ภาษาดิเวฮิ
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ภาษาดิเวฮิ (Divehi) เป็นภาษากลุ่มอินโด-อารยันและเป็นภาษาราชการของสาธารณรัฐมัลดีฟส์ มีคนพูดประมาณ 300,000 คน ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในมัลดีฟส์ รวมทั้งภาษามาห์ล (Mahl dialect)ที่ใช้ในลักษทวีป ซึ่งเป็นดินแดนสหภาพของอินเดีย ซึ่งเรียกชื่อต่างกันด้วยเหตุผลทางการเมือง ภาษาที่มีอิทธิพลต่อการพัฒนาของภาษาดิเวฮิมีหลายภาษา โดยเฉพาะภาษาอาหรับ ที่เข้ามาพร้อมกับศาสนาอิสลาม รวมทั้ง ภาษาสิงหล ภาษามาลายาลัม ภาษาฮินดี ภาษาฝรั่งเศส ภาษาเปอร์เซีย ภาษาโปรตุเกส และ ภาษาอังกฤษ คาดว่าภาษาดิเวฮิและภาษาสิงหลสืบมาจากภาษาเดียวกัน ซึ่งได้สูญพันธุ์ไป เมื่อเกิดภาษาใหม่ 2 ภาษาในช่วงประมาณ พ.ศ. 43
เนื่องจากเกาะอยู่ไกลกันมาก จึงเกิดความต่างกันในการออกเสียงและคำศัพท์ โดยเฉพาะระหว่างเกาะตอนเหนือและตอนใต้ คนในมาเล่ (Malé) ไม่สามารถเข้าใจภาษาย่อยที่ใช้ในหมู่เกาะอัดดุ (Addu) ได้
อักษรที่ใช้เขียนภาษาดิเวฮิมี 2 ชนิด ชนิดที่ใช้ในปัจจุบันเรียกว่าอักษรทานะ (Thaana) เขียนจากขวาไปซ้าย ส่วนอักษรดั้งเดิมเรียกอักษรดิเวส อกุรุ (Dhives Akuru) ซึ่งเขียนจากซ้ายไปขวา อักษรดิเวส อกุรุ ใช้ในทุกเกาะจนถึงช่วงคริสตศตวรรษที่ 18 และการมาถึงของศาสนาอิสลาม แต่ยังคงใช้ในการติดต่อกับหมู่เกาะอัดดุ จนถึงช่วงคริสตศตวรรษที่ 20 ตอนต้น และยังคงใช้ในเกาะที่ห่างไกลและหมู่บ้านในชนบทจนถึงทศวรรษ 1960 คนที่ใช้เป็นอักษรแม่คนสุดท้ายตายในช่วงทศวรรษ 1990 และปัจจุบัน ส่วนใหญ่ชาวมัลดีฟส์ไม่ได้เรียนอักษรดิเวส อกุรุ กันทุกคน แต่คนที่เรียนจะเรียนเป็นอักษรที่ 2
ภาษาดิเวฮิมีการแบ่งระดับชั้นของภาษาชัดเจนโดยมีระดับของภาษา 3 ระดับ คือ ระดับแรก รีทิ บัส (reethi bas) หรือ อาเธ-วดัยเนฟวุน (aadhe-vadainevvun) ในอดีตใช้ติดต่อกับชนชั้นสูงและราชวงศ์ แต่ปัจจุบันใช้ในวิทยุโทรทัศน์ ในการแสดงความเคารพต่อผู้สูงอายุ เจ้าหน้าที่ และคนแปลกหน้า จะใช้ระดับที่ 2 คือ ลับบา-ธุรุวุน (labba-dhuruvun) คนส่วนใหญ่ใช้ระดับที่ 3 ที่เป็นระดับกันเองในชีวิตประจำวัน
อัตราการเรียนรู้หนังสือสูงมาก (98%) เมื่อเทียบกับประเทศในเอเชียใต้ประเทศอื่น ๆ ตั้งแต่ทศวรรษ 1960 ในการสอนหนังสือในโรงเรียนส่วนใหญ่ใช้ภาษาอังกฤษ แต่ก็ยังคงมีการสอนหนังสือภาษาดิเวฮิ และใช้ในการปกครอง