โรคหวัด
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
โรคเยื่อจมูกและลำคออักเสบเฉียบพลัน (Acute nasopharyngitis / common cold / Upper respiatory tract infection / URI) เรียกโดยทั่วไปว่าโรคหวัด หรือไข้หวัด (Common cold) เป็นโรคติดต่อจากการติดเชื้อไวรัส ในระบบทางเดินหายใจส่วนบน (ได้แก่ จมูกและคอ) อาการของโรคประกอบด้วยการจาม, อาการคัดจมูก, เยื่อจมูกที่จะบวมและแดง, และยังมีการหลั่งน้ำมูกมากกว่าปกติจนไหลออกทางจมูก ถ้าเชื้อไวรัสติดเชื้อไปที่จมูก แต่ถ้าติดเชื้อที่คอ จะมีอาการเจ็บคอ คอแหบแห้ง หรือมีเสมหะสะสมอยู่บริเวณลำคอ โดยการติดเชื้ออาจจะเกิดขึ้นได้ทั้งสองบริเวณ นอกจากนี้ผู้เป็นโรคจะมีอาการไอ, ปวดศีรษะ และเหนื่อยง่าย ไข้หวัดมักจะมีระยะโรคอยู่ที่ประมาณสามถึงห้าวัน อาจร่วมด้วยอาการไอที่สามารถต่อเนื่องไปได้ถึงสามสัปดาห์
โรคหวัดเป็นที่พบบ่อยที่สุด ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ บางคนอาจเป็นปีละหลายครั้ง (โดยเฉพาะในเด็กเล้กที่เพิ่งเข้าโรงเรียนในปีแรกๆ อาจเป็นเฉลี่ยประมาณเดือนละครั้ง ) โรคหวัดเป็นโรคที่พบได้ง่ายที่สุดในบรรดาโรคที่มนุษย์เคยประสบมาทั้งหลาย โดยเฉลี่ยแล้วทุกคนจะติดเชื้อหนึ่งครั้งต่อปี ทำให้ต้องสูญเสียแรงงาน เวลาเรียนและสิ้นเปลืองเงินทองไปปีละมากๆ
เมื่อมีอายุมากขึ้น ร่างกายจะมีภูมิต้านทานต่อเชื้อหวัดชนิดต่างๆ มากขึ้น ก็จะป่วยเป็นไข้หวัดห่างขึ้นและมีอาการรุนแรงน้อยลง โรคนี้สามารถติดต่อกันได้ง่ายดายการอยู่ใกล้ชิดกัน จึงพบมากในโรงเรียน โรงงาน และที่มีคนอยู่รวมกันมากๆ โอกาสที่เชื้อไวรัสจะแพร่ไปได้มีมากที่สุดคือระหว่างเด็กกับผู้ปกครอง ซึ่งอาจเกิดได้จากความหนาแน่นของผู้คนในโรงเรียน และการที่เชื้อไวรัสจะมีประสิทธิภาพในการแพร่เชื้อไปยังสมาชิกในครอบครัวมากเป็นพิเศษ
โรคหวัดเป็นโรคที่พบได้ตลอดทั้งปี มักจะพบมากในช่วงฤดูฝนฤดูหนาว หรือในช่วงที่มีอากาศเปลี่ยนแปลง ส่วนฤดูร้อนจะน้อย
ทั้งนี้เนื่องจากเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของไข้หวัด (เชื้อหวัด) มีอยู่เกือบ 200 ชนิด ซึ่งผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันทำให้เกิดการอักเสบทางเดินหายใจส่วนต้น (จมูกและคอ) ครั้งละชนิด กระนั้น ผู้ที่ติดโรคนี้มากกว่าสามครั้งต่อปีก็ไม่ได้น่าแปลกอะไรในกลุ่มประชากรบางกลุ่ม
โรคหวัดอยู่โรคประเภทติดเชื้อที่ระบบทางเดินหายใจส่วนบน ในขณะเดียวกัน แม้ว่าโรคไข้หวัดใหญ่ (Influenza) จะเป็นโรคประเภทเดียวกัยโรคหวัด แต่ความรุนแรงของการติดเชื้อไวรัสนี้ รวมถึงอาการที่เพิ่มขึ้นได้แก่การที่เกิดไข้ขึ้นสูง และการปวดเมื่อยเนื้อตัวและกล้ามเนื้อนั้นรุนแรงกว่ามาก ในขณะที่โรคหวัดมีอัตราความเสี่ยงต่อชีวิตต่ำ แต่อาการแทรกซ้อนอย่างเช่นปอดบวมก็อาจทำให้เกิดการเสี่ยงชีวิตขึ้นได้
สารบัญ |
[แก้] สาเหตุไข้หวัด และลักษณะของโรค
เกิดจากเชื้อหวัด ซึ่งเป็นเชื้อไวรัส มีอยู่ร่วม 200 ชนิดด้วยกัน การเกิดโรคขึ้นในแต่ละครั้งจะเกิดจากเชื้อหวัดเพียงชนิดเดียว เมื่อเป็นแล้วคนเราก็จะมีภูมิต้านทานต่อเชื้อหวัดชนิดนั้น ในการเจ็บป่วยครั้งใหม่ก็จะเกิดจากเชื้อหวัดชนิดใหม่ หมุนเวียนกันไปเรื่อยๆ เชื้อหวัดมีอยู่ในน้ำมูก น้ำลาย และเสมหะของผู้ป่วย ติดต่อดดยการไอ หรือหายใจรดกัน นอกจากนี้ เชื้อหวัดยังอาจติดต่อได้โดยการสัมผัสมือ กล่าวคือ เชื้อหวัดติดที่มือผู้ป่วยเมื่อสัมผัสถูกมือของคนอื่นเชื้อหวัดก็จะติดมือของคนๆ นั้น และเมื่อใช้นิ้วขยี้ตาหรือแคะจมูกก็จะเข้าสู่ร่างกายของคนๆ นั้นจนกลายเป็นไข้หวัดได้
โรคหวัดอาจเกิดได้จากเชื้อไวรัสหลายชนิดด้วยกัน โดยส่วนใหญ่มักเป็นเชื้อไวรัสประเภทคอรีซา (Coryza viruses) ได้แก่ไรโนไวรัส (Rhinovirus) และโคโรนาไวรัส (Coronavirus) ที่พบมากที่สุด เชื้อไวรัสยังรวมไปถึงเอคโคไวรัส (Echovirus), อะดิโนไวรัส (Adenovirus), พาราไมโซไวรัส (Paramixovirus), คอกซ์แซกคีไวรัส (Coxsackievirus) รวมถึงไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคหวัดอีกหลายร้อยประเภทที่ถูกค้นพบ จะทำให้เกิดการติดเชื้อบริเวณระบบทางเดินหายใจส่วนบน โดนไวรัสเหล่านี้สามารถกลายพันธุ์เพื่อดำรงชีวิตให้อยู่รอดในสภาพแวดล้อมต่างๆ ได้ (ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ว่า วิธีการรักษาโรคนี้ยังไม่น่าจะถูกค้นพบในเร็ววัน) โดยที่บริเวณกล่องเสียง (คอหอย) จะเป็นเป็นศูนย์รวมของเชื้อไวรัส โดยสาเหตุที่เชื้อไวรัสชอบไปสะสมตัวกันที่กล่องเสียงก็เนื่องมาจากอุณหภูมิของกล่องเสียงที่ต่ำกว่าบริเวณลำคอ และเป็นส่วนที่มีเซลล์ตัวกระตุ้นมาก ซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมที่ไวรัสชอบ
[แก้] การติดต่อ
โรคหวัดสามารถติดต่อจากคนสู่คนได้ผ่านทางละอองน้ำมูกและน้ำลายที่มาจากการไอหรือจามของผู้ป่วย โดยละอองเหล่านี้สามารถทำให้คนเป็นหวัดได้ผ่านจากการสูดละอองเหล่านี้เข้าไปโดยบังเอิญ หรือผ่านการสัมผัสจากมือต่อมือกับผู้ป่วย และจากการสัมผัสวัตถุที่ผู้ป่วยเคยสัมผัสมาก่อน ซึ่งจะติดต่อผู้ที่ไม่เป็นโรคได้ผ่านทางส่วนตาและจมูก เมื่อมือที่เปื้อนเชื้ออยู่สัมผัสไปโดน
ไวรัสนี้อาศัยการไอและจามของผู้ป่วยเป็นตัวแพร่กระจายเชื้อจากผู้ป่วยไปยังผู้อื่น ก่อนที่มันจะถูกระบบภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยสกัดกั้นไว้ได้ โดยการจามจะขับไวรัสที่เกาะตัวกันอยู่หนาแน่นในละอองน้ำลายหรือน้ำมูกมากกว่าการไอ โดยละอองเหล่านี้ไม่สามารถมองเห็นได้ ยกเว้นที่ร่มที่แสงแดดส่องถึง และมีอัตราการตกสู่พื้นที่ช้ามาก ซึ่งกินเวลาเป็นชั่วโมงๆ กว่าที่ละอองจะตกถึงพื้น รวมถึงการแพร่กระจายของเชื้อเมื่อนิวเคลียสของละอองระเหย และทิ้งเชื้อที่เล็กกว่ามากและไม่สามารถมองเห็นได้เลย นั่นก็คือนิวเคลียสของละอองเองไว้ในอากาศ กลุ่มละอองน้ำลายหรือน้ำมูกจากการจามหรือไออย่างรุนแรง หรือจากการสัมผัสมือที่เปื้อนเชื้อ เชื้อไวรัสจะเกาะตัวแน่นบนพื้นผิวใดๆ ที่มันอยู่ได้เป็นชั่วโมงๆ กระนั้น ไวรัสเกาะติดอยู่ได้น้อยกว่าบนพื้นผิวที่มีรูโปร่งเช่นแผ่นไม้หรือกระดาษชำระ ซึ่งต่างจากวัตถุทึบตันเช่นราวเหล็กที่เชื้อสามารถเกาะติดได้นานกว่า โดยผู้ป่วยนั้นจะมีโอกาสเป็นพาหะได้มากที่สุดในช่วงสามวันแรกของการเป็นโรค แต่การติดต่อของโรคนี้ไม่จำเป็นต้องเกิดจากผู้ที่แสดงอาการ เนื่องจากมีไวรัสที่ทำให้เกิดหวัดอยู่หลายชนิดเหมือนกัน ที่ไม่ก่อให้เกิดอาการ แต่ยังคงมีไวรัสที่ทำให้เกิดโรคหวัดอยู่ได้ในน้ำมูก อาจเป็นเพราะว่าไวรัสมีจำนวนน้อยเกินไปกว่าที่ผู้ป่วยจะแสดงอาการได้
[แก้] กลไกในการติดต่อ
ไวรัสเชื้อหวัดสามารถเข้าสู่ร่างกายได้ โดยการเข้าไปในเซลล์ที่หุ้มกล่องเสียงอยู่ จากนั้นมันจะทำการแพร่พันธุ์ตนเองแบบทวีคูณ ทางเข้าหลักของไวรัสเหล่านี้คือผ่านทางตาและจมูก ผ่านทางท่อนาโซไครมัล (Nasocrymal duct) แล้วจึงเข้าไปในกล่องเสียง โดยปากนั้นไม่ใช่ทางเข้าหลักของเชื้อ และเชื้อมักจะไม่ติดต่อผ่านการจูบกัน
ไวรัสนั้นจะเข้าสู่เซลล์โดยการเกาะโมเลกุลกระตุ้นการเกาะติดระหว่างเซลล์หรือ ICAM ประเภทที่ 1 (ICAM - Intercellular adhesion molecule) โดยถ้าเซลล์ใดมี ICAM-1 ก็อาจทำให้เซลล์ดังกล่าวติดเชื้อได้ จำนวนของไวรัสนั้นเป็นแค่หนึ่งในปัจจัยหลายๆ ปัจจัยของสาเหตุที่ทำให้เป็นหวัดได้, ซึ่งรวมไปถึงการเป็นไข้ละอองฟางหรือภูมิแพ้อากาศ (hay fever, allergic rhinitis) และตัวที่ทำให้เกิดอาการระคายต่างๆ รวมไปถึงไรโนไวรัสที่เป็นหนึ่งในชนิดของไวรัสที่ทำให้เป็นหวัดได้ โดย ICAM-1 นี้กลายเป็นจุดหลักสำคัญในการวิจัยหายารักษาโรคหวัด
[แก้] อาการของโรค
ระยะฟักตัว ระยะตั้งแต่ผู้ป่วยรับเชื้อเข้าไปจนกระทั่งมีอาการเกิดขึ้น 1-3 วัน
คนที่ได้รับเชื้อไวรัสไข้หวัดเข้าไปมีอัตราการเป็นโรคสูงถึง 95% อย่างไรก็ตามมีเพียง 75% เท่านั้นที่แสดงอาการออกมา โดยการแสดงอาการจะเกินขึ้น 1-2 วันหลังจากการติดเชื้อ ซึ่งโดยปกติแล้วอาการของโรคหวัดจะเริ่มต้นด้วยอาการเจ็บคอ และไม่มีอาการติดขัดใดๆ ในระบบทางเดินหายใจ หลังจากนั้นเอง อาการจะเกิดขึ้นจากกลไกการสกัดกั้นเชื้อโรคของร่างกายได้แก่ อาการจาม, น้ำมูกไหล, และไอเพื่อขับเชื้อออกไป และการเกิดอาการอักเสบเพื่อกระตุ้นให้เซลล์ภูมิคุ้มกันทำงาน
ผูป่วยอาจมีไข้ตัวร้อนเป็นพักๆ ครั่นเนื้อครั่นตัว อ่อนเพลีย ปวดหนักศีรษะเล้กน้อย เป็นหวัด คัดจมูก น้ำมูกใสจาม คอแห้ง หรือเจ็บคอเล้กน้อย ไอแห้งๆ หรือไอมีเสมหะเล็กน้อยลักษณะสีขาว บางครั้งอาจทำให้รู้สึกเจ็บแถวลิ้นปี่เวลาไอ ในผู้ใหญ่อาจไม่มีไข้ มีเพียงคัดจมูก น้ำมูกใส ในเด็กมักจับไข้ขึ้นมาทันทีทันใด บางครั้งอาจมีไข้สูง และชักได้ มีอาการท้องเดินได้ หรือถ่ายเป็นมูกร่วมด้วย ถ้าเป็นเกิน 4 วัน หรือถ่ายเป็นมูกข้นเหลืองหรือเขียวหรือไอมีเสลดเป็นสีเหลืองหรือเขียว จากการอักเสบซ้ำของเชื้อแบคทีเรีย และอาจมีอาการอื่นๆ แทรกซ้อนตามมาซึ่งจำเป็นต้องให้ยาปฏิชีวนะร่วมกัน ตรวจพบ ไข้ น้ำมูก เยื่อจมูกบวมและแดง คอแดงเล็กน้อย ในเด็กอาจพบต่อมทอลซิลโต แต่ไม่แดงมากและไม่มีหนอง
หลังจากผู้ป่วยหายจากโรคหวัดแล้ว ร่างกายของผู้ป่วยจะสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสไข้หวัดชนิดที่ผู้ป่วยเพิ่งประสบมาโดยเฉพาะ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมีเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคหวัดอยู่มากมาย ภูมิคุ้มกันนี้จึงให้การป้องกันที่จำกัด ดังนั้นคนที่หายจากโรคหวัดมา อาจเป็นได้อีก ถ้าติดเชื้อไวรัสไข้หวัดอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งจะทำให้กระบวนการและอาการทั้งหมดเริ่มขึ้นใหม่อีกครั้ง
[แก้] โรคแทรกซ้อน
โรคแทรกซ้อนอาจเกิดขึ้นได้ในขณะที่เป็นโรคหวัด เมื่อมีแบคทีเรียที่ปกติแล้วจะอยู่ในระบบทางเดินหายใจอาศัยโอกาสที่ระบบภูมิคุ้มกันกำลังอ่อนแอเข้าไปร่วมทำการแพร่เชื้อกับไวรัส
โรคแทรกซ้อนที่พบบ่อยเกิดจากการอักเสบแทรกซ้อนของเชื้อแบคทีเรีย (bacteria) ทำให้นำมูกหรือเสลดเป็นสีเหลืองหรือเขียว ถ้าลุกลามไปยังบริเวณใกล้เคียง อาจทำให้เป็นต่อมทอลซิลอักเสบ ไซนัสอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ ในเด็กเล็ก อาจทำให้มีอาการชักจากไข้สูง ท้องเดิน บางคนอาจมีเสียงแหบ เนื่องจากกล่องเสียงอักเสบ บางคนอาจมีอาการวิงเวียน เนื่องจากอวัยวะการทรงตัวภายในอักเสบ ดังที่เรียกว่า หวัดลงหูซึ่งจะหายได้เองภายใน 3-5 วัน โรคแทรกที่รุนแรงมักจะเกิดในผู้ป่วยที่ไม่ได้พักผ่อน ตรากตรำงานหนัก ร่างกายอ่อนแอ (เช่น ขาดอาหาร) ในทารกหรือผู้สูงอาย
โดยปกติแล้ว โรคหูชั้นกลางอักเสบ (Otitis media) ที่มักพบในเด็กเล็ก และโรคโพรงอากาศอักเสบ (Sinusitis หรือไซนัสอีกเสบ) จะเป็นโรคแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นบ่อย ซึ่งสาเหตุของการร่วมแพร่เชื้อของแบคทีเรียอาจเกิดขึ้นได้จากการถูกกระทบโดยน้ำมูก หรือถูกในบริเวณนั้นถูกปกคลุมโดยน้ำมูกที่ถูกขับออกมาทางจมูก ซึ่งอธิบายเหตุผลที่ว่าไม่ควรจะปิดจมูกแน่นเมื่อจะมีอาการจามหรือจะสั่งน้ำมูก แต่ควรเปิดโพรงจมูกไว้ทั้งสองข้างแล้วเมื่อจามหรือสั่งน้ำมูกแล้วจึงค่อยเช็ด ซึ่งจะเป็นการทำให้ความกดดันจากการจามหรือสั่งน้ำมูกลดลงไปส่วนหนึ่ง และจะทำให้น้ำมูกไม่เข้าไปในหูหรือบริเวณโพรงอากาศได้
[แก้] การป้องกันโรค
วิธีที่ดีที่สุดที่จะหลีกเลี่ยงเชื้อหวัดได้คือการหลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้ป่วย, และด้วยการล้างมือให้สะอาดบ่อยๆ รวมถึงหลีกเลี่ยงการสัมผัสใบหน้าของตนเอง สบู่ต่อต้านแบคทีเรียนั้นไม่มีผลต่อไวรัสไข้หวัด หากแต่เป็นการทำความสะอาดเชิงกลผ่านมือที่จะล้างและปัดอนุภาคไวรัสออกไป ใน พ.ศ. 2545 ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งกระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการสังคมในประเทศสหรัฐอเมริกาแนะนำว่าเจลทามือที่มีส่วนประกอบเป็นแอลกอฮอล์จะช่วยลดไวรัสที่ปนเปื้อนบนมือได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม แม้จะร่วมกับการล้างมืออย่างถูกวิธีบ่อยๆ แล้ว แอลกอฮอล์ก็ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อจากไวรัสที่หลงเหลืออยู่บนมือได้ และไม่ได้ช่วยป้องกันให้เชื้อไวรัสมาปนเปื้อนมือได้อีกครั้ง นอกจากนี้การสูบบุหรี่ยังมีผลให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง จากการสำรวจพบว่าประชากรที่ไม่สูบบุหรี่จะฟื้นตัวจากโรคได้เร็วกว่าประชากรที่สูบบุหรี่อยู่หลายวันด้วยกัน โดยที่ผู้สูบบุหรี่ที่ทำงานแล้วมีอัตราการขาดงานมากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ถึง 25%
และเนื่องจากจำนวนชนิดของไวรัสที่ทำให้เกิดโรคหวัดที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก การฉีดวัคซีนป้องกันจึงไม่เป็นที่ปฏิบัติกัน
[แก้] การรักษา
ในขณะนี้ ยังไม่มีหนทางใดๆ ในการรักษาโรคหวัด หรือในเชิงวิชาการแล้ว ยังไม่มีวิธีการรักษาใดๆ ที่สามารถต่อสู้กับเชื้อไวรัสไข้หวัดได้ และได้รับการพิสูจน์ทางการแพทย์แล้ว
มีเพียงระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเท่านั้นที่สามารถทำลายเชื้อโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งกระบวนการสร้างภูมิคุ้มกันนั้นจะใช้เวลาประมาณ 7 วันในบุคคลที่มีสุขภาพแข็งแรง ซึ่งในการเป็นโรคหวัดหนึ่งครั้งจะมีอนุภาคไวรัสอยู่หลายล้านอนุภาคอยู่ในร่างกาย ซึ่งโดยปกติ เมื่อผ่านการติดเชื้อมาไม่กี่วัน ร่างกายก็จะเริ่มผลิตแอนติบอดี้ (Antibody) ที่สามารถป้องกันการติดเชื้อไข้หวัดของเซลล์ออกมาเป็นจำนวนมาก เช่นเดียวกันกับเซลล์เม็ดเลือดขาวที่จะทำลายไวรัสผ่านการโอบเซลล์เอาไว้หรือวิธีการฟาโกไซโทซิส (Phagocytosis) ซึ่งจะทำลายเซลล์ที่ติดเชื้อไปด้วยเพื่อป้องกันการแพร่ออกไปอีกของไวรัส และเนื่องจากกระบวนการการติดเชื้อของโรคจะกินเวลาจากแค่ไม่กี่วันถึงหนึ่งสัปดาห์เท่านั้น แม้ว่าจะค้นพบวิธีการรักษาที่ถูกพิสูจน์แล้วก็ตามที ก็คงจะลดระยะเวลาการเป็นโรคหวัดเพียงแค่ไม่กี่วันเท่านั้น อย่างไรก็ตามที ยังมีวิธีการรักษาทั้งทางเวชกรรมที่อยู่ในขั้นทดลองและวิธีการเยียวยาโดยธรรมชาติอยู่หลายวิธีด้วยกัน ได้แก่
[แก้] ยาปฏิชีวนะ
ยาปฏิชีวนะไม่ใช่สิ่งที่ใช้รักษาโรคหวัดได้ และไม่รักษาการติดเชื้อของไวรัส ฉะนั้นมันจึงไม่มีผลใดๆ กับเชื้อหวัด นอกจากนี้ การรักษาโรคหวัดด้วยยาปฏิชีวนะยังก่อให้เกิดผลเสียคือ การทำให้แบคทีเรียในร่างกายพัฒนาไปเป็นแบคทีเรียที่ดื้อยา หรือแม้กระทั่งทำให้การติดเชื้อขยายออกไป และทำลายสิ่งมีชีวิตที่มีอยู่ปกติในร่างกายอีกด้วย
[แก้] ต้นเอชชินาเซีย
แม้ว่าจะมีการศึกษาเชิงวิชาการเกี่ยวกับต้นเอชชินาเซีย (Echinacea) ที่เป็นไม้ดอกพันธุ์ที่มาจากทวีปอเมริกาเหนือมาแล้ว แต่ประสิทธิภาพในการรักษาโรคของมันยังไม่ได้เป็นที่พิสูจน์ การศึกษาทางการแพทย์โดยนักวิชาการที่ถูกตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ New England Journal of Medicine ได้สรุปว่า "…สารสกัดจากราก E. angustifolia (ดอกโคนฟลาวเวอร์ใบลีบซี่งเป็นหนึ่งในพันธุ์ของต้นเอชชินาเซีย) ไม่ว่าจะถูกใช้เพียงสารเดียวหรือประสมกับสารชนิดอื่น ไม่มีผลสำคัญทางการแพทย์ใดๆ ต่อการติดเชื้อไรโนไวรัส หรือจากอาการเจ็บป่วยทางการแพทย์ใดๆ ที่เกิดจากไวรัสชนิดนี้…"
[แก้] ยารักษาโดยบริษัทเภสัชกรรม
บริษัทไวโรฟาร์มาอินคอร์เปอเรต (ViroPharma Incorporated) และบริษัทเชอริ่ง-พลาว (Schering-Plough Ltd.) กำลังทำการพัฒนายาต่อต้านไวรัสพิคอร์นาไวรัส (Picornavirus) ที่เป็นไวรัสชนิดที่ก่อให้เกิดโรคหวัดเป็นส่วนใหญ่ ยาชื่อพลีโคนาริล (Pleconaril) ได้ถูกแสดงให้เห็นว่ามีประสิทธิภาพต่อเชื้อไวรัสเมื่อเข้าไปในร่างกายผ่านการบริโภคเข้าไป แต่ก็มีผลข้างเคียงที่สำคัญหลายประการที่ทำให้สูตรยาในขณะนี้ไม่ปลอดภัย โดยเชอริ่ง-โพลได้กำลังพัฒนาสูตรยาที่ทำให้การรับยาผ่านการหยอดจมูกเป็นไปได้ และจะทำให้ตัวยานี้มีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ไม่น่าจะเร็วกว่า พ.ศ. 2551 หรือ 2552 กว่าที่ยาตัวนี้จะถูกผลิตและวางจำหน่าย และไม่น่าจะเป็นไปได้ว่าผลของยาจะทำให้หายจากโรคเร็วขึ้นไปมากกว่าหนึ่งวัน
[แก้] อินเตอเฟอรอน
อินเตอเฟอรอน (Interferon) คือโปรตีนธรรมชาติที่ถูกผลิตโดยเซลล์ภูมิคุ้มกัน และร่างกายสามารถรับอินเตอเฟอรอนจากการหยอดจมูกได้ แต่ในปริมาณน้อย โดยในยุโรปตะวันออก, รัสเซีย และญี่ปุ่น วิธีนี้ได้ถูกใช้ในการป้องกันและรักษาโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจที่เกิดจากไวรัสอย่างเช่นโรคหวัดและโรคไข้หวัดใหญ่ แต่ในวงการแพทย์ตะวันตกส่วนใหญ่ยังคงถกเถียงกันเกี่ยวกับประสิทธิภาพของยาชนิดนี้ ในขณะนี้ กำลังมีงานวิจัยที่กำลังหาทางผลิตอินเตอเฟอรอนออกมาเป็นยาอมได้ เพื่อเป็นอีกหนทางหนึ่งในการรับยาที่ง่ายกว่า
[แก้] วิตามิน C
บทความที่ถูกตีพิมพ์ในช่วงปี พ.ศ. 2503 - 2522 ได้แนะนำว่าการบริโภควิตามิน C ไปในปริมาณมากจะช่วยป้องกันและลดอาการที่เกิดจากโรคหวัดได้ โดยผู้เริ่มแรกในการเสนอทฤษฎีนี้คือนักเคมีเชิงทฤษฎีที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมีชาวอเมริกัน ไลนัส พอลลิ่ง (Linus Pauling) ผู้ที่สนับสนุนวิธีการบริโภควิตามิน C ในปริมาณมากเพื่อป้องกันการติดเชื้ออย่างเต็มที่ ใน พ.ศ. 2513 เขาได้เขียนหนังสือขายดีชื่อว่า "วิตามิน C และโรคหวัด" (Vitamin C and the Common Cold) งานอภิวิเคราะห์ที่ถูกตีพิมพ์ใน พ.ศ. 2548 ได้ค้นพบว่าวิตามิน C ลดอาการของโรคหวัดถึง 50% ในผู้ป่วยที่มีความเหนื่อยล้า แต่กลับไม่มีผลช่วยลดอาการใดๆ ในผู้ป่วยธรรมดา และสารสกัดจากวิตามิน C ธรรมดาจะช่วยลดระยะเวลาการเป็นโรคในเด็ก 14% และในผู้ใหญ่ 8% นอกจากนี้ยังมีผู้ป่วยบางรายที่มีอาการไม่ตรงกัน แต่พึงสังเกตว่ายังไม่มีการทดลองในการรักษาใดๆ ที่ได้ทดลองเกี่ยวกับผลของวิตามิน C ต่อเด็ก แม้ว่าในการทดลองให้วิตามิน C จะแสดงผลที่ชัดเจนเกี่ยวกับระยะเวลาการเป็นโรคที่ลดลงอย่างเด่นชัดในเด็กก็ตามที
สถาบันวิตามิน C ได้แนะนำให้เริ่มต้นบริโภควิตามิน C ได้ถึง 8 กรัมในทุกๆ 20-30 นาที เพื่อที่จะแสดงถึงผลต่ออาการไข้หวัดของวิตามิน C ที่กำลังเกิดขึ้น แต่ผลจากการศึกษาส่วนใหญ่พบว่าปริมาณของวิตามิน C ส่งผลเพียงเล็กน้อยไม่จนถึงไม่ส่งผลเลยเมื่อให้วิตามิน C ต่อผู้ป่วยไล่ไปตั้งแต่ 100 ไปจนถึง 500 มิลลิกรัม ซึ่งถือว่าเป็นปริมาณที่น้อย ในบรรดาผู้สนับสนุนการใช้วิตามิน C และที่สำคัญพอๆ กันก็คือครึ่งชีวิตของกรดเกลือแอสคอร์บิก (Ascorbate หรือวิตามิน C นั่นเอง) จะอยู่ที่ประมาณ 30 นาที ซึ่งอธิบายว่าการศึกษาโดยให้วิตามิน C ในปริมาณมากส่วนใหญ่ให้ผลที่ไม่ถูกต้องสมบูรณ์ และการทำเช่นนั้นจะสร้างความแตกต่างของผลต่อปริมาณเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ส่วนการการศึกษาทางการแพทย์โดยการให้วิตามิน C อย่างต่อเนื่องกัน ได้ถูกคาดการณ์บนพื้นฐานทางเภสัชศาสตร์ว่าเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพ ได้ถูกรายงานเพียงเล็กน้อยในเอกสารต่างๆ โดยสรุปคือทฤษฎีที่ว่าการบริโภควิตามิน C ในปริมาณมากจะช่วยลดอาการจากโรคหวัดและป้องกันการติดเชื้อไข้หวัดได้นั้นได้ถูกพิสูจน์ว่าไม่เป็นความจริง และถูกหักล้างไปแล้ว แต่คำถามเชิงวิชาการที่กล่าวถึงประสิทธิภาพทางการแพทย์ของการบริโภถวิตามิน C ในปริมาณมากและต่อเนื่องกันยังคงเปิดอยู่
[แก้] สารผสมสังกะสี (ซิงค์กลูโคเนต)
สารที่มีธาตุสังกะสีเป็นส่วนประกอบได้ถูกอ้างว่ามีประสิทธิภาพในการรักษาการติดเชื้อจากโรคหวัด โดยได้มีการศึกษาทางการแพทย์เกี่ยวกับผลการรักษาของสังกะสีอยู่หลายงานด้วยกัน โดยที่ในบางครั้งก็มีการแสดงผล แต่ในบางครั้งกลับไม่มีการแสดงผล
งานอภิวิเคราะห์จากการศึกษาทางการแพทย์ 6 งานงานหนึ่ง ได้สรุปว่า "…แม้ว่าจะมีการทดลองแบบสุ่มอยู่หลายต่อหลายครั้ง ยังคงไม่พบหลักฐานที่บ่งบอกถึงยาอมที่มีเกลือสังกะสีเจืออยู่ว่าช่วยในการลดระยะเวลาที่เป็นโรคหรือไม่..." โดยบทความวิจารณ์เชิงวิชาการของงานอภิวิเคราะห์นี้ได้สรุปว่า "…โดยรวมแล้ว ผลสรุปที่กล่าวว่าการรักษาด้วยยาอมที่มีสังกะสีเจืออยู่ไม่ได้ลดระยะเวลาการเป็นโรคหวัดแต่อย่างใด แต่การไม่สามารถสรุปโดยหลักฐานได้ว่ายาอมที่มีสังกะสีเจืออยู่จะช่วยรักษาโรคหวัดได้หรือไม่นั้น อาจบ่งบอกได้ว่าการรักษาอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียง และการใช้ยาอมที่มีธาตุสังกะสีเจืออยู่ในการรักษาอาการของโรคหวัดควรได้รับการศึกษามากกว่านี้"
[แก้] การปฏิบัติตัวเมื่อเป็นโรคหวัด
- นอนหลับ, พักผ่อนให้เพียงพอ ห้ามตรากตรำงานหนัก หรือออกกำลังมากไป
- สวมเสื้อผ้าให้ร่างกายอบอุ่น หลี่กเลี่ยงการถูกฝน และสถานที่ที่มีอากาศเย็นจัด และอย่าอาบน้ำเย็นหรือดื่มน้ำเย็น
- ดื่มน้ำมากๆ เพื่อช่วยลดไข้และทดแทนน้ำที่เสียไปเนื่องจากไข้สูง หรืออาจดื่มเครื่องดื่มร้อนๆ
- ควรกินอาหารอ่อน น้ำข้าว น้ำหวาน น้ำส้ม น้ำผลไม้
- ใช้ผ้าชุบน้ำ ( ควรใช้น้ำอุ่นหรือน้ำธรรมดา อย่าใช้น้ำเย็นจัดหรือน้ำแข็ง) เช็ดตัวเวลาไข้สูงโดยเฉพาะในเด็กเล็กต้องคอยเช็ดตัว เวลามีไข้เนื่องจาก ถ้าไข้สูงอาจทำให้เด็กชักได้
- สวมผ้าปิดจมูก ป้องกันการแพร่ของเชื้อหวัดโดยการ ไอ-จาม
- หมั่นล้างมือให้สะอาด
- อยู่ในห้องที่อากาศถ่ายเทได้ดี
- หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้ที่ร่างกายอ่อนแอเช่นเด็ก คนแก่หรือคนที่ป่วยด้วยโรคเรื้อรัง
[แก้] ผลกระทบของโรคหวัดต่อสังคม
ผู้ที่เป็นโรคหวัดอาจจะต้องขาดเรียนหรือลางานได้, ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจได้พอสมควร นอกจากนี้ ยังมีคาใช้จ่ายในการซื้อยาไม่ว่าจะเป็นยาแผนปัจจุบันหรือยาพื้นบ้านก็ตามที โรคหวัดยังเป็นถูกกล่าวว่าเป็นโรคที่ติดต่อจากคนสู่คนที่พบได้มากและธรรมดาที่สุด แทบทุกคนมักเป็นหวัดอย่างน้อยหนึ่งครั้งต่อปี โดยเฉพาะในฤดูฝน โรคหวัดยังได้ถูกนำไปเกี่ยวข้องในทางวรรณกรรม โดยเป็นตัวแปลงโครงเรื่องเมื่อตัวละครใดๆ ในเรื่องเป็นหวัด หรือติดหวัดมาจากตัวละครอื่น
บริษัทส่วนใหญ่ยังเสนอวันที่ลางานได้โดยได้รับเงินค่าจ้างเต็มจำนวนต่อปี เพื่อหลีกเลี่ยงความผิดพลาดระหว่างการทำงาน และการติดต่อโรคหวัดในที่ทำงาน
ในสหรัฐอเมริกา นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยมิชิแกน ดร. เอ. มาร์ค เฟนดริค (Dr. A. Mark Fendrick) ได้ตีพิมพ์บทความใน พ.ศ. 2546 เกี่ยวกับผลกระทบของโรคหวัดต่อคน จากการศึกษาพบว่าโรคหวัดทำให้ประชากรต้องไปพบแพทย์ถึง 100 ล้านครั้งต่อปี และเสียค่าใช้จ่ายจำนวน 7.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี (ประมาณ 3 แสนล้านบาท) โดยมีผู้ป่วยถึงหนึ่งในสามเห็นว่าแพทย์ได้สั่งยาปฏิชีวนะมาให้แก่พวกเขา โดยเฟนดริคกล่าวว่าไม่เพียงแต่นี่จะเป็นการเสียค่าใช้จ่ายโดนไม่จำเป็นเท่านั้น แต่การทานยาปฏิชีวนะเข้าไปบ่อยๆ อาจทำให้เกิดการดื้อยาเมื่อเกิดโรคชนิดอื่นอีกด้วย
การศึกษายังพบอีกว่าชาวอเมริกันเสียเงินจากการซื้อยาที่ร้านขายยาทั่วไปถึง 2.9 พันล้านดอลลาร์ (ประมาณ 1.2 แสนล้านบาท) และอีก 4 ร้อยล้านดอลลาร์ (1.6 หมื่นล้านบาท) ไปกับยาที่แพทย์สั่งเพื่อบรรเทาอาการ นอกจากนี้ ผู้ป่วยเป็นโรคหวัดยังเสียค่าใช้จ่ายอีก 1.1 พันล้านดอลลาร์ต่อปี (4.4 หมื่นล้านบาท) ไปกับยาปฏิชีวนะประมาณ 41 ชนิด แม้ว่ายาปฏิชีวนะจะไม่มีผลใดๆ กับเชื้อไวรัสไข้หวัดเลย
จากการศึกษาได้รายงานว่า มีประชากรเด็กขาดเรียนรวมกันถึง 189 ล้านวันเนื่องจากโรคหวัด ด้วยเหตุดังกล่าว จึงทำให้พ่อแม่ของเด็กต้องลางานรวมกันถึง 126 ล้านวันเพื่ออยู่ที่บ้านและคอยดูแลลูกที่ป่วยเป็นหวัด ซึ่งเมื่อรวมกับลูกจ้างที่ลางานเนื่องจากเป็นหวัดแล้ว ผลกระทบโดยรวมของโรคหวัดต่อเศรษฐกิจเฉพาะในสหรัฐอเมริกานั้น รวมเป็นเงินถึง 2 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือ 8 แสนล้านบาทเลยทีเดียว
[แก้] ดูเพิ่ม
- ระบบทางเดินหายใจ
- โรคติดต่อ