไม่ใช่ที่สำหรับใส่ความคิดเห็นส่วนตัว ประสบการณ์ หรือข้อโต้เถียง ผู้เขียนทุกคนจะต้องทำตามนโยบายงดงานค้นคว้าต้นฉบับ ผู้เขียนทุกคนจะต้องมีเป้าหมายที่ความเที่ยงตรง
- วิกิพีเดียใช้มุมมองที่เป็นกลาง นั่นคือเรามุ่งมั่นที่จะเขียนบทความที่ไม่เอนเอียงเข้าข้างมุมมองใดมุมมองหนึ่ง บางครั้งนั่นหมายถึงการเขียนแสดงมุมมองหลาย ๆ มุมมอง, อธิบายมุมมองต่าง ๆ อย่างถูกต้องแม่นยำ, ให้บริบทที่มาของมุมมองต่าง ๆ เพื่อที่ผู้อ่านจะได้เข้าใจ, และไม่ระบุหรือแสดงว่ามุมมองหนึ่งมุมมองใดคือ "ความจริง" หรือเป็น "มุมมองที่ดีที่สุด" นั่นอาจหมายถึงการพิสูจน์ยืนยันกับแหล่งที่มาที่เชื่อถือได้ โดยเฉพาะกับบทความที่มีการโต้เถียง เมื่อความขัดแย้งเกิดขึ้นว่าบทความรุ่นใดที่เป็นกลางมากกว่ากัน ให้ประกาศภาวะสงบศึก และแปะป้ายที่บทความว่าอยู่ในระหว่างการถกเถียง จากนั้นไปเขียนให้ข้อมูลกันที่หน้าอภิปราย
- วิกิพีเดียเผยแพร่เนื้อหาแบบเสรี กล่าวคือเนื้อหาทั้งหมดที่เขียนในวิกิพีเดียนั้นอยู่ภายใต้ GNU Free Documentation License (GFDL) และจะถูกเผยแพร่หรืออ้างอิงตามข้อกำหนดดังกล่าว ควรตระหนักว่าบทความจะถูกแก้โดยใครก็ได้ และไม่มีใครเป็นผู้ควบคุมบทความใด ทั้งสิ้น ดังนั้น งานเขียนทุกชิ้นที่คุณส่งเข้ามาอาจถูกแก้ไขอย่างไร้ความปราณีรวมถึงถูกเผยแพร่ตามแต่ชุมชนจะเห็นชอบ อย่าส่งงานที่มีลิขสิทธิ์ไม่สอดคล้องกับ GFDL เข้ามาที่วิกิพีเดีย
- วิกิพีเดียมีมารยาท เคารพผู้ร่วมเขียนวิกิพีเดียถึงแม้ว่าจะมีความเห็นไม่ตรงกับพวกเขาก็ตาม หลีกเลี่ยงการโจมตีคนอื่น ควบคุมอารมณ์ให้เย็น หลีกเลี่ยงการแก้กลับไปกลับมา อย่าทำให้วิกิพีเดียต้องสะดุดลงเพียงเพื่อต้องการแสดงความเห็นบางอย่าง จงมองคนอื่นในแง่ดีตราบใดที่ยังขาดหลักฐานชัดเจนให้เห็นเป็นอย่างอื่น อย่าสร้างบัญชีผู้ใช้เพื่อหลบเลี่ยงหรือทำผิดนโยบาย
- วิกิพีเดียไม่มีกฎตายตัว นอกจากหลักการพื้นฐานทั้งห้าที่ได้อธิบายตรงนี้ จงกล้าที่จะแก้ไข ปรับปรุง และเปลี่ยนแปลงบทความ เพราะว่าความสนุกของการแก้ไขคือการไม่ต้องกังวลว่างานที่ได้จะไม่สมบูรณ์ และไม่ต้องกลัวว่าจะทำให้ทุกอย่างเสียหาย เพราะทุก ๆ รุ่นก่อนหน้าของบทความได้ถูกเก็บรักษาไว้แล้ว ทำให้คุณไม่สามารถจะพลั้งพลาดทำลายวิกิพีเดียไปได้ แต่อย่าลืมว่าทุกอย่างที่คุณเขียนไว้ที่นี่ จะถูกรักษาไว้ตลอดกาล