มะพร้าว
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
|
มะพร้าว เป็นพืชยืนต้นชนิดหนึ่งที่เรารู้จักกันดี อยู่ในตระกูลปาล์ม เราใช้ประโยชน์จากมะพร้าวได้หลายทาง เช่น น้ำและเนื้อมะพร้าวอ่อนใช้รับประทาน เนื้อในผลแก่นำไปขูดและคั้นทำกะทิ กะลานำไปประดิษฐ์สิ่งของต่าง ๆ เช่น กระบวย โคมไฟ ฯลฯ นอกจากนี้มะพร้าวจัดเป็นไม้มงคลชนิดหนึ่ง ตามตำราพรหมชาติฉบับหลวง ได้กำหนดให้ปลูกมะพร้าวไว้ทางทิศตะวันออกของบ้าน เพื่อความเป็นสิริมงคล
สารบัญ |
[แก้] ลักษณะทั่วไป
มะพร้าว เป็นพืชยืนต้น ใบมีลักษณะเป็นใบประกอบแบบขนนก ผลประกอบด้วยเอพิคาร์ป (epicarp) คือเปลือกนอก ถัดไปข้างในจะเป็นมีโซคาร์ป (mesocarp) หรือใยมะพร้าว ถัดไปข้างในเป็นส่วนเอนโดคาร์ป (endocarp) หรือกะลามะพร้าว ซึ่งจะมีรูสีคล้ำอยู่ 3 รู สำหรับงอก ถัดจากส่วนเอนโดคาร์ปเข้าไปจะเป็นส่วนเอนโดสเปิร์ม หรือที่เราเรียกว่าเนื้อมะพร้าว ภายในมะพร้าวจะมีน้ำมะพร้าว ซึ่งเมื่อมะพร้าวแก่ เอนโดสเปิร์มก็จะดูดเอาน้ำมะพร้าวไปหมด
ขณะที่มะพร้าวยังอ่อน ชั้นเอนโดสเปิร์ม (เนื้อมะพร้าว) ภายในผลมีลักษณะบางและอ่อนนุ่ม ภายในมีน้ำมะพร้าว ซึ่งในระยะนี้เรามักสอยเอามะพร้าวลงมารับประทานน้ำและเนื้อ เมื่อมะพร้าวแก่ ซึ่งสังเกตได้จากการที่เปลือกนอกเริ่มเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ชั้นเอนโดสเปิร์มก็จะหนาและแข็งขึ้น จนในที่สุดมะพร้าวก็หล่นลงจากต้น
[แก้] ประโยชน์
มะพร้าวสามารถใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง เช่น
- ในผลมะพร้าวอ่อนจะมีน้ำอยู่ภายใน เรียกว่าน้ำมะพร้าว ใช้เป็นเครื่องดื่มเกลือแร่ได้ เนื่องจากอุดมไปด้วยโพแทสเซียม นอกจากนี้น้ำมะพร้าวยังมีคุณสมบัติปลอดเชื้อโรค และเป็นสารละลายไอโซโทนิก (สารละลายที่มีความเข้มข้นเท่ากับภายในเซลล์ ซึ่งไม่ทำให้เซลล์เสียรูปทรง) ซึ่งด้วยเหตุนี้จึงสามารถนำน้ำมะพร้าวไปใช้ฉีดเข้าหลอดเลือดเวน (หลอดเลือดดำ) ในผู้ป่วยที่มีอาการขาดน้ำหรือปริมาณเลือดลดผิดปกติได้
- น้ำมะพร้าวสามารถนำไปทำวุ้นมะพร้าวได้ โดยการเจือกรดอ่อนเล็กน้อยลงในน้ำมะพร้าว
- เนื้อในของมะพร้าวแก่ นำไปทำกะทิได้ โดยการขูดเนื้อในเป็นเศษเล็ก ๆ แล้วบีบเอาน้ำกะทิออก
- กากที่เหลือจากการคั้นกะทิ ยังสามารถนำไปทำเป็นอาหารสัตว์ได้
- ยอดอ่อนของมะพร้าว หรือเรียกอีกชื่อว่า หัวใจมะพร้าว (coconut’s heart) สามารถนำไปใช้ทำอาหารได้ ซึ่งยอดอ่อนมีราคาแพงมาก เพราะการเก็บยอดอ่อนทำให้ต้นมะพร้าวตาย ด้วยเหตุนี้จึงมักเรียกยำยอดอ่อนมะพร้าวว่า 'สลัดเจ้าสัว' (millionaire's salad)
- ใยมะพร้าว นำไปใช้ยัดฟูก ทำเสื่อ หรือนำไปใช้ในการเกษตร
- น้ำมันมะพร้าว ได้จากการหีบหรือต้มกากมะพร้าวบด นำไปใช้ในการปรุงอาหารหรือนำไปทำเครื่องสำอางก็ได้ และในปัจจุบันยังมีการผลิตไบโอดีเซลจากน้ำมันมะพร้าวอีกด้วย
- กะลามะพร้าว นำไปใช้ทำสิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ เช่น กระบวย โคมไฟ กระดุม ซออู้ ฯลฯ
- ก้านใบ หรือทางมะพร้าว ใช้ทำไม้กวาดทางมะพร้าว
[แก้] สถิติที่น่าสนใจ
ต่อไปนี้เป็นสถิติการผลิตมะพร้าวจากองค์การอาหารและเกษตรกรรมแห่งสหประชาชาติ[1]
อันดับ | ประเทศ | ปริมาณ |
1 | อินโดนีเซีย | 16,300,000.00 |
2 | ฟิลิปปินส์ | 14,796,600.00 |
3 | อินเดีย | 9,500,000.00 |
4 | บราซิล | 3,033,830.00 |
5 | ศรีลังกา | 1,950,000.00 |
6 | ไทย | 1,500,000.00 |
7 | เม็กซิโก | 950,000.00 |
8 | เวียดนาม | 940,000.00 |
9 | ปาปัวนิวกินี | 650,000.00 |
10 | มาเลเซีย | 642,000.00 |
- ข้อมูล ณ ปี พ.ศ. 2548
[แก้] ความเชื่อ
ตามตำราพรหมชาติฉบับหลวง[2] ได้กำหนดให้ปลูกมะพร้าวบริเวณทิศตะวันออกของบ้านเพื่อให้เป็นสิริมงคล คนที่เกิดปีชวด ปีเถาะ ตามตำราพรหมชาติฉบับหลวง ก็จัดให้มะพร้าวเป็นมิ่งขวัญของคนที่เกิดในปีดังกล่าว นอกจากนี้ การล้างหน้าศพด้วยน้ำมะพร้าว ก็เพรามีความเชื่อว่าน้ำมะพร้าวเป็นน้ำบริสุทธิ์
ในพิธีกรรมทั้งทางพุทธศาสนาและศาสนาพราหมณ์ จะจัดให้มีมะพร้าวอ่อนเป็นเครื่องสังเวย เพราะมีความเชื่อว่ามะพร้าวเป็นตัวแทนแห่งความอุดมสมบูรณ์ และน้ำมะพร้าวเป็นน้ำที่บริสุทธิ์ เหมาะแก่การชำระล้างและการดื่มเพื่อเป็นสิริมงคล[3]
[แก้] อ้างอิง
- ^ เว็บไซต์ส่วนสถิติ องค์การอาหารและเกษตรกรรมแห่งสหประชาชาติ
- ^ อุระคินทร์ วิริยะบูรณะ และคณะ. ตำราพรหมชาติ ฉบับหลวง. กรุงเทพฯ:สำนักงาน ลูก ส. ธรรมภักดี,มปป.
- ^ โครงการอุทยานความรู้ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น
- Coconut Research Center
- Coconut Research Institute of Sri Lanka
- Kokonut Pacific Developers of Direct Micro Expelling (DME) technology that enables Islanders to produce pure cold-pressed virgin coconut oil