คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
มหาวิทยาลัยมหิดล
(Faculty of Medicine Siriraj hospital
Mahidol University)
วันที่ก่อตั้ง | พ.ศ. 2432 |
คณบดี | ศ. คลินิก นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร |
สีประจำคณะ | เขียว |
สถานปฏิบัติการ | โรงพยาบาลศิริราช |
ที่ตั้ง | 2 ถนนพรานนก แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร 10700 |
เว็บไซต์ | www.si.mahidol.ac.th |
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล นับได้ว่าเป็นคณะที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดของประเทศไทย โดยมีต้นกำเนิดมาจากโรงเรียนแพทยากร และพัฒนามาจนกระทั่งเป็น คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล สังกัดมหาวิทยาลัยมหิดล ปัจจุบัน คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มีอายุ 118 ปีแล้ว มีบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาทั้งหมด 111 รุ่น สำหรับนักศึกษาแพทย์ปีการศึกษา 2549 นี้ นับเป็นรุ่นที่ 117
[แก้] ประวัติ
วิชาการแพทย์ไทยแต่เดิมพัฒนาจากการใช้ยาสมุนไพร เมื่อชาวบ้านคนใดเจ็บป่วยก็พากันไปรักษากับหมอยาตำราหลวงตามแบบแผนอย่างไทย กระทั่งมีคณะมิชชันนารีจากต่างชาติที่เข้ามาเผยแผ่ศาสนาพร้อมกับวิทยาการทางการแพทย์แผนตะวันตกในช่วงปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้เกิดรูปแบบการรักษาพยาบาลแบบใหม่ขึ้นในสยามประเทศ
ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชประสงค์จะให้มีโรงพยาบาล เพื่อจัดระเบียบและยกระดับมาตรฐานการแพทย์และการสาธารณสุขในสยามให้สมกับเป็นประเทศที่รุ่งเรือง พระองค์ทรงจัดตั้งคณะกรรมการ (กัมมิตตี-Committee) ชุดหนึ่ง เมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2429 ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิทั้งสิ้น 9 ท่าน คือ
- พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสิริธัชสังกาศ เป็นนายก
- พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ
- พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าศรีเสาวภางค์
- พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าวัฒนานุวงศ์
- พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์
- พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฏางค์
- พระยาโชฏึกราชเศรษฐี
- เจ้าหมื่นสรรเพชรภักดี
- ดอกเตอร์ ปีเตอร์ เคาแวน แพทย์ประจำพระองค์
เป็นผู้ร่วมดำเนินการจัดตั้งโรงพยาบาล คณะกรรมการชุดนี้ได้กราบทูลขอแบ่งพื้นที่พระราชวังบวรสถานพิมุขด้านใต้อันเป็นพื้นที่หลวงร้างฟากธนบุรี เพื่อเป็นพื้นที่ก่อสร้างโรงพยาบาล และซื้อที่ริมข้างเหนือโรงเรียนของคณะมิชชันนารีอเมริกันเพื่อทำท่าขึ้นโรงพยาบาล และให้ชื่อว่า “โรงพยาบาลวังหลัง” เป็นโรงพยาบาลหลวงแห่งแรกในสยาม
ลุปี พ.ศ. 2430 ขณะกำลังก่อสร้างโรงพยาบาล สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ ประชวรสิ้นพระชนม์ด้วยพระโรคบิด ยังความโศกเศร้าพระราชหฤทัยแก่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและ สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระวรราชเทวี เป็นล้นพ้น จึงทรงมีพระราชประสงค์ที่จะเกื้อกูลโรงพยาบาลเพื่อเป็นพระราชกุศล เมื่อเสร็จสิ้นงานพระเมรุพระราชทานเพลิงพระศพแล้ว ได้พระราชทานไม้ที่ใช้สร้างพระเมรุมาศจำนวน 15 หลังมาเป็นวัสดุสำหรับปลูกสร้างโรงพยาบาล ทั้งยังได้พระราชทานพระราชทรัพย์ในส่วนของเจ้าฟ้าศิริราชฯ จำนวน 700 ชั่ง (56,000 บาท) เป็นค่าก่อสร้างอีกด้วย
วันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2431 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดโรงพยาบาล ซึ่งวันนี้ถือว่าเป็นวันกำเนิดโรงพยาบาล และพระราชทานนามใหม่แก่โรงพยาบาลว่า “โรงศิริราชพยาบาล” สังกัดกรมพยาบาลอันมีพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าศรีเสาวภางค์เป็นอธิบดี
เมื่อตั้งโรงพยาบาล ความลำบากประการแรกที่ต้องพบคือการสรรหาแพทย์ประจำโรงพยาบาล ในชั้นแรกคณะกรรมการได้เชิญหมอหลวงที่มีชื่อเสียงมารับตำแหน่งกินเงินเดือน ซึ่งก็ได้พระประสิทธิวิทยา(หนู – ภายหลังได้เป็น พระยาประเสริฐศาสตร์ธำรง) มาเป็นแพทย์ใหญ่ พร้อมกับลูกศิษย์อีก 2 คนเป็นแพทย์รอง
ในคราวนั้น คณะกรรมการเห็นว่าการจะหาแพทย์เพิ่มเติมนั้นยากเต็มที เพราะบรรดาหมอที่มีชื่อเสียงในขณะนี้ออกจะถือตัว ไม่ยอมเข้าร่วมกับโรงพยาบาล สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ จึงได้กราบบังคมทูลให้มีการจัดตั้งโรงเรียนสอนวิชาแพทย์ขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนแพทย์และจะได้เพิ่มเติมวิธีการรักษาด้วยการผ่าตัดตามแนวตะวันตกให้แก่แพทย์ไทยด้วย โดยตั้งโรงเรียนขึ้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาหน้าโรงพยาบาล เมื่อ พ.ศ. 2432 และเปิดสอนตั้งแต่วันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2433 รับสมัครนักเรียนอายุ 18 ปีเข้าศึกษาโดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม มีดอกเตอร์ยอร์ช แมกฟาแลนด์ (หมอเมฆฟ้าลั่น - ภายหลังได้เป็นศาสตราจารย์พระอาจวิทยาคม) เป็นครูสอน กระทั่งวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2436 จึงได้เปิด “โรงเรียนแพทยากร” ขึ้นอย่างเป็นทางการตามพระบรมราชโองการ และเจริญรุ่งเรืองมาจนได้รับพระราชทานนามใหม่ว่า “โรงเรียนราชแพทยาลัย” ในวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2443
ในวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2459 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนาโรงเรียนข้าราชการพลเรือนขึ้นเป็น “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” เพื่อเฉลิมพระเกียรติแด่พระบรมชนกนาถ ในโอกาสนี้ได้ทรงรวมโรงเรียนราชแพทยาลัยเข้าเป็น 1 ใน 4 คณะแรกของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และพระราชทานนามว่า “คณะแพทยศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ต่อมาได้เปลี่ยนนามตามพระราชบัญญัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2461 เป็น “คณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล”
ในปี พ.ศ. 2464 รัฐบาลบาลสยาม (กัดฟันมันสยาม-Government of Siam) ได้เริ่มเจรจากับมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ (Rockefeller) ในชั้นแรกได้ติดต่อผ่านทางเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีซึ่งเป็นเสนาบดีกระทรวงศึกษาธิการ ต่อมา สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ ทรงรับเป็นผู้แทนฝ่ายไทยในการเจรจาเพื่อปรับปรุงและขยายการศึกษาแพทยศาสตร์ของสยามให้ถึงระดับปริญญา นอกจากนี้ เมื่อครั้งที่สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ ดำรงตำแหน่งมหาอำมาตย์ตรี อธิบดีกรมมหาวิทยาลัย กระทรวงศึกษาธิการ ยังทรงบริจาคพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อสร้างตึกในโรงพยาบาลศิริราชหลายหลัง และยังได้พระราชทานทุนการศึกษาแก่นักเรียนไทย สำหรับไปศึกษายังต่างประเทศเพื่อให้กลับมาเป็นอาจารย์ต่อไป (ดังเช่น นายแพทย์เฉลิม พรมมาส เป็นต้น)
นับได้ว่า สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดชฯ ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อศิริราชและการแพทย์แผนปัจจุบันของไทยเป็นนานาอเนกประการ ทางคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลจึงได้จัดสร้างพระราชานุสาวรีย์ไว้ ณ ใจกลางโรงพยาบาล และถวายพระราชสมัญญาว่า “องค์บิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย” เพื่อประกาศพระเกียรติคุณของพระองค์ให้ปรากฏตราบชั่วนิรันดร์สมัย
ถึงรัฐบาลภายใต้การนำของจอมพลแปลก พิบูลสงคราม (ขีตะสังขะ) ได้ดำเนินนโยบายจัดระเบียบการบริหาราชการแผ่นดินใหม่ และได้รวมเอาคณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล คณะทันตแพทยศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ และคณะเภสัชศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งขึ้นเป็น “มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์” เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2486 มีฐานะเป็นกรม สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ก่อนจะย้ายมาสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อ พ.ศ. 2502 ระหว่างนี้ได้มีการจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ต่อมาย้ายไปสังกัดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลนครเชียงใหม่ ต่อมาย้ายไปสังกัดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เป็นต้น
วันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2512 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชทานนามใหม่แก่มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ว่า “ มหาวิทยาลัยมหิดล ” ทางคณะฯจึงได้ถือโอกาสนี้เปลี่ยนนามใหม่เป็น “คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล” โดยในระหว่างนี้ได้ช่วยเหลือในการจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่นและมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ตามลำดับ
ปี พ.ศ. 2547 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลได้รับกรรมสิทธิ์ที่ดินจากการรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นจำนวน 30 ไร่ รวมเป็น 107 ไร่ เพื่อพัฒนาเป็นสถาบันการแพทย์ชั้นเลิศในเอเชียอาคเนย์
[แก้] หลักสูตร
ระดับปริญญาตรี | ระดับปริญญาโท | ระดับปริญญาเอก |
---|---|---|
หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต
|
หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต
|
หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต
|
[แก้] ศูนย์
- สำนักงานศูนย์โรคหัวใจสมเด็จพระบรมราชินีนาถ
- สถานเทคโนโลยีการศึกษาแพทยศาสตร์
- สถานการแพทย์แผนไทยประยุกต์
- สถานวิทยามะเร็งศิริราช
|
คณะแพทยศาสตร์ ใน ประเทศไทย | ||
---|---|---|---|
|
|
หน่วยงานใน มหาวิทยาลัยมหิดล |
หน่วยงาน | |
---|---|
คณะ |
กายภาพบำบัด · ทันตแพทยศาสตร์ · เทคนิคการแพทย์ · พยาบาลศาสตร์ · แพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี · แพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล · เภสัชศาสตร์ · วิทยาศาสตร์ · ศิลปศาสตร์ · วิศวกรรมศาสตร์ · เวชศาสตร์เขตร้อน · สังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ · สัตวแพทยศาสตร์ · สาธารณสุขศาสตร์ · สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ · บัณฑิตวิทยาลัย |
วิทยาลัย |
วิทยาลัยการจัดการ · วิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา · วิทยาลัยนานาชาติ · วิทยาลัยศาสนศึกษา · วิทยาลัยราชสุดา · วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ |
สถาบันสมทบ |
วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า · วิทยาลัยพยาบาลเกื้อการุณย์ · วิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานครและวชิรพยาบาล · วิทยาลัยพยาบาลกองทัพบก · วิทยาลัยพยาบาลกองทัพเรือ · วิทยาลัยพยาบาลทหารอากาศ · วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี (วิทยาเขตกรุงเทพ จักรีรัช ชัยนาท พระพุทธบาท ราชบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี ศรีธัญญา จังหวัดชลบุรี จังหวัดเพชรบุรี) |
ดูเพิ่ม |