รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2549
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2549 เป็นรัฐประหารครั้งที่ 10 ในประเทศไทย เกิดขึ้นในคืนวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 โดย คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ซึ่งมี พลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน เป็นหัวหน้าคณะ โดยได้มีการยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี แล้วประกาศกฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร
รัฐประหารครั้งนี้เกิดขึ้นก่อนการเลือกตั้งทั่วไปซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นในเดือนตุลาคม หลังจากที่การเลือกตั้งเดือนเมษายนถูกตัดสินให้เป็นโมฆะ และนับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในวิกฤตการณ์ทางการเมืองที่ดำเนินมายาวนานนับตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ. 2548
รัฐประหารดังกล่าวไม่มีการเสียเลือดเนื้อ และไม่มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บ ปฏิกิริยาจากนานาชาตินั้นมีตั้งแต่การวิพากษ์วิจารณ์โดยประเทศเช่นออสเตรเลีย การแสดงออกถึงความเป็นกลางโดยประเทศเช่นสาธารณรัฐประชาชนจีน ไปจนถึงการแสดงความผิดหวังอย่างสหรัฐอเมริกาซึ่งถือว่าประเทศไทยเป็นพันธมิตรนอกนาโต และกล่าวว่าการก่อรัฐประหารนั้น "ไม่มีเหตุผลที่ยอมรับได้"
ภายหลังรัฐประหาร คปค. ได้จัดตั้งรัฐบาลชั่วคราว โดยมี พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ต่อมาวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2550 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ประกาศเลิกใช้กฎอัยการศึกใน 41 จังหวัด รวมกรุงเทพฯ และปริมณฑล แต่ยังคงไว้ 35 จังหวัด[1]
สารบัญ
|
[แก้] ลำดับเหตุการณ์
[แก้] ก่อนรัฐประหาร
อ้างอิงจากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 20 กันยายน 2549[2]
- ตอนสายของวันที่ 9 กันยายน - พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ขึ้นเครื่องที่ บน.6 เพื่อเดินทางไปประเทศทาจิกิสถาน ท่ามกลางการอารักขาของหน่วยทหารพร้อมอาวุธสงคราม เนื่องจากก่อนหน้านี้ไม่นานมีความพยายามลอบสังหารรักษาการนายกรัฐมนตรี (คาร์บอมบ์)
- 10 กันยายน - พ.ต.ท.ทักษิณ เดินทางถึงกรุงเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ เพื่อเข้าร่วมประชุมอาเซม มีข่าวลือเรื่องปฏิวัติหนาหูขึ้น พ.ต.ท.ทักษิณ บอกกับนักข่าวว่าเป็นเพียงการปล่อยข่าว ในขณะที่เมืองไทย รองปลัดกระทรวงกลาโหม พล.ร.อ. บรรณวิทย์ เก่งเรียน แสดงความไม่พอใจอย่างมากต่อการแทรกแซงโผย้ายทหารของรัฐบาลและ พล.อ. ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา
- 11 กันยายน - พ.ต.ท.ทักษิณ และคณะ เดินทางไปพักผ่อนที่อังกฤษ เนื่องจากเกิดเป็นไข้ขึ้นมากะทันหัน หลังเสร็จการประชุมอาเซมที่ประเทศฟินแลนด์ เพื่อเตรียมตัวร่วมประชุมกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดที่ประเทศคิวบา
- 13 กันยายน - พล.อ.สนธิ บุณยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก ให้สัมภาษณ์ว่าทหารไม่คิดปฏิวัติ
- 15 กันยายน - พ.ต.ท.ทักษิณ ให้สัมภาษณ์นักข่าวระหว่างเดินทางไปประเทศคิวบาว่าอาจจะเว้นวรรคทางการเมือง
[แก้] วันที่ 19 กันยายน
อ้างอิงจาก คมชัดลึก และ กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 20 กันยายน 2549[3][4]
เช้าวันที่ 19 กันยายน มีคำสั่งจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเตรียมเข้าประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก เรียกผู้นำทุกเหล่าทัพเข้าประชุมร่วมกับคณะรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล แต่ไม่มีผู้นำเหล่าทัพคนใดเข้าร่วม พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ. อ้างว่ากระชั้นชิดเกินไป ทำให้มีกระแสข่าวลือการปฏิวัติรัฐประหารแพร่สะพัดไปทั่วทำเนียบรัฐบาล และกระจายสู่ภายนอกโดยเฉพาะตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ช่วงพลบค่ำมีข่าวว่ากำลังทหารหน่วยรบพิเศษจาก จ.ลพบุรี เคลื่อนกำลังเข้ากรุงเทพฯ ขณะเดียวกัน พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ได้เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แต่ข่าวระบุว่าเป็นเรื่องการทำบุญ หม่อมหลวงบัว กิติยากร หลังจากนั้นประมาณครึ่งชั่วโมง สำนักข่าวไทยรายงานว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ประกาศเลื่อนเดินทางกลับประเทศไทยเร็วขึ้นจากวันที่ 22 กันยายน เป็นเวลา 05.00 น. ของวันที่ 21 กันยายน
ประมาณ 21.00 น. กำลังทหารจากพลร่มป่าหวาย หน่วยสงครามพิเศษลพบุรี เข้ามาประจำการที่กองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) จากนั้นอีกครึ่งชั่วโมงสถานการณ์เริ่มชัดเจนขึ้น เมื่อสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 ได้ยุติรายการปกติและเปิดเพลงที่มีเนื้อหาสรรเสริญพระบารมี มีข่าวลืออีกว่าทหารเข้าควบคุมตัว พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ รักษาการรองนายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา รักษาการ รมว.กลาโหม อีกกระแสข่าวบอกว่า นายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชายของ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้เดินทางไปประเทศอังกฤษตั้งแต่วันที่ 18 กันยายน
ช่วงนั้น น.พ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกฯ เดินทางมาที่ทำเนียบรัฐบาลด้านหลังตึกไทย ไล่เลี่ยกัน พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ รักษาการรองนายกรัฐมนตรีและ รมว.ยุติธรรม ที่เดินทางตามเข้ามาแต่ไม่ได้ลงจากรถ ก่อนที่ น.พ.พรหมินทร์ จะหอบเอกสารปึกใหญ่เดินขึ้นรถ พล.ต.อ.ชิดชัย และเคลื่อนออกไปจากทำเนียบด้วยกัน กำลังคอมมานโดตำรวจกองปราบปรามได้เดินทางไปรักษาความปลอดภัยที่บ้านจันทร์ส่องหล้า
เวลา 22.00 น. ขบวนรถถังเคลื่อนเข้าคุมเชิงที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ และ ถ.ราชดำเนิน สถานีโทรทัศน์ซีเอ็นเอ็นรายงานข่าวด่วน สถานการณ์ในประเทศไทย หลังมีผู้เห็นกองกำลังทหารตามสถานที่สำคัญต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ ขณะเดียวกัน พ.ต.ท.ทักษิณ รักษาการนายกฯ ได้โทรศัพท์สั่งการไปยังสถานีโทรทัศน์ช่อง 11 เตรียมการถ่ายทอดเสียงผ่านทางโทรศัพท์ แต่ขณะที่กำลังรอสาย ทหารได้เข้าควบคุมสถานีโทรทัศน์ช่อง 11 ได้ก่อน
สถานีโทรทัศน์ โมเดิร์นไนน์ ทีวี แพร่สัญญาณเสียงของ พ.ต.ท.ทักษิณ เมื่อเวลา 22.13 น. ออกประกาศพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ควบคุมพื้นที่กรุงเทพฯ ระบุอยู่ในขั้นรุนแรง และให้ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ. ไปประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โดยให้รายงานตัวต่อ พล.ต.อ.ชิดชัย และตั้ง พล.อ.เรืองโรจน์ มหาศรานนท์ ผบ.สส. คุมอำนาจแก้สถานการณ์ฉุกเฉิน
ไม่กี่นาทีต่อมา ทหารจำนวนมาก ออกมาตรึงกำลังตามถนนต่าง ๆ ตั้งแต่แยกเกียกกาย ผ่านมาถึง ถ.ราชสีมา บริเวณสวนรื่นฤดี สี่แยกราชตฤณมัยสมาคม (สนามม้านางเลิ้ง) โดยมีทหารแต่งกายลายพรางเต็มยศเป็นผู้ควบคุมกำลัง จากนั้นสัญญาณ โมเดิร์นไนน์ ทีวี ถูกตัดลง มีรายงานว่าเพราะทหารตัดไฟ โมเดิร์นไนน์ ทีวี ขณะ พ.ต.ท.ทักษิณ กำลังประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก่อนจะตัดเข้าโฆษณาและเข้าสู่รายการปกติ โดยมีรายงานข่าวว่ากำลังทหารบุกเข้าควบคุมที่ห้องส่งสัญญาณออกอากาศ พร้อมควบคุมตัวนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ กก.ผอ.ใหญ่ บมจ.อสมท (ภายหลังนายมิ่งขวัญชี้แจงว่าตนไม่ได้อยู่ที่สถานีในขณะนั้น และไม่ได้ถูกจับกุม [5])
เวลาประมาณ 22.25 น. สถานีโทรทัศน์เกือบทุกช่องตัดเข้ารายการเพลง เปิดเพลงที่มีเนื้อหาสรรเสริญพระบารมี ยกเว้นช่อง 9 และช่อง 3 ที่นำเสนอรายการปกติ โดยมีรายงานข่าวว่ามีกำลังทหารเข้ายึดสถานีโทรทัศน์ทุกช่อง โดยเฉพาะ โมเดิร์นไนน์ ทีวี และไอทีวี หลังจากนั้นสถานีโทรทัศน์ทุกช่องเริ่มเชื่อมสัญญาณกับ ททบ.5 และเปิดเพลงที่มีเนื้อหาสรรเสริญพระบารมี ยกเว้นสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมอย่างเอเอสทีวี และ เนชั่นแชนนัล ทางสถานีโทรทัศน์ไททีวี ช่อง 1 ที่ยังคงรายงานสถานการณ์ได้ตามปกติ กำลังทหารส่วนหนึ่งได้เข้าควบคุมตัว พล.ต.ต.วินัย ทองสอง ผบก.กองปราบปรามและ พล.อ.ไตรรงค์ อินทรทัต (เสธ.ไอซ์) ที่ปรึกษากองทัพบก
เวลา 22.54 น. โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยออกอากาศทางสถานีทุกช่อง ขึ้นคำประกาศของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พร้อมขออภัยในความไม่สะดวก และเปิดเพลง "ความฝันอันสูงสุด" ประกอบ ด้านสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นเอ็นและบีบีซีเผยแพร่ข่าวรถถังและกำลังทหารควบคุมสถานการณ์ภายใน กทม. ช่วงหนึ่งได้แพร่ภาพกลุ่มชาวบ้านใช้โทรศัพท์มือถือถ่ายรูปทหารเหล่านั้น โดยไม่ได้รู้สึกหวาดกลัวแต่อย่างใด มีกำลังทหารจำนวนหนึ่งพร้อมอาวุธครบมือบุกเข้ายึดอาคารชินวัตร เนื่องจากเป็นจุดสำคัญในการส่งสัญญาณสื่อสาร รวมทั้งสถานีโทรทัศน์ไอทีวีและบ้านจันทร์ส่องหล้า
นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยประกาศทางเอเอสทีวี ยกเลิกการชุมนุมใหญ่ที่จะมีขึ้นในวันที่ 20 กันยายน เวลา 17.00 น ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า เพื่อหลีกเลี่ยงความวุ่นวายที่อาจเกิดขึ้น และเนื่องจากอยู่ในช่วงประกาศกฎอัยการศึก
เวลา 23.15 น. พล.ต.ประพาศ ศกุนตนาค อดีตโฆษก ททบ.5 อ่านแถลงการณ์คณะปฏิรูปการปกครองฯ ที่แสดงไว้ในหน้าจอก่อนหน้านี้ซ้ำถึงสองครั้ง จากนั้นทหารจาก ป.พัน 21 สังกัด ร.21 ประมาณ 30 นาย พร้อมอาวุธครบมือเดินทางไปยังอาคารเนชั่นทาวเวอร์ ที่สถานีโทรทัศน์เนชั่นแชนนัล โดยยืนยันว่า มาดูแลความสงบเรียบร้อยทั่วไป
เวลาประมาณ 23.30 น. คณะปฏิรูปการปกครองฯ ได้ควบคุมตัว พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี น.พ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช อดีตเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม รวมทั้งนายดุสิต ศิริวรรณ อดีตผู้ดำเนินรายการผู้สนับสนุนคนสำคัญ มากักตัวไว้ที่ศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (ศรภ.) กองบัญชาการทหารสูงสุด [6]
เกือบเที่ยงคืน ผู้บัญชาทหารทุกเหล่าทัพเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต
[แก้] วันที่ 20 กันยายน
- พล.ต.ประพาศ ศกุนตนาค อ่านประกาศคณะปฏิรูปฯ
- ประกาศคณะปฏิรูปฯ ฉบับที่ 1/2549 เรื่อง มูลเหตุของการยึดอำนาจ
- ประกาศคณะปฏิรูปฯ ฉบับที่ 2/2549 เรื่อง ห้ามการเคลื่อนย้ายกำลังทหาร
- ประกาศคณะปฏิรูปฯ ฉบับที่ 3/2549 เรื่อง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 สิ้นสุดลง ให้วุฒิสภา สภาผู้แทนราษฎร คณะรัฐมนตรี และศาลรัฐธรรมนูญ สิ้นสุดลงพร้อมกับรัฐธรรมนูญ ให้คณะองคมนตรีดำรงตำแหน่งและปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ให้ศาลคงอำนาจหน้าที่ต่อไป
- เวลา 1.13 น. ทหารได้กันพื้นที่ไม่ให้ประชาชนผ่านโดยมีรถถังคุมบริเวณสี่จุดรอบเขตพระนครดังนี้
- จุดที่ 1 บริเวณสนามม้านางเลิ้ง 1 คัน
- จุดที่ 2 บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า 2 คัน ซึ่งมีขนาดใหญ่ติดอาวุธครบถ้วน
- จุดที่ 3 บริเวณสวนจิตรลดา 1 คัน
- จุดที่ 4 บริเวณเชิงสะพานปิ่นเกล้าฝั่งธนบุรี 1 คัน ซึ่งเป็นรถยานเกราะ ไม่มีอาวุธ
- เวลา 1.24 น. พล.ต.ประพาศ ศกุนตนาค อ่านประกาศคณะปฏิรูปฯ
- ประกาศคณะปฏิรูปฯ ฉบับที่ 4/2549 เรื่อง อำนาจบริหารราชการแผ่นดิน ให้อำนาจบริหารราชการแผ่นดินแก่หัวหน้าคณะปฏิรูปฯ
- เวลา 5.30 น. น.ส.ทวินันท์ คงคราญ หัวหน้า ปชส. ททบ.5 อ่านคำสั่งคณะปฏิรูปฯ ฉบับที่ 3/2549 แต่งตั้งให้แม่ทัพภาค 1 แม่ทัพภาค 2 แม่ทัพภาค 3 และแม่ทัพภาค 4 เป็นผู้อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อยในเขตพื้นที่แต่ละกองทัพภาค
- เวลา 8.00 น. พล.ต.ประพาศ ศกุนตนาค แถลงว่า พล อ.สนธิ บุญยรัตกลิน จะออกแถลงการณ์ในเวลา 9.00 น. และให้สถานีโทรทัศน์ออกรายการตามปกติของแต่ละสถานี
- เวลา 8.12 น. โทรทัศน์เริ่มออกอากาศรายการตามปกติ
- เวลา 9.20 น. พล อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อ่านประกาศแถลงการณ์ คณะปฏิรูปฯ พร้อมด้วยผู้นำเหล่าทัพ
- เวลา 10.45 น. น.ส.ทวินันท์ คงคราญ อ่านประกาศคณะปฏิรูปฯ
- ประกาศคณะปฏิรูปฯ ฉบับที่ 5/2549 เรื่อง การมีส่วนร่วมทางการเมืองของนักศึกษา
- ประกาศคณะปฏิรูปฯ ฉบับที่ 6/2549 เรื่อง ความเดือดร้อนของผู้ใช้แรงงาน ชาวนา ชาวไร่
- ประกาศคณะปฏิรูปฯ ฉบับที่ 7/2549 เรื่อง ห้ามการเคลื่อนไหวทางการเมือง
- ประกาศคณะปฏิรูปฯ ฉบับที่ 8/2549 เรื่อง ห้ามการกักตุนสินค้าและขึ้นราคาสินค้า
- ประกาศคณะปฏิรูปฯ ฉบับที่ 9/2549 เรื่อง เรื่องนโยบายต่างประเทศ
- ประกาศคณะปฏิรูปฯ ฉบับที่ 10/2549 เรื่อง การขอความร่วมมือจากสื่อมวลชนในการนำเสนอข่าวสาร
- เวลา 11.00 น. พล.ต.ประพาศ ศกุนตนาค อ่านประกาศและคำสั่งคณะปฏิรูปฯ
- ประกาศคณะปฏิรูปฯ ฉบับที่ 11/2549 เรื่อง แต่งตั้งผู้มีอำนาจในคณะปฏิรูปฯ
- คำสั่งคณะปฏิรูปฯ ฉบับที่ 4/2549 เชิญเอกอัครราชทูต มาชี้แจงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เวลา 13.00 น. และจะเปิดแถลงข่าวต่อสื่อไทยและต่างประเทศ และให้โอกาสซักถามข้อสงสัย เวลา 14.00 น.
- คำสั่งคณะปฏิรูปฯ ฉบับที่ 5/2549 เรื่อง ให้กระทรวง ICT ควบคุมการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร
- เวลา 14.00 น. กลุ่มนักศึกษาล้อการเมืองธรรมศาสตร์ ขึ้นป้าย CUT OUT ไม่เห็นด้วยกับการทำรัฐประหาร ของพลเอก สนธิฯ
- เวลา 18.00 น. ประกาศคณะปฏิรูปฯ ฉบับที่ 12/2549 เรื่อง การดำเนินการเกี่ยวกับการตรวจเงินแผ่นดิน ให้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 มีผลใช้บังคับต่อไป โดยให้ คตง. พ้นจากตำแหน่ง และ ผู้ว่า สตง. (คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา) คงอยู่ในตำแหน่งต่อไป และให้มีอำนาจของ คตง.
- เวลา 19.00 น. ประกาศคณะปฏิรูปฯ พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เป็นหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ประกาศ ณ วันที่ 20 กันยายน 2549 เป็นปีที่ 61 ในรัชกาลปัจจุบัน ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก
- เวลา 21.30 น. คำสั่งคณะปฏิรูปฯ ฉบับที่ 9/2549 ให้นายยงยุทธ ติยะไพรัช และนายเนวิน ชิดชอบ ไปรายงานตัวที่กองทัพบก ภายในวันที่ 21 กันยายน
- เวลา 21.30 น. ประกาศคณะปฏิรูปฯ ฉบับที่ 13/2549 ให้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กรรมการการเลือกตั้ง มีผลใช้บังคับต่อไป ให้ กกต.ทั้ง 5 คน เป็นผู้มีอำนาจควบคุมและจัดการเลือกตั้งท้องถิ่น
[แก้] วันที่ 21 กันยายน
- เวลา 16.20 น. ประกาศคณะปฏิรูปฯ
- ประกาศคณะปฏิรูปฯ ฉบับที่ 14/2549 ให้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา มีผลใช้บังคับต่อไป
- ประกาศคณะปฏิรูปฯ ฉบับที่ 15/2549 ให้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 มีผลใช้บังคับต่อไป และห้ามพรรคการเมืองที่มีอยู่แล้วดำเนินการประชุม หรือ ดำเนินการใด ๆ ในทางการเมือง
[แก้] วันที่ 22 กันยายน
- เวลา 12.00 น. โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ ถ่ายทอดเทปบันทึกภาพ พิธีรับสนองพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน เป็น หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
[แก้] วันที่ 1 ตุลาคม
- เวลา 9.30 น. โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ ถ่ายทอดการประกาศใช้ ธรรมนูญการปกครองฉบับชั่วคราว
- เวลา 16.45 น.โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ มีกำหนดถ่ายทอด พิธีรับสนองพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ที่ห้องสีงาช้าง ทำเนียบรัฐบาล
[แก้] วันที่ 2 ตุลาคม
- กองทัพเริ่มถอนกำลังทหารออกจากสถานที่สำคัญในใจกลางกรุงเทพมหานคร ทั้งที่ทำเนียบรัฐบาล รัฐสภา และลานพระบรมรูปทรงม้า และกลับเข้าสู่กรมกอง
[แก้] ชนวนที่นำมาสู่รัฐประหาร
รัฐประหารครั้งนี้เกิดขึ้นในช่วงวิกฤตการณ์ทางการเมือง โดยมีสถานการณ์รอบด้านหลายประการรุมเร้า[7] พลเอก สนธิ บุญรัตกลิน เปิดเผยว่าได้ใช้เวลาประมาณ 7 เดือนในการเตรียมการก่อรัฐประหาร ซึ่งหมายความว่าเริ่มวางแผนในราวเดือนกุมภาพันธ์ 2549 ซึ่งเป็นห้วงเวลาเดียวกับที่มีการเปิดตัวพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย อมธ.เปิดล่ารายชื่อ 50,000 ชื่อเพื่อถอดถอนนายกรัฐมนตรี การเข้าพบ พล.อ.สนธิ ของนายสนธิ ลิ้มทองกุล เพื่อเรียกร้องให้ทหารออกมายืนข้างประชาชน การเสนอให้ใช้มาตรา 7 นายกฯ พระราชทาน และการประกาศยุบสภาของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
พฤศจิกายน 2549 สองเดือนหลังจากรัฐประหาร คมช. ได้ออก "สมุดปกขาว"[8] ชี้แจงสาเหตุของการก่อรัฐประหารยึดอำนาจโดยมีสาระสำคัญ ได้แก่ การทุจริตผลประโยชน์ทับซ้อน การใช้อำนาจในทางมิชอบ การละเมิดจริยธรรมคุณธรรมของผู้นำประเทศ การแทรกแซงระบบการตรวจสอบทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญ ข้อผิดพลาดเชิงนโยบายที่นำไปสู่การละเมิดสิทธิเสรีภาพ และการบ่อนทำลายความสามัคคีของคนในชาติ
อย่างไรก็ตาม บทวิเคราะห์จากหลายฝ่ายชี้ให้เห็นว่ายังมีสาเหตุอีกบางประการนอกเหนือจากเหตุผลของ คมช. ที่นำมาสู่รัฐประหาร เช่น ความขัดแย้งทางอำนาจที่เห็นได้จากการโยกย้ายนายทหารประจำปี รวมไปถึงความขัดแย้งระหว่าง พ.ต.ท.ทักษิณ กับสถาบันกษัตริย์[9]
[แก้] สถานการณ์ในประเทศไทย
[แก้] ปฏิกิริยาของฝ่ายรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
เวลา 22.15 น. วันที่ 19 กันยายน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ออกแถลงการณ์สถานการณ์ฉุกเฉินในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ผ่านดาวเทียม จากประเทศสหรัฐอเมริกา เผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ทีวี แต่เมื่ออ่านแถลงการณ์ได้ 3 ฉบับ ก็มีกำลังทหารพร้อมอาวุธกล่มหนึ่งบุกเข้าไปยังสถานีฯ พร้อมออกคำสั่งให้หยุดการแพร่ภาพโดยทันที เป็นผลให้เจ้าหน้าที่สถานีฯต้องตัดสัญญาณการแถลงข่าวลงทันที
จากนั้น พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้ปรับกำหนดการที่จะขึ้นแถลงต่อสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ แต่แล้วก็ยกเลิกการขึ้นแถลง จากนั้นจึงขึ้นเครื่องบินเที่ยวพิเศษ เดินทางออกจากนิวยอร์ก ไปกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 20 กันยายน ตามเวลาในประเทศไทย
มีข่าวว่าอดีตรัฐมนตรีในรัฐบาลของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กำลังเดินทางไปสมทบกันที่ประเทศสิงคโปร์ เพื่อหารือในการตั้งครม.พลัดถิ่น โดยจะขอให้สหประชาชาติ ให้การรับรอง
ในที่ประชุมแกนนำ คปค. เมื่อวันที่ 23 กันยายน ในที่ประชุมได้กล่าวถึงการติดต่อจาก พ.ต.ท.ทักษิณ จากประเทศอังกฤษ เข้ามายังคณะปฏิรูปการปกครองฯ ด้วยว่า พ.ต.ท.ทักษิณได้ให้การยืนยันทางโทรศัพท์กับพลเอกสนธิ โดยระบุว่าพร้อมจะยุติการเคลื่อนไหวทางการเมืองในทุกกรณี และได้แจ้งให้รัฐมนตรีและสมาชิกพรรคไทยรักไทยทุกคนรับทราบ พร้อมจะปฏิบัติตามคำสั่งของหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองฯ ทุกประการ และจะพักผ่อนกับครอบครัวในต่างประเทศ จนกว่าจะมีการตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ จึงจะเดินทางกลับประเทศไทย [10]
[แก้] ปฏิกิริยาของฝ่ายคณะรัฐประหาร
พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ.ในฐานะหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข กล่าวชี้แจงต่อคณะทูตานุทูตจำนวน 43 ประเทศ ที่หอประชุมกิตติขจร ถึงการประกาศยึดอำนาจจากรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า การประกาศยึดอำนาจเพื่อนำไปสู่การปฏิรูปการปกครองประเทศ เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และได้รับความร่วมมือจากประชาชน และสังคมเป็นอย่างดี โดยคาดว่าจากนี้ไปอีก 2 สัปดาห์จะสามารถจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ และสรรหานายกรัฐมนตรีขึ้นมารักษาการแทน และจัดตั้งสภานิติบัญญัติ เพื่อนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
พล.อ.สนธิ กล่าวว่า จะยึดมั่นในหลักกฎบัตรสหประชาชาติและองค์กรระหว่างประเทศอื่นๆ เพื่อผลประโยชน์ของชาติ พร้อมทั้งรักษาไว้ซึ่งสิทธิและจะปฏิบัติตามพันธกรณีในสนธิสัญญาหรือข้อตกลงที่ทำไว้กับนานาประเทศ ภายใต้หลักเกณฑ์แห่งความเสมอภาคโดยเคร่งครัด และจะส่งเสริมและรักษาไว้ซึ่งความสัมพันธ์อันดีที่มีอยู่ สำหรับชาวต่างประเทศ คณะทูตานุทูต กงสุล สถานเอกอัครราชทูต และองค์การระหว่างประเทศที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยจะได้รับการคุ้มครอง
จากนั้น พล.อ.สนธิ เปิดโอกาสให้สื่อมวลชนทั้งไทย และต่างประเทศ ซักถาม โดยยืนยันว่าจะปฏิบัติหน้าที่ไม่เกิน 2 สัปดาห์ และใช้เวลาไม่เกิน 1 ปีในการยกร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ ในราวต้นเดือนตุลาคม พ.ศ. 2550 และกำลังอยู่ระหว่างการสรรหาผู้ที่เหมาะสมจะมารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีรักษาการ ซึ่งจะมาจากคนกลางที่รักประชาธิปไตย และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์
สำหรับการดำเนินการกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีนั้น จะเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม ตามที่ก่อนหน้านี้มีผู้ฟ้องร้องดำเนินคดีไว้ แต่ไม่มีแนวคิดที่จะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินเหมือนที่เกิดขึ้นในยุค รสช. และยังไม่มีแนวคิดยึดหุ้น SHIN คืนจากกลุ่มเทมาเส็ก และจะประกาศยกเลิกคณะปฏิรูปการปกครองฯ ทันทีเมื่อสถานการณ์บ้านเมืองเข้าสู่ภาวะปกติ [11][12]
สำหรับพลเรือนที่มีข่าวว่า ได้รับการทาบทามให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐบาล ได้แก่ อักขราทร จุฬารัตน ศุภชัย พานิชภักดิ์ หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล สุเมธ ตันติเวชกุล สุรยุทธ์ จุลานนท์ ชาญชัย ลิขิตจิตถะ ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ เกริกไกร จีระแพทย์ ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ พลเอกปานเทพ ภูวนารถนุรักษ์
[แก้] รายชื่อบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้ง โดย คปค.
- ประกาศแต่งตั้งบุคคลสำคัญเพื่อทำหน้าที่ในกองบัญชาการคณะปฏิรูปการปกครอง (วันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2549) ให้
- พลเอกเรืองโรจน์ มหาศรานนท์ผู้บัญชาการทหารสูงสุดเป็น ประธานที่ปรึกษาคณะปฏิรูปการปกครอง ฯ
- พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก เป็น หัวหน้าคณะปฏิรูป
- พลเรือเอกสถิรพันธ์ เกยานนท์ ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นรองหัวหน้าคณะปฏิรูปคนที่ 1
- พลอากาศเอกชลิต พุกผาสุข ผู้บัญชาการทหารอากาศ เป็นรองหัวหน้าคณะปฏิรูปคนที่ 2
- พลตำรวจเอกโกวิท วัฒนะ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นรองหัวหน้าคณะปฏิรูปคนที่ 3
- พลเอกวินัย ภัททิยะกุล เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช. เป็นเลขาธิการคณะปฏิรูป
- ประกาศให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (วันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2549) ประกอบด้วย
- นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธานกรรมการ
- นายประพันธ์ นัยโกวิท กรรมการ
- นางสดศรี สัตยธรรม กรรมการ
- นายสมชัย จึงประเสริฐ กรรมการ
- นายสุเมธ อุปนิสากร กรรมการ
- ตามประกาศ ฉบับที่ 12 (วันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2549) มีผลให้ให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) และประธาน คตง.พ้นจากตำแหน่ง และให้คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ผู้ว่าการ สตง. ดำเนินการแทน คตง.
- ต่อมา คปค. มีประกาศฉบับที่ 29 (วันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2549) แก้ไขเพิ่มเติม ให้คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา คงอยู่ในตำแหน่งผู้ว่าการ สตง. และปฏิบัติหน้าที่แทน คตง.ต่อไปจนถึงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2550 จากนั้นให้ดำเนินการสรรหาและแต่งตั้ง คตง.และผู้ว่าการ สตง.ใหม่
- ตามประกาศ คปค. ฉบับที่ 19 (วันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2549) ให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปราบการทุจริต พ.ศ. 2542 ประกอบด้วย
- นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานกรรมการ
- นายกล้านรงค์ จันทิก กรรมการ
- นายใจเด็ด พรไชยา กรรมการ
- นายประสาท พงษ์ศิวาภัย กรรมการ
- ศาสตราจารย์ภักดี โพธิศิริ กรรมการ
- ศาสตราจารย์เมธี กรองแก้ว กรรมการ
- นายวิชา มหาคุณ กรรมการ
- นายวิชัย วิวิตเสวี กรรมการ
- นางสาวสมลักษณ์ จัดกระบวนพล กรรมการ
- ตามคำสั่ง คปค. ฉบับที่ 13/2549 (สั่ง ณ วันที่ 23 กันยายน 2549)มีคำสั่งให้นายรองพล เจริญพันธุ์ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี นักบริหาร 11 รักษาราชการแทนปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีอีกหน้าที่หนึ่ง แทนพลตำรวจตรีพีรพันธุ์ เปรมภูติ ซึ่งให้มาปฏิบัติราชการสำนักนายกรัฐมนตรีก่อนหน้านั้น
- ตามประกาศ คปค. ฉบับ 23 ลงวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2549 ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการดำเนินงานและโครงการต่างๆ ที่ได้รับอนุมัติหรือเห็นชอบโดยบุคคลในคณะรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีดังกล่าวว่าเป็นไปโดยสุจริตหรือไม่ ดังมีรายนาม ดังต่อไปนี้
- นายสวัสดิ์ โชติพานิช เป็นประธานกรรมการ
- ผู้ว่าการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน เป็นกรรมการ
- อัยการสูงสุด หรือผู้แทน เป็นกรรมการ
- เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือผู้แทน เป็นกรรมการ
- เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือผู้แทน เป็นกรรมการ
- เจ้ากรมพระธรรมนูญ หรือผู้แทน เป็นกรรมการ
- ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือผู้แทน เป็นกรรมการ
- เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือผู้แทน เป็นกรรมการ
- ต่อมา มีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ถึงที่มาของกรรมการบางคนในคณะกรรมการชุดดังกล่าว คปค.จึงออกประกาศฉบับที่ 30 ลงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2549 ยกเลิกประกาศฉบับที่ 23 และตั้งคณะกรรมการตรวจสอบชุดใหม่ (คตส.) ทำหน้าที่แทน โดยขยายอำนาจหน้าที่ให้ครอบคลุมถึงความผิดอันเกิดจากการหลีกเลี่ยงกฎหมายภาษีอากร ซึ่งทำให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ประกอบด้วยกรรมการ 12 คน คือ
-
- นายกล้านรงค์ จันทิก
- นายแก้วสรร อติโพธิ
- คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา
- นายจิรนิติ หะวานนท์
- นายนาม ยิ้มแย้ม
- นายบรรเจิด สิงคะเนติ
- นายวิโรจน์ เลาหะพันธ์
- นายสวัสดิ์ โชติพานิช (ลาออก)
- นายสัก กอแสงเรือง
- นางเสาวนีย์ อัศวโรจน์
- นายอุดม เฟื่องฟุ้ง
- นายอำนวย ธันธรา
[แก้] รายชื่อบุคคลที่ถูกเรียกตัว จับกุม ปลด โยกย้าย โดย คปค.
- พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ น.พ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช อดีตเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ถูก คปค. ควบคุมตัวตั้งแต่ช่วงค่ำของวันที่ 19 ก.ย. ที่ผ่านมา ในฐานะทำหน้าที่รักษาการแทนนายกรัฐมนตรี ซึ่งอาจใช้อำนาจต่อต้านยึดอำนาจกลับ [13]
- นายยงยุทธ ติยะไพรัช อดีต รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, นายเนวิน ชิดชอบ อดีต รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จาก คำสั่งคณะปฏิรูปฉบับที่ 9/2549 เรื่อง ให้นายยงยุทธ ติยะไพรัช และนายเนวิน ชิดชอบ ไปรายงานตัว (วันที่ 20 กันยายน พุทธศักราช 2549)
- ตามประกาศ คปค. ฉบับที่ 12 (วันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2549) มีผลให้ให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ซึ่งมีนาย นรชัย ศรีพิมล เป็นประธานฯพ้นจากตำแหน่ง และให้ จารุวรรณ เมณฑกา ผู้ว่าการ สตง. ดำเนินการแทน คตง.
- คำสั่ง คปค. ที่ 11/2549 (วันที่ 21 กันยายน พุทธศักราช 2549) เรื่องให้ข้าราชการมาปฏิบัติราชการสำนักนายกรัฐมนตรีเพื่อความเหมาะสมและประโยชน์แก่ราชการ โยกย้าย 4 นายตำรวจ มาปฏิบัติราชการสำนักนายกรัฐมนตรี โดยให้ได้รับเงินเดือนตามสังกัดเดิมไปพลางก่อน ได้แก่
- พล.ต.อ.จุมพล มั่นหมาย ผอ.สำนักข่าวกรองแห่งชาติ นักบริหาร 11
- พล.ต.ต.พีรพันธุ์ เปรมภูติ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี นักบริหาร 11
- พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ รอง ผบ.ตร.
- พล.ต.ท.ชลอ ชูวงษ์ ผู้ช่วย ผบ.ตร.
- คำสั่ง คปค.ที่ 12/2549 (วันที่ 21 กันยายน พุทธศักราช 2549) เรื่องให้ข้าราชการมาปฏิบัติราชการสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อความเหมาะสมและประโยชน์แก่ราชการ มีคำสั่งให้ พล.ท.ไวพจน์ ศรีนวล ผู้บัญชาการศูนย์รักษาความปลอดภัยเเห่งชาติ กองบัญชาทหารสูงสุด กระทรวงกลาโหม มาปฏิบัติราชการสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองเเห่งชาติ โดยให้ได้รับเงินเดือนตามสังกัดเดิมไปพลางก่อน
[แก้] การลิดรอนสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพในการแสดงออก
[แก้] การควบคุมสื่อ
หัวหน้าคณะปฏิรูป ฯ ตาม คำสั่งคณะปฏิรูปฉบับที่ 5/2549[14] ได้สั่งให้กระทรวง ICT "ดำเนินการควบคุม ยับยั้ง สกัดกั้น และทำลายการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารในระบบสารสนเทศ ผ่านระบบเครือข่ายการสื่อสารทั้งปวง ที่มีบทความ ข้อความ คำพูด หรืออื่นใด อันอาจจะส่งผลกระทบต่อการปฏิรูปการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" ซึ่งเป็นการลิดรอนสิทธิขั้นพื้นฐานในการรับฟังข่าวสาร และการเสนอความคิดเห็น ได้มีการควบคุมสื่ออินเทอร์เน็ต และสื่อโทรทัศน์โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดังต่อไปนี้
[แก้] การควบคุมสื่ออินเทอร์เน็ต
- กรณีกระทรวง ICT ออกคำสั่งให้เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่รวบรวมบทความทางวิชาการหลายสาขา ทั้ง วิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ และมนุษย์ศาสตร์ รวมทั้งมีกระดานข่าวสาธารณะให้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ให้ปิดลง ตั้งแต่เวลา 20.00น. วันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2549 โดยไม่มีการแจ้งเตือนล่วงหน้า[15] แต่ต่อมา เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2549 นายสมเกียรติ ตั้งนโม เว็บมาสเตอร์ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ได้ร้องต่อกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยกล่าวว่าจากการหาข่าวในทางลับนั้น เรื่องการปิดเว็บไซต์ไม่เกี่ยวกับ คปค. แต่อย่างใด การดำเนินการครั้งนี้เป็นการจัดการนอกคำสั่งของคนในกระทรวง ICT ซึ่งนายสมเกียรติก็ทราบว่าเป็นลูกน้องใคร "เพื่อเสี้ยมให้มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนไปชนกับ คปค." ซึ่งทางมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนไม่ตกเป็นเหยื่อของแผนการดังกล่าว [16] จนวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2549 ตัวแทนกระทรวงไอซีที ได้แถลงยอมรับต่อศาลว่า ออกคำสั่งให้บล็อกเว็บไซต์จริงตั้งแต่เวลา 19.00 น. ของวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2549 - เวลา 15.00 น. ของวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2549 แต่หลังจากนั้นได้ยกเลิกการบล็อกเว็บไซต์เนื่องจากสถานการณ์ยึดอำนาจได้คลี่คลาย แต่ไม่ทราบว่าการยกเลิกการบล็อกนั้นได้คลายการล็อก IP ทั้ง 30 เว็บไซต์ของบริษัทไทยอิสดอตคอมครบถ้วนหรือไม่ เมื่อศาลรับทราบข้อเท็จจริงจากกระทรวงไอซีทีแล้ว จึงออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้กระทรวงไอซีทีคลายบล็อกของเว็บไซต์ ม.เที่ยงคืนแล้ว [17]
[แก้] การควบคุมรายการโทรทัศน์
- เย็นวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 สถานีโทรทัศน์ไทยทุกช่องได้ยุติรายการปกติและ เปิดเพลงที่มีเนื้อหาสรรเสริญพระบารมี และวิดีโอเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจของในหลวงแทน
- วันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2549 หลังจากการประชุมสั้น ๆ ของพลเอกสนธิ โทรทัศน์ไทยทุกช่องได้ถูกควบคุมโดยกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
- วันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2549 คปค. ได้เรียกประชุมผู้บริหารสื่อสารมวลชนต่าง ๆ ที่กองบัญชาการทหารบก และสั่งให้หยุดเผยแพร่ข้อคิดเห็นของสาธารณชน รวมถึงการแสดงความคิดเห็นผ่านบริการส่งข้อความที่ด้านล่างของจอโทรทัศน์ด้วย คปค. ไม่ได้กล่าวว่าการห้ามนี้มีผลถึงหนังสือพิมพ์และเว็บบอร์ดบนอินเทอร์เน็ต [18]
- ไม่มีสถานีโทรทัศน์ไทยช่องใดรายงานการประท้วงต่อต้านรัฐประหาร เช่น การประท้วงครั้งแรกเมื่อวันที่ 22 กันยายน ที่หน้าสยามสแควร์ [19]
- เคเบิลทีวีช่อง CNN, BBC, CNBC, NHK และช่องข่าวต่างประเทศอีกหลายช่องถูกเซ็นเซอร์ ข่าวที่เกี่ยวข้องกับ พ.ต.ท. ทักษิณ ถูกตัดออก [20]
- วันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2549 หนังสือพิมพ์ The Guardian เปิดเผยว่า มีทหารติดอาวุธนั่งอยู่ในห้องข่าวและห้องควบคุมของสถานีโทรทัศน์ทุกช่อง [21]
- วันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2549 มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ และบอร์ดคณะกรรมการบริหารช่อง 9 อสมท แสดงความรับผิดชอบลาออกจากช่อง 9 อสมท เพราะออกอากาศคำประกาศกฎอัยการศึกของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ในช่วงที่เกิดการรัฐประหาร [22]
- วันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2550 พล.อ.วินัย ภัททิยกุล เลขาธิการ คมช. พล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตร ผู้ช่วยเลขาธิการ คมช.และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้ช่วยเลขาธิการ คมช.ได้เชิญผู้บริหารสื่อซึ่งมีทั้งสื่อโทรทัศน์และวิทยุ จำนวนประมาณ 50 คน จากสถานีโทรทัศน์ทุกช่อง และผู้บริหารสถาวิทยุของรัฐรวมทั้งสถานีวิทยุชุมชน มาร่วมหารือที่กองบัญชาการกองทัพบก โดยสั่งให้สถานีโทรทัศน์ทุกช่อง วิทยุทุกสถานี ไม่แพร่ภาพกระจายเสียงข้อความหรือแถลงการณ์ของอดีตนายกรัฐมนตรี และแกนนำของพรรคไทยรักไทย [23]
- สั่งบล็อกเว็บ CNN และรายการ CNN ทางโทรทัศน์ ที่มีการถ่ายทอดการสัมภาษณ์ของทักษิณ ชินวัตร ในวันที่ 15 มกราคม 2550 เพื่อไม่ให้ประชาชนไทยได้รับรู้ข่าวสารของทักษิณ สนองนโยบายล่าสุดของทหารที่ไม่ให้เสนอข่าวและความคิดเห็นของทักษิณ ชินวัตร [24]
[แก้] การยุติการกระจายเสียงจากสถานีวิทยุ
สถานีวิทยุชุมชนประมาณ 300 คลื่น ปิดตัวลง [25]
[แก้] การห้ามชุมนุมทางการเมือง
- ได้มีคำสั่งห้ามไม่ให้มีการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ผู้ฝ่าฝืนจะได้รับโทษจำคุก 6 เดือน แต่ได้มีการชุมนุมคัดค้าน คปค.ที่มีผู้ชุมนุมเกินกว่า 5 คนหลายครั้ง ในหลายสถานที่ แต่ไม่ปรากฏการชุมนุมทางการเมืองเกินกว่า 5 คนครั้งใดที่มีการโดนจับกุม ยกเว้น กรณี ร.ต. ฉลาด วรฉัตร และ นายทวี ไกรคุปต์ ที่ถูกจับกุมขณะกำลังประท้วงอย่างสงบ [26] และการประท้วงที่หน้าห้างสยามเซ็นเตอร์ มีนักศึกษาหญิงคนหนึ่งถูกตำรวจใช้ปืนกระแทกหน้าท้อง [27]
- เมื่อวันที่ 20 กันยายน ทหารได้จับกุม ร.ต. ฉลาด วรฉัตร และ นายทวี ไกรคุปต์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคไทยรักไทย ขณะกำลังประท้วงอย่างสงบที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
[แก้] การห้ามเดินทาง
- ได้จำกัดสิทธิ์ในการเดินทาง โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สนับสนุนพรรคไทยรักไทยในภาคเหนือและภาคอีสาน คืนวันที่ 25 กันยายน ครูจากจังหวัดเชียงรายประมาณ 100 คนได้นั่งรถเพื่อไปร่วมงานสังคมที่จังหวัดชลบุรี ขณะกำลังผ่านด่านตรวจ ทหารได้สั่งให้หยุดรถและไม่อนุญาตให้ไปต่อ เพราะผู้บัญชาการ จังหวัดทหารบกเชียงรายไม่อนุญาต [28]
- ประชาชนที่จะเดินทางพร้อมกันเป็นกลุ่มหรือเป็นจำนวนมากเข้ามาในกรุงเทพฯ จะต้องให้ที่ว่าการอำเภอทำหนังสือรับรอง [29]
[แก้] ปฏิกิริยาของประชาชน
[แก้] ในไทย
[แก้] ฝ่ายสนับสนุน
- ประชาชนจำนวนหนึ่งออกมาให้กำลังใจทหารที่จุดต่างๆ โดยเฉพาะบริเวณกองบัญชาการกองทัพบก ภายหลังการยึดอำนาจของคณะปฏิรูปฯ โดยแสดงความชื่นชมเหล่าทหาร ด้วยการมอบดอกไม้ ส่งยิ้ม ถ่ายรูปด้วย แม้กระทั่งมีการพ่นสีข้อความว่า "พล.อ.สนธิ วีรบุรุษชาวไทย" และ"กองทัพเพื่อประชาชน" บนตัวถังรถยนต์ บีเอ็มดับบิว ซีรีย์ 7 เป็นต้น [30] นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติจำนวนหนึ่ง ในบริเวณถนนราชดำเนิน ให้สัมภาษณ์ว่าไม่ตื่นตะหนก และร่วมถ่ายรูปกับทหารและรถถัง (ซึ่งประดับด้วยดอกไม้ที่ประชาชนมอบให้)เป็นที่ระลึก หรือ มอบน้ำ อาหาร ให้แก่ทหารด้วย
- ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวชื่นชมว่า "จากที่ดูภาพในซีเอ็นเอ็น เป็นการยึดอำนาจที่เรียบร้อยที่สุด ไม่มีเสียเลือดเสียเนื้อ เราก็รู้สึกสบายใจว่ามันคงไม่กระทบความเชื่อมั่น เพราะการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ประชาชนยอมรับ ขณะที่ต่างชาติก็รู้สึก ไม่น่าจะมีผลกระทบต่อการลงทุน" [31]
- สวนดุสิตโพล ได้สอบถามความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 2,019 คน ในวันที่ 20 ก.ย. 49 พบว่าประชาชน 83.98% จากกลุ่มสำรวจ เห็นด้วยกับรัฐประหารในครั้งนี้ เนื่องจากเห็นว่าจะการเมืองจะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ส่วนประชาชนที่ไม่เห็นด้วย มีความเห็นว่าภาพลักษณ์ของประเทศอาจตกต่ำลง [32] ซึ่งผลสำรวจอยู่ระหว่างการควบคุมสื่อของคณะปฏิรูปฯ และผลสำรวจแตกต่างจากโพลสำรวจการเลือกตั้งเดือนตุลาคม พ.ศ. 2549 ซึ่งมีผู้สนับสนุนพรรคไทยรักไทยถึง 49% [33]
- กลุ่มนักธุรกิจทั่วประเทศแสดงความคิดเห็นโดยส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการปฏิรูปการปกครองครั้งนี้ โดยเชื่อว่าเศรษฐกิจกระทบบ้างแต่ชั่วคราว และจะสยบความวุ่นวายของประเทศ นักธุรกิจในกลุ่มนี้ เช่น นายสุรศักดิ์ วงศ์มังกร อดีตประธานหอการค้าจังหวัดมหาสารคาม, นายทวิสันต์ โลณารักษ์ ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา, นายนิพนธ์ สุวรรณนาวา ที่ปรึกษาหอการค้า จ.ประจวบคีรีขันธ์, นายรุ่งโรจน์ สีเหลืองสวัสดิ์ ที่ปรึกษาสมาคมโรงแรมไทยภาคตะวันตก และสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวหัวหิน-ชะอำ, นายบุญธรรม ทิพย์ประสงค์ รองประธานหอการค้า จ.เชียงราย, นายประทีป พงษ์วิทยภานุ ประธานหอการค้าจังหวัดกาญจนบุรี, นายชุมพร เตละวัฒนะวรรณา ประธานศูนย์ประสานงานเครือข่ายภาคประชาชนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา, นายธนารักษ์ พงษ์เภตรา เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมภาคใต้, นายธนารักษ์ พงษ์เภตรา เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมภาคใต้, นายอาทิตย์ ลิ้มอุดมพร ประธานหอการค้าจังหวัดชุมพร, นายประยูร สงค์ประเสริฐ นายกสมาคมชาวสวนกาแฟไทย เป็นต้น [34]
- นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ประธานชมรมแพทย์ชนบท เห็นด้วยต่อการยึดอำนาจของคณะปฏิรูปฯ เนื่องจากประเทศมีปัญหาจากผู้นำที่ไม่ชอบธรรม และบริหารด้วยระบอบเผด็จการประชาธิปไตย จึงควรหยุดระบอบเผด็จการนั้น เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศน้อยที่สุด การปฏิรูปฯครั้งนี้เป็นการดีที่ไม่เสียเลือดเนื้อ [35]
- นายสมภพ บุนนาค แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จังหวัดขอนแก่น กล่าวเห็นชอบกับ คปค.ว่า "การยึดอำนาจของ คปค.ครั้งนี้ แม้จะขัดกับหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย แต่ประชาชนส่วนใหญ่ก็เห็นชอบ เพราะเป็นการปลดล็อกปมปัญหาของชาติ เพื่อสะสางอุปสรรคสังคมการเมืองให้สามารถเดินต่อไปได้อย่างมั่นคง การต่อสู้ของภาคประชาชนที่ผ่านมาเพื่อล้มระบอบทักษิณ ไม่สามารถผ่าทางตันได้ จำเป็นที่ทหารต้องเข้ามาจัดการหาทางออกให้ อย่างไรก็ตาม ภาคประชาชนต้องติดตามต่อว่า ภายหลัง เข้ามาแก้ปัญหาของ คปค.ครั้งนี้จะคืนอำนาจให้ประชาชนได้เร็ว ตามที่หัวหน้าคณะฯได้ประกาศไว้หรือไม่" และแสดงความเห็นเพิ่มเติมว่า อาจมีกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยกับการทำรัฐประหารของ คปค.ว่า "กลุ่มบุคคลกลุ่มนี้ไม่เข้าใจระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง ประชาธิปไตยไม่ได้มีความหมายเพียงแค่ว่าประชาชนใช้สิทธิหย่อนบัตรเลือกตั้งแล้วก็จบ มีบริบทแวดล้อมหลายประการที่ประกอบเป็นระบอบประชาธิปไตย"[36]
[แก้] ฝ่ายคัดค้าน
วันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2549 ในช่วงเที่ยงวัน ร.ต.ฉลาด วรฉัตร และ นายทวี ไกรคุปต์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้ทำการประท้วงการรัฐประหาร ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย บริเวณถนนราชดำเนิน นายทวีนั้นได้กางป้ายขนาดใหญ่สองป้ายระบุว่า "กระผม นายทวี ไกรคุปต์ ขออดข้าวประท้วงผู้ที่ล้มล้างประชาธิปไตย ทำให้บ้านเมืองถอยหลัง และแตกแยก" พร้อมทั้งทำการแจกจ่ายจดหมายเปิดผนึกของตน ให้กับบรรดาสื่อมวลชนด้วย ในเวลาต่อมาได้มีเจ้าหน้าที่ทหารเชิญตัว ร.ต.ฉลาด ขึ้นรถมิตซูบิชิ ที่มีรถบัสทหารติดตามระบุ ร.๑ พัน๑ รอ. ไปที่หน่วยบังคับบัญชา จากนั้น 3 ชั่วโมงเจ้าหน้าที่ทหารจำนวน 7 นายได้ล็อกตัวนายทวีขึ้นรถตู้สีขาว และขับออกไปทันที โดยระหว่างขึ้นรถนายทวีมีอาการขัดขืน จากนั้นทหารบางส่วนได้เข้าเก็บป้ายประท้วงออกจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย[37] [38]
ศูนย์ข่าวสารกิจกรรมนักศึกษา ประณามเผด็จการทหารว่าเป็น การ"ฉีก"รัฐธรรมนูญฉบับที่ประชาชนได้มีส่วนร่วมกันการร่างมากที่สุด, การปิดหูปิดตาประชาชนด้วยการควบคุมสื่ออย่างเบ็ดเสร็จ, รวมไปถึงการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน และได้เรียกร้องประชาชนร่วมกันใส่ชุดดำหรือปลอกแขนดำเพื่อไว้อาลัยประชาธิปไตย [39]
กลุ่มนักศึกษาล้อการเมืองธรรมศาสตร์ ได้ขึ้นป้ายคัตเอาต์ขนาดใหญ่ที่ ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต คัดค้านการรัฐประหาร [40]
กลุ่มองค์กรที่เรียกตัวเองว่า "เครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร" ได้จัดตั้งการชุมนุมและกล่าวแถลงการณ์ที่หน้าศูนย์การค้าสยามพารากอน เมื่อวันศุกร์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2549 เวลา 18.00 น. ซึ่งศูนย์ข่าวสารกิจกรรมนักศึกษาได้เข้าร่วมการชุมนุมด้วย และกล่าวว่าพวกเขาจะยื่นแถลงการณ์ต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อเรียกร้องให้ปกป้องสิทธิ์ในการชุมนุมที่หน้าสยามพารากอน .[41]
หลังจากเหตุการณ์รัฐประหาร การประท้วงครั้งแรกมีขึ้นที่หน้าห้างสยามเซ็นเตอร์ เมื่อเย็นวันศุกร์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2549 โดยมีผู้ประท้วงประมาณ 20 ถึง 100 คนขึ้นอยู่กับแหล่งข่าว [42] [43] [44] [45] [46] ผู้ประท้วงแต่งชุดดำเพื่อไว้อาลัยให้กับประชาธิปไตย และได้เชิญชวนให้ประชาชนที่คัดค้านการรัฐประหารใส่เสื้อดำในการประท้วง [47] ป้ายประท้วงมีข้อความ "No to Thaksin. No to coup" ("ไม่เอาทักษิณ ไม่เอารัฐประหาร") และ "Don't call it reform - it's a coup" ("นี่ไม่ใช่การปฏิรูป แต่เป็นการรัฐประหาร") มีป้ายหนึ่งเป็นรูปอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มีกำกับว่า "On vacation again" ("งดใช้ชั่วคราว") รองศาสตราจารย์ใจ อึ๊งภากรณ์ หนึ่งในผู้ประท้วง กล่าวว่า "เราเชื่อว่าเราเป็นกระบอกเสียงของคนไทยอีกมากที่ยังเป็นห่วงหรือที่ยังกลัวที่จะพูดออกมา" การประท้วงครั้งนี้ไม่มีผู้ใดถูกจับกุม แต่ตำรวจนายหนึ่งกล่าวว่า "ตำรวจได้บันทึกวิดีโอการประท้วงไว้เป็นหลักฐาน และจะตรวจสอบเทปเพื่อหาผู้ที่ละเมิดกฎอัยการศึก คือ มีการชุมนุมทางการเมืองมากกว่า 5 คน" ไม่มีใครรู้ว่าตำรวจหรือทหารได้จับกุมเขาเหล่านั้นในเวลาต่อมาหรือไม่ ไม่มีสถานีโทรทัศน์ไทยช่องใดรายงานเรื่องการประท้วงครั้งนี้ [48] หนังสือพิมพ์ The Independent รายงานว่าตำรวจติดอาวุธหลายนายได้ฝ่าฝูงชนและผู้ชุมนุมเข้าจับกุมผู้ประท้วงซึ่งเป็นนักศึกษาหญิงไม่ทราบชื่อคนหนึ่งซึ่งนับเป็นผู้ประท้วงคนแรก ขณะกำลังอ่านแถลงการณ์ต่อต้านการทำรัฐประหาร โดยมีตำรวจนายหนึ่งได้ใช้ปืนกระแทกเข้าที่บริเวณท้องของเธอและทำการจับกุม ในขณะที่ผู้ประท้วงหลายคนต่างพยายามฉุดเธอกลับ ซึ่งในปัจจุบันยังไม่ใครทราบชะตากรรมของเธอ [49]
วันจันทร์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2549 เวลา 17.00 น. กลุ่มประท้วงกลุ่มที่สองซึ่งประกอบด้วยผู้ประท้วงจำนวน 50-60 คน ได้มาชุมนุมกันที่ลานปรีดี หน้าตึกโดมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่ออภิปรายคัดค้านการรัฐประหาร และจัดเสวนาในหัวข้อ "ทำไมเราต้องคัดค้านรัฐประหาร?" ซึ่งจัดโดยศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันของ ม.ธรรมศาสตร์ในชื่อ"กลุ่มโดมแดง", เครือข่ายนิสิตจุฬาฯ เพื่อเสรีภาพ, นิสิตนักศึกษาจาก ม.มหิดล, ม.รามคำแหง, ม.เกษตรศาสตร์ โดยระบุว่าเป็นการอารยะขัดขืนภาคปฏิบัติ อุเชนทร์ เชียงแสน ผู้ก่อตั้งกลุ่มโดมแดงกล่าวว่า "ถ้าพวกเขา [ทหาร] จับกุมหรือทำร้ายเรา เราจะไม่สู้ แต่นี่แสดงให้เห็นว่าการปฏิรูปทางการเมืองตามที่ คปค.กล่าวอ้างเป็นเรื่องโกหก" [50] การชุมนุมครั้งนี้กินเวลาประมาณ 1 ชั่วโมงโดยมีการขึงป้ายผ้าที่มีข้อความว่า "Council of Demented and Ridiculous Military" การชุมนุมเป็นไปด้วยความสงบ ปราศจากวี่แววของเจ้าหน้าที่ [51]
วันอังคารที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2549 ได้มีผู้กล่าวโทษพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน กับพวกในฐานความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักรต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (D.S.I.) ซึ่งทาง D.S.I. ได้รับเรื่องไว้ดำเนินการตามกฎหมาย ตามเลขรับ ที่ 03614 พอทางกองทัพบกและรัฐบาลได้ทราบ จึงได้มีคำสั่งให้ยุติเรื่องดังกล่าว โดยยึดถือตามรัฐธรรมนูญ ชั่วคราวที่ได้นิรโทษกรรม การกระทำความผิดไม่ว่ากรณีใด ๆ ของคณะปฏิรูปฯ แต่ทาง D.S.I. ได้แย้งว่า พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษต่างจากกฎหมายอย่างอื่นที่กฎหมายแม่ สามารถหักล้างกฎหมายลูกได้ กล่าวคือ พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษและกรมสอบสวนคดีพิเศษ (D.S.I) ตั้งขึ้นตามสนธิสัญญาทางกฎหมายกับกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วเป็นสนธิสัญญาความร่วมมือแนวนโยบายและปฏิบัติระหว่าง FBI และหน่วยงานสอบสวนกลางของประเทศในกลุ่มภาคีสมาชิกเพื่อต่อต้านการกระทำผิดกฎหมายอย่างร้ายแรง การนิรโทษกรรมตามรัฐธรรมนูญจึงไม่สามารถกระทำได้ [52]
วันพุธที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2549 เวลา 16.00 น. "เครือข่ายนิสิตจุฬาฯ เพื่อเสรีภาพ" จัดเสวนากลางแจ้งในหัวข้อ "ทำไมเราต้องคัดค้านรัฐประหาร" ที่ลานหน้าตึก 1 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์, รศ.ใจ อึ๊งภากรณ์, ประภาส ปิ่นตบแต่ง และที่ปรึกษาสมัชชาคนจน ร่วมอภิปราย [53] ภายในวันเดียวกันนี้ "เครือข่ายนักศึกษาเพื่อประชาธิปไตย เชียงใหม่" ได้จัดเสวนาทางวิชาการในหัวข้อ "เราจะทำความเข้าใจกับการเมืองไทยได้อย่างไร" ที่บริเวณลานสนามหญ้า หน้าคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ขณะที่การเสวนาดำเนินไประยะหนึ่ง ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สภต.ภูพิงค์ พร้อมเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ ประมาณ 20 นาย ได้ขอความร่วมมือให้ผู้จัดยุติการเสวนา เนื่องจากขัดต่อประกาศกฎอัยการศึก แต่การเสวนาก็ดำเนินต่อไปภายใต้สถานการณ์ที่ตึงเครียด กระทั่งผู้จัดประกาศเลิกการเสวนา เมื่อเวลา 19.40 น. [54]
วันเสาร์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2549 เวลา 12:46 น. นาย นวมทอง ไพรวัลย์ อายุ 60 ปี ขับรถแท็กซี่พ่นสีคำว่า "พลีชีพ" ที่กระโปรงท้าย ส่วนบริเวณด้านข้างประตูรถทั้งสองข้างพ่นเป็นตัวหนังสือจับใจความว่า "พวกทำลายประเทศ"พุ่งเข้าชนรถถังบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้าจนรถพังยับเยิน และตัวเองได้รับบาดเจ็บสาหัส ซี่โครงซ้ายหัก คางแตก ปากแตก และ ตาซ้ายบวมเป่ง หลังจากนั้นแท๊กซี่จำนวนหลายร้อยคันรีบรุดไปเยี่ยมแต่ถูกห้ามไม่ให้เข้าเยี่ยมเรื่องราวการรวมตัวของกลุ่มแท๊กซี่ไม่ได้ถูกรายงานข่าวต่อสาธารณะชน
วันจันทร์ที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2549 เวลา 17:00-18:00 น. เครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร จัด ‘อารยะขัดขืนภาคปฏิบัติสัญจร’ ด้วยการชุมนุมทางการเมืองเกินกว่า 5 คน บริเวณหน้ากองบัญชาการทหารบก ถนนราชดำเนินนอก (ตรงข้ามเวทีมวยราชดำเนิน)มีประชาชนให้ความสนใจเข้าร่วมรับฟัง และในช่วงท้ายยังมีการจุดไฟเผารัฐธรรนูญชั่วคราวของ คปค. เพื่อแสดงความไม่ยอมรับในการเข้ามาทำหน้าที่ของ คปค. [55]
วันศุกร์ที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2549 นักศึกษาและญาติวีรชนร่วมพิธีเวียนประทีปจากลานโพธิ์ไปรอบสนามฟุตบอลในงาน "30 ปี 6 ตุลา" เพื่อรำลึกการต่อสู้ของนักศึกษาและประชาชนในการเรียกร้องประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ณ สวนประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม ช่วงเวลา 14.00 น.ที่หอประชุมเล็ก มธ. มีการจัดเสวนาในหัวข้อ เรื่อง "ประวัติศาสตร์ที่ยังไม่ได้ชำระ" โดยมี รศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศ.(พิเศษ)ดร.ชลธิรา สัตยาวัฒนา อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ผศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนายพิเชียร อำนาจวรประเสริฐ ร่วมเสวนา โดยมีการเปรียบเทียบเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 กับ 19 กันยา 49 ว่าเมื่อมีการนำมาพูดคุยกันก็เกิดการทะเลาะกันตลอด แต่ไม่มีการนองเลือดเหมือนเหตุการณ์ 6 ตุลา [56]
วันเสาร์ที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2549 การรวมตัวกันอีกครั้งในงานรำลึกวีรชน 14 ตุลาฯ มีเครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร เริ่ม 16:30 น. ใช้สัญลักษณ์คือชุดดำ (ไว้อาลัยให้กับประชาธิปไตย)โดยเวลา 19.50 น.เคลื่อนขบวนมาจากบริเวณสนามฟุตบอลหน้าตึกโดมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตอนเริ่มขบวนหัวแถวอยู่ประตูใหญ่ท้ายแถวอยู่หน้าตึกคณะวารสารฯ เคลื่อนมาหยุดยังอนุเสาวรีย์ประชาธิปไตย ถ.ราชดำเนินเพื่อประท้วงรัฐประหาร ระหว่างทางร้องตะโกนว่า "คปค.ออกไป" จากนั้นตั้งแผ่นป้าย "ขอไว้อาลัยแด่ รธน.ฉบับประชาชน" และป้ายผ้าไม่มี ปชต.ในระบบเผด็จการ และจุดเทียนไว้อาลัย [57]
วันจันทร์ที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2549 กลุ่มผู้เข้าร่วมงานสมัชชาสังคมไทย เครือข่ายผู้พิการ เครือข่ายแรงงาน กว่า 200 คน ได้เดินขบวนจากอนุสรณ์สถาน 14 ตุลาไปยังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อประกาศเจตนารมณ์และข้อเสนอในการปฏิรูปการเมือง ตลอดจนการประกาศยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยภาคประชาชน ผู้ชุมนุมถือป้ายผ้าข้อความเรียกร้องต่างๆ เช่น "ยกเลิกกฎอัยการศึก" "ค่าแรงขั้นต่ำ 7,000 บาท" "Right Base not Charity Base" โดยมีทหารราว 20 นายเฝ้าจับตาอยู่ ทั้งหมดมีอาวุธพร้อมรบและกระจายกำลังจุดละ 2 นายในมุมตึกต่างๆ ก่อนที่ขบวนจะเดินทางกลับสู่อนุสรณ์สถานฯ ทหารนายหนึ่งได้ขอเชิญตัวผู้แจกใบปลิว โดยระบุว่าข้อความในใบปลิวขัดต่อกฎอัยการศึก ทำให้ประชาชนและสื่อมวลชนเข้ามาห้อมล้อม ทหารนายนั้นจึงกล่าวว่า "ถ่ายรูปไว้ก่อน ค่อยเชิญตัววันหลัง" [58]
เมื่อกลางดึกของคืนวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2549 นายนวมทอง ไพรวัลย์ ได้ผูกคอเสียชีวิต บนสะพานลอยข้ามถนนวิภาวดีรังสิต หน้าสำนักงานหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ พร้อมด้วยจดหมายประท้วงรัฐบาลโดยมีข้อความตอนหนึ่งว่า "เหตุที่ผมกระทำการพลีชีพครั้งที่ 2 โดยการทำลายตัวเอง เพื่อมิให้เสียทรัพย์เหมือนครั้งแรก ก็เพื่อลบคำสบประมาทของท่านรองโฆษก คปค. (พ.อ.อัคร ทิพย์โรจน์) ที่ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์หลายฉบับว่า 'ไม่มีใครมีอุดมการณ์มากขนาดยอมพลีชีพได้'" [59]
1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549 ประชาชนจำนวน 200 คน ได้มาชุมนุมกันเพื่อขับไล่ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ประธาน คมช. โดยเรียกร้องให้ยกเลิกกฎอัยการศึก และจัดการเลือกตั้งภายใน 2 เดือน ชนาพัทธ์ ณ นคร และวรัญชัย โชคชนะ ผู้นำกลุ่มพิราบขาว ได้กล่าวโจมตีคณะรัฐประหาร และเชิดชูวีรกรรมของ นวมทอง ไพรวัลย์ ช่วงค่ำแกนนำกลุ่มเครือข่าย 19 กันยาฯ ตามมาสมทบการชุมนุม [60]
18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549 เวลา 19.00 น. กลุ่มพันธมิตรต่อต้านรัฐประหารซึ่งนำโดยเครือข่าย 19 กันยาต้านรัฐประหาร ได้เคลื่อนขบวนจาก ม.ธรรมศาสตร์ สมทบด้วยกลุ่มพิราบขาว 2006 รวมทั้งมวลชนบางส่วนที่ท้องสนามหลวง สนธิกำลังกันเดินไปตามถนนราชดำเนิน ผ่านอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ไปจนถึงหน้ากองทัพบก เพื่อประกาศเจตนารมย์ต่อต้านการสืบทอดอำนาจเผด็จการ และให้ยกเลิกกฎอัยการศึกโดยทันที การชุมนุมในครั้งนี้มีผู้ร่วมชุมนุมกว่า 700 คน โดยได้รับการสนับสนุนจากหลายกลุ่มมวลชน อาทิเช่นกลุ่มกรรมกรปฏิรูป, ตัวแทนนักศึกษาจากสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย, กลุ่มพิราบขาว 2006 และประชาชนผู้สนใจ การชุมนุมยุติลงในเวลา 20.00 น. [61]
[แก้] ความเคลื่อนไหวอื่น ๆ
- วันที่ 24 กันยายน สำนักวิจัยเอแบค โพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลสำรวจเรื่อง "ความคิดเชิงประเมินผลของประชาชนต่อสังคมไทยและคุณลักษณะของนายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่ประชาชนต้องการ : กรณีศึกษาประชาชนทั่วไปในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล" โดยสอบถามประชาชนจำนวน 1,550 คน ระหว่างวันที่ 22-23 กันยายน [62] พบว่า
- ร้อยละ 92.1 รู้สึกว่าทหารเป็นที่พึ่งได้
- ร้อยละ 89.1 รู้สึกปลอดภัย
- ร้อยละ 87 รู้สึกทหารเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง
- ร้อยละ 82.6 รู้สึกอบอุ่น
- ร้อยละ 24.9 รู้สึกกังวล
- ร้อยละ 20.5 รู้สึกไม่สะดวก
- ร้อยละ 19.7 รู้สึกตกใจ
- ร้อยละ 7.6 รู้สึกไม่ชอบ
- ร้อยละ 6.5 รู้สึกกลัว
- นักเทนนิสชาวต่างประเทศที่เข้าร่วมการแข่งขันเทนนิสไทยแลนด์ โอเพ่น ระหว่างวันที่ 24 ก.ย.-1 ต.ค. นี้ ได้แก่ อีวาน ลูบิซิช มืออันดับ 3 ของโลกชาวโครเอเชีย และเบนจามิน เบเคอร์ ชาวเยอรมัน ได้เดินทางไปเยี่ยมชมและถ่ายรูปกับรถถังของ คปค. ที่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า ในวันที่ 23 กย. 2549 [63] โดยมีนายไบรอัน มาคาร์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บีอีซี-เทโรฯ เป็นผู้พามา กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งไปแล้ว [64]
[แก้] ในต่างประเทศ
- พันธมิตรฯ ใน ลอส แองเจลิส ชุมนุมพร้อมออกแถลงการณ์สนับสนุนคณะปฏิรูปการปกครองฯ ทำการปฏิรูปทั้งการเมือง การศึกษาและสังคม หน้าสถานกงสุลใหญ่ [65]
- พันธมิตรฯ ในนครชิคาโก ออกแถลงการณ์สนับสนุนคณะปฏิรูปฯ เมื่อวันอังคารที่ 19 ก.ย. ที่ผ่านมา (ตามเวลานครชิคาโก) ซึ่งเดิมได้นัดรวมตัวกันประท้วงขับไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร พร้อมกับพันธมิตรฯในไทย ได้เปลี่ยนมาเป็นการชุมนุมแสดงความยินดี หลังจากทราบข่าว พ.ต.ท.ทักษิณ ถูกยึดอำนาจโดย คปค. [66]
- กลุ่มคนในนิวยอร์กได้มีการรวมตัวสนับสนุนคณะปฏิรูปฯ หน้าสหประชาชาติโดยมีการถือป้ายล้อเลียนทักษิณ[67]
- กลุ่มนักศึกษาไทยระดับปริญญาบัณฑิต มหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด กลุ่ม Oxford Initiative (OI) ได้ประชุมประจำเดือนกันที่ร้าน รอยัลโอ๊คผับ และแถลงแสดงความเสียใจและคัดค้านรัฐประหาร [68]
- สื่อมวลชนภายในมาเลเซียออกข่าวว่า "หากไม่มีความจำเป็นขอให้ประชาชนงดเดินทางข้ามแดนไทยเป็นการชั่วคราว เนื่องจากอยู่ในระหว่างการปฏิรูปการปกครอง และมีการประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วประเทศ ซึ่งอาจจะถูกจับกุมดำเนินคดีได้ หากทำผิดกฎหมายโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์" แต่ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวในจังหวัดภาคใต้ ได้ประชาสัมพันธ์ว่าเหตุการณ์ไม่ได้รุนแรง และไม่ได้เป็นไปตามสื่อต่างประเทศประโคมข่าวแต่อย่างใด [69]
- กลุ่มคนในเกาหลีได้มีการรวมตัวต่อต้านรัฐประหารหน้าสถานทูตไทยในกรุงโซลในวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2549 [70]
[แก้] ในโลกอินเทอร์เน็ต
- เกิดปรากฏการณ์ จำนวนสมาชิกออนไลน์อยู่มากเป็นประวัติการณ์ ในช่วงเวลาค่ำของวันที่ 19 กันยายน 2549 มีการตั้ง/ตอบกระทู้รายงานสถานการณ์ปฏิวัติ และภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง มีคนเข้ามาเขียนต่อท้ายยาวไปเป็นสิบหน้า อย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน [71]
- มีผู้ประท้วงกลุ่มหนึ่งที่เรียกตัวเองว่า เครือข่ายปกป้องรัฐธรรมนูญ ประชาชนไทย [72] ระบุว่าได้มีการประท้วงต่อต้านการรัฐประหารเกิดขึ้นในนครนิวยอร์ก หน้าสถานกงสุลไทย ในเว็บไซต์ดังกล่าวยังไม่ปรากฏภาพถ่าย รายชื่อกลุ่มบุคคล หรือหลักฐานอ้างอิงอื่นใด
- มีการรวบรวมรายชื่อ ในจดหมายเปิดผนึกของนายธงชัย วินิจจะกูล เพื่อขอร้องให้ คปค. ไม่จับ และไม่ทำร้าย ผู้ประท้วงการกระทำของ คปค ผ่านทางเว็บไซต์ petitiononline.com
- หน้า "รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2549" (หน้านี้) และ หน้า "คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" ในเว็บไซต์วิกิพีเดียไทย มีป้ายเตือน "โปรดทราบ เนื่องจากมี คำสั่งคณะปฏิรูปฉบับที่ 5/2549 เรื่อง ควบคุมการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยห้ามเขียน บทความ ข้อความ คำพูด หรืออื่นใด อันอาจจะส่งผลกระทบต่อการปฏิรูปการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นอันขาด หากทางชาววิกิพีเดียเห็นว่าไม่เหมาะสม สามารถดำเนินการลบทันที และขอความร่วมมือระมัดระวังในการแก้ไขบทความด้วย" ที่ตอนบนของทั้งหน้าบทความและหน้าอภิปราย ตั้งแต่วันที่ 22 กันยายน จนถึงวันที่ 23 กันยายน 2549[73]
[แก้] กลุ่มสิทธิมนุษยชน
- ศาสตราจารย์ เสน่ห์ จามริก ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ไม่เห็นว่าการปฏิรูปการปกครองฯครั้งนี้ เข้าองค์ประกอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่ถือเป็นแนวทางในการแก้ปัญหา ศ.เสน่ห์ มีความเห็นว่า "อย่ามองว่ามันถอยหลัง เพราะเราถอยหลังมาจนถึงจุดแล้ว และรัฐธรรมนูญถูกต้อนเข้ามุม ดังนั้น ส่วนตัวผมมองว่าไม่ใช่เรื่องเดินหน้าหรือถอยหลัง แต่เป็นเรื่องของการแก้สถานการณ์ และหลังจากนี้ก็ขึ้นอยู่กับประชาชนและสื่อมวลชนว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป" [74] คำให้สัมภาษณ์ของเสน่ห์ถูกวิจารณ์จากสุวิทย์ เลิศไกรเมธี ผู้ก่อตั้งเครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร ว่า "หน้าที่ของเสน่ห์คือเป็นปากเสียงสำหรับผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่คำกล่าวของเขากลับตรงกันข้าม" สุวิทย์ได้เรียกร้องให้เสน่ห์ลาออกจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ [75]
- ผู้อำนวยการภาคพื้นเอเชียขององค์กร Human Right Watch และ นักสิทธิมนุษยชนหลายคน ได้ออกมาแสดงท่าทีไม่พอใจต่อการลิดรอนสิทธิขั้นพื้นฐานของคณะปฏิวัติ [76]
- นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เรียกร้องว่าเมื่อใดที่สถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติ ก็อยากให้ยกเลิกข้อจำกัดสิทธิเสรีภาพให้เร็วที่สุด เพื่อประโยชน์ในเรื่องของความเชื่อมั่นของทุกฝ่าย [77]
- คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย (Asian Human Rights Commission) ได้กล่าวถึงการรัฐประหารว่า "เรามีความวิตกกังวลกับการยึดอำนาจครั้งนี้เป็นอย่างมาก การใช้กำลังทหารครั้งนี้เป็นการไม่สมควรเป็นอย่างยิ่งในขณะนี้ ที่ถึงแม้จะอยู่ในภาวะวิกฤต แต่ประชาธิปไตยแบบระบบรัฐสภาในประเทศไทย ก็กำลังเติบโตหยั่งรากลึก และศาลกำลังมีบทบาทเพิ่มมากขึ้นในการบังคับใช้กฎหมาย การปฏิวัติรัฐประหารครั้งนี้เป็นการละเมิดกฎหมายและบทบัญญัติระหว่างประเทศอย่างสิ้นเชิง ซึ่งประเทศไทยในปัจจุบันได้พยายามปฏิบัติตามกฎหมายและบทบัญญัติระหว่างประเทศมาโดยตลอด" คณะกรรมการได้เรียกร้องให้ คปค.ประกาศสละอำนาจในทันที และให้มีรัฐบาลรักษาการพลเรือนมาทำหน้าที่บริหารประเทศ และเรียกร้องให้ที่ประชุมสามัญสหประชาชาติ ณ กรุงนิวยอร์ก และ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ณ กรุงเจนีวา ซึ่งกำลังมีการประชุมกันอยู่ ออกแถลงการณ์ประณามการยึดอำนาจครั้งนี้ [78]
- 24 กันยายน 2550 กลุ่มนักวิชาการสิทธิมนุษยชนจำนวน 23 คนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ได้ร่วมกันลงชื่อคัดค้านการปฏิวัติ และทวงคืนสิทธิเสรีภาพให้ประชาชน ภายใต้หัวข้อ "แถลงการณ์ ทวงคืนสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน" [79]
[แก้] ปฏิกิริยาของนานาชาติ
นานาชาติได้มีการแถลงข่าวแสดงความเห็นเกี่ยวกับเหตุการณ์ในหลายด้าน จากทางรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของแต่ละแห่ง รวมถึงนิตยสารได้มีการวิพากษ์วิจารณ์เหตุการณ์เป็นอย่างสูง โดยส่วนรวมจะวิตกกังวลกับเหตุการณ์รัฐประหาร ซึ่งไม่สอดคล้องกับประชาธิปไตยที่ควรจะเป็น รวมถึงหลายประเทศให้ความเห็นว่า หวังอยากเห็นเหตุการณ์ปฏิวัติผ่านไปโดยเร็ว
ปฏิกิริยาของนานาชาติต่อรัฐประหารในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นไปในด้านลบ รัฐบาลสหรัฐฯกล่าวว่า "ไม่มีเหตุผลที่ยอมรับได้สำหรับ การรัฐประหารในไทยหรือที่ใดก็ตาม ทางสหรัฐฯมีความผิดหวังเป็นอย่างยิ่ง" [80] และกล่าวว่ารัฐบาลต้องรีบจัดการเลือกตั้งให้เร็วกว่า 1 ปีตามที่ คปค. ได้กำหนด [81] รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ตัดเงินช่วยเหลือด้านการทหาร และด้านการรักษาสันติภาพแก่ไทยเป็นจำนวน 24 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 900 ล้านบาท) และกล่าวว่ากำลังกำหนดมาตรการลงโทษเพิ่มเติม [82]
โคฟี อันนัน เลขาธิการสหประชาชาติระบุว่า ไม่สนับสนุนให้เกิดการรัฐประหาร และอยากให้กลับคืนสู่ระบบประชาธิปไตย อย่างรวดเร็วที่สุด เขากล่าวว่า "ในสหภาพแอฟริกา เราจะไม่สนับสนุนผู้ที่ก้าวขึ้นสู่อำนาจด้วยกระบอกปืน" [83] คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ กล่าวว่า การรัฐประหารเป็นการฝ่าฝืนข้อตกลงด้านสิทธิมนุษยชน และเร่งเร้าให้ทหาร"เคารพต่อสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน และจัดตั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติขึ้นมาใหม่" [84]
[แก้] ผลกระทบต่อเศรษฐกิจ
[แก้] ปฏิกิริยาของตลาดการเงิน
เงินบาทได้ลดค่าจาก 37.280 บาทต่อ ดอลลาร์อเมริกา USD เป็น 37.900 บาทต่อ ดอลลาร์อเมริกา เป็นการลดค่าในวันเดียวมากที่สุดในรอบ 3 ปี[85] กองทุน Thai Fund Inc. ในตลาดหลักทรัพย์ NYSE ได้ ลดค่า 10.9% ภายใน 2 วัน ดัชนี Nikkei ตกลงไปถึง 177.78 จุด หรือประมาณ 1.12% ก่อนที่จะกระเตื้องขึ้นก่อนปิดตลาดที่ 15874.28 จุด ส่วนที่ New York ดัชนี Dow Jones ร่วงไปถึง 14.09 จุด ปิดตลาดที่ 11540.91 จุด [86]
[แก้] ระดับความน่าเชื่อถือ
แสตนดาร์ดแอนด์พัวร์ ได้เตือนว่า อาจมีการลด เรตติงสินเชื่อ (debt rating) ไทย จาก BBB+ ตามความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น[87]
มูดี้ส์ แถลงการณ์ว่าฐานะทางการเงินของไทยและความสามารถในการใช้จ่ายนอกประเทศ น่าจะเข้มแข็งพอเพียงต่อความสั่นคลอนทางการเมืองชั่วขณะที่เป็นผลมาจากการยึดอำนาจ มูดี้ส์จึงไม่เปลี่ยนแปลงอันดับเกี่ยวกับประเทศไทยแต่อย่างใด อันดับความน่าเชื่อถือเงินตราทั้งในและต่างประเทศของรัฐบาลไทยยังคงอยู่ที่อันดับ BAA 1 อันดับความน่าเชื่อถือสูงสุดของพันธบัตรเงินกู้ยังคงอยู่ที่ A 3 และอันดับความน่าเชื่อถือสูงสุดของเงินตราต่างประเทศในรูปเงินฝากอยู่ที่ BAA 1 [88]
หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทหลังจากเกิดการรัฐประหารด้วยว่า หลังจากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวในช่วงกลางดึก ค่าเงินบาทที่ตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์กได้ปรับตัวอ่อนค่าลงถึง 60 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ แต่เมื่อตลาดเงินเปิดในตอนเช้า (ตลาดสิงคโปร์) ผู้ส่งออกมีการซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยนอย่างปกติ และล่าสุดค่าเงินบาทได้กลับมาแข็งค่าขึ้น โดยที่ ธปท.ไม่ต้องเข้าไปแทรกแซงแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม ทางวันนี้ทางผู้บริหารของ ธปท. ได้ดำเนินประชุมหารือเกี่ยวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น [89]
ปฏิกิริยาต่างชาติ โดยเน้นด้านเศรษฐกิจ[90] มีความเห็นดังนี้
- "ไอเอ็มเอฟกำลังเฝ้าจับตาสถานการณ์การก่อรัฐประหารในไทยอย่างใกล้ชิด แต่ยังเห็นว่าเร็วเกินไปที่จะประเมินผลกระทบในตลาดการเงิน" (นายบิล เมอร์เรย์ โฆษกของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ)
- นักวิเคราะห์ของฟิตช์ กล่าวว่า สถานะของสภาพคล่องของไทยนั้นจัดอยู่ในระดับแข็งแกร่ง และเชื่อว่าจะสามารถรับมือกับสภาวะช็อคที่อาจเกิดขึ้นตามมาได้
- นางซูซาน ชว็อป ผู้แทนการค้าสหรัฐ คาดว่า มีผลกระทบต่อการเจรจาเอฟทีเอกับไทย แต่รัฐบาลสหรัฐมีความพร้อม ความตั้งใจ และสามารถเจรจาเอฟทีเอต่อเมื่อสถานการณ์ได้รับการแก้ไขแล้ว
- นายซาโตรุ โอกาซาวาระ ผู้เชี่ยวชาญด้านยุทธศาสตร์การเงินของญี่ปุ่น กล่าวว่า การที่ความไม่แน่นอนทางการเมืองยังคงอยู่จะส่งผลให้ค่าเงินบาทไม่สามารถฟื้นตัวได้ในระยะเวลาอันใกล้นี้ ผลกระทบจากการทำรัฐประหารครั้งนี้ ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบกับค่าเงินบาทเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อค่าเงินสกุลอื่นๆ ของเอเชียอีกด้วย
- นายมาร์แชล กิทท์เลอร์ หัวหน้าผู้เชี่ยวชาญด้านยุทธศาสตร์การเงินของ ธนาคารดอยทช์แบงก์สาขาสิงคโปร์กล่าวว่า การทำรัฐประหารไม่ส่งผลกระทบต่อค่าเงินสกุลอื่นๆ ในระยะยาวเนื่องจากการทำรัฐประหารครั้งนี้ถือเป็นปัญหาความไม่สงบภายในประเทศไทยเพียงแค่ช่วงระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น
[แก้] ข้อมูลปลีกย่อย
- กำลังทหารที่เข้าทำการรัฐประหารในกรุงเทพฯ ได้ติดแถบผ้าสีเหลืองตามพลทหารและรถถัง เป็นการแสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว [91]
- เว็บของรัฐสภาได้มีการนำเอารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ออก [92] ในส่วนของ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540[93] เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2549 เวลา 14.50 น.
- เว็บไซต์พรรคไทยรักไทย ได้ปิดตัวลง โดยไม่มีข้อความแจ้งแต่อย่างใด รวมทั้งหลายๆเว็บไซต์ที่เคยประกาศตัวเพื่อสนับสนุนรัฐบาลและอดีตนายกฯ เช่น เว็บไซต์รักเมืองไทย, คนผ่านฟ้า และ สถานี MV1/Reporter
- เว็บไซต์ของหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ได้เปลี่ยนเป็นรูปแบบให้ง่ายและมีขนาดเล็กลง เพื่อลดภาระของเซิร์ฟเวอร์ และยังได้เปลี่ยน URL เป็น http://w3.manager.co.th โดยยูอาร์แอลเดิมที่ http://www.manager.co.th ยังสามารถเข้าได้อยู่ แต่เมื่อผู้ใช้เข้าในเว็บจะถูกส่งให้ไปอ่านในเว็บใหม่แทนโดยผู้ใช้จะไม่สามารถโพสต์ความคิดเห็นได้
- เว็บบอร์ด ราชดำเนิน ในเว็บพันทิป ซึ่งเป็นห้องที่ใช้สนทนาทางด้านการเมือง ได้ปิดปรับปรุงชั่วคราว และมีข้อความขอร้องให้สมาชิกงดโพสต์เรื่องราวเกี่ยวกับการเมือง ต่อมาในวันที่ 9 ตุลาคม ได้เปิดให้ใช้งานอีกครั้ง ผู้ดูแลระบบได้ปิดป้ายประกาศและให้เหตุผลว่า "...จากเดิมที่ห้องราชดำเนินดูเหมือนเป็นฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งนั้น ทางทีมงานจะพยายามสุดความสามารถ เพื่อทำให้เวทีนี้กลับมาเป็นเวทีที่มีประโยชน์ในการสะท้อนกระแสสังคมโดยรวมอีกครั้ง และลบภาพการเป็นเวทีชุมนุมของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งออกไปให้ได้" หน้าแรกของเว็บไซต์พันทิป ห้องราชดำเนิน บอร์ดสนทนานี้ยังมีเคราะกรรมไม่เลิก โดยในวันที่4 เมษายน พ.ศ. 2550 ที่ผ่านมา ทางกระทรวงICTยังได้ออกคำสั่งให้ปิดซ้ำ หลังจากทางรัฐบาลชั่วคราวไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ทางการเมืองที่อึมครึมได้
และยังคงโดนวิจารณ์จากทางสมาชิกเว็ปบอร์ดนี้อย่างต่อเนื่องในด้านการละเมิดสิทธิพื้นฐาน ความไม่ชอบธรรมต่างๆ และการคอรัปชั่นของตัวคณะปฏิวัติเอง
- เว็บไซต์ The Nation และ กรุงเทพธุรกิจ ได้เปลี่ยนหน้าเว็บไซต์ เพื่อลดภาระของเซิร์ฟเวอร์
- เว็บไซต์รักเมืองไทย ในส่วนของ เว็บบอร์ด ซึ่งเป็นที่แสดงความคิดเห็นของ ผู้ไม่เห็นด้วยกับ คณะปฏิรูป ได้ปิดตัวลง ณ เวลา 4:46 วันที่ 22 กันยายน 2549 ตามเวลาประเทศไทย
- เว็บบอร์ด เฉพาะกิจ รวมความเห็นหลากหลาย อย่าง http://www.19sep.org ได้ถูกสั่งปิด จากกระทรวงไอซีที ณ วันที่ 22 กันยายน 2549 เวลาประมาณ 1.00 น.[94] และได้กลับมาเข้าได้อีกครั้ง (เรียกดูเมื่อ 30 กันยนยน พ.ศ. 2549) ปัจจุบันยังคงเข้าใช้ไม่ได้อีกครั้งหนึ่ง (เรียกดูเมื่อ 5 เมษายน พ.ศ. 2550)
- มีประชาชนให้ความสนใจไปดูและถ่ายรูปคู่กับรถถังที่จอดอยู่จำนวนมากโดยเฉพาะในช่วงสุดสัปดาห์ 23-24 กันยายน รวมถึงนักเทนนิสบางคนที่เดินทางมาแข่งเทนนิสไทยแลนด์ โอเพ่นด้วย[95]ทัวร์นักท่องเที่ยวบางกลุ่มยังมีการปรับโปรแกรมให้มาชมรถถัง
- ทีมนักแสดงมาสค์ไรเดอร์ไปมอบดอกไม้ให้ทหารแต่โดนเชิญออกจากพื้นที่เนื่องจากความไม่เหมาะสม [96]
[แก้] อ้างอิง
- ↑ มติชน, โปรดเกล้าฯเลิกอัยการศึก 41จว.สู่ปกติ คมช.หมดอำนาจเบ็ดเสร็จ, 27 มกราคม 2550
- ↑ กรุงเทพธุรกิจ, โฟกัส : ย้อนรอย 11 วันก่อนจะเป็น'นายกฯเร่ร่อน', 20 กันยายน 2549
- ↑ คมชัดลึก, ลำดับนาทีต่อนาที รัฐประหารทักษิณ, 20 กันยายน 2549
- ↑ กรุงเทพธุรกิจ, ทหารคนสนิท'ผบ.ทบ.'เผยนายตัดสินใจปฏิวัติก่อนตะวันตกดิน, 20 กันยายน 2549
- ↑ มติชน, "มิ่งขวัญ"ปัดไม่ได้อยู่ใน"อสมท" ช่วง"ทักษิณ"ออกประกาศฉุกเฉิน, 21 กันยายน 2549
- ↑ คมชัดลึก, คุมตัวชิดชัย-มิ้ง-ตท.10เนวินบินสมทบทักษิณ, 20 กันยายน 2549
- ↑ รัฐประหาร 19 กันยา, ฟ้าเดียวกัน, กรุงเทพฯ, 2550
- ↑ สมุดปกขาว คมช. เหตุยึดอำนาจ
- ↑ Colum Murphy, A Tug of War for Thailand's Soul, FEER, 6 September 2006
- ↑ ไทยโพสต์, 'ทักษิณ' ขอกลับ 'ทรท.' รอวันร้าง, 24 กันยายน 2549
- ↑ http://www.thaiinsider.com/ShowNews.php?Link=News/SetIndex/2006-09-20/18-16.htm
- ↑ ไทยโพสต์, จ่อยึดทรัพย์ติดดาบ'จารุวรรณ'ผนึก'กล้านรงค์', 20 กันยายน 2549
- ↑ เดลินิวส์ 22 กย. 49 ชิดชัย ยังถูกควบคุมตัวไว้ภายใน ศรภ.
- ↑ คำสั่ง คณะปฏิรูปการปกครองฯ ที่ 5/2549 : ให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ควบคุมการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ
- ↑ ห้ามเข้า ม.เที่ยงคืนแล้ว หลังท้าทายอำนาจฉีกร่างธรรมนูญ คปค. เว็บไซต์ประชาไท เรียกดู 1 ตุลาคม พ.ศ. 2549
- ↑ ข่าวมติชนรายวัน เจ้าของเว็บ"ม.เที่ยงคืน"ร้อง"กสม." ชี้"ไอซีที"ปิดเครือข่ายไม่เกี่ยวคปค.
- ↑ ประชาไท, ศาลปกครองสั่งไอซีทีคลายบล็อก เว็บ ม.เที่ยงคืน เอกชนฟ้องแพ่งเรียกค่าเสียหายซ้ำ
- ↑ The Nation, ARC summons media bosses to toughen controls, 21 September 2006
- ↑ First successful anti-coup protest in Thailand
- ↑ Associated Press, Thai coup leaders criticize media, 29 September 2006
- ↑ Thai protesters defy martial law, The Guardian, 22 September 2006
- ↑ The Bangkok Post, Mcot board resigns 'for Thaksin broadcast', 27 September 2006
- ↑ Manager Online, คมช.เดือด! ขู่จัดการเฉียบขาด ทีวี-วิทยุ กระบอกเสียงให้ “แม้ว”
- ↑ Thai generals pull plug on Thaksin CNN interview
- ↑ The Nation, Community radio stations shut down, 22 September 2006
- ↑ ประชาไท, คุมตัว ‘ฉลาด’ ฐานชุมนุมเกิน 5 คน
- ↑ The Independent, Thai students defy protest ban to demand the return of democracy, 23 September 2006
- ↑ The Nation, Some 100 Chiang Rai teachers stopped by soldiers on their way to Chon Buri, 26 September 2006
- ↑ Manager Online, “ทภ.2” ปลุกทหารเกษียณร่วมปกป้องแผ่นดิน - เข้ม ปชช.เดินทางเป็นกลุ่ม “นอภ.” ต้องรับรอง, 25 กันยายน พ.ศ. 2549
- ↑ ผู้จัดการออนไลน์ 20 ก.ย. 2549 ปชช.ชื่นมื่นแห่ให้กำลังใจทหารหน้ากองบัญชาการฯ
- ↑ มติชน 20 ก.ย. 2549
- ↑ สวนดุสิตโพล - ความคิดเห็นของประชาชนกรณี : ปฏิวัติ
- ↑ The Nation, Embattled TRT still holds edge over opposition: poll
- ↑ มติชน วันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2549
- ↑ มติชน วันที่ 21 ก.ย. 2549 แพทย์ชนบทเห็นด้วยกับคณะปฏิรูปฯ จี้เช็คบิล "ทักษิณ"
- ↑ นสพ.เดลินิวส์ 24 กย 49
- ↑ Manager Online, “ฉลาด-ทวี” ซ่า!! นั่งประท้วงที่อนุสาวรีย์ ปชต.
- ↑ ประชาไท, คุมตัว ‘ฉลาด’ ฐานชุมนุมเกิน 5 คน
- ↑ ประชาไท, ศูนย์ข่าวสารกิจกรรมนักศึกษา เรียกร้องประชาชนแต่งดำไว้อาลัยประชาธิปไตย
- ↑ A website in Thai detailing events of 20 September 2006
- ↑ The Nation, Activists to hold anti-coup gathering, 22 September 2006
- ↑ "Democracy", [1], (Thai language blog), Claims 30 protesters and over 200 observers.
- ↑ The Bangkok Post [2], Rally draws 20 anti-coup protesters, Claims 20 protesters.
- ↑ The Nation, Public stages its first protest, 22 September 2006, Claims nearly 100 protesters.
- ↑ The Nation, Ten academic protest against coup, 23 September 2006, Claims 10 protesters
- ↑ CNN's states more than 100 protesters, [3]
- ↑ First successful anti-coup protest in Thailand
- ↑ First successful anti-coup protest in Thailand
- ↑ The Independent, Thai students defy protest ban to demand the return of democracy, 23 September 2006
- ↑ The Nation, New political rally called to test CDRM, 25 September 2006
- ↑ The Nation Second student protest against coup
- ↑ TU Thaprajan[4]
- ↑ ประชาไท, นิสิต-นักศึกษาเตรียมจัดเสวนาเกิน 5 คนวันนี้ที่จุฬาฯ และ ม.เชียงใหม่
- ↑ ประชาไท, รายงานพิเศษ : ด้วยแรงแห่ง ‘ความกดดัน’ ตำรวจเกาะติดเสวนา ‘กลางแจ้ง’ เกิน5คนที่ มช.
- ↑ วายุภักษ์ รักษ์แผ่นดิน[5]
- ↑ ข่าวไร้เงานักการเมือง รำลึก30ปี6ตุลาคม ให้รางวัล"เจริญ" ใน นสพ.มติชน 7 ตค. 49
- ↑ ข่าวปลุกวิญญาณ14ตุลาฯ ร้องปชช.ค้านอัยการศึก ระบุเป็นเผด็จการอ่อนๆ จาก นสพ.มติชน 15 ตค 49
- ↑ ประชาไท, TSF: “ถ่ายรูปไว้ก่อน ค่อยเชิญตัววันหลัง” ความจริงบนการเคลื่อนไหวภายใต้อัยการศึก
- ↑ http://www.bangkokbiznews.com/level3/news_117251.jsp
- ↑ The Nation, Small rally against CNS, call for election
- ↑ พลวัต รายงาน : เครือข่าย 19 กันยาฯ เคลื่อนขบวนเหยียบถ้ำเสือหน้ากองทัพบก
- ↑ หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2549
- ↑ มติชนรายวัน 24 กย. 49
- ↑ หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ 24 กย 49 ฮิตไม่เลิกถ่ายรูปคู่รถถัง-ทหาร แถมกลายเป็นจุดท่องเที่ยว
- ↑ ผู้จัดการออนไลน์ 21 กันยายน 2549 12:52 น.
- ↑ ผู้จัดการออนไลน์ 21 กันยายน 2549 21:48 น.
- ↑ ข่าวคนชุมนุมที่นิวยอร์กจากซีเอ็นเอ็น
- ↑ หนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น 22 กย.49 Thai students at Oxford regret coup
- ↑ นสพ.เดลินิวส์ 24 กย 49
- ↑ [6]
- ↑ หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2549 ชุมชนคนออนไลน์ในคืนปฏิวัติ
- ↑ เครือข่ายปกป้องรัฐธรรมนูญประชาชน บนฟรีเว็บไซต์ ของ Geocities-defendthaiconstition
- ↑ ประวัติการแก้ไขหน้า รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2549 เมื่อเวลา 14:52 น. 22 กันยายน 2549, เมื่อเวลา 17:13 น. 23 กันยายน 2549 ; ประวัติการแก้ไขหน้า คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เมื่อเวลา 14:54 น. 22 กันยายน 2549, เมื่อเวลา 21:52 น. 23 กันยายน 2549 ; เวลาทั้งหมดเป็นเวลาของเซิร์ฟเวอร์วิกิพีเดีย
- ↑ มติชน คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่ 12 ทดสอบท่าทีตนเองกรณี"ปฏิวัติ" โดย สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร
- ↑ The Nation, Activists to hold anti-coup gathering
- ↑ Bangkok Post, Human rights groups weigh in against coup
- ↑ [มติชน, "อภิสิทธิ์" แนะคณะปฏิรูปฯ ยกเลิกจำกัดสิทธิเสรีภาพ, 21 กันยายน 2549]
- ↑ Asian Human Rights Commission, THAILAND: MILITARY COUP - Restore civilian government immediately
- ↑ กรุงเทพธุรกิจ, กลุ่มนักวิชาการเพื่อสิทธิมนุษยชน ทวงคปค.คืนสิทธิเสรีภาพ,25 กันยายน 2549
- ↑ Bangkok Post, "United States: Thai coup 'unjustified'", 21 September 2006
- ↑ ChannelNewAsia.com, "US reviewing aid to Thailand due to coup", 22 September 2006
- ↑ The Nation, US cuts off millions in military aid to Thailand, 29 September 2006
- ↑ People's Daily Online (2006). UN chief discourages military coup in Thailand. Retrieved 20 September 2006.
- ↑ The Bangkok Post, UN says Thai coup violating human rights, 25 September 2006
- ↑ [7]
- ↑ ประชาไท, รายงานพิเศษ : เมื่อโลกจ้องมองไทยหลังรัฐประหาร
- ↑ Jinks and Malespine, Beth and Laurent, "Thailand Coup Leader Sondhi Says Government Corrupt (Update2)", Bloomberg.com, 20 September 2006.
- ↑ "มูดี้ส์"ยืนยันเสถียรภาพทางการเงินของไทยหลังการยึดอำนาจ โดย ผู้จัดการออนไลน์ 21 กันยายน 2549 20:36 น.
- ↑ มติชน วันที่ 20 ก.ย. 2549 "หม่อมอุ๋ย" ปัดไม่ได้ถูกทาบนั่งแท่น นายกฯ
- ↑ มติชน วันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2549
- ↑ Yellow scarves -- and calm -- on Bangkok's streets
- ↑ http://www.parliament.go.th/files/library/t-b05.htm
- ↑ http://www.parliament.go.th/con40/con-main.htm
- ↑ ประชาไท ข่าวด่วน! เว็บไซต์ 19sep.org ถูกไอซีทีสั่งปิดแล้ว!!!
- ↑ ‘ลูบิซิช’ ตามกระแสชาวไทยชักภาพคู่รถถัง
- ↑ ผู้จัดการ, “ฮีโร่” ถูกจับ หลังให้กำลังใจทหารที่ลานพระรูป
[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น
- วีดีโอ รถถังในกรุงเทพ จาก ซีเอ็นเอ็น
- ประมวลข่าว วาระสุดท้าย! “ระบอบทักษิณ”
- ภาพเกี่ยวกับเหตุการณ์ จาก ฟลิคเกอร์
- ประมวลภาพเหตุการณ์วันที่ 19-09-06
- อ่าน ประกาศและคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ได้จากวิกิซอร์ซ
- วิดีโอการชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐประหาร วันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2549
[แก้] ดูเพิ่ม
วิกฤตการณ์การเมืองในประเทศไทย พ.ศ. 2548-2549 | |||||
เหตุการณ์หลัก | ลำดับเหตุการณ์ | บุคคลหลัก | |||
---|---|---|---|---|---|
จุดเริ่มต้น เหตุการณ์หลัก
การเลือกตั้ง |
รัฐประหารในประเทศไทย |
---|
2476 • 2490 • 2494 • 2500 • 2501 • 2514 • 2519 • 2520 • 2534 • 2549 |