รพินทรนาถ ฐากูร
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
รพินทรนาถ ฐากูร (เบงกาลี: রবীন্দ্রনাথ ঠাকুর, Robindronath Ţhakur) (7 พฤษภาคม, พ.ศ. 2404 - 7 สิงหาคม, พ.ศ. 2484) มีสมัญญานามว่า "คุรุเทพ" เป็นนักปรัชญาพรหโมสมัช นักธรรมชาตินิยม และกวีภาษาเบงกาลี เคยได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม ประจำปี ค.ศ. 1913 และนับเป็นชาวเอเชียคนแรกที่ได้รับรางวัลโนเบล
สารบัญ |
[แก้] ชีวิตเมื่อเยาว์วัยและการศึกษา
รพินทรนาถ ฐากูร เกิดที่คฤหาสน์โชราสังโก นครกัลกัตตา ท่านเกิดในวรรณะพราหมณ์ ตระกูลฐากูร ซึ่งเป็นตระกูลที่มั่งคั่งที่สุดตระกูลหนึ่งในแคว้นเบงกอล และไม่ได้มั่งคั่งแต่เพียงทรัพย์สมบัติเท่านั้น หากยังเพียบพร้อมไปด้วยสติปัญญาอีกด้วย กล่าวคือ ผู้สืบสกุลฐากูรหลายคน ได้บำเพ็ญกรณียกิจนานาประการ โดยเฉพาะกิจการด้านวัฒนธรรม ทั้งยังเป็นตระกูลที่ดื่มด่ำในวัฒนธรรมอินเดีย มีความเลื่อมใสต่อลัทธิที่ภักดีต่อพระวิษณุเจ้าเป็นพิเศษ
รพินทรนาถเป็นบุตรคนที่ 14 ในจำนวน 15 คนของ 'มหาฤาษีเทเพนทรนาถ ฐากูร' ซึ่งให้ความสนใจต่อการศึกษาของบุตรคนเล็กมาก หลังจากประกอบพิธีสวมด้ายมงคลยัชโญปวีตตามแบบศาสนาพราหมณ์ให้แล้ว ท่านก็พาบุตรคนเล็กเดินธุดงค์ไปยังเมืองอมฤตสาร์ และเทือกเขาหิมาลัย กล่าวได้ว่าทัศนะทางด้านศาสนาของรพินทรนาถนั้น ได้รับอิทธิพลมาจากบิดามากทีเดียว รวมทั้งนิสัยที่ชอบเดินทาง นอกจากท่องเที่ยวในประเทศแล้ว ท่านยังได้ไปบรรยายที่สหรัฐอเมริกา 5 ครั้ง ยุโรป 5 ครั้ง ญี่ปุ่น 3 ครั้ง และที่จีน อเมริกาใต้ โซเวียตรัสเซีย (ชื่อขณะนั้น) และเอเชียอาคเนย์แห่งละครั้ง
ความสามารถในเชิงการเขียนของท่านเกิดขึ้นเมื่ออายุ 14 ปี รพินทรนาถเขียนเพลงปลุกใจ พาดพิงถึงงานมหกรรมเดลฮีเดอร์บาร์ โดยดำริของลอร์ด ลิททัน ด้วยท่าทีเย้ยหยัน เพราะเป็นความสนุกสนานท่ามกลางภาวะขาดแคลนของประเทศในขณะนั้น ความโด่งดังของรพินทรนาถทำให้ได้รับสมญานามว่า 'เกอเธ่แห่งอินเดีย'
[แก้] ผลงาน
ผลงานของท่านนั้นมีอยู่เป็นจำนวนมาก นอกจากบทร้อยกรองกับบทละครซึ่งมีอยู่ถึง 1.5 หมื่นบรรทัด ยังมีวรรณกรรมประเภท นวนิยาย เรื่องสั้น อัตชีวประวัติ บทวิจารณ์ และบทความ นานาชนิด
ปี พ.ศ. 2455 รพินทรนาถได้แปลบทกวีนิพนธ์ที่เขียนอุทิศให้แก่ภรรยาและบุตร 3 ใน 5 คนที่เสียชีวิตไปเป็นภาษาอังกฤษ แล้วรวบรวมนำมาพิมพ์เป็นเล่มให้ชื่อว่า 'คีตาญชลี' อีก 1 ปีถัดมาขณะที่อายุได้ 52 ปี ราชบัณฑิตยสถานแห่งสวีเดนได้ประกาศจากกรุงสตอกโฮล์ม ว่าผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมประจำปี คือ รพินทรนาถ ฐากูร จากบทประพันธ์คีตาญชลี ท่านเป็นชาวเอเชียคนแรกที่ได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้
ผลงานของรพินทรนาถ อันเป็นที่รู้จักกันดีทั่วไป อาทิ คีตาญชลี, บทกวีจันทร์เสี้ยว, บทละครเรื่องจิตรา, เพลงชาติอินเดีย, เรื่องสั้นราชากับรานี, เรื่องสั้นนายไปรษณีย์, พระกรรณะกับนางกุนตี ฯลฯ
นอกจากนี้ท่านยังได้ตั้งโรงเรียนศานตินิเกตัน ซึ่งหมายถึงสถานที่แห่งความสงบ โดยสอนแบบครูสัมพันธ์กับศิษย์เหมือนพ่อกับลูก อีก 21 ปีต่อมา จึงได้ยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยโดยใช้ชื่อว่า 'วิศวภารตี' หมายถึง สถานอันเป็นที่พักพิงแห่งโลก
[แก้] ชีวิตครอบครัว
ชีวิตครอบครัวของรพินทรนาถเริ่มขึ้นเมื่ออายุ 22 ปี โดยแต่งงานกับมฤณาลิณี เทวี มีบุตรชาย 2 คน บุตรสาว 3 คน (ภายหลังเสียชีวิตไป 3 คน) ช่วงนี้ท่านตั้งอกตั้งใจรังสรรค์งานออกมาชิ้นแล้วชิ้นเล่า ทั้งบทละครที่ท่านร่วมแสดง หรือแม้กระทั่งบทกวีที่ใช้กล่อมเด็ก ภรรยาของท่านได้ถึงแก่กรรมก่อนหลังจากใช้ชีวิตร่วมกันได้ 19 ปี
[แก้] ชีวิตในบั้นปลาย
ในช่วงปลายของชีวิตเมื่ออายุ 70 ปี รพินทรนาถได้เริ่มเขียนภาพ และภายในเวลา 10 ปีท่านเขียนได้ถึง 3,000 ภาพ และได้นำผลงานเหล่านี้ไปแสดงตามที่ต่างๆ ทั้งในและนอกประเทศอินเดีย รวมทั้งที่ปารีสด้วย
รพินทรนาถ ฐากูรได้กลับมาถึงแก่กรรมที่คฤหาสน์หลังเดิม รวมอายุ 80 ปี 3 เดือน
[แก้] อ้างอิง
- หนังสือ 'บ่อเกิดลัทธิประเพณีอินเดีย' แปลโดย จำนงค์ ทองประเสริฐ,
- บทความ 'ชีวิตและงานของรพินทรนาถ ฐากูร' โดย เรืองอุไร กุศลาศัย และ
รพินทรนาถ ฐากูร เป็นบทความเกี่ยวกับ ชีวประวัติ ที่ยังไม่สมบูรณ์ ต้องการตรวจสอบ เพิ่มเนื้อหา หรือเพิ่มแหล่งอ้างอิง คุณสามารถช่วยเพิ่มเติมหรือแก้ไข เพื่อให้สมบูรณ์มากขึ้น ข้อมูลเกี่ยวกับ รพินทรนาถ ฐากูร ในภาษาอื่น อาจสามารถหาอ่านได้จากเมนู ภาษาอื่น ด้านซ้ายมือ |