จังหวัดอ่างทอง
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
- ดู อ่างทอง ในความหมายอื่นได้ที่ อ่างทอง (แก้ความกำกวม)
|
จังหวัดอ่างทอง เป็นจังหวัดในภาคกลาง
สารบัญ |
[แก้] ประวัติ
อ่างทองเดิมชื่อ เมืองวิเศษชัยชาญ ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำน้อยบนพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นเมืองหน้าด่านที่สำคัญของกรุงศรีอยุธยาในการสู้รบกับกองทัพพม่า ดังปรากฏในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาหลายตอนโดยเฉพาะในช่วงก่อนกรุงศรีอยุธยาแตกในปี พ.ศ. 2310 พม่าได้ใช้แขวงเมืองวิเศษชัยชาญเป็นที่ตั้งค่าย เพื่อตีกรุงศรีอยุธยาและทำให้เกิดการสู้รบครั้งสำคัญที่จารึกไว้ในประวัติศาสตร์ไทยนั่นคือ ศึกบางระจัน ปลายสมัยกรุงธนบุรีได้ย้ายที่ตั้งเมืองมาอยู่บริเวณฝั่งซ้าย ของแม่น้ำเจ้าพระยาที่บ้านบางแก้ว เรียกชื่อใหม่ว่า “อ่างทอง” เนื่องจากเป็นที่ลุ่มและอู่ข้าวอู่น้ำอันเป็นเสมือนขุมทรัพย์ที่มีค่า มีชาวอ่างทอง 6 คน ที่เป็นสมาชิกชาวบ้านบางระจันในศึกบางระจัน คือ นายแท่น นายโชติ นายอิน นายเมือง ชาวบ้านสีบัวทอง อ.โพธิ์ทอง ในปัจจุบัน นายดอก ชาวบ้านกรับ และนายทองแก้ว บ้านโพทะเล แขวงเมืองวิเศษชัยชาญ อ.วิเศษชัยชาญ ในปัจจุบัน
[แก้] ทำเนียบนามเจ้าเมืองอ่างทองและผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง
นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปฏิรูปการปกครองโดยนำระบบเทศาภิบาลมาใช้ในประเทศไทย เมืองอ่างทองยังคงมีสภาพเป็นเมืองตามรูปการปกครองแบบเดิมก่อนการปฏิรูป ปรากฏพระนามและรายนามผู้ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองหรือผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทองดังนี้
- พระยาวิเศษไชยชาญ ปรีชาญาณยุติธรรมโกศลสกลเกษตรวิไสย ตั้งแต่ พ.ศ. 2438
- พระพิทักษ์เทพธานี ตั้งแต่ พ.ศ. 2438 - 2439
- พระยาวิเศษไชยชาญ ตั้งแต่ 28 กันยายน 2439 - พ.ศ. 2442
- พระยาอินทรวิชิต (อวบ เปาโรหิต) ตั้งแต่ พ.ศ. 2442 - 2446
- พระศรีณรงค์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2446 - 2447
- หม่อมอมรวงษ์วิจิตร (ม.ร.ว. ปฐม คเณจร) ตั้งแต่ พ.ศ. 2447 - 2450
- พระยาอินทรวิชิต (เต็น บุนนาค) ตั้งแต่ พ.ศ. 2450 - 2456
- พระยาวิเศษไชยชาญ (ชอุ่ม อมัติรัตน์) ตั้งแต่ พ.ศ. 2456 - 2462
- พระยาวิเศษภักดี (ม.ร.ว. กมล นพวงษ์) ตั้งแต่ พ.ศ. 2462 - 2465
- หม่อมเจ้าธงไชยศิริพันธ์ ศรีธวัช ตั้งแต่ พ.ศ. 2465 - 2470
- พระกำแพงพราหมณ์ (ทองสุก รตางศุ) ตั้งแต่ พ.ศ. 2470 - 2473
- พระยาวิชิตรสรไกร (เอี่ยม อัมพานนท์) ตั้งแต่ พ.ศ. 2473 - 2474
- หลวงวิโรจน์รัฐกิจ (เปรื่อง โรจนกุล) ตั้งแต่ พ.ศ. 2474 - 2478
- พระประชากรบริรักษ์ (แอร่ม สุนทรศารทูล) ตั้งแต่ พ.ศ. 2478 - 2483
- หลวงอรรถเกษมภาษา (สวิง ถาวรพันธ์) ตั้งแต่ พ.ศ. 2483 - 2484
- หลวงอังคณานุรักษ์ (ถวิล เทพาคำ) ตั้งแต่ พ.ศ. 2485 - 2486
- หลวงบรรณสารประสิทธิ์ (สิทธิ บรรณสารประสิทธิ์) ตั้งแต่ พ.ศ. 2486 - 2487
- ขุนพำนักนิคมคาม (สนธิ พำนักนิคมคาม) ตั้งแต่ พ.ศ. 2487 - 2490
- นายประกอบ ทรัพย์มณี ตั้งแต่ พ.ศ. 2490 - 2492
- หลวงธุระนัยพินิจ (นพ นัยพินิจ) ตั้งแต่ พ.ศ. 2492 - 2495
- นายพรหม สูตรสุคนธ์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2495 - 2500
- นายแสวง ทิมทอง ตั้งแต่ พ.ศ. 2500 - 2501
- นายยรรยง ศุนาลัย ตั้งแต่ พ.ศ. 2502 - 2503
- นายพล จุฑากร ตั้งแต่ พ.ศ. 2503 - 2508
- ร.ต.ท. เรือง สถานานนท์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2508 - 2510
- นายวิชาญ บรรณโศภิษฐ์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2510 - 2517
- นายสงวน สาริตานนท์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2517 - 2519
- นายเสถียร จันทรจำนงค์ ตั้งแต่ พ.ศ 2519 - 2521
- นายวิเชียร วิมลศาสตร์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2521 - 2526
- นายสมหวัง จูตะกานนท์ ตั้งแต่ พ.ศ 2526 - 2530
- นายคงศักดิ์ ลิ่วมโนมนต์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2530 - 2532
- นายทวีป ทวีพาณิชย์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2532 - 2534
- นายประสาน สุขรังสรรค์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2534 - 2535
- นายนิธิศักดิ์ ราชพิตร ตั้งแต่ พ.ศ. 2535 - 2537
- นายประเสริฐ เปลี่ยนรังษี ตั้งแต่ พ.ศ. 2537 - 2538
- นายสุชาติ สหัสโชติ ตั้งแต่ พ.ศ. 2538 - 2542
- นายพิสิฐ เกตุผาสุข ตั้งแต่ พ.ศ. 2542 - 2544
- นายเชนทร์ วิพัฒน์บวรวงศ์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2544 - 2547
- นายกมล จิตระวัง ตั้งแต่ พ.ศ. 2547 - 2548
- นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2548 - ปัจจุบัน
[แก้] ศาลหลักเมือง
หลักเมือง มีความหมายว่า เป็นประธานของเมือง เป็นศูนย์รวมความมั่นคงของเมือง เป็นนิมิตมงคลของเมือง เป็นหลักชัย หลักใจและศูนย์รวมความสามัคคีของประชาชน หลักเมืองจะเป็นเสาหลักโดดเด่น ไม่มีภาพ รูป หรือพระพุทธรูป การสร้างหลักเมืองต้องขอพระบรมราชานุญาตจากพระมหากษัตริย์ผู้เป็นประมุขของประเทศก่อน เมื่อได้รับพระบรมราชานุญาตแล้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือเจ้าเมืองจึงจะดำเนินการสร้างต่อไปได้
เนื่องจากไม่มีหลักฐานว่าเสาหลักเมืองและศาลหลักเมืองจังหวัดอ่างทอง ได้มีปรากฏอยู่ที่ใดคณะสงฆ์ข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน จังหวัดอ่างทองจึงได้ร่วมใจกันจัดหาทุนสร้างศาลหลักเมืองขึ้น เพื่อเป็นศูนย์รวมจิตใจและความสามัคคีของประชาชนในจังหวัด จังหวัดอ่างทอง ได้มอบให้นายกำจัด คงมีสุข ข้าราชการครูบำนาญผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านจิตรกรรม ประติมากรรม และสถาปัตยกรรมไทยเป็นผู้ออกแบบสร้างศาลหลักเมือง และมีพระครูวิเศษชัยวัฒน์ เจ้าอาวาสวัดชัยมงคลเป็นที่ปรึกษา
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก ได้เสด็จไปเป็นประธานวางศิลาฤกษ์ ศาลหลักเมืองจังหวัดอ่างทอง เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2533 การก่อสร้างสำเร็จเรียบร้อย เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2534 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันได้พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ผู้ว่าราชการจังหวัด (นายทวีป ทวีพาณิชย์) เข้าเฝ้าน้อมเกล้า ฯ ถวายยอดเสาหลักเมืองเพื่อทรงเจิม ทรงพระสุหร่าย และทรงบรรจุ แผ่นยันต์เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2534 เวลา 16.30 น. ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน และทรงพระกรุณาโปรด เกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามบรมราชกุมารเสด็จแทนพระองค์ไปทรงประกอบพิธียกเสาหลัก เมืองและเปิดศาลหลักเมืองเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2534 เวลา 15.30 น
ศาลหลักเมืองจังหวัดอ่างทอง อยู่ตรงข้ามศาลากลางจังหวัด เป็นอาคารจตุรมุข(4 หน้า) ยอดปรางค์หลังคาเป็นปูนซีเมนต์ฉาบสีแดงตัวศาลสูงจากพื้นประมาณ 1.5 เมตร ภายในศาลเป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังภา พุ่มข้าวบิณฑก้านแยกสวยงามมาก ศาลหลักเมืองจังหวัดอ่างทอง เป็นศาลหลักเมืองแห่งที่ 2 ที่มีการเขียนภาพ จิตรกรรมฝาผนังทั้ง 4 ด้าน
เสาหลักเมืองซึ่งประดิษฐ์อยู่ในศาลหลักเมืองบนแท่นแปดเหลี่ยมพื้นปูด้วยหินอ่อนทำจากไม้ชัยพฤกษ์ซึ่ง ถือเป็นไม้มงคล คัดจาก 1 ในจำนวน 5 ต้น ที่นิคมสร้างตนเองพระพุทธบาทจังหวัดสระบุรี มีลักษณะที่เรียกว่า ไม้ขานาง คือลำต้นตรงขึ้นไปแล้วแยกเป็น 2 กิ่ง แบบง่ามหนังสติ๊กโบราณถือว่าเป็นไม้ที่เหมาะจะเป็นเสาโบสถ์ หรือเสาวิการ ไม้มงคลซึ่งนำมาทำเป็นเสาหลักเมืองของจังหวัดอ่างทองนั้นได้ผ่านพิธีคัดเลือก ต้นไม้ พิธีตัด พิธีอัญเชิญ พิธีกลึงเสาและฉลองรับขวัญอย่างถูกต้อง ตามพิธีหลวงของสำนักพระราชวังทุกประการ เสาหลักเมืองนี้ได้รับการตกแต่งแกะสลักลงรักปิดทองจากพระครูวิเศษชัยวัฒน์และนายกำจัด คงมีสุข ซึ่งเป็น ชาวอ่างทอง และมีความชำนาญในการสร้างเมืองมาหลายจังหวัดแล้ว
ด้านทิศเหนือของศาลหลักเมืองมีศาลาตรีมุข ซึ่งใช้เป็นที่ประทับหรือที่นั่งขององค์ประธานหรือประธาน ในการประกอบพิธีต่าง ๆ ด้านทิศใต้มีศาลาทรงไทย 2 หลัง ใช้เป็นสถานที่ให้บริจาคบูชาวัตถุมงคล และดอกไม้ ธูป เทียน ด้านทิศใต้มีศาลาเรือนไทย เป็นที่รวบรวมของดีเมืองอ่างทองมาจำหน่ายระหว่างตัวศาลหลักเมือง คือ ศาลาตรีมุขซึ่งห่างกันประมาณ 30 เมตร เป็นลานกว้างใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมและการแสดงต่าง ๆ บริเวณศาลหลักเมืองมีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 1.5 ไร่ จึงสามารถจัดทำสวนดอกไม้ สวนหย่อม และปลูกหญ้าได้ สวยงาม
ศาลหลักเมืองของจังหวัดอ่างทอง เป็นสถานที่ศักสิทธิ์สวยงามสมกับเป็นหลักชัยและหลักใจของประชาชน ชาวอ่างทองอย่างยิ่ง ผู้มีโอกาสไปเยือนจังหวัดอ่างทองไม่ควรละเว้นที่จะไปเคารพสักการะศาลหลักเมืองและหา ของดีเมืองอ่างทองบริเวณศาลนั้น เพื่อเป็นสมบัติประจำตนและเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต
[แก้] หน่วยการปกครอง
การปกครองแบ่งออกเป็น 7 อำเภอ 81 ตำบล 513 หมู่บ้าน
|
จังหวัดอ่างทองเป็นพื้นที่ราบลุ่มภาดกลาง พิกัดภูมิศาสตร์เส้นรุ้งที่ 14 องศา 35 ลิปดา 12 ฟิลิปดาเหนือ เส้นแวงที่ 100 องศา 27ลิปดา 1.1 ที่ตั้งและอาณาเขต จังหวัดอ่างทองตั้งอยู่ในพื้นที่ราบลุ่มภาคกลางของประเทศไทย พิกัดทางภูมิศาสตร์อยู่ระหว่างเส้นรุ้งที่ 14 องศา 35 ลิปดา 12 ฟิลิปดาเหนือ และเส้นแวงที่ 100 องศา 27 ลิปดา 27 ฟิลิปดาตะวันตก ห่างจากกรุงเทพมหานครมาตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 32 (สายเอเซีย) ระยะทางประมาณ 108 กิโลเมตร และเส้นทางเรือตามลำแม่น้ำเจ้าพระยาถึงตลาดท่าเตียน ระยะทางประมาณ 120 กิโลเมตร มีรูปร่างลักษณะคล้ายรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีส่วนกว้างตามแนว ทิศตะวันออกถึงทิศตะวันตก และส่วน ยาวตามแนวทิศเหนือถึงทิศใต้ใกล้เคียงกัน คือ ประมาณ 40 กิโลเมตร มีพื้นที่ทั้งหมด 968,372 ตารางกิโลเมตร และมีอาณาเขตดังนี้
ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอค่ายบางระจัน อำเภอพรหมบุรี และอำเภอท่าช้าง จังหวัดสิงห์บุรี ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอผักไห่ และอำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอบางปะหัน อำเภอมหาราช และอำเภอบ้านแพรก จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอเมืองสุพรรณบุรี อำเภอศรีประจัน อำเภอสามชุก และอำเภอ เดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี
[แก้] ประชากร
มีทั้งสิ้น 283,523 คน เป็นชาย 136,713 เป็นหญิง 147,213 คน จำนวนบ้าน 80,220 บ้าน อันดับที่ 68 ของประเทศ ความหนาแน่นของประชากร 293 /ตร.กม อันดับที่ 11 ของประเทศ
[แก้] ภูมิศาสตร์
[แก้] ภูมิประเทศ
จังหวัดอ่างทอง ตั้งอยู่บริเวณที่ราบลุ่มภาคกลางของประเทศไทย พิกัดทางภูมิศาสตร์อยู่ระหว่าง เส้นรุ้งที่ 14 องศา 35 ลิปดา 12 ฟิลิปดาเหนือ เส้นแวงที่ 100 องศา 27 ลิปดา 27 ฟิลิปดาตะวันตก ห่างจากกรุงเทพมหานคร ตามระยะทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 32 (สายเอเซีย) ประมาณ 108 กิโลเมตร มีเนื้อที่ประมาณ 968.372 ตร.กม. หรือประมาณ 605,232.5 ไร่
จังหวัดอ่างทอง มีลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นที่ราบลุ่ม ลักษณะคล้ายอ่างไม่มี ภูเขา ดินเป็นดินเหนียวปนทราย พื้นที่ส่วนใหญ่เหมาะแก่การปลูกข้าว ทำไร่ ทำนา และทำสวน และมี แม่น้ำสายสำคัญไหลผ่าน 2 สาย คือแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำน้อย แม่น้ำเจ้าพระยา เป็นแม่น้ำสายแขนงที่ไหลผ่านจังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดชัยนาท จังหวัดสิงห์บุรี และจังหวัดอ่างทอง ซึ่งไหลผ่านอำเภอไชโย อำเภอเมืองอ่างทอง อำเภอป่าโมก รวมระยะทางที่ไหลผ่านจังหวัดอ่างทอง ประมาณ 40 กิโลเมตร
[แก้] ภูมิอากาศ
ลักษณะภูมิอากาศจัดอยู่ในโซนร้อนและชุ่มชื้น เป็นแบบฝนเมืองร้อนเฉพาะฤดู โดยได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนกุมภาพันธ์ ทำให้อากาศหนาวเย็น และแห้งแล้งในช่วงนี้ และได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกันยายน ทำให้มีเมฆมากและฝนตกชุกในช่วงนี้
[แก้] การเดินทางสู่อ่างทอง
บริษัท ขนส่ง จำกัด มีบริการรถโดยสารประจำทางระหว่างกรุงเทพฯ-อ่างทอง ทั้งรถธรรมดาและรถปรับอากาศ ทุกวัน สามารถขึ้นรถได้ที่สถานีขนส่งสายเหนือ ถนนกำแพงเพชร 2 สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมโทร. 0 2537 8055, 0 2936 2852-66, 0 2936 3603 ทางรถยนต์ จากกรุงเทพฯ สามารถเดินทางได้หลายเส้นทาง คือ เส้นทางที่ 1 ใช้เส้นทางสายพหลโยธิน ทางหลวงหมายเลข 32 จากกรุงเทพฯ แยกเข้าเส้นทางสายเอเชีย ผ่านอำเภอบางปะอิน-พระนครศรีอยุธยา-อำเภอบางปะหัน-อ่างทอง รวมระยะทาง 105 กิโลเมตร เส้นทางที่ 2 ใช้เส้นทางตัดใหม่ ข้ามสะพานพระปิ่นเกล้า - ตลิ่งชัน เข้าเส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 340 ผ่านจังหวัดนนทบุรี-ปทุมธานี-พระนครศรีอยุธยา-สุพรรณบุรี-อ่างทอง รวมระยะทางประมาณ 150 กิโลเมตร เส้นทางที่ 3 ใช้เส้นทางกรุงเทพฯ-ปทุมธานี ผ่านปากเกร็ด เข้าทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3111 ผ่านอำเภอบางไทร-อำเภอเสนา-พระนครศรีอยุธยา จากนั้นใช้เส้นทางหมายเลข 3263 และต่อเข้าทางหลวงหมายเลข 309 เข้าอำเภอป่าโมก-อ่างทอง รวมระยะทาง 140 กิโลเมตร หรือใช้ทางพิเศษอุดรรัถยา (ทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด) สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 1543
[แก้] ชาวอ่างทองที่มีชื่อเสียง
- เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง
- สุภา ศิริมานนท์
- บำเรอ ผ่องอินทรีย์ (โน๊ต เชิญยิ้ม)
- ไชยา มิตรชัย (พระเอกลิเก)
[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น
- แผนที่ จาก มัลติแมป โกลบอลไกด์ หรือ กูเกิลแมปส์
- ภาพถ่ายทางอากาศ จาก เทอร์ราเซิร์ฟเวอร์
- ภาพถ่ายดาวเทียม จาก วิกิแมเปีย
จังหวัดอ่างทอง เป็นบทความเกี่ยวกับ จังหวัด อำเภอ หรือเขตการปกครองต่าง ๆ ของประเทศไทย ที่ยังไม่สมบูรณ์ ต้องการตรวจสอบ เพิ่มเนื้อหา หรือเพิ่มแหล่งอ้างอิง คุณสามารถช่วยเพิ่มเติมหรือแก้ไข เพื่อให้สมบูรณ์มากขึ้น ข้อมูลเกี่ยวกับ จังหวัดอ่างทอง ในภาษาอื่น อาจสามารถหาอ่านได้จากเมนู ภาษาอื่น ด้านซ้ายมือ หรือ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สถานีย่อย:ประเทศไทย |