วชิราวุธวิทยาลัย
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วชิราวุธวิทยาลัย
ชื่อ | วชิราวุธวิทยาลัย |
ชื่อ (อังกฤษ) | Vajiravudh College |
ก่อตั้ง | 29 ธันวาคม พ.ศ. 2453 |
ประเภทโรงเรียน | โรงเรียนเอกชน
|
เพลงประจำสถาบัน | เพลงมหาวชิราวุธราชสดุดี |
ที่อยู่ | 197 ถนนราชวิถี เขตดุสิต กรุงเทพฯ 10300 |
เว็บไซต์ | www.vajiravudh.ac.th |
วชิราวุธวิทยาลัย เป็นโรงเรียนประจำชาย ก่อตั้งโดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว แทนวัดประจำรัชกาล เดิมชื่อ "โรงเรียนมหาดเล็กหลวง" ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น "วชิราวุธวิทยาลัย" ปัจจุบัน ดำเนินการสอนในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 ตั้งอยู่ที่ ถนนราชวิถี เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร
สารบัญ |
[แก้] ประวัติ
พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดี ศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานกำเนิดโรงเรียนมหาดเล็กหลวงขึ้น เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2453 เพื่อโรงเรียนแห่งนี้เป็นสถาบันที่ให้การศึกษาอย่างแท้จริงแก่กุลบุตรชาวไทย และเป็นเสมือนพระอารามหลวงประจำรัชกาล ซึ่งมิได้โปรดฯ ให้สร้างขึ้น เพราะทรงมีพระราชดำริว่า ในรัชสมัยของพระองค์พระอารามหลวงต่างๆ มีอยู่มากแล้ว หากจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาพระอารามหลวงขึ้นอีกก็จะเป็นพระราชภาระในการปฏิสังขรณ์อีกโดยมิควร ประกอบกับในรัชสมัยของพระองค์นั้นการศึกษาได้เปลี่ยนแปลงไป มิได้อยู่กับวัดดังเช่นกาลก่อน นักเรียนต้องการครูบาอาจารย์ที่เป็นคฤหัสถ์ เพื่อทำการอบรมสั่งสอน ดังนั้น จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาโรงเรียนมหาดเล็กหลวงขึ้นตามแบบโรงเรียนรัฐบาลของประเทศอังกฤษขึ้น
ในการสถาปนาโรงเรียนมหาดเล็กหลวง พระองค์ทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จัดสร้างอาคารเรียนชั่วคราวเป็นเรือนไม้ หลังคามุงจากขึ้นก่อนในที่ดินส่วนพระองค์ที่สวนกระจัง ริมคลองเปรมประชากร ตำบลสวนดุสิต แล้วโปรดฯ ให้ย้ายนักเรียนมหาดเล็กหลวงซึ่งเปิดการสอนเป็นการชั่วคราวจากโรงเรียนราชกุมาร (เก่า) ใกล้หอพิธีพราหมณ์ในพระบรมมหาราชวัง มาดำเนินการสอนในสถานที่ซึ่งพระราชทานให้ใหม่นี้เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2454 ต่อมาใน พ.ศ. 2458 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ให้กรมศิลปากรมาดำเนินการก่อสร้างอาคารถาวรของโรงเรียนมหาดเล็กหลวง ซึ่งประกอบด้วยหอประชุมและอาคารที่พักของนักเรียนที่มุมโรงเรียนอีก 4 หลัง และได้ทรงพระมหากรุณาเสด็จพระราชดำเนินมาทรงวางศิลาพระฤกษ์สร้างอาคารโรงเรียนเมื่อวันจันทร์ที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2458 ครั้นเมื่อ พ.ศ. 2459 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้โอนโรงเรียนราชวิทยาลัยจากกระทรวงยุติธรรมมาไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาโรงเรียนมหาดเล็กหลวงขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่อีกแห่งหนึ่งใน พ.ศ. 2460
การดำเนินการศึกษาในโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ให้กว้างขวางยิ่งขึ้นตามพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จำต้องยุติลง เนื่องจากพระองค์ได้ด่วนเสด็จสู่สวรรคาลัย เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 ในรัชสมัยต่อมา ประเทศสยามต้องประสบสภาวะฝืดเคืองทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง จึงทำให้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจำต้องทรงตัดทอนรายจ่ายส่วนพระองค์ลง ทั้งนี้เพื่อให้การเงินในประเทศเข้าสู่สมดุล ดังนั้น ใน พ.ศ. 2469 พระองค์จึงทรงยุบโรงเรียนมหาดเล็กหลวงเชียงใหม่และโรงเรียนราชวิทยาลัย และได้มีพระบรมราชโองการให้รวมโรงเรียนมหาดเล็กหลวงกรุงเทพฯ โรงเรียนราชวิทยาลัยและโรงเรียนมหาดเล็กหลวงเชียงใหม่เข้าด้วยกัน โดยให้ย้ายนักเรียนมาเรียนรวมกันที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวงกรุงเทพ และได้พระราชทานนามโรงเรียนให้ใหม่ว่า “วชิราวุธวิทยาลัย” เพื่อเป็นพระบรมราชานุสรณ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระผู้พระราชทานกำเนิดโรงเรียนสืบต่อไป
[แก้] ชีวิตนักเรียนประจำ
[แก้] กีฬา
วชิราวุธวิทยาลัยส่งเสริมให้นักเรียนได้เล่นกีฬา รวมทั้ง มีการจัดการแข่งขันกีฬาภายในทุกปี โดยมีการแบ่งประเภทกีฬาออกเป็นภาคการศึกษา ดังนี้
- ภาควิสาขะ : รักบี้ฟุตบอล แบดมินตัน
- ภาคปวารณา : บาสเกตบอล ฟุตบอล ว่ายน้ำ
- ภาคมาฆะ : เทนนิส กรีฑา สควอช ไฟฟ์
กีฬาหลักของโรงเรียน คือ รักบี้ โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่ารักบี้นั้นจะเป็นกีฬาที่สอนให้นักเรียนรู้จักแพ้ ชนะ และอภัย และจะฝึกให้นักเรียนเป็นสุภาพบุรุษอย่างสมบูรณ์แบบ รักบี้ประเพณีกับมาเลย์ คอลเลจ (Malay College Kuala Kangsar) จากประเทศมาเลเซียจะถูกจัดขึ้นเป็นประจำทุก ๆ ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2503
[แก้] หอพัก หรือ คณะ
โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัยมีหอพัก หรือที่เรียกว่า "คณะ" เพื่อให้นักเรียกใช้เป็นที่พักอาศัยในช่วงระหว่างที่อยู่โรงเรียนสองอาทิตย์ คณะหนึ่งนั้นจะมีนักเรียนประมาณ 80 คน แต่ละคณะนั้นจะแบ่งกระจายนักเรียนของแต่ละชั้นเรียนให้เท่า ๆ กัน แบ่งเป็นสองฝั่ง คือ คณะเด็กใน และ คณะเด็กเล็ก
โดยที่คณะเด็กในจะใช้เป็นที่พักพิงของนักเรียนตั้งแต่ชั้น ม.1 ถึง ม.6 ทั้งนี้ มีด้วยกันอยู่ 8 คณะ คือ คณะดุสิต คณะผู้บังคับการ คณะพญาไท คณะจิตรดา คณะจงรัก คณะภักดี คณะศักดิ์ศรี และ คณะมงคล
ส่วนคณะเด็กเล็กนั้นจะใช้เป็นที่พักของเด็กนักเรียนชั้น ป.4 ถึง ม.1 เมื่อนักเรียนแต่ละคนเข้าเรียนชั้น ม.1 แล้วจะถูกตัดสินว่า จะอยู่คณะเด็กเล็กต่อไป หรือเข้าไปอยู่เด็กในกับรุ่นพี่ คณะของคณะเด็กเล็ก ได้แก่ คณะสนามจันทร์ คณะนันทอุทยาน และ คณะสราญรมย์
การปกครองของคณะเด็กใน และเด็กเล็กนั้นจะต่างกันเพียงเล็กน้อย โดยคณะเด็กเล็กนั้นจะมีผู้กำกับ และครูผู้ช่วยมาช่วยดูแล และควบคุมเด็ก ๆ ส่วนคณะเด็กในนั้นจะมีเพียงผู้กำกับคณะคอยดูแล และหน้าที่ควบคุมเด็กในคณะนั้นจะตกอยู่กับรุ่นพี่หัวหน้าคณะโดยมีผู้กำกับคณะเป็นที่ปรึกษา
การปกครองในคณะเด็กในนั้นจะเป็นระบบรุ่นพี่ รุ่นน้อง โดยจะเน้นอยู่ว่า "การจะเป็นผู้นำที่ดีได้ ต้องเคยเป็นผู้ตามที่ดีมาก่อน" ดังนั้น ก่อนที่นักเรียนแต่ละคนจะมาเป็นหัวหน้าคณะปกครองรุ่นน้อง ก็จะเคยเป็นผู้ตามถูกปกครองโดยรุ่นพี่มาก่อน และเรียนรู้การปกครองนั้นมาปกครองรุ่นน้องถัด ๆ ไป
[แก้] ชีวิตประจำวัน
5.45 น. | ตื่นนอน |
7.00 น. | เรียนคาบ 1 |
8.00 น. | อาหารเช้า |
8.30 น. | สวดมนต์ |
9.00 น. | เรียนคาบ 2 - 6 |
13.20 น. | อาหารกลางวัน |
14.15-15.30 น. | กิจกรรมดนตรี |
16.00-17.30 น. | กีฬา |
17.30 น. | อาบน้ำ / เวลาอิสระ |
18.15 น. | อาหารค่ำ |
19.00 - 20.30 น. | PREP : คณะเด็กเล็ก และ เด็กใน |
20.45-21.15 น. | เวลาอิสระ / เด็กเล็กเข้านอน |
22.00 น. | ปิดไฟเข้านอนของ Junior |
23.00 น. | ปิดไฟเข้านอนของ Senior |
[แก้] ประเพณีโรงเรียน
[แก้] เครื่องแต่งกาย
การแต่งการของนักเรียนวชิราวุธเมื่อยามที่โรงเรียนมีงานพิธีสำคัญ นักเรียนจะทำการแต่งกายชุด ราชประแตน ซึ่งเป็นชุดพระราชทานโดย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์ให้นักเรียนมีการแต่งตัวให้มีระเบียบเรียบร้อย โดยชุดนั้นประกอบไปด้วย
- เสื้อนอกคอปิดสีขาวแบบราชการ ปากกระเป๋ามีปกสำหรับกระเป๋าบน ใช้กระดุมเงินตราพระมหามงกุฎ 5 เม็ด
- แผ่นคอ พื้นเป็นกำมะหยี่สีน้ำเงินแก่ มีแถบเงินกว้างขนาด 1 เซนติเมตร พาดกลาง ถ้าเป็นอาจารย์หรือครู จะใช้แถบอย่างเดียวกัน ล้อมกรอบแผ่นคอ
- กางเกง ใช้สีน้ำเงินแก่ ยาวลงมาแค่ครึ่งเข่า
- หมวก ในการเปิดโรงเรียนตอนแรกใช้หมวกแก๊ปทรงหม้อตาล สีน้ำเงินแก่ ใช้แก๊ปหนังมันดำ มีสายรัดคางหนังมันดำ ติดดุมพระมหามงกุฎขนาดเล็กลงที่ขอบหมวก ผ้าพันหมวกเป็นสีน้ำเงินมีแถบขาวพาดกลาง ต้นปี พ.ศ. 2458 จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำหมวกหนีบ มาใช้ที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวงเป็นครั้งแรก ตัวหมวกส่วนบนเป็นสีขาว ซีกที่พับเป็นสีน้ำเงิน ปัจจุบันได้ใช้เป็นสีน้ำเงินแก่ทั้งหมด
- ถุงเท้าสีดำยาวถึงหัวเข้า และรองเท้าหนังผูกเชือกสีดำ
[แก้] เพลงโรงเรียน
หนึ่งในประเพณีของวชิราวุธวิทยาลัย คือ การร้องเพลงในงานสำคัญต่างๆ รวมถึงเพลงเชียร์กีฬา โดยเพลงที่มักจะได้ยินบ่อยๆ มีดังนี้
- เพลงมหาวชิราวุธราชสดุดี ประพันธ์โดยท่านผู้หญิงดุษฎี มาลากุล ณ อยุธยา และทำนองโดย โฉลก เนตรสูตร เป็นเพลงประจำโรงเรียนมักถูกขับร้องในงานพิธีสำคัญ เพื่อเทิดทูนพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระผู้สถาปนาโรงเรียน
- เพลง Graduates Song Goodbye เป็นเพลงภาษาอังกฤษทำนองและเนื้อร้องโดย F.Rico ถูกขับร้องในงานพระราชทานประกาศนียบัตรนักเรียนเก่า โดยนักเรียนปัจจุบันที่กำลังจะจบการศึกษา เนื้อหาของเพลงนั้นเพื่อนึกถึงอนาคตเมื่อออกไปจากโรงเรียน และรำลึกถึงชีวิตในโรงเรียน
- เพลงอีกสี่สิบปี ประพันธ์โดยท่านผู้หญิงดุษฎี มาลากุล ณ อยุธยา ทำนองนั้นคัดมาจาก Forty Years On ของโรงเรียนแฮร์โรว ในอังกฤษ มักถูกร้องในงานราชพิธีสำคัญ เนื้อหาในเพลงเพื่อรำลึกถึงชีวิตในโรงเรียน
- เพลงเราเด็กในหลวง พระราชนิพนธ์โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทำนอง สิงโตเล่นหาง เป็นเพลงกลอบรรเลงโดยวงดนตรีไทย เป็นเพลงปฏิญาณนึกถึงความสำคัญของนักเรียนมหาดเล็ก ดังมีตัวอย่างท่อนจบว่า "รักษาชาติศาสนากว่าจะตาย เป็นผู้ชายชาติไทยไม่ลืมเอย"
- เพลงเชียร์กีฬา มักถูกขับร้องในการแข่งขันรักบี้ระหว่างโรงเรียน นอกจากนั้นสำหรับการแข่งขันภายใน แต่ละคณะก็จะมีเพลงเชีย์กีฬาของตัวเองอีกด้วย
- เพลงจรรยานักกีฬา เป็นเพลงกลอนมักถูกขับร้องก่อนการแข่งขันกีฬาระหว่างคณะ เพื่อนึกถึงจรรยาของนักกีฬา โดยมีตัวอย่างท่อนว่า "เมื่อแมวหมาเล่นกีฬามันท้ากัน เพราะเป็นสัตว์ไร้คิดจิตจึงเขว แต่ผู้ดีมีใจไม่รวนเร เล่นกีฬาย่อมฮาเฮประสานมิตร"
[แก้] ผู้บังคับการ
ผู้บังคับการ คือ ผู้ที่มีความรับผิดชอบสูงสุดในดูแลจัดการวชิราวุธวิทยาลัย เป็นทั้งหัวหน้าฝ่ายบริหาร และครูใหญ่ รวมทั้งผู้รับใบอนุญาตผู้จัดการโรงเรียน ทั้งนี้ ผู้ที่จะเข้าดำรงตำแหน่งผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย ต้องเป็นผู้ที่ผ่านพระบรมราชานุมัติจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้ว
รายนามผู้บังคับการจากอดีตถึงปัจจุบัน:
- พ.ศ. 2460 - 2469 - พระยาบรมบาทบำรุง (พิณ ศรีวรรธนะ)
- พ.ศ. 2469 - 2476 - พระยาปรีชานุสาสน์ (เสริญ ปันยารชุน)
- พ.ศ. 2476 - 2478 - พระยาบรมบาทบำรุง (พิณ ศรีวรรธนะ)
- พ.ศ. 2478 - 2485 - พระพณิชยสารวิเทศ (ผาด มนตธาตุผลิน)
- พ.ศ. 2486 - 2518 - พระยาภะรตราชา (ม.ล. ทศทิศ อิศรเสนา)
- พ.ศ. 2519 - 2538 - ศาสตราจารย์ ดร. กัลย์ อิศรเสนา ณ อยุธยา
- พ.ศ. 2539 - ปัจจุบัน - ศาสตราจารย์ ดร. ชัยอนันต์ สมุทวณิช
[แก้] ศิษย์เก่าที่มีชื่อเสียง
- ศาสตราจารย์ ดร. ชัยอนันต์ สมุทวณิช
- จักรพันธุ์ โปษยกฤต ศิลปินแห่งชาติ, นักเขียน
- นิธิ สถาปิตานนท์ ศิลปินแห่งชาติ, สถาปนิก