พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท คือหนึ่งในพระที่นั่งที่สำคัญในพระบรมมหาราชวัง เป็นพระที่นั่งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อเป็นท้องพระโรง ใน พ.ศ. 2418 ภายหลังเสด็จประพาสสิงคโปร์และชวา โปรดเกล้าฯ ให้จ้างนายยอน คลูนิช ชาวอังกฤษ สถาปนิกจากสิงคโปร์ เป็นนายช่างหลวงออกแบบพระที่นั่ง นายเฮนรี คลูนิช โรส เป็นนายช่างผู้ช่วย โดยมีเจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี (ท้วม บุนนาค) เป็นแม่กอง พระยาเวียงในนฤบาลเป็นผู้กำกับดูแลการทุกอย่าง และพระประดิษฐการภักดีเป็นผู้ตรวจกำกับบัญชีและของทั้งปวง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2419
เดิมมีพระที่นั่งต่างๆ เรียงต่อเนื่องกันรวม 11 องค์ ปัจจุบันเหลืออยู่เพียง 3 องค์ คือ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท และ พระที่นั่งมูลสถานบรมอาสน์ กับ พระที่นั่งสมมติเทวราชอุปบัติ ซึ่งพระที่นั่งทั้ง 2 องค์ที่กล่าวถึงนั้นได้รื้อลงแล้วสร้างใหม่ในรัชกาลปัจจุบัน ทั้งนี้ ในพ.ศ. 2542 ได้มีโครงการสร้างพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทส่วนต่อเติมในพื้นด้านหลัง เพื่อใช้ในการพระราชทานเลี้ยงต้อนรับพระราชอาคันตุกะ แล้วเสร็จในเดือนมิถุนายน 2549
เริ่มแรกนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งองค์ใหม่เป็นแบบตะวันตก แต่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) กราบบังคมทูลขอให้ทำเป็นปราสาท จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนทรงหลังคาเป็นหลังคายอดปราสาท 3 ยอดเรียงกันตามสถาปัตยกรรมไทย และเสด็จยกยอดปราสาทใน พ.ศ. 2421 มีการเฉลิมพระราชมนเฑียรใน พ.ศ. 2425 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท
พระที่นั่งองค์นี้ใช้เป็นที่เก็บพระอัฐิของพระมหากษัตริย์และพระมเหสี เป็นที่เสด็จออกให้เข้าเฝ้า หรือรับรองแขกผู้มีเกียรติ ภายในพระที่นั่งเป็นที่ประดิษฐานของ พระที่นั่งพุดตานถม ซึ่งเป็นพระราชอาสน์ราชบัลลังก์ประจำพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท องค์พระที่นั่งทำด้วยไม้หุ้มเงินถมลงยาทาทองซึ่งเรียกว่า ถมตะทอง นับได้ว่าเป็นเครื่องถมทองชิ้นใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
โคมไฟขนาดใหญ่ภายในพระที่นั่งนั้น ที่จริงแล้วมิใช่สั่งมาโดยตรง สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ได้สั่งมาที่บ้านของตนเอง แต่ปรากฎว่าโคมนั้นมีขนาดใหญ่เกินไป ท่านจึงนำมาถวายแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทยังเป็นสถานที่แห่งแรกในประเทศไทยที่มีการใช้ไฟฟ้าเป็นครั้งแรกอีกด้วย ด้วยเหตุที่ว่ากรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ ได้ทอดพระเนตรเห็นแสงไฟฟ้านั้นที่ประเทศทางตะวันตก และมีพระราชประสงค์ที่จะมาใช้ในประเทศไทย
[แก้] พระราชมณเฑียรสถานหมู่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท
![สมัยเมื่อกรุงเทพฯยังเป็นจังหวัดพระนครอยู่นั้น กรมศิลปากรได้กำหนดให้ใช้รูปพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทเป็นตราประจำจังหวัด](../../../upload/thumb/0/02/Seal_Pharnakhon.png/180px-Seal_Pharnakhon.png)
เป็นพระราชมณเฑียรหมู่ใหญ่อยู่ตรงกลางระหว่างพระที่นั่งในหมู่พระมหามณเฑียร และพระที่นั่งในหมู่พระมหาปราสาท สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เดิมมี 11 องค์ คือ
- พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท
- พระที่นั่งมูลสถานบรมอาสน์ เป็นพระที่นั่งที่สร้างต่อเนื่องกับท้องพระโรงกลางพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ด้านตะวันออก ใช้เป็นห้องสำหรับพระราชทานเลี้ยง
- พระที่นั่งสมมติเทวราชอุปบัติ เป็นพระที่นั่งที่สร้างต่อเนื่องกับท้องพระโรงกลางพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ด้านตะวันออก เดิมใช้เป็นที่เสด็จออกขุนนาง และประชุมร่วมกับคณะที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน และเป็นสถานที่ทรงประกาศพระบรมราชโองการการเลิกทาส พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริให้สร้างพระที่นั่งนี้ ตรงบริเวณที่เป็นพระตำหนักชั้นเดียวที่ทรงเสด็จพระราชสมภพ
- พระที่นั่งดำรงสวัสดิ์อนัญวงศ์ เป็นพระที่นั่งที่สร้างต่อเนื่องกับพระที่นั่งสมมติเทวราชอุปบัติ ด้านตะวันตก ใช้เป็นห้องเครื่องลายคราม มีชื่อเรียกขานว่า "ห้องผักกาด"
- พระที่นั่งนิพัทธพงศ์ถาวรวิจิตร เป็นพระที่นั่งที่สร้างต่อเนื่องกับพระที่นั่งมูลสถานบรมอาสน์ ด้านตะวันออกเป็นห้องพระภูษา
- พระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร เป็นพระราชมณเฑียรที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อยู่ทางทิศใต้ของพระที่นั่งมูลสถานบรมอาสน์ และพระที่นั่งสมมติเทวราชอุปบัติ บางครั้งใช้เป็นสถานที่รับรองแขก
- พระที่นั่งอมรพิมานมณี เป็นพระวิมานที่บรรทมของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อจากพระเฉลียงด้านหลังพระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร
- พระที่นั่งสุทธาศรีอภิรมย์ เป็นห้องประทับสมเด็จพระอัครมเหสี อยู่ด้านตะวันออกของพระที่นั่งอมรพิมานมณี
- พระที่นั่งบรรณาคมสรนี เป็นห้องทรงพระอักษร อยู่ด้านตะวันตกของพระที่นั่งอมรพิมานมณี
- พระที่นั่งปรีดีราชวโรทัย เป็นห้องพักผ่อนพระราชอิริยาบถ ต่อจากพระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร
- พระที่นั่งเทพดนัยนันทยากร เป็นห้องสมเด็จพระราชโอรสและสมเด็จพระราชธิดา ทางด้านเหนือของพระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร
[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น
- ภาพถ่ายดาวเทียม จาก WikiMapia or Google Map
- แผนที่ จาก Multimap or GlobalGuide
- ภาพถ่ายทางอากาศ จาก TerraServer
![]() |
สถานที่ภายในพระบรมมหาราชวัง |
---|
กลุ่มวัดพระแก้ว | กลุ่มพระอุโบสถ · กลุ่มฐานไพที (พระศรีรัตนเจดีย์ · พระมหามณฑป · ปราสาทพระเทพบิดร) · กลุ่มอาคารประกอบ (พระเศวตกุฏาคารวิหารยอด · หอพระมณเฑียรธรรม · หอพระนาก · พระอัษฏามหาเจดีย์) |
กลุ่มสวนศิวาลัย | พระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาท · พระที่นั่งบรมพิมาน · พระที่นั่งมหิศรปราสาท · พระที่นั่งสีตลาภิรมย์ · พระพุทธรัตนสถาน · พระที่นั่งสุทไธสวรรยปราสาท |
กลุ่มพระมหามณเฑียร | พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน · พระที่นั่งไพศาลทักษิณ · พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหยสูรยพิมาน · หอพระสุราลัยพิมาน · หอพระธาตุมณเฑียร · พระที่นั่งราชฤดี · พระที่นั่งสนามจันทร์ · หอพระปริตร(หอศาสตราคม) · พระที่นั่งดุสิตาภิรมย์ |
กลุ่มพระที่นั่งจักรีฯ | พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท · พระที่นั่งมูลสถานบรมอาสน์ · พระที่นั่งสมมติเทวราชอุปัติ · พระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร |
กลุ่มพระที่นั่งดุสิตฯ | พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท · พระที่นั่งพิมานรัตยา · พระที่นั่งอาภรณ์ภิโมกข์ปราสาท · ราชกรัณยสภา · ศาลาอรรถวิจารณ์ |
อาคารอื่นๆ | พิพิธภัณฑ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม · พิพิธภัณฑ์เครื่องราชอิสริยาภรณ์และเหรียญกษาปณ์ · อาคารราชบัณฑิตยสถาน(เดิม) · ประตูพระบรมมหาราชวัง · ป้อมรอบกำแพงพระบรมมหาราชวัง |