สมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี ในรัชกาลที่ ๕ หรือที่ถวายเรียกกันว่า เสด็จพระนาง เป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่เจ้าคุณจอมมารดาสำลี แห่งราชนิกุลบุนนาค ประสูติเมื่อวันพุธ เดือน ๗ ขึ้น ๑ ค่ำ ปีระกาตรีศก จ.ศ. ๑๒๒๓ (๑๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๐๔) ทรงร่วมเจ้าจอมมารดากับ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุษบงเบิกบาน และ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้านภาพรประภา กรมหลวงทิพยรัตนกิริฎกุลินี หรือเสด็จอธิบดี ทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น พระราชเทวี ในรัชกาลที่ ๕
สารบัญ |
[แก้] พระประวัติ
[แก้] ประสูติ
สมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี เป็นพระเจ้าลูกเธอพระองค์ที่ ๕๒ ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นลำดับที่ ๓ ซึ่งประสูติแต่เจ้าคุณจอมมารดาสำลี แห่งราชนิกุลบุนนาค เมื่อแรกเสด็จพระราชสมภพ ในฐานะพระราชธิดาที่ประสูติจากเจ้าจอมมารดา จึงทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น "พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าสุขุมาลมารศรี" พระบรมราชบิดาทรงพระราชนิพนธ์พระคาถาพระราชทานเป็นภาษามคธ ซึ่งสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ได้ทรงพระนิพนธ์แปลไว้ว่า
"ธิดาของเราที่บังเกิดแต่สำลีนี้ จงปรากฏโดยนามว่า สุขุมาลมารศรี[1] จงทรงนามนั้นไว้ มีความสุขเสมอ อนึ่งจงมั่งคั่งมีทรัพย์มาก มีบริวารงดงาม ไม่มีโรค ไม่ลำบาก เจริญโดยลำดับ จงได้ซึ่งที่พึ่งอันบริบูรณ์ด้วยกำลังเป็นที่ต้องใจ"
พระองค์ทรงเป็นพระราชธิดา "รุ่นกลาง" เช่นเดียวกันกับ พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ซึ่งต่อมา ได้ทรงรับราชการฝ่ายในเป็นพระมเหสีใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วยกัน
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๑๑ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิตประชานารถ พระราชโอรสพระองค์โต เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติสืบมา พระองค์เจ้าสุขุมาลมารศรี ในฐานะพระกนิษฐา ทรงเปลี่ยนพระฐานะจาก พระเจ้าลูกเธอ เป็น พระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้าสุขุมาลมารศรี
[แก้] พระมเหสีในรัชกาลที่ ๕
เมื่อมีพระชนมายุได้ประมาณ ๑๗ พรรษา จากหลักฐานที่ปรากฏพระองค์ทรงเป็นเจ้านายชั้น "ลูกหลวง" พระองค์ที่สอง[2]ที่ได้ถวายตัวเป็นพระมเหสีในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และภายหลังทรงมีพระประสูติกาลสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์ กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร ซึ่งทรงเป็นเจ้าฟ้าชั้นเอก (ชั้นทูลกระหม่อม) พระองค์แรกที่มีพระชนม์[3] พระองค์จึงได้รับพระราชทานสถาปนาเป็น พระนางเธอ พระองค์เจ้าสุขุมาลมารศรี ทรงรับพระราชทานเครื่องอิสริยยศราชูปโภคลงยาราชาวดี นับว่าเป็นพระมเหสีพระองค์แรกที่มีการเฉลิมพระนามและพระอิสริยยศอย่างเป็นทางการในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
หลังจากพระองค์มีพระประสูติกาล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต พระองค์ทรงได้รับการเฉลิมพระอิสริยยศเป็น "พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี" โดยมีพระบรมราชโองการให้แปลพระนามาภิไธยเป็นภาษาอังกฤษว่า "Her Royal Highness the Princess Consort" (หรือบางครั้งทรงใช้ Her Royal Highness Phra Nana Chao Phra Raj Dhevi) และทรงดำรงฐานันดรศักดิ์นี้จนสิ้นรัชกาล พระองค์มีพระฐานะอยู่ในลำดับที่ ๓ แห่งพระบรมราชวงศ์ฝ่ายใน
[แก้] พระปิตุจฉาในรัชกาลที่ ๖ และ ๗
เมื่อผลัดแผ่นดิน สมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรีฯ ก็เหมือนกับพระภรรยาอื่นๆ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ โศกสลด และปลีกพระองค์ออกจากพระบรมมหาราชวังมานับตั้งแต่นั้น โดยพระองค์พร้อมด้วยสมเด็จเจ้าฟ้าหญิงสุทธาทิพยรัตน์ กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร ได้เสด็จออกมาประทับที่วังบางขุนพรหม แต่เนื่องจากทรงเป็นเจ้านายฝ่ายในที่ดำรงพระอิสริยยศสูง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมโขลน และกรมวังจัดคนส่วนหนึ่งมาปฏิบัติถวายการรับใช้อยู่ที่วังนั้น เสมือนหนึ่งยังคงประทับอยู่ในพระบรมมหาราชวังทุกประการ และสมเด็จเจ้าฟ้าหญิงสุทธาทิพยรัตน์ กรมหลวงศรีรัตนโกสินทรฯ นั้นก็ได้เสด็จสิ้นพระชนม์ชีพในรัชกาลที่ ๖ นี้เอง พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้านภาพรประภา กรมหลวงทิพยรัตนกิริฎกุลินี ซึ่งทรงเป็น "เสด็จอธิบดี" ว่าราชการอยู่ในพระบรมมหาราชวังก็ได้เสด็จออกมาประทับร่วมเพื่อปลอบโยนพระราชหฤทัยสมเด็จฯ ในครั้งนั้นด้วย
นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังทรงมีพระบรมราชโองการให้แปลพระนามาภิไธยเป็นภาษาอังกฤษว่า "Her Majesty Queen Sukumalmarsri, Royal Consort of His Majesty King Chulalongkorn" ทั้งนี้ มิได้มีพระบรมราชโองการเปลี่ยนแปลงพระอิสริยยศแต่ประการใด
มีเกร็ดเล่ากันว่า สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พระพันปีหลวงในรัชกาลที่ ๖ และ ๗ นั้น เนื่องจากทรงเป็นพระมเหสีที่มีพระอิสริยยศสูงสุด และเคยเป็นแต่ "น้องเล็ก" มาก่อนจึงค่อนข้างแต่จะทรงเอาพระทัยพระองค์เอง แต่สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสา อัยยิกาเจ้า และสมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรีฯ นั้นในฐานะพระเชษฐภคินีก็ทรงยกโทษพระราชทานอภัยให้เสมอ ในปลายรัชกาลที่ ๖ ก่อนที่สมเด็จพระพันปีหลวงจะเสด็จสวรรคตไม่นานนั้น ทั้ง ๒ พระองค์ก็ได้เสด็จไปเยี่ยม สมเด็จพระพันปีฯ ถึงกับทรงกราบถวายบังคมแทบเบื้องพระยุคลบาทสมเด็จพระเชษฐภคินีทั้ง ๒ พระองค์ ขอพระราชทานอภัยโทษ แล้ว ๓ พระองค์พี่น้องก็กอดกันทรงพระกรรแสง จนนางพระกำนัล นางสนองพระโอษฐ์แถวนั้นต้องร้องไห้ตามๆ กันไป[4]
ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงรำลึกถึงพระมหาเมตตาคุณ พระมหากรุณาธิคุณ และพระมหามุทิตาคุณที่สมเด็จพระมาตุจฉาเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวีมีต่อพระองค์จึงทรงสถาปนาไว้ในที่ "สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสา มาตุจฉาเจ้า" และด้วยเหตุผลเดียวกันนั้น ทรงสถาปนาพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวีในรัชกาลที่ ๕ ขึ้นเป็น "สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี" และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แปลพระนามาภิไธยของทั้ง ๒ พระองค์เป็นภาษาอังกฤษว่า "Her Majesty the Queen Aunt"
[แก้] สมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี
ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล คณะผู้สำเร็จราชการในพระปรมาภิไธยมีพระบรมราชโองการให้สถาปนา สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร ขึ้นเป็น สมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร และสมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรีฯ มิได้ทรงเป็นพระปิตุจฉาฯ ในรัชกาลนั้นอีก ดังนั้น เพื่อป้องกันความสับสนจึงมีประกาศให้ออกพระนามาภิไธยว่า สมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี ทั้งนี้ ประกาศนี้มิใช่พระบรมราชโองการ และมิใช่พระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล
ในหนังสือ จุฬาลงกรณ์ราชสันตติวงศ์ พระบรมราชวงศ์แห่งประเทศไทย เจฟรีย์ ไฟน์สโตน ระบุไว้อย่างแน่ชัดว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ทรงสถาปนาพระนางเจ้าฯ พระองค์นี้เป็น "สมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี" หากแต่ในหนังสือ มหามงกุฎบรมราชสันตติวงศ์ พระนิพนธ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงวินิจฉัยว่า พระอิสริยยศสุดท้าย คือ สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี
ดังนั้น การออกพระนามาภิไธยในปัจจุบัน เพื่อมิให้เกิดความสับสนสมควรออกพระนามาภิไธยโดยระบุรัชกาลให้ชัดแจ้งลงไป กล่าวคือ
- สมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี ในรัชกาลที่ ๕ หรือ
- สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี ในรัชกาลที่ ๗
[แก้] พระราชกรณียกิจ
พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี ทรงว่าราชการแผนกนมัสการ และยังทรงรับราชการเป็นราชเลขานุการิณีส่วนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอีกด้วย เล่ากันว่า เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมักทรงงานอยู่จนดึก สมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรีฯ ก็มักจะประทับอยู่ ณ ที่แห่งนั้นด้วย ทรงหมอบเขียนพระบรมราชโองการตามรับสั่งอยู่จนรุ่งเช้า ใกล้ ๆ กันนั้นมีเจ้าจอมก๊กออ ซึ่งเป็นพระญาติในราชนิกุลบุนนาค อยู่งานคอยถวายรับใช้ทั้ง ๒ พระองค์[5]
ถึงแม้ว่าพระมเหสีลูกหลวงอีกสามพระองค์ จะได้มีพระวาสนา เสด็จดำรงยศพระอัครมเหสีหมุนเวียนเปลี่ยนกันก็ตาม พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวีนี้ มิเคยได้ดำรงพระอิสริยยศเป็นพระอัครมเหสีเลย พระฐานะอยู่ในลำดับกลาง ๆ เสมอมา ซึ่งอาจเพราะเหตุนี้ ถึงกับได้ทรงมีพระราชกระแสว่า "แม่นี้เป็นมนุษย์ที่อาภัพ" (จากพระราชหัตถเลขาพระราชทานสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต) แม้แต่พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ยังทรงพระนิพนธ์ไว้ในเรื่อง เจ้าชีวิต ถึงสมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรีว่า
"ในรัชกาลที่ ๕ ทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นพระนางเจ้าพระราชเทวีอยู่ตลอดรัชกาล โดยเหตุผลอันใดผู้เขียนไม่เคยได้ทราบ ทรงมีพระราชโอรสธิดาประสูติ ๒ พระองค์ การที่ท่านไม่ได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จฯ นั้นเป็นของแปลก เพราะพระเจ้าอยู่หัวโปรดรักใคร่ไว้วางพระราชหฤทัยอย่างยิ่ง"[6]
หลักฐานแห่งความ โปรดรักใคร่ไว้วางพระราชหฤทัยอย่างยิ่ง นั้น มีปรากฏอยู่เนือง ๆ ดังเช่น สมเด็จฯ พระองค์นี้ น่าจะทรงเป็น "เมีย" คนแรกที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์โคลงพระราชทานให้[7]พระราชนิพนธ์นั้นมีว่า
สุขุมาลโดยชาติเชื้อ | เผ่าพันธุ์ | |
กายกอปรวรลักษณ์อัน | ละเอียดพร้อม | |
ไตรทวารประพฤติสรรพ์ | สิ่งชอบ ควรแฮ | |
ละเอียดครบควรนบน้อม | ท่านผู้ สุขุมาล |
เนื่องจากตามโบราณราชประเพณี พระภรรยาเจ้า เจ้าจอม พระมเหสี รวมถึงเจ้านายฝ่ายในจะประทับเรือพระที่นั่งลำเดียวกับพระมหากษัตริย์มิได้ แต่ในคราวที่เสด็จประพาสบางปะอิน เมื่อสมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรีฯ ทรงเตรียมการเรือพระที่นั่งเสร็จแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ถึงพอดี สมเด็จฯ จำต้องรีบเสด็จออกไป ทำให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสงสาร มีพระบรมราชโองการให้อัญเชิญสมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรีฯ เสด็จฯ กลับมาประทับภายในเรือพระที่นั่งองค์เดียวกัน จัดเป็นครั้งแรกที่มีสตรีบรรดาศักดิ์ได้นั่งเรือลำเดียวกับกษัตริย์[8]
อีกหลักฐานหนึ่งแห่งความไว้วางพระราชหฤทัย ก็คือ เมื่อเกิดเหตุการณ์วิกฤติการณ์กับประเทศฝรั่งเศส (วิกฤติ ร.ศ. ๑๑๒) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ทรงเศร้าโศกพระราชหฤทัยมาก ถึงขนาดทรงพระราชประสงค์จะเสด็จสวรรคต และได้ทรงพระราชนิพนธ์ความในพระราชหฤทัยขึ้นมา และพระราชนิพนธ์นั้นได้ทรงส่งไปพระราชทานเจ้านายเพียง ๒ พระองค์เท่านั้น คือ พระนางเจ้า พระราชเทวี และพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ[9] ซึ่งทั้ง ๒ พระองค์ก็ได้ทูลเกล้าฯ ถวายสนองพระราชนิพนธ์นั้น โดยสมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรีได้ทรงพระราชนิพนธ์โคลงสี่สุภาพถวาย โคลงนั้นมีความว่า
สรวมชีพข้าบาทผู้ | ภักดี | |
พระราชเทวีทรง | สฤษฎ์ให้ | |
สุขุมาลมารศรี | เสนอยศ นี้นา | |
ขอกราบทูลท่านไท้ | ธิราชเจ้าจอมสยาม |
ประชวรหนักอกข้า | ทั้งหลาย ยิ่งแล | |
ทุกทิวาวันบวาย | คิดแก้ | |
สิ่งใดซึ่งจักมลาย | พระโรค เร็วแฮ | |
สุดยากเท่าใดแม้ | มากม้วยควรแสวง |
หนักแรงกายเจ็บเพี้ยง | เท่าใด ก็ดี | |
ยังบหย่อนหฤทัย | สักน้อย | |
แม้พระจะด่วนไกล | ข้าบาท ปวงแฮ | |
อกจะพองหนองย้อย | ทั่วหน้าสนมนาง |
เมื่อคราวที่สมเด็จพระราชโอรสฯ เสด็จไปทรงศึกษาอยู่ ณ ต่างประเทศ สมเด็จฯ ได้ทรงมีพระราชหัตถเลขาติดต่อไปมาเสมอ มีพระราชหัตถเลขาฉบับแรกที่มีเนื้อความแสดงถึงความที่ทรงเป็น "แม่" อย่างสมบูรณ์อยู่ จึงขออัญเชิญ มา ณ ที่นี้ด้วย
"ในที่สุด โอวาทของแม่ฉบับนี้แม่ขอบอกแก่พ่อผู้เป็นลูกที่รักและที่หวังความสุขของแม่ให้ทราบว่า ตัวแม่นี้เป็นมนุษย์ที่อาภัพ มักจะได้รับความทุกข์อยู่เป็นเนืองนิจ แม่มิได้มีอันใดซึ่งเป็นเครื่องเจริญตาเจริญใดอันจะดับทุกข์ได้ นอกจากลูก เมื่อเวลาที่พ่อยังอยู่กับแม่แต่เล็ก ๆ มา ถึงหากว่าแม่จะมีความทุกข์มาสักเท่าใด ๆ เมื่อแม่ได้เห็นหน้าลูกแล้ว ก็อาจจะระงับดับเสียได้ด้วยความรักและความยินดีของแม่ในตัวลูก ก็ในเวลาซึ่งพ่อไปเล่าเรียนในประเทศยุโรปนี้ พ่อจงรู้เถิดว่า ข่าวความงามความดีของพ่อนั้น และจะเป็นเครื่องดับความทุกข์ของแม่ และอย่าประพฤติชั่วนอกคำสั่งสองของแม่ จงตั้งหน้าเล่าเรียนให้ได้รับความรู้โดยเร็ว จะได้กลับมาหาแม่โดยไม่นานปี"
[แก้] ในฐานะลูก พี่ และแม่
ถึงแม้ว่าจะทรงดำรงพระฐานันดรศักดิ์เป็นพระบรมราชวงศ์ฝ่ายในที่สูงส่ง แต่พระองค์ก็ไม่เคยทรงลืมความกตัญญูต่อเจ้าคุณจอมมารดาสำลี พระมารดา แม้ว่าท่านจะเป็นส่ามัญชนก็ตามที พระอิสริยยศที่สูงส่งเป็นถึงพระมเหสีในรัชกาล มิได้ทำให้ทรงขาดความอ่อนโยนต่อพระมารดาแม้แต่น้อย แม้ว่าเจ้าคุณจอมมรดาจะโมโหดุว่าอย่างไร พระองค์ก็ไม่ทรงตอบโต้ ก่อนหน้าที่จะถึงแก่อนิจกรรมไม่นานนัก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการให้สถาปนา "เจ้าจอมมารดาสำลี ในรัชกาลที่ ๔" ขึ้นเป็น "เจ้าคุณจอมมารดาสำลี" เพราะเหตุที่ เป็นขรัวยายของสมเด็จเจ้าฟ้าโดยนับเป็นครั้งแรกที่มีการพระราชทานตำแหน่ง "เจ้าคุณ" อย่างเป็นทางการ[10][11] ครั้นถึงแก่อนิจกรรมล่วงไป พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานเกียรติยศเป็นพิเศษถึงกับให้เชิญศพตั้งในท้องสนามหลวงเพื่อที่ พระราชเทวีจะได้มิต้องเสด็จไปไกล พระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้นในวันพระราชทานเพลิงศพถึงกับทรงเครื่องขาว และพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นลูกเธอในรัชกาลที่ ๔ ที่ ๕ และพระราชนัดดาก็จะต้องทรงเครื่องขาวด้วย ซึ่งต่อมาเมื่อเจ้าคุณจอมมารดาเปี่ยม[12] ถึงแก่อนิจกรรม ก็มิได้พระราชทานเกียรติยศเช่นนั้นบ้าง ทำให้สมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรีทรงวางพระองค์ลำบากไม่น้อย[13]
ในฐานะพระเชษฐภคินี ทรงรักใคร่พระกนิษฐามาก ทรงรับสั่งย้ำกับพระราชโอรส และพระราชนัดดาเสมอว่า แม่มีลูกสองคน แต่มีน้องเพียงคนเดียว ลูกรักแม่อย่างไรก็ขอให้รักน้าอย่างนั้นด้วย ซึ่งพระราชโอรส พระราชธิดาตลอดจนพระราชนัดดาก็ได้ทรงสนองพระราชเสาวนีย์ด้วยดี พระราชนัดดานั้นทรงเรียกสมเด็จฯ ว่า "เสด็จย่า" และเรียกเสด็จฯ อธิบดีว่า "เสด็จย่าพระองค์เล็ก" [14]
และในฐานะพระราชมารดาของสมเด็จเจ้าฟ้าฯ ถึงสองพระองค์ คงจะไม่มีสิ่งใดที่จะเป็นเครื่องพิสูจน์ได้ดีกว่าพระจริยวัตรของทูลกระหม่อมทั้งสองพระองค์นั้น สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร ทรงเป็นพระราชธิดา และเป็นที่สนิทสิเน่หาของพระบรมราชบิดามาก โดยทรงเป็นพระเจ้าลูกเธอเพียงพระองค์เดียวที่ได้รับพระราชทานกรมสูงถึง กรมหลวง[15] และพระนามกรมก็คือ ศรีรัตนโกสินทร[16] และสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต นั้นก็เป็นพระราชโอรสที่โปรดปรานมากที่สุด ทรงตรัสเรียกว่า "เจ้าฟ้านัมเบอร์ทู"[17] พร้อมกับทรงมอบหมายพระราชกิจสำคัญให้หลายอย่าง เช่น ผู้บัญชาการกองทัพเรือ เป็นต้น ถ้าหากว่าทรงขาดเฝ้าไปสักสองวัน จะมีพระบรมราชโองการว่า เจ้าชายหายไปไหนไม่เห็นมา และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอรไทยเทพกัญญา ก็จะต้องรีบเสด็จออกมาตามพระองค์ไปเข้าเฝ้าฯ[18]
[แก้] สวรรคต
ก่อนที่จะสวรรคตประมาณสิบวัน สมเด็จฯ ได้ทรงพระราชนิพนธ์พระคาถาพระราชทานพระพรให้แก่กรมพระยาดำรงราชานุภาพฯ เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันประสูติ ความตอนหนึ่งว่า
ไม่น่าเชื่อว่าจะมีชีวิตอยู่จนได้ถวายพระพรเธอในปีนี้
สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี เสด็จสวรรคตในรัชกาลที่ ๗ เมื่อวันเสาร์ เดือน ๘ ขึ้น ๑๑ ค่ำ ปีเถาะนพศก จ.ศ. ๑๒๘๙ (๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๐) ณ ตำหนักสมเด็จ วังบางขุนพรหม พระชนมายุ ๖๖ พรรษา สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้านภาพรประภา กรมหลวงทิพยรัตนกิริฎกุลินี พร้อมด้วยพระราชนัดดา และพระราชนัดดาทรงเลี้ยง ทรงหมอบเฝ้าฯ อยู่ข้างพระที่ พระบรมศพอัญเชิญขึ้นประดิษฐาน ณ พระที่นั่งดุสิต พระบรมมหาราชวัง พระราชทานพระเกียรติยศถวายไว้อาลัย ๑๐๐ วันเป็นกรณีพิเศษ พระเมรุนั้นสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจิตรเจริญ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงเป็นผู้อำนวยการสร้าง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเรียบเรียงหนังสือ "สามก๊ก" แจกเป็นของที่ระลึก และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรวรรณากร กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ทรงพระนิพนธ์โคลงถวายหน้าพระบรมศพทุกศัตมวาร
งานพระเมรุจัดขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๗๑ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธาน ณ ปะรำพิธีท้องสนามหลวง
[แก้] เชิงอรรถและอ้างอิง
- ↑ พระนามาภิไธยที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทาน ทรงเขียนว่า "สุขุมาลมารศรี" แต่พระองค์สมเด็จพระนางเจ้าฯ เองทรงลงพระนามาภิไธยของพระองค์ว่า "สุขุมาลย์มารศรี"
- ↑ พระองค์แรก คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทักษิณชานราธิราชบุตรี
- ↑ เพราะเจ้าฟ้าชายพระราชกุมารซึ่งประสูติแต่พระองค์หญิงทักษิณชานั้นสิ้นพระชนม์แต่แรกประสูติ
- ↑ เก็บความจากหนังสือ ในวังแก้ว พระประวัติตรัสเล่าของหม่อมเจ้าหญิงมารยาตรกัญญา ดิศกุล
- ↑ กัณฑาทิพย์ สิงหะเนติ. ย้อยรอยเจ้าจอมก๊กออ ในรัชกาลที่ ๕
- ↑ จุลจักรพงศ์, พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า.เจ้าชีวิต สยามก่อนยุคประชาธิปไตย, ดวงกลมสมัย.2536 (หน้า203)
- ↑ เกร็ดกระทู้ – ตอน โคลงกลอนพระราชทานของรัชกาลที่ ๕ แด่ “เมียรัก” #2
- ↑ เกร็ดกระทู้ – ตอน โคลงกลอนพระราชทานของรัชกาลที่ ๕ แด่ “เมียรัก”#3
- ↑ ศึกษาธิการ, กระทรวง.ท ๖๐๖ วรรณลักษณวิจารณ์ ๒, ขัติยพันธกรณี
- ↑ เพราะเดิมมานั้นเจ้าคุณชาย เจ้าคุณหญิง ใช้เรียกหมายถึงบุตรและบุตรีในพระกนิษฐาของสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี ในรัชกาลที่ ๑ เจ้าคุณชาย เจ้าคุณหญิงเหล่านี้เป็นต้นสกุลบางช้าง แต่มิได้เป็นยศศักดิ์จริงๆ ใช้เพียงแต่เป็นการเรียกเท่านั้น
- ↑ เจ้าจอมมารดาในรัชกาลที่ ๔ ซึ่งได้เป็นเจ้าคุณจอมมารดาอีกท่านหนึ่งคือสมเด็จพระปิยมาวดีศรีพัชรินทรมาตา
- ↑ พระมารดาในสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ(พระอิสริยยศในขณะนั้น) และสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี (พระอิสริยยศในขณะนั้น)
- ↑ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ ถึงกับทรงพระหัตถ์กราบถวายบังคมทูลลาจะสิ้นพระชนม์ สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีฯ ทรงพื้นเสียและไม่รับสั่งกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าหลายวัน ทั้งหมดเก็บความจากหนังสือ ในวังแก้ว พระประวัติตรัสเล่าหม่อมเจ้าหญิงมารยาตรกัญญา ดิศกุล
- ↑ จุไรรัตนศิริมาน, พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า.พระประวัติจอมพล จอมพลเรือสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต
- ↑ พระบรมวงศ์ที่เป็นน้อง และลูกทรงกรมได้ถึงชั้นกรมหลวง แต่โดยมากแล้ว กรมหลวงมักพระราชทานให้กับพระเจ้าน้องยาเธอ น้องนางเธอเท่านั้น พระเจ้าลูกเธอมักทรงกรมเพียง กรมขุน สำหรับเจ้าฟ้า และกรมหมื่น สำหรับพระองค์เจ้า
- ↑ (อ่านว่า สี-รัด-ตะ-นะ-โก-สิน-ทอน เพื่อให้คล้องกับนครสวรรค์วรพินิต)
- ↑ เจ้าฟ้านัมเบอร์วันหมายถึงพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว อ้างจาก ราม วชิราวุธ ประวัติต้นรัชกาลที่ ๖
- ↑ เฉลิมพระเกียรติ 100 ปี สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต
[แก้] ดูเพิ่ม
- พระมเหสี เจ้าจอม พระราชโอรส และ พระราชธิดา ในรัชกาลที่ ๔
- พระมเหสี เจ้าจอม พระราชโอรส และ พระราชธิดา ในรัชกาลที่ ๕
- พระราชนิพนธ์โคลงสี่สุภาพ รายพระนามพระราชโอรส-พระราชธิดา ในรัชกาลที่ ๔
[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น
|
สมเด็จพระบรมราชินีนาถ และ พระภรรยาเจ้า ใน รัชกาลที่ ๕ แก้ | ||||||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
|