ตราประจำจังหวัดของไทย
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ตราประจำจังหวัดของไทย มีพัฒนาการมาจาก ตราประจำตำแหน่งของเจ้าเมือง ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และตราประจำธงประจำกองลูกเสือ 14 มณฑล ในสมัยรัชกาลที่ 6 - 7 ในสมัยที่จอมพลแปลก พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น รัฐบาลได้กำหนดให้แต่ละจังหวัด มีตราประจำจังหวัดของตนเอง ใช้เมื่อ พ.ศ. 2484 โดยกรมศิลปากรเป็นผู้ออกแบบตรา ตามแนวคิดที่แต่ละจังหวัดกำหนดไว้ ปัจจุบัน เมื่อมีการตั้งจังหวัดขึ้นใหม่ ก็จะมีการออกแบบตราประจำจังหวัดด้วยเสมอ แต่ตราของบางจังหวัดที่ใช้อยู่นั้น บางตราก็ไม่ใช่ตราที่กรมศิลปากรเป็นผู้ออกแบบ บางจังหวัดก็เปลี่ยนไปใช้ตราประจำจังหวัดเป็นแบบอื่นเสียก็มี บางที่ลักษณะของตรา ก็เพี้ยนไปจากลักษณะที่กรมศิลปากรออกแบบไว้ แต่ยังคงลักษณะหลักๆ ของตราเดิมไว้อยู่บ้างก็มี
สารบัญ |
[แก้] ภาพตราประจำจังหวัด
ภาพตราประจำจังหวัดที่นำมาแสดงไว้นี้ เป็นภาพตรา ที่ดึงมาจากไฟล์ของคอมมอนส์ ในส่วนของคำอธิบายภาพนั้น หากตราของจังหวัดใดมีการเปลี่ยนแปลงหลายครั้ง จะใช้หัวข้อย่อยเรียงลำดับเลข ตามการเปลี่ยนแปลงตราที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ อ้างอิงตามหนังสือ ตราประจำจังหวัด ของกรมศิลปากร (พิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2542) และภาพตรา ในเว็บไซต์อย่างเป็นทางการของแต่ละจังหวัด ศักราชที่อยู่หลังข้อความ คือปีที่เริ่มใช้ดวงตราดังกล่าว
[แก้] ตราประจำกรุงเทพมหานคร
- กรุงเทพมหานคร รูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ตามแบบภาพฝีพระหัตถ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ (พ.ศ. 2515)
[แก้] ตราประจำจังหวัดในภาคเหนือ
- จังหวัดกำแพงเพชร รูปกำแพงเมืองมีใบเสมาประดับเพชร (พ.ศ. 2484)
- จังหวัดเชียงราย รูปช้างสีขาวกับเมฆ ลายที่ขอบตรามีรูปนาคเกี้ยว (พ.ศ. 2484)
- จังหวัดเชียงใหม่ รูปช้างเผือกยืนอยู่ในเรือนแก้ว (พ.ศ. 2484)
- จังหวัดตาก รูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงหลั่งทักษิโณทกเหนือคอช้าง (พ.ศ. 2484)
- จังหวัดนครสวรรค์ รูปวิมาน 3 ยอด (พ.ศ. 2484)
- จังหวัดน่าน รูปพระธาตุแช่แห้งบนหลังโคอุสุภราช (พ.ศ. 2484)
- จังหวัดพะเยา รูปพระเจ้าตนหลวงประทับเหนือกว๊านพะเยา มีช่อรวงข้าวประดับอยู่สองข้าง เบื้องบนมีลายกนกเปลว 7 ลายลอยอยู่ (พ.ศ. 2484 - ภายหลังมีการลดรายละเอียดในตราโดยตัดรูปกว๊านพะเยาออกและดัดแปลงเป็นรูปแท่นรองรับพระเจ้าตนหลวงแทน)
- จังหวัดพิจิตร รูปต้นโพธิ์ริมสระหลวง (พ.ศ. 2484)
- จังหวัดพิษณุโลก
- ครั้งที่ 1 รูปพระเจดีย์จุฬามณีอยู่เหนือลูกโลก 3 ลูก หมายเอานามเมืองพิษณุโลกเป็นหลักในการผูกตรา (พ.ศ. 2484)
- ครั้งที่ 2 รูปพระพุทธชินราช พระคู่บ้านคู่เมืองพิษณุโลก
- จังหวัดเพชรบูรณ์ รูปเพชรกับภูเขาและไร่ยาสูบ (พ.ศ. 2484)
- จังหวัดแพร่ รูปพระธาตุช่อแฮบนหลังม้า (พ.ศ. 2484)
- จังหวัดแม่ฮ่องสอน รูปช้างเล่นน้ำ (พ.ศ. 2484)
- จังหวัดลำปาง รูปไก่ยืนอยู่ในประตูวัดพระธาตุลำปางหลวง (พ.ศ. 2484)
- จังหวัดลำพูน รูปพระธาตุหริภุญไชย (พ.ศ. 2484)
- จังหวัดสุโขทัย รูปพ่อขุนรามคำแหงมหาราชประทับบนพระแท่นมนังคศิลาอาสน์ (พ.ศ. 2484)
- จังหวัดอุตรดิตถ์ รูปมณฑปพระแท่นศิลาอาสน์ (พ.ศ. 2484)
- จังหวัดอุทัยธานี
- ครั้งที่ 1 รูปเขาสะแกกรังและพระอาทิตย์อุทัย (พ.ศ. 2484)
- ครั้งที่ 2 รูปศาลสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนกบนยอดเขาสะแกกรัง
[แก้] ตราประจำจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
- จังหวัดกาฬสินธุ์ รูปติณชาติ บึงน้ำสีดำ ภูเขา และเมฆ (พ.ศ. 2484)
- จังหวัดขอนแก่น รูปพระธาตุขามแก่น (พ.ศ. 2484)
- จังหวัดชัยภูมิ รูปธงสามชายประจำกองทัพโบราณ (พ.ศ. 2484)
- จังหวัดนครพนม รูปพระธาตุพนม (พ.ศ. 2484)
- จังหวัดนครราชสีมา รูปอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารีหน้าประตูชุมพล (พ.ศ. 2484)
- จังหวัดบุรีรัมย์ รูปเทพยดาฟ้อนรำหน้าปราสาทหินพนมรุ้ง (พ.ศ. 2484)
- จังหวัดมหาสารคาม รูปทุ่งนาและต้นสาละ (ต้นรัง) ใหญ่ (พ.ศ. 2484)
- จังหวัดมุกดาหาร รูปปราสาทสองนางสถิต ประดิษฐานแก้วมุกดาหาร (พ.ศ. 2525) ตรานี้กรมศิลปากรไม่ได้เป็นผู้ออกแบบ
- จังหวัดยโสธร รูปพระธาตุอานนท์มีสิงห์ขนาบสองข้างเหนือรูปดอกบัวบาน (พ.ศ. 2515)
- จังหวัดร้อยเอ็ด รูปศาลหลักเมืองบนเกาะกลางบึงพลาญชัย (พ.ศ. 2484)
- จังหวัดเลย รูปพระธาตุศรีสองรัก (พ.ศ. 2484)
- จังหวัดศรีสะเกษ
- ครั้งที่ 1 รูปปราสาทหินเขาพระวิหาร (พ.ศ. 2484) ภายหลังมีผู้อธิบายผิดเพี้ยนไปเป็นรูปปราสาทหินวัดสระกำแพงใหญ่และปราสาทหินวัดสระกำแพงน้อย
- ครั้งที่ 2 รูปปรางค์กู่มีรูปดอกลำดวน 6 กลีบรองรับอยู่เบื้องล่าง (พ.ศ. 2515) สาเหตุที่เปลี่ยนเพราะไทยเสียปราสาทหินเขาพระวิหารให้กัมพูชาตามคำตัดสินของศาลโลกเมื่อ พ.ศ. 2505 การจะใช้ตราเดิมต่อไปจึงเป็นการไม่สมควร
- จังหวัดสกลนคร รูปพระธาตุเชิงชุมหน้าหนองหานหลวง (พ.ศ. 2484)
- จังหวัดสุรินทร์ รูปพระอินทร์ประทับบนแท่นศรีษะช้างเอราวัณหน้าปราสาทหินศรีขรภูมิ ซึ่งแต่เดิมเรียกว่าปราสาทหินบ้านระแงง (พ.ศ. 2484)
- จังหวัดหนองคาย รูปกอต้นคายริมหนองน้ำ (พ.ศ. 2484)
- จังหวัดหนองบัวลำภู รูปพระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราชประทับยืนหน้าศาล เบื้องหลังเป็นหนองบัวลำภู (ในระยะแรกตราที่ทางจังหวัดออกแบบเองมีเฉพาะรูปศาลสมเด็จพระนเรศวรในวงกลมเท่านั้น)
- จังหวัดอุดรธานี รูปท้าวเวสสุวัณหรือท้าวกุเวร เทพเจ้าประจำทิศเหนือ (พ.ศ. 2484)
- จังหวัดอุบลราชธานี รูปดอกบัวบานชูช่อพ้นน้ำ (พ.ศ. 2484)
- จังหวัดอำนาจเจริญ รูปพระมงคลมิ่งเมือง พระพุทธรูปสำคัญประจำจังหวัด (ตราที่เห็นในที่นี้เป็นตราที่ทางจังหวัดออกแบบเองในระยะแรก ซึ่งมีรูปช้างหมอบและเทวดาประกอบอยู่ข้างพระมงคลมิ่งเมืองทั้งสองข้าง)
[แก้] ตราประจำจังหวัดในภาคกลาง
หมายเหตุ ภาคกลางในที่นี้หมายถึงภาคกลางตามการแบ่งเขตของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย
- ชัยนาท รูปธรรมจักรหน้าภูเขา ซึ่งเอาได้ทั้งเขาสรรพยาและเขาธรรมามูล (พ.ศ. 2484)
- นนทบุรี รูปหม้อน้ำลายวิจิตร (พ.ศ. 2484)
- ปทุมธานี รูปบัวหลวงและช่อรวงข้าวชูช่อเหนือน้ำ (พ.ศ. 2484)
- พระนครศรีอยุธยา รูปสังข์ทักษิณาวัตรประดิษฐานบนพานแว่นฟ้าในปราสาทใต้ต้นหมัน (พ.ศ. 2484 - ตรานี้เป็นตราเดิมของธงประจำกองลูกเสือมณฑลอยุธยา)
- ลพบุรี รูปพระนารายณ์สี่กรประทับยืนหน้าพระปรางค์สามยอด (พ.ศ. 2484)
- สระบุรี รูปมณฑปพระพุทธบาทสระบุรี เขียนขึ้นจากภาพจริง (พ.ศ. 2484)
- สิงห์บุรี รูปค่ายบางระจัน (พ.ศ. 2484 - ภายหลังทางจังหวัดเปลี่ยมมาใช้ตรารูปอนุสาวรีย์วีรชนค่ายบางระจันในวงกลม ขอบวงกลมเป็นแถบสีธงชาติ[1])
- อ่างทอง รูปรวงข้าวในอ่างน้ำสีทอง (พ.ศ. 2484)
- จันทบุรี รูปกระต่ายในดวงจันทร์ (พ.ศ. 2484)
- ฉะเชิงเทรา รูปพระอุโบสถหลังเดิมวัดโสธรวรารามวรวิหาร (พ.ศ. 2484)
- ชลบุรี รูปเขาสามมุกริมทะเลอ่าวไทย
- ตราด
- ครั้งที่ 1 รูปเรือรบหลวงตราด (พ.ศ. 2484)
- ครั้งที่ 2 รูปโป๊ะ เรือใบ และเกาะช้าง
- นครนายก รูปช้างชูรวงข้าว เบื้องหลังเป็นลอมฟาง (พ.ศ. 2484)
- ปราจีนบุรี รูปต้นพระศรีมหาโพธิ์ (พ.ศ. 2484)
- ระยอง รูปพลับพลาที่ประทับของรัชกาลที่ 5 บนเกาะเสม็ด (พ.ศ. 2484)
- สมุทรปราการ รูปพระสมุทรเจดีย์ (พ.ศ. 2484)
- สระแก้ว รูปพระพุทธรูปปางสรีระประทับยืนบนดอกบัว ด้านหลังเป็นภาพพระอาทิตย์ยามรุ่งอรุณ ตอนกลางเป็นภาพโบราณสถานปราสาทเขาน้อยสีชมพู (ตรานี้กรมศิลปากรไม่ได้เป็นผู้ออกแบบ)
- กาญจนบุรี รูปด่านพระเจดีย์สามองค์ (พ.ศ. 2484)
- นครปฐม รูปพระปฐมเจดีย์ ประดับด้วยเครื่องหมายเลข 4 ไทยในพระมหาพิชัยมงกุฎ (พ.ศ. 2484)
- ประจวบคีรีขันธ์ รูปพระที่นั่งคูหาคฤหาสน์ และมีภาพเกาะหลักอยู่เบื้องหลัง (พ.ศ. 2484)
- เพชรบุรี รูปทุ่งนา ต้นตาลโตนด และพระนครคีรีหรือเขาวัง (พ.ศ. 2484)
- ราชบุรี
- ครั้งที่ 1 รูปเขางูมีงูล้อมรอบ (พ.ศ. 2484)
- ครั้งที่ 2 รูปเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ 2 ชนิด คือ ฉลองพระบาทเชิงงอน และพระแสงขรรค์ชัยศรี
- สมุทรสงคราม รูปกลองลอยน้ำ(พ.ศ. 2484)
- สมุทรสาคร รูปสำเภาจีนในแม่น้ำท่าจีน(พ.ศ. 2484)
- สุพรรณบุรี รูปการทำยุทธหัตถีระหว่างสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และพระมหาอุปราชมังกะยอชวา ที่ตำบลหนองสาหร่าย เมื่อ พ.ศ. 2135 (พ.ศ. 2484)
[แก้] ตราประจำจังหวัดในภาคใต้
- จังหวัดกระบี่ รูปกระบี่ไขว้ เบื้องหลังเป็นรูปเขาชะวาปราบและทะเล (พ.ศ. 2484)
- จังหวัดชุมพร รูปเทวสตรียืนประทานพรหน้าค่าย มีต้นมะเดื่อขนาบอยู่ 2 ข้าง (พ.ศ. 2484)
- จังหวัดตรัง รูปกระโจมไฟ ท่าเรือ และลูกคลื่นในท้องทะเล (พ.ศ. 2484)
- จังหวัดนครศรีธรรมราช รูปพระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราช มีตรา 12 นักษัตรล้อมรอบ (พ.ศ. 2484)
- จังหวัดนราธิวาส
- ครั้งที่ 1 รูปใบเรือขึ้งอยู่บนพื้น ภายในมีภาพกริชคดและพญานาคอยู่ เบื้องหลังเป็นรูปอาทิตย์อัสดง (พ.ศ. 2484 - ตรานี้กรมศิลปากรออกแบบตามชื่ออำเภอสำคัญของจังหวัดนราธิวาส คือ อำเภอตากใบ)
- ครั้งที่ 2 รูปคนงานกรีดยางพารา
- ครั้งที่ 3 รูปเรือกางใบแล่นรับลมเต็มที่ ภายในใบเรือเป็นรูปช้างเผือกทรงเครื่องคชาภรณ์
- จังหวัดปัตตานี รูปปืนใหญ่ศรีปัตตานีหรือนางพญาตานี (พ.ศ. 2484)
- จังหวัดพังงา รูปเรือขุดเหมืองอยู่หน้าภูเขา (พ.ศ. 2484)
- จังหวัดพัทลุงรูปเขาอกทะลุ (พ.ศ. 2484)
- จังหวัดภูเก็ต
- ครั้งที่ 1 รูปสองวีรสตรี คือ ท้าวเทพสตรี ท้าวศรีสุนทร (พ.ศ. 2484)
- ครั้งที่ 2 รูปอนุสาวรีย์ท้าวเทพสตรี ท้าวศรีสุนทร วาดจากของจริง (พ.ศ. 2528)[2]
- จังหวัดระนอง รูปปราสาทตั้งอยู่บนภูเขา มีรูปเลข 5 ไทย ประดิษฐานอยู่บนพานแว่น (พ.ศ. 2484)
- จังหวัดสตูล รูปพระสมุทรเทวาประทับนั่งบนแท่นหิน เบื้องหลังเป็นพระอาทิตย์อัสดง (พ.ศ. 2484)
- จังหวัดสงขลา รูปขอนสังข์วางอยู่บนพานแว่นฟ้า (พ.ศ. 2484)
- จังหวัดสุราษฎร์ธานี รูปพระบรมธาตุไชยา (พ.ศ. 2484)
- จังหวัดยะลา รูปคนงานทำเหมืองดีบุก (พ.ศ. 2484)
[แก้] ตราประจำจังหวัดในอดีต
- จังหวัดพระนคร รูปพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท (ใช้ตั้งแต่ พ.ศ. 2484-2515)
- จังหวัดธนบุรี รูปพระปรางค์วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร (ใช้ตั้งแต่ พ.ศ. 2484-2514)
- จังหวัดพระตะบอง รูปพระยาโคตรบองเงื้อกระบองทำท่าจะขว้าง (ใช้ตั้งแต่ พ.ศ. 2484-2489)
- จังหวัดพิบูลสงคราม รูปอนุสาวรีย์ไก่กางปีก (ใช้ตั้งแต่ พ.ศ. 2484-2489)
- จังหวัดลานช้าง รูปโขลงช้างยืนอยู่กลางลานกว้าง (ใช้ตั้งแต่ พ.ศ. 2484-2489)
- จังหวัดนครจัมปาศักดิ์ รูปปราสาทหินวัดภู (ไม่มีภาพประกอบ - ใช้ตั้งแต่ พ.ศ. 2484-2489)
[แก้] อ้างอิง
- ↑ http://www.singburi.go.th/general/logo.html
- ↑ http://www.phuket.go.th/www_phuketGoTh/Data_phuket/logo_1.htm
[แก้] ดูเพิ่ม
- ดอกไม้ประจำจังหวัด
- ต้นไม้ประจำจังหวัด
- ธงประจำจังหวัด
- คำขวัญประจำจังหวัด
ตราประจำจังหวัดของไทย เป็นบทความที่ยังไม่สมบูรณ์ ต้องการตรวจสอบ เพิ่มเนื้อหา หรือเพิ่มแหล่งอ้างอิง คุณสามารถช่วยเพิ่มเติมหรือแก้ไข เพื่อให้สมบูรณ์มากขึ้น ข้อมูลเกี่ยวกับ ตราประจำจังหวัดของไทย ในภาษาอื่น อาจสามารถหาอ่านได้จากเมนู ภาษาอื่น ด้านซ้ายมือ |