การอภิปรายไม่ไว้วางใจ
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
การอภิปรายไม่ไว้วางใจ (อังกฤษ: motion of no confidence หรือ motion of non confidence) คือ การอภิปรายของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรโดยเฉพาะสมาชิกฝ่ายค้าน กระทำเมื่อเห็นว่าการทำงานของรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีไม่เป็นที่พอใจ ในกรณีนี้สมาชิกมีสิทธิเข้าชื่อเสนอญัตติไม่ไว้วางใจ ถือเป็นวิธีการหนึ่งในการควบคุมและตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล วิธีอื่นนอกจากนี้ ได้แก่ การตั้งกระทู้ถาม การแสดงบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สิน การถอดถอนจากตำแหน่ง การอภิปรายไม่ไว้วางใจเป็นวิธีที่เห็นผลชัดเจนที่สุด มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐบาลมากที่สุด และยังเป็นการคานอำนาจของฝ่ายบริหาร (รัฐบาล) โดยฝ่ายนิติบัญญัติ (รัฐสภา) ที่ชัดเจนและได้ผลดีที่สุดด้วย
การอภิปรายไม่ไว้วางใจเป็นไปตามหลักการที่ว่า "ฝ่ายบริหารจะอยู่ได้ก็โดยความไว้วางใจของฝ่ายนิติบัญญัติ" ดังนั้นการอภิปรายไม่ไว้วางใจจะมีขึ้นก็ต่อเมื่อรัฐสภาเห็นว่ารัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีไม่ควรแก่การไว้วางใจให้ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ซึ่งอาจเกิดจากการตัดสินใจผิดพลาด การใช้อำนาจหน้าที่ในทางมิชอบ เป็นต้น
สารบัญ |
[แก้] ประเทศไทย
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ได้บัญญัติวิธีการตรวจสอบด้วยวิธีนี้เช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญฉบับก่อน ๆ แต่ได้เพิ่มหลักการสำคัญซึ่งแตกต่างไปจากฉบับอื่น เรียกว่า "การเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล"
การอภิปรายไม่ไว้วางใจจำแนกได้เป็น
- การอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี
- การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล
- การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีทั้งคณะ
[แก้] การอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี
ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่า 2 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด มีสิทธิเข้าชื่อขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี ญัตตินี้ต้องเสนอชื่อผู้สมควรดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนต่อไปไว้ด้วย เมื่อได้มีการเสนอญัตติแล้วจะมีการยุบสภาผู้แทนราษฎรมิได้ ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้นายกรัฐมนตรีหลีกหนีการอภิปราย เว้นแต่จะมีการถอนญัตติหรือการลงมตินั้นไม่ได้เสียงครบ หากสมาชิกรัฐสภาลงมติไม่ไว้วางใจ นายกรัฐมนตรีต้องลาออกจากตำแหน่ง ซึ่งมีผลให้รัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่งด้วย
หากญัตติที่เสนอเกี่ยวข้องกับการมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ราชการ หรือจงใจฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย ก่อนเสนอญัตติต้องยื่นคำร้องขอต่อประธานวุฒิสภา เพื่อให้วุฒิสภามีมติถอดถอนนายกรัฐมนตรี และเมื่อประธานวุฒิสภาได้รับคำร้อง ต้องส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการไต่สวนโดยเร็ว แต่สามารถเปิดอภิปรายได้โดยไม่ต้องรอผลการพิจารณาของ ป.ป.ช
อนึ่ง การออกเสียงลงมติไว้วางใจหรือไม่ไว้วางใจ ห้ามมิให้กระทำในวันเดียวกันกับที่การอภิปรายสิ้นสุด ทั้งนี้เพื่อให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้มีเวลาไตร่ตรอง โดยมติให้นายกรัฐมนตรีออกจากตำแหน่งต้องมีคะแนนเสียงไม่ไว้วางใจเกินกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งหมด (251 คน จากทั้งหมด 500 คน) หากเสียงข้างมากไว้วางใจ ห้ามสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ร่วมกันอภิปรายไม่ไว้วางใจเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจอีกตลอดสมัยประชุม
[แก้] การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล
การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล อาจส่งผลไม่รุนแรงเท่ากับการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด มีสิทธิเข้าชื่อขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล
การที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนใดจะได้อภิปรายนั้นขึ้นอยู่กับความเหมาะสมและมติของพรรคร่วมฝ่ายค้าน โดยวิปฝ่ายค้านต้องส่งรายชื่อให้ประธานรัฐสภา การออกเสียงลงมติไว้วางใจหรือไม่ไว้วางใจ ห้ามมิให้กระทำในวันเดียวกันกับที่การอภิปรายสิ้นสุด หากเสียงข้างมากไว้วางใจ รัฐมนตรีสามารถดำรงตำแหน่งต่อไปได้ และห้ามสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ร่วมกันอภิปรายไม่ไว้วางใจเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจอีกตลอดสมัยประชุม แต่หากมีคะแนนเสียงไม่ไว้วางใจเกินกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งหมด (251 คน จากทั้งหมด 500 คน) รัฐมนตรีต้องออกจากตำแหน่ง
[แก้] การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีทั้งคณะ
การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีทั้งคณะ มีกำหนดครั้งแรกไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม (พ.ศ. 2475) แต่ฉบับ พ.ศ. 2540 ไม่มีแล้ว เนื่องจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีสามารถทำให้รัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่งได้เช่นกัน
[แก้] อ้างอิง
- มานิตย์ จุมปา, สารานุกรมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. ๒๕๔๐) การอภิปรายไม่ไว้วางใจ, สถาบันพระปกเกล้า, พ.ศ. 2544