นก
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
|
นก จัดเป็นสัตว์มีกระดูกสันหลังชนิดหนึ่งซึ่งอยู่ในชั้น Aves (คำว่า Aves เป็นภาษาละติน หมายถึง นก) โดยมีลักษณะทั่วไปคือ เป็นสัตว์ทวิบาท เลือดอุ่น ออกลูกเป็นไข่ รยางค์คู่หน้าเปลี่ยนแปลงไปเป็นปีก มีขนนก และมีกระดูกที่กลวงเบา
ในปัจจุบันทั่วโลกมีนกอยู่ประมาณ 8,800 ถึง 9,800 ชนิด (ตามการจัดอนุกรมวิธานที่ต่างกัน) ซึ่งนับว่านกเป็นชั้นของสัตว์มีกระดูกสันหลังที่มีความหลากหลายมากที่สุด ในบรรดาชั้นของสัตว์มีกระดูกสันหลังทั้งหลายที่อาศัยอยู่บนพื้นดิน ความหลากหลายของนกนับเนื่องไปตั้งแต่ในเรื่องของขนาดตัว สีสัน เสียงร้อง อาหารการกิน และถิ่นที่อยู่อาศัย
นกเป็นสัตว์ที่มีความสำคัญเป็นอันมากทั้งต่อระบบนิเวศและต่อชีวิตมนุษย์ ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับนกเป็นไปอย่างแน่นแฟ้น และการเกื้อกูลกันระหว่างนกกับสรรพสิ่งต่างๆ ตามธรรมชาติก็เป็นไปอย่างแนบแน่น ถ้าหากปราศจากนก คงเป็นเรื่องยากที่จะจินตนาการถึงการดำรงอยู่ต่อไปของชีวภาคใบนี้
สารบัญ |
[แก้] วิวัฒนาการ
นกมีความคล้ายคลึงกับสัตว์เลื้อยคลานหลายประการ เช่น โครงสร้างของกระดูกและกล้ามเนื้อ เกล็ดที่ขา การออกลูกเป็นไข่ และการเจริญเติบโตของตัวอ่อน จึงเชื่อกันว่านกในปัจจุบันถือกำเนิดมาจากสัตว์เลื้อยคลาน
ยิ่งไปกว่านั้น มีหลักฐานซากดึกดำบรรพ์จำนวนมากยืนยันว่านกมีวิวัฒนาการมาจากไดโนเสาร์เทอโรพอด ตัวอย่างเช่น ซากดึกดำบรรพ์อาร์คีออพเทอริกซ์ที่ค้นพบในแคว้นบาวาเรีย ประเทศเยอรมนี เมื่อปี ค.ศ. 1861 ซากดึกดำบรรพ์นี้มีอายุประมาณ 150 ล้านปี บ่งบอกว่าอาร์คีออพเทอริกซ์อาศัยอยู่ในยุคจูแรสสิก และมีลักษณะกึ่งนกกึ่งเทอโรพอด โดยอาร์คีออพเทอริกซ์ต่างจากนกในปัจจุบันตรงที่มีสามเล็บยื่นออกมาจากอุ้งมือ มีฟันที่ปาก และมีกระดูกหางยาว แต่ขณะเดียวกันบริเวณลำตัวก็มีขนนกปกคลุม ทำให้นักปักษีวิทยาเชื่อว่าอาร์คีออพเทอริกซ์น่าจะเป็นบรรพบุรุษของนกในปัจจุบัน
เมื่อเร็วๆ นี้ได้มีการค้นพบซากดึกดำบรรพ์คริพโทโวแลนส์ที่ประเทศจีน ซึ่งมีสันที่กระดูกอก และส่วนยื่นรูปตะขอที่ซี่โครง ซากดึกดำบรรพ์คริพโทโวแลนส์จึงนับว่ามีความเป็นนกมากกว่าซากดึกดำบรรพ์ใดๆ ที่เคยค้นพบ
[แก้] กายวิภาคเพื่อการบิน
ทุกส่วนในร่างกายของนกถูกดัดแปลงเพื่อให้เหมาะสมกับการเป็นเจ้าเวหาอย่างแท้จริง เริ่มจากกระดูก ที่ภายในมีลักษณะกลวงคล้ายรวงผึ้ง ทำให้เบาแต่แข็งแรง นกบางชนิดในวงศ์นกโจรสลัด เมื่อกางปีกจะกว้างถึง 2 เมตร แต่น้ำหนักกระดูกทั้งหมดเพียงแค่ 113 กรัมเท่านั้น
นอกจากนี้อวัยวะภายในบางอย่างของนกจะถูกตัดทอนออกไปเพื่อลดน้ำหนักตัวให้ได้มากที่สุด เช่นรังไข่ของตัวเมียที่เหลือเพียงข้างเดียว และปากที่ไร้ฟัน โดยนกจะไม่เคี้ยวอาหาร แต่กลืนลงไปย่อยในกึ๋นแทน
การบินของนกต้องใช้พลังงานจากเมแทบอลิซึมเป็นอย่างมาก นกจึงมีระบบหายใจและระบบหมุนเวียนโลหิตอันทรงประสิทธิภาพ จากหัวใจที่มี 4 ห้อง และท่อที่เชื่อมต่อระหว่างปอดกับถุงลมทั่วลำตัว
เพื่อความปลอดภัยในการบิน นกจึงต้องมีสัมผัสอันว่องไว โดยเฉพาะสัมผัสทางสายตา นกบางชนิดมีสายตาอันคมกริบ อาจกล่าวได้ว่าเป็นสายตาที่ดีที่สุดในบรรดาสายตาของสัตว์มีกระดูกสันหลังด้วยกัน สมองส่วนรับภาพของนกพัฒนาไปมาก เช่นเดียวกับสมองส่วนควบคุมการเคลื่อนไหว เพราะการบินที่ดีต้องอาศัยการประสานงานที่ดีของทุกส่วนในร่างกายนั่นเอง
สิ่งที่ขาดไปไม่ได้สำหรับการบินคือ ปีก นกมีปีกที่เป็นไปตามหลักอากาศพลศาสตร์ ซึ่งช่วยให้เกิดแรงยกขณะบิน ในการกระพือปีก นกจะใช้กล้ามเนื้ออกอันแข็งแรงที่ติดอยู่กับกระดูกอก นกที่บินเร็วที่สุดคือนกในวงศ์นกแอ่นบินเร็ว ซึ่งบินได้เร็วถึง 170 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
ส่วนขนนกนั้นนับว่าเป็นพัฒนาการที่พิเศษสุดอย่างหนึ่งในบรรดาพัฒนาการของสัตว์มีกระดูกสันหลัง ขนนกเป็นส่วนประกอบของเคราติน มีลักษณะเบาแต่แข็งแรง ขนนกช่วยป้องกันนกจากแสงแดด ช่วยในการหาคู่ ช่วยในการปรับอุณหภูมิของร่างกาย และที่สำคัญที่สุดคือช่วยในด้านการบินของนก
[แก้] ความเป็นอยู่
[แก้] อาหารการกิน
ในแต่ละวันนกต้องการอาหารจำนวนมากเพื่อนำไปใช้ในกระบวนการเมแทบอลิซึม (metabolism)โดยนกแต่ละชนิดจะหาอาหารที่แตกต่างกันออกไป นกบางชนิดเลี้ยงชีพด้วยน้ำต้อย บางชนิดเลี้ยงชีพด้วยธัญพืช แมลง สัตว์พวกหนู สัตว์พวกกิ้งก่า ปลา ซากเน่า ไปจนถึงนกด้วยกัน นกจะพัฒนารูปร่าง ปีก ขา และปาก ให้มีลักษณะเหมาะสมกับการหาอาหาร นกส่วนใหญ่เป็นสัตว์ที่หากินในเวลากลางวัน มีนกเพียงบางชนิดเท่านั้นที่หากินในเวลากลางคืน
นกบางชนิดหากินร่วมกันเป็นฝูง เช่น ฝูงนกนางนวลที่บินร่อนหาปลาตามชายทะเล หรือฝูงนกเป็ดน้ำรวมตัวกันแหวกว่ายอยู่ในบึง ซึ่งการหากินร่วมกันเป็นฝูงใหญ่ช่วยให้นกหาอาหารง่ายขึ้นและได้ปริมาณมากกว่าหากินตามลำพัง รวมทั้งยังช่วยกันระวังภัยได้เป็นอย่างดี
ส่วนนกบางชนิดก็มีพฤติกรรมการหาอาหารร่วมกับสัตว์อื่น เช่น นกเอี้ยงที่หากินร่วมกับวัวควาย โดยนกเอี้ยงจะคอยจับแมลงที่พากันบินหนีขึ้นมาเมื่อวัวควายเดินย่ำไปบนดิน นอกจากนี้นกเอี้ยงยังชอบเกาะบนตัววัวควายเพื่อจับแมลงที่บินตอมตามตัววัวควายอีกด้วย
[แก้] ถิ่นอาศัย
นกแต่ละชนิดมีการปรับตัวให้เหมาะสมกับถิ่นอาศัยต่างๆ เราจึงสามารถพบนกได้ทุกหนทุกแห่งในสภาพแวดล้อมอันหลากหลาย ซึ่งพอจะแบ่งถิ่นอาศัยของนกได้ดังนี้
- บริเวณชายหาดและท้องทะเล
- มีนกหลายชนิดที่เดินหากินตามแนวหาดทรายชายทะเล เช่น นกหัวโตมลายู และ นกยางทะเล เป็นต้น ขณะที่นกหลายชนิดโผผินบินร่อนอยู่ตามหน้าผาริมทะเล หรือแม้แต่ในทะเลลึกก็เป็นแหล่งหากินของนกขนาดใหญ่ เช่น นกโจรสลัด ซึ่งนกโจรสลัดสามารถบินวนอยู่บนท้องฟ้าได้เป็นเวลาหลายวันโดยไม่ต้องร่อนลงบนพื้นดิน โดยนกที่หากินในท้องทะเลนี้ เรามักเรียกว่า นกทะเล
- บริเวณป่าชายเลนและปากแม่น้ำ
- ตามแนวชายฝั่งที่มีไม้ชายเลนขึ้นหนาแน่นเป็นถิ่นอาศัยของนกมากมาย เช่น นกกินเปรี้ยว และ เหยี่ยวแดง เป็นต้น โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาวจะมีนกอพยพย้ายถิ่นเข้ามาพักอาศัยเป็นจำนวนมาก นกที่หากินตามป่าชายเลนนี้มีชื่อเรียกโดยรวมว่า นกชายเลน นอกจากนี้ก็มีฝูงนกนางนวลซึ่งเป็นนกทะเลหากินบริเวณนี้ด้วย
- บริเวณทุ่งหญ้า ที่ลุ่มน้ำขัง และหนองบึง
- พื้นที่เกษตรกรรมแถบชานเมืองหรือในชนบทเป็นที่อยู่ของนกหลายชนิด นกที่อาศัยอยู่ตามทุ่งนาหรือทุ่งหญ้าโล่ง เรามักเรียกกันว่า นกทุ่ง เช่น นกตะขาบทุ่ง นกกระจิบหญ้า เป็นต้น ส่วนนกที่อาศัยตามแหล่งน้ำ เช่น หนอง บึง ทะเลสาบ เรามักเรียกว่า นกน้ำ เช่น นกยาง นกเป็ดน้ำ และ นกกวัก เป็นต้น
- ป่าไม้ประเภทต่างๆ
- ถือว่าเป็นสถานที่ที่มีนกอาศัยอยู่มากกว่าแห่งอื่น เนื่องจากเหมาะสำหรับการดำรงชีวิตของนกนานาชนิด เช่น นกเงือก นกขุนแผน นกโพระดก และ นกแต้วแล้ว เป็นต้น นกที่อาศัยหากินในป่ามีชื่อเรียกโดยรวมว่า นกป่า
- สภาพแวดล้อมอื่นๆ
- นกบางชนิดมีการปรับตัวจนสามารถอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่แม้แต่สัตว์อื่นยังอาศัยอยู่ได้ยาก เช่น ทะเลทราย ขั้วโลกใต้ หรือแม้แต่ในเมือง
ในปัจจุบันมีการนำดีเอ็นเอมาใช้จัดจำแนกนกแล้ว โดยงานที่สำคัญคือ Sibley & Ahlquist's Phylogeny and Classification of Birds (1990) แต่การจัดจำแนกนกในที่นี้ยึดตาม Handbook of Birds of the World ซึ่งจัดอันดับนกโดยอาศัยลักษณะทางสัณฐานวิทยาเป็นหลัก และแบ่งนกออกเป็นอันดับต่างๆ ดังนี้
[แก้] Paleognathae
อันดับใหญ่ Paleognathae (ตามรากศัพท์แปลว่า ขากรรไกรแบบเก่า) ประกอบด้วยนกอันดับต่างๆ ดังนี้
- อันดับแรไทท์ (Struthioniformes)
- อันดับนกไทแนมู (Tinamiformes)
[แก้] Neognathae
อันดับใหญ่ Neognathae (ตามรากศัพท์แปลว่า ขากรรไกรแบบใหม่) ประกอบด้วยนกอันดับต่างๆ ดังนี้
- อันดับห่าน (Anseriformes)
- อันดับไก่ (Galliformes)
- อันดับนกเพนกวิน (Sphenisciformes)
- อันดับนกลูน (Gaviiformes)
- อ้นดับนกเป็ดผี (Podicipediformes)
- อันดับนกจมูกหลอด (Procellariiformes)
- อันดับนกเพลิแกน (Pelecaniformes)
- อันดับนกกระสา (Ciconiiformes)
- อันดับเหยี่ยว (Accipitriformes)
- อันดับหยี่ยวปีกแหลม (Falconiformes)
- อันดับนกคุ่มแท้ (Turniciformes)
- อันดับนกกระเรียน (Gruiformes)
- อันดับนกหัวโต (Charadriiformes)
- อันดับนกแซนด์เกราส์ (Pteroclidiformes)
- อันดับนกพิราบ (Columbiformes)
- อันดับนกแก้ว (Psittaciformes)
- อันดับนกคัคคู (Cuculiformes)
- อันดับนกเค้า (Strigiformes)
- อันดับนกตบยุง (Caprimulgiformes)
- อันดับนกแอ่น (Apodiformes)
- อันดับนกตะขาบ (Coraciiformes)
- อันดับนกหัวขวาน (Piciformes)
- อันดับนกขุนแผน (Trogoniformes)
- อันดับนกโคลี (Coliiformes)
- อันดับนกจับคอน (Passeriformes)'
[แก้] ดูเพิ่ม
[แก้] อ้างอิง
- en:bird
- รุ่งโรจน์ จุกมงคล, นก, สารคดี, 2542. ISBN 9748211711.
- นำเสนอความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับนก การดูนก และนกวงศ์ต่างๆ ในประเทศไทย
- โอภาส ขอบเขตต์, นกในเมืองไทย, สารคดี, 2541. ISBN 9748211703.
- หนังสือเกี่ยวกับนกในเมืองไทยที่ละเอียดที่สุดในปัจจุบัน เขียนโดยอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านปักษีวิทยาของเมืองไทย หนึ่งชุดมีห้าเล่ม
- Boonsong Lekagul, Philip D. Round, A guide to the birds of Thailand, Saha Karn Bhaet, 1991. ISBN 9748567362.
- คู่มือที่นักดูนกเมืองไทยทุกคนต้องมี
- Neil A. Campbell, Jane B. Reece, Biology, Addison-Wesley, 2002. ISBN 0201750546.
- ในบทที่ 34 มีกล่าวถึงนกอยู่พอสังเขป