ภัยพิบัติในพระธรรมอพยพ
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เมื่อพระเจ้าทรงใช้โมเสส และอาโรน ให้เข้าเฝ้าฟาโรห์ เพื่อทูลขอให้ทรงปล่อยอิสราเอลเป็นไทนั้น โมเสสและอาโรนต้องเข้าไปทูลขอถึง 10 ครั้ง กว่าที่องค์ฟาโรห์จะยอมปล่อยชนชาติอิสราเอล ให้ออกจากอียิปต์ได้ ในแต่ละครั้งที่ฟาโรห์ทรงละเลยต่อคำขอของโมเสส และอาโรนนั้น พระเจ้าก็ทรงมอบภัยพิบัติต่าง ๆ ให้แก่อียิปต์ทุกครั้ง จนกระทั่งองค์ฟาโรห์ทรงพบกับภัยพิบัติครั้งสุดท้ายด้วยพระองค์เอง จึงยอมปล่อยให้อิสราเอลออกเดินทางจากอียิปต์ได้ โดยในการขอให้ฟาโรห์ปล่อยอิสราเอลนั้น โมเสสได้ทูลขอองค์ฟาโรห์ ให้ตนนำอิสราเอลออกไปถวายเครื่องบูชาแด่พระเจ้าในถิ่นทุรกันดาร ภัยพิบัติที่จะกล่าวถึงนี้ อ้างอิงมาจากพระคริสตธรรมคัมภีร์ ภาคพันธสัญญาเดิม ในพระธรรมอพยพ บทที่ 7-13
สารบัญ |
[แก้] ไม้เท้าของอาโรน
ในครั้งแรก เมื่อโมเสส และอาโรน เข้าเฝ้าฟาโรห์นั้น เมื่อองค์ฟาโรห์ตรัสสั่งให้พวกเขาแสดงอัศจรรย์เพื่อพิสูจน์ว่าคำพูดของทั้งสองจะเป็นจริงนั้น พระเจ้าทรงให้อาโรน โยนไม้เท้าลงบนพื้น ไม้เท้านั้นก็กลายงู องค์ฟาโรห์ก็ทรงเรียกพวกนักปราชญ์ และนักแสดงกลมากระทำเช่นเดียวกันนี้ แต่งูของอาโรนนั้นก็กินงูของนักวิทยากลเหล่านั้นเสียสิ้น แต่องค์ฟาโรห์ก็ไม่ทรงเอาใจใส่ต่อคำพูดของทั้งสองคน จึงเป็นเหตุให้มีภัยพิบัติแรกเกิดขึ้น[1]
[แก้] ภัยพิบัติจากโลหิต
ด้วยองค์ฟาโรห์ ทรงไม่ใส่ใจต่อการเข้าเฝ้าครั้งแรกของ โมเสส และ อาโรน พระเจ้าจึงทรงให้ทั้งสองเข้าเฝ้าฟาโรห์อีกครั้งในเช้าวันรุ่งขึ้น เพื่อสำแดงภัยพิบัติครั้งแรกแก่อียิปต์
เช้าวันรุ่งขึ้น โมเสส และ อาโรน จึงไปเข้าเฝ้าองค์ฟาโรห์ ณ ริมแม่น้ำไนล์ โดยอาโรนได้นำไม้เท้าไปด้วย โมเสส จึงแจ้งแก่ฟาโรห์ให้ปล่อยชนชาวอิสราเอล หากไม่เช่นนั้น พระเจ้าจะทรงกระทำให้แม่นำ ลำคลอง และบึงต่าง ๆ กลายเป็นโลหิต ปลาในแม่น้ำจะตาย และชาวอียิปต์จะดื่มน้ำจากแม่น้ำไนล์ไม่ได้ แต่ฟาโรห์ก็ไม่สนพระทัยต่อคำพูดของทั้งสอง
พระเจ้าทรงสั่งให้อาโรน ยกไม้เท้าขึ้นตีน้ำในแม่น้ำไนล์ ต่อพระพักตร์ฟาโรห์ และบรรดาข้าราชบรพาร น้ำในแม่น้ำไนล์ก็กลายเป็นโลหิต ปลาในแม่น้ำก็ตายสิ้น และน้ำนั้นก็ดื่มกินไม่ได้ แต่เหล่าบรรดาวิทยากลของอียิปต์ ก็สามารถกระทำกลเช่นนี้ได้เช่นกัน องค์ฟาโรห์จึงยังทรงไม่เชื่อทั้งสอง ดังนั้นชาวอียิปต์จึงต้องขุดบ่อเพื่อหาน้ำดื่ม เนื่องจากดื่มน้ำจากแม่น้ำไนล์ไม่ได้[2]
[แก้] ภัยพิบัติจากกบ
หลังภัยพิบัติแรกผ่านไป 7 วัน พระเจ้าจึงทรงใช้ให้ โมเสส และอาโรน ไปเข้าเฝ้าฟาโรห์อีกครั้ง แจ้งแก่องค์ฟาโรห์ให้ปล่อยชาวอิสราเอลไปเสีย มิฉะนั้นพระเจ้าจะทรงให้ฝูงกบจะเต็มแม่น้ำไนล์ ขึ้นมาจนเต็มแผ่นดินอียิปต์ แต่องค์ฟาโรห์ก็มิได้สนใจ พระเจ้าจึงให้อาโรนชูไม้เท้าเหนือแม่น้ำ ฝูงกบก็พากันขึ้นมาจากแม่นำไนล์จนเต็มแผ่นดิน แต่เหล่านักแสดงกล ก็สามารถแสดงกลเรียกกบขึ้นมาจากแม่น้ำได้ด้วยเช่นกัน
แต่เมื่อฝูงกบอยู่กันเต็มเมือง องค์ฟาโรห์จึงเรียก โมเสส และ อาโรน เข้าพบ และให้สัญญาหากทั้งสอบทูลต่อพระเจ้าให้ฝูงกบไปเสียจากแผ่นดินอียิปต์ องค์ฟาโรห์ จะยอมให้ชาวอิสราเอลออกเดินทางได้ในวันรุ่งขึ้น โมเสส จึงร้องทูลพระเจ้า และฝูงกบก็พากันตายสิ้นทั้งแผ่นดิน[3]
[แก้] ภัยพิบัติจากริ้น
ครั้นเมื่อฝูงกบตายเสียสิ้น ความเดือดร้อนก็บรรเทาไปแล้ว องค์ฟาโรห์จึงทรงไม่ปฏิบัติตามคำสัญญาที่จะให้อิสราเอลออกเดินทางในวันรุ่งขึ้น พระเจ้าจึงให้ โมเสส และอาโรน เข้าเฝ้า ฟาโรห์ และให้อาโรนเอาไม้เท้าตีฝุ่นดิน ให้กลายเป็นริ้นทั่วประเทศอียิปต์
ครั้งนี้เหล่านักแสดงกลของฟาโรห์ ไม่สามารถแสดงกลทำให้ฝุ่นกลายเป็นริ้นได้ จึงทูลต่อฟาโรห์ว่า "นี่เป็นกิจการแห่งนิ้วพระหัตถ์พระเจ้า" แต่ฟาโรห์ก็มิได้สนพระทัย[4]
[แก้] ภ้ยพิบ้ติจากเหลือบ
วันรุ่งขึ้น พระเจ้าทรงให้โมเสสไปรอพบฟาโรห์ ที่ริมแม่น้ำไนล์ และทูลต่อพระองค์ว่า หากไม่ทรงอนุญาตให้อิสราเอลออกไปนมัสการพระเจ้า ณ ถิ่นทุรกันดาร พระเจ้าก็จะทรงบันดาลให้ฝูงเหลือบอยู่เต็มประเทศอียิปต์ ยกเว้นแต่เมืองโกเชนที่ชาวอิสราเอลอาศัยอยู่ จะไม่มีเหลือบเข้าไปเพื่อแสดงให้เห็นว่าพระองค์ทรงเป็นพระเจ้าของอิสราเอล
องค์ฟาโรห์ทรงไม่ยอมเช่นเดิม พระเจ้าจึงทรงให้ฝูงเหลือบบินเต็มทั่วเมืองอียิปต์ ยกเว้นแต่เมืองโกเชน ฟาโรห์จึงทรงให้เรียน โมเสส และอาโรน มาพบ และรับสั่งให้ อิสราเอล ถวายเครื่องบูชาแด่พระเจ้าในแผ่นดินอียิปต์ มิให้ออกไปนอกเมือง แต่โมเสสทูลแย้งว่า การถวายเครื่องบูชาของอิสราเอลจำเป็นต้องฆ่าสัตว์ต้องห้ามของอียิปต์ จึงจำเป็นต้องไปกระทำในถิ่นทุรกันดาร
องค์ฟาโรห์จึงว่า "เราจะปล่อยพวกเจ้าไป เพื่อจะได้ถวายสัตวบูชาแด่พระเจ้าของเจ้าในถิ่นทุรกันดาร แต่ว่าพวกเจ้าอย่าไปให้ไกลนัก จงวิงวอนเพื่อเราด้วย" โมเสสจึงอธิษฐานต่อพระเจ้าให้ฝูงเหลือบไปจากแผ่นดินอียิปต์[5]
[แก้] ภัยพิบัติที่เกิดกับฝูงสัตว์
เมื่อสิ้นฝูงเหลือบ องค์ฟาโรห์ก็ทรงละเลยต่อสัญญาของพระองค์อีกครั้ง พระเจ้าจึงทรงให้โมเสสเข้าไปทูลต่อฟาโรห์ว่า หากพระองค์ไม่ยอมปล่อยคนของพระเจ้าไปนมัสการพระองค์ พระเจ้าจะทรงกระทำให้ฝูงสัตว์ของอียิปต์ ทั้งม้า ลา อูฐ โค แพะ และแกะ เป็นโรคระบาดร้ายแรง และยกเว้นฝูงสัตว์ของคนอิสราเอลที่จะไม่เป็นโรค โดยกำหนดโรคระบาด คือ วันถัดไป
แต่องค์ฟาโรห์ ก็มิได้สนพระทัย วันรุ่งขึ้นฝูงสัตว์ของอียิปต์ก็พากันตายหมด เหลือเพียงฝูงสัตว์ของอิสราเอล แต่ฟาโรห์ก็ยังไม่ทรงปล่อยชาวอิสราเอลออกไป[6]
[แก้] ภัยพิบัติจากฝี
พระเจ้าทรงให้ โมเสส กำเขม่าจากเตาไฟเต็มฝ่ามือ ไปเข้าเฝ้า ฟาโรห์ และเมื่ออยู่ต่อหน้าฟาโรห์ ก็ซัดเขม่านั้นออกไป เขม่านั้นก็กลายเป็นฝุ่นกระจายไปทั่วอียิปต์ ทำให้ชาวอียิปต์กลายเป็นฝีแตกลามทั้งตัว รวมไปถึงเหล่านักแสดงกลของฟาโรห์ ก็เป็นฝีทั่วตัวด้วยเช่นกัน แต่องค์ฟาโรห์ก็ไม่ยอมปล่อยอิสราเอลออกไป[7]
[แก้] ภัยพิบัติจากลูกเห็บ
พระเจ้าทรงให้โมเสสเข้าเฝ้าฟาโรห์แต่เช้า และทูลต่อพระองค์ว่า หากฟาโรห์ไม่ยินยอมปล่อยชาวอิสราเอลไป วันรุ่งขึ้น พระเจ้าจะให้มีลูกเห็บตกลงทั่วแผ่นดินอียิปต์อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และเตือนให้ผู้คนและสัตว์ทั้งหลายหลบอยู่ในที่กำบัง มิฉะนั้นจะโดนลูกเห็บเสียชีวิต
เหล่าข้าราชบริพารส่วนใหญ่ก็เกรงกลัว จึงได้นำฝูงสัตว์หลบในที่กำบัง และเมื่อถึงเวลา พระเจ้าก็ทรงบันดาลให้มีลูกเห็บ และฟ้าร้อง ลูกเห็บที่ตกลงในแผ่นดินอียิปต์ครั้งนั้นนับว่าเป็นครั้งใหญ่ที่สุด จึงทำลายพืชผลของอียิปต์ทั้งแผ่นดิน ยกเว้นแต่ในเมืองโกเชนที่อิสราเอลอาศัยอยู่ ไม่มีลูกเห็บตกเลย
ฟาโรห์จึงทรงให้คนไปตามโมเสส และอาโรนมา แจ้งว่า "ครั้งนี้เราทำบาปแน่แล้ว พระเจ้าเป็นฝ่ายถูก เราและชนชาติของเราผิด..." แต่โมเสสก็ทราบว่าที่ฟาโรห์กล่าวเช่นนั้นมิได้ยำเกรงพระเจ้าจริง แต่เมื่อโมเสสออกจากเข้าเฝ้าฟาโรห์ ก็ทูลขอต่อพระเจ้าให้ลูกเห็บหยุดตก ฟาโรห์ก็ยังคงแข็งขืน มิยอมให้อิสราเอลออกจากอียิปต์ไป[8]
[แก้] ภัยพิบัติจากฝูงตั๊กแตน
พระเจ้าก็ทรงให้ โมเสส และอาโรน เข้าเฝ้าฟาโรห์ อีกครั้ง แจ้งว่าครั้งนี้ พระเจ้าจะทรงให้เกิดฝูงตั๊กแตนเข้าทำลายพืชผลที่เหลือรอดจากลูกเห็บเสียสิ้น บรรดาข้าราชบริพารจึงพากันทูลขอให้ฟาโรห์ปล่อยพวกเขาไป
ฟาโรห์จึงให้โมเสส และอาโรน นำอิสราเอลไปนมัสการพระเจ้าได้ แต่ให้นำไปได้เฉพาะผู้ชาย แต่ผู้หญิงต้องอยู่ในอียิปต์ ดังนั้นเมื่อโมเสสกลับจากเข้าเฝ้า พระเจ้าจึงทรงให้มีฝูงตั๊กแตนจำนวนมากเข้าทำลายพืชผลทั่วแผ่นดินอียิปต์
ฟาโรห์จึงให้เรียก โมเสส และอาโรนมาเฝ้า และขอให้ทูลต่อพระเจ้าให้ไล่ฝูงตั๊กแตนไปเสีย โมเสสก็ทูลขอต่อพระเจ้า แต่ฟาโรห์ก็เปลี่ยนพระทัย ไม่ยอมให้อิสราเอลออกไปจากอียิปต์อีก[9]
[แก้] ภัยพิบัติจากความมืด
ต่อมาพระเจ้าจึงทรงทำให้ท้องฟ้าเหนือแผ่นดินอียิปต์มืดไป เป็นเวลา 3 วัน ชาวเมืองไม่สามารถไปไหนได้ เพราะมองไม่เห็น ยกเว้นแต่เมืองที่ชาวอิสราเอลอาศัยอยู่ที่มีแสงสว่าง ฟาโรห์จึงให้ตามต้ว โมเสส และอาโรน มา แจ้งว่าจะทรงอนุญาตให้นำผู้คนได้นนัสการพระเจ้าได้ทุกคน แต่ไม่ทรงอนุญาตให้นำฝูงสัตว์ไป โมเสสจึงแจ้งว่า "ต้องโปรดประทานให้มีเครื่องสัตวบูชา และเครื่องเผาบูชาติดมือไปด้วย...ข้าพระบาทต้องนำฝูงสัตว์ไปด้วย ขาดไม่ได้สักกีบเดียว..." องค์ฟาโรห์จึงทรงพิโรธ ขับไล่ทั้งสองออกไป และกล่าวว่า "อย่ามาให้เราเห็นหน้าอีกเลย เพราะถ้าเจ้าเห็นหน้าเราวันใด เจ้าจะต้องตายวันนั้น" [10]
[แก้] มรณกรรมของบุตรหัวปี
นี่เป็นภัยพิบัติสุดท้ายที่พระเจ้าทรงกระทำต่ออียิปต์ และเป็นภัยพิบัติที่เป็นเหตุให้องค์ฟาโรห์ต้องอนุญาตให้อิสราเอลออกจากแผ่นดินอียิปต์ไปได้ และภัยพิบัตินี้ ก็เป็นที่มาของพิธีปัสกา หนึ่งในพิธีศักดิ์สิทธิ์ของชาวยิวมาจนทุกว้นนี้
ก่อนที่พระเจ้าจะทรงประทานภัยพิบัตินี้ พระเจ้าทรงให้โมเสสไปรวบรวมคนอิสราเอล จัดเก็บทรัพย์สิ่งของ และฝูงสัตว์เพื่อเตรียมเดินทางออกจากอียิปต์ และโมเสสก็แจ้งว่าในคืนนั้น พระเจ้าจะทรงออกไปท่ามกลางอียิปต์ และนำบุตรหัวปีของอียิปต์ ตั้งแต่ราชบุตรหัวปีของฟาโรห์ จนถึงบุตรหัวปีของเหล่าทาส สัตว์เลี้ยงไปเสียสิ้นทั้งแผ่นดินอียิปต์ แต่จะไม่ทรงแตะต้องคนอิสราเอลเลย[11]
ก่อนถึงเวลาเที่ยงคืน โมเสสให้อิสราเอลถือพิธีปัสกา เพื่อเป็นเครื่องหมายให้พระเจ้าทรงทราบว่าบ้านหลังใดเป็นของอิสราเอล จะได้ทรงผ่านไปเสีย และเมื่อเวลาเที่ยงคืน คืนนั้นก็เกิดภัยพิบัติสุดท้ายแก่อียิปต์ ทุกบ้านต่างเสียบุตรชายหัวปีไปเสียสิ้น ฟาโรห์และชาวอียิปต์ทั้งสิ้นจึงต่างเร่งรัดให้อิสราเอลทั้งผู้คน สัตว์เลี้ยง และทรัพย์สิ่งของออกไปจากแผ่นดินอียิปต์ รวมเวลาที่อิสราเอลอยู่ในอียิปต์เป็นเวลา 430 ปี คนอิสราเอลที่ออกเดินทางจากอียิปต์มีจำนวนนับเฉพาะผู้ชาย ได้ประมาณ หกแสนคน เป็นอันจบภัยพิบัติที่มีต่ออียิปต์ และเป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทางของชนชาติอิสราเอล[12]
[แก้] ดูเพิ่มเติม
[แก้] อ้างอิง
- ↑ พระธรรมอพยพ บทที่ 7 ข้อที่ 8-13
- ↑ พระธรรมอพยพ บทที่ 7 ข้อที่ 14-25
- ↑ พระธรรมอพยพ บทที่ 8 ข้อที่ 1-14
- ↑ พระธรรมอพยพ บทที่ 8 ข้อที่ 15-19
- ↑ พระธรรมอพยพ บทที่ 8 ข้อที่ 20-31
- ↑ พระธรรมอพยพ บทที่ 8 ข้อที่ 32 ถึง บทที่ 9 ข้อที่ 8
- ↑ พระธรรมอพยพ บทที่ 9 ข้อที่ 8-12
- ↑ พระธรรมอพยพ บทที่ 9 ข้อที่ 13-34
- ↑ พระธรรมอพยพ บทที่ 9 ข้อที่ 1-20
- ↑ พระธรรมอพยพ บทที่ 10 ข้อที่ 21-28
- ↑ พระธรรมอพยพบทที่ 11
- ↑ พระธรรมอพยพ บทที่ 12
เบญจบรรณ | ปฐมกาล · อพยพ · เลวีนิติ · กันดารวิถี · เฉลยพระธรรมบัญญัติ |
พงศาวดาร | โยชูวา · ผู้วินิจฉัย · นางรูธ · 1ซามูเอล · 2ซามูเอล · 1พงศ์กษัตริย์ · 2พงศ์กษัตริย์ · 1พงศาวดาร · 2พงศาวดาร · เอสรา · เนหะมีย์ · (สารบบที่2)โทบิต · (สารบบที่2)ยูดิธ · เอสเธอร์ · (สารบบที่2)1 มัคคาบี · (สารบบที่2)2 มัคคาบี |
เพลง | โยบ · เพลงสดุดี · สุภาษิต · ปัญญาจารย์ · เพลงซาโลมอน · (สารบบที่2)ปรีชาญาณ · (สารบบที่2)บุตรสิรา |
ประกาศกใหญ่ | อิสยาห์ · เยเรมีย์ · เพลงคร่ำครวญ · (สารบบที่2)บารุค · เอเสเคียล · ดาเนียล |
ประกาศกน้อย | โฮเชยา · โยเอล · อาโมส · โอบาดีย์ · โยนาห์ · มีคาห์ · นาฮูม · ฮาบากุก · เศฟันยาห์ · ฮักกัย(ฮักโก) · เศคาริยาห์ · มาลาคี |