จำลอง ศรีเมือง
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พลตรีจำลอง ศรีเมือง (5 ก.ค. พ.ศ. 2478 ในเขตธนบุรี) ได้รับตำแหน่ง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร 2 สมัย ใน ปี พ.ศ. 2528 และ 2533 หัวหน้าพรรคพลังธรรม และเป็นหนึ่งในผู้นำการชุมนุมในช่วงเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ
สารบัญ |
[แก้] ประวัติ
จำลอง ศรีเมือง เกิดวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2478 บิดามีอาชีพค้าปลาสดชื่อ สมนึก ชุณรัตน์ ส่วนมารดาชื่อ บุญเรือน ประกอบอาชีพแม่ค้าเร่ ตั้งแต่ จำลองยังแบเบาะบิดาได้เสียชีวิตลง และต่อมามารดาได้สมรสใหม่กับ โชศน์ ศรีเมือง ซึ่งเป็นที่มาของนามสกุล ศรีเมือง ที่ พล.ต.จำลองใช้ต่อเนื่องมาจนทุกวันนี้ กับชื่อเล่น พล.ต.จำลองนั้นเดิมมีชื่อเล่นว่า “หนู” แต่พอเข้าโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ก็ถูกเพื่อนฝูงตั้งให้ใหม่ว่า “จ๋ำ” ขณะที่ชื่อ “ลอง” นั้น เป็นชื่อเล่นที่คนอื่น ๆ ทั่วไปมักใช้เรียกขาน ส่วนที่ใคร ๆ เรียกกันว่า “มหา” เพราะอดีตนายทหารผู้นี้ใฝ่ทางธรรม เมื่อครั้งอุปสมบทก็ศึกษาทางธรรมอย่างจริงจัง และเพราะเคยออกมาระบุว่าตนเองปฏิบัติตนสมถะ นอนไม้กระดานแผ่นเดียว แม้แต่การอาบน้ำก็ จะใช้น้ำเพียง 5 ขัน ก็เลยได้ฉายา “มหา 5 ขัน”
ปัจจุบันสมรสกับ พ.ต.หญิง ศิริลักษณ์ เขียวละออ ภายหลังได้ร่วมกันทำกิจกรรมสังคมหลาย ๆ อย่าง ทั้งด้านการปฏิบัติธรรม เรื่องการกินอาหารมังสวิรัติ ดูแลสุนัขจรจัด รวมถึงจัดตั้งโรงเรียนผู้นำ
[แก้] การศึกษา
หลังเรียนจบชั้น ม.6 จึงตัดสินใจเลือกเข้าเรียนที่โรงเรียนเตรียมนายร้อยที่ก็สอบได้ และจบ จปร.รุ่น 7/2 เนื่องจากสมัยเป็นนักเรียนนายร้อยเขากับพวกไปจัดฉายภาพยนตร์หารายได้ซื้ออุปกรณ์กีฬาและดนตรีเข้าสโมสรนักเรียนนายร้อย แต่การกระทำดังกล่าวไปผิดในข้อหาขัดคำสั่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด ซึ่งขณะนั้นคือ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในระหว่างประกาศกฎอัยการศึก จึงถูกปลดจากหัวหน้านักเรียนนายร้อยเป็นนักเรียนลูกแถว และถูกลงโทษให้รับกระบี่ช้าออกไป ไม่พร้อมกับเพื่อนร่วมรุ่นคนอื่น ๆ
[แก้] ด้านชีวิตนักการเมือง
พล.ต.จำลอง เขาเริ่มโดดเด่นขึ้นมาหลังจากลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในปี พ.ศ. 2528 ในนาม “กลุ่มรวมพลัง” โดยชนะได้รับคะแนนเสียง 408,233 คะแนน หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2531 จึงก่อตั้ง “พรรคพลังธรรม” ขึ้น โดยสื่อมักเรียกขานกันว่าเป็น “พรรคพลังผัก” เนื่องจากเขาสนับสนุนให้คนเลิกกินเนื้อสัตว์หันมากินอาหารมังสวิรัติ กระแสความนิยมในตัว พล.ต.จำลองในฐานะนักการเมืองผู้สมถะ พุ่งสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนเกิดเป็นกระแส “จำลองฟีเวอร์” ชนะการเลือกตั้งเข้าดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. อีกสมัยในปี พ.ศ. 2533 โดยได้รับคะแนนท่วมท้นถึง 703,671 คะแนน ทิ้งห่างผู้สมัครจากพรรคประชากรไทยที่มีฐานแน่นปึ้กอย่าง เดโช สวนานนท์ ถึง 419,894 คะแนน แต่ก่อนที่จะครบวาระ 4 ปี ก็ชิงลาออก และผันตัวเองสู่สนามเลือกตั้งระดับชาติ ตำแหน่งสูงสุดที่เคยเป็นเมื่อครั้งมีเก้าอี้ในคณะรัฐบาลคือ “รองนายกรัฐมนตรี”
อย่างไรก็ตาม กับคนไทยทั่วไปที่จดจำความเป็นมาเป็นไปของ “พล.ต. จำลอง” ได้ ภาพของการเป็น “แกนนำม็อบ พาคนไปตาย” เมื่อปี 2535 ดูจะติดตาอยู่มากกว่าภาพอื่น พล.ต.จำลองเป็นแกนนำสำคัญ ร่วมกับสมาพันธ์ประชาธิปไตย จัดการ ชุมนุมประท้วงต่อต้าน พล.อ. สุจินดา คราประยูร นายกรัฐมนตรีที่แต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ “รสช.” โดยมีประชาชน นิสิต นักศึกษา เข้าร่วมกว่า 300,000 คน จนนำไปสู่เหตุการณ์นองเลือด “พฤษภาทมิฬ” เมื่อเกิดการปะทะกันอย่างรุนแรงระหว่างผู้ประท้วงและฝ่ายบ้านเมือง เหตุการณ์รุนแรงครั้งนั้นยุติลงหลังจาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ พล.อ.สุจินดา และ พล.ต. จำลอง เข้าเฝ้าฯ เมื่อวันที่ 20 พ.ค. 2535 และพล.อ.สุจินดา ประกาศลาออกจากตำแหน่งในวันที่ 25 พ.ค. หลังจากนั้นในเวลาต่อมาก็ได้มีการดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ความสัมพันธ์กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ปรากฏชัดใน พ.ศ. 2537 เมื่อ พล.ต. จำลอง เชิญ พ.ต.ท. ทักษิณ ให้เข้าเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ในโควต้าของพรรคพลังธรรม และ พ.ต.ท. ทักษิณรับตำแหน่งหัวหน้าพรรคพลังธรรมในเวลาต่อมา เมื่อพรรคพลังธรรมแพ้การเลือกตั้งในกรุงเทพมหานคร พ.ต.ท.ทักษิณ จึงลาออกจากพรรคพลังธรรม และก่อตั้งพรรคไทยรักไทยขึ้นมาแทน
[แก้] แกนเครือข่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
นอกจากนี้พลตรีจำลองยังเป็น 1 ใน 5 แกนนำเครือข่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย อันประกอบด้วย นายสนธิ ลิ้มทองกุล นายพิภพ ธงไชย นายสมศักดิ์ โกศัยสุข นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ และนายสุริยะใส กตะศิลา เป็นผู้ประสานงานเครือข่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
ภายหลังการรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2549 พลตรีจำลองได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
[แก้] ดูเพิ่ม
[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น
- แนวร่วมม็อบไล่รายล่า
- พฤษภาทมิฬ Thaifreeman
- รำลึก13ปี...พฤษภาทมิฬ, ผู้จัดการออนไลน์, 17 พฤษภาคม 2548
- Black May 1992, ลำดับเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ จากข่าวในนสพ.บางกอกโพสต์ โดย SiamWEB.org (ภาษาอังกฤษ)