เจ้าจอมมารดาทับทิม
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เจ้าจอมมารดาทับทิม เป็นหนึ่งในเจ้าจอมมมารดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เกิดเมื่อวันที่ ๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๐๐ เป็นธิดา พระยาอัพภันตริกามาตย์ (ดิศ โรจนคิศ) ซึ่งเป็นตาของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กับขรัวยายอิ่ม สกุลเดิมเป็นข้าหลวงทั้งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ต้นตระกูล “บุญเรือง” เป็นตำแหน่งหลวงวัง
เจ้าจอมมารดาทับทิม เริ่มต้นชีวิตภายในพระบรมมหาราชวังตั้งแต่อายุได้เพียง ๖ ขวบ โดยเจ้าจอมมารดาเที่ยง (สนมเอกของรัชกาลที่ ๔) ผู้เป็นพี่ใหญ่ได้พาไปฝากให้คุณท้าววรคณานันท์(หุ่น) เป็นครูผู้ฝึกสอนการละคร และฟ้อนรำ
ในสมัยนั้น ถือกันว่าคุณท้าววรคณานันท์ (หุ่น)เป็นเจ้าสำนักที่ฝึกหัดเด็กดีที่สุด เพราะเป็นเจ้าจอมละครมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๒ และได้เป็นผู้ใหญ่อยู่ในพระราชวังในรัชกาลหลังๆ ต่อมาจึงทำให้เคยชินกับขนมธรรมเนียมภายใจพระบรมมหาราชวังเป็นอย่างยิ่ง ด้วยเหตุนี้จึงนับได้ว่าgจ้าจอมมารดาทับทิมได้ครูดี ได้โรงเรียนดี และได้สิ่งแวดล้อมทั้งมวลดีด้วย
ภายหลังพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชประสงค์ให้หัดละครในรุ่นเล็กขึ้นใหม่ เพื่อเอาไว้ให้หนุนแทนละครชั้นใหญ่ซึ่งลดน้อยไป เพราะเหตุไปเป็นเจ้าจอมมารดาบ้าง หรือล้มตายบ้าง ท่านผู้ใหญ่ในพระราชวัง สังเกตมานานแล้วว่าเจ้าจอมมารดาทับทิมมีแววฉลาด และมีพรสวรรค์สำหรับความเป็นศิลปิน จึงแนะนำให้รับราชการเป็นละครหลวง ซึ่งทั้งนี้เจ้าจอมมารดาเที่ยงผู้เป็นพี่ก็เห็นดีด้วย ด้วยใจรักเป็นทุน เจ้าจอมมารดาทับทิมจึงตั้งหน้าฝึกหัดฟ้อนรำพร้อม ๆ กับศึกษาวิชาอื่นๆ คู่ควบไปด้วย เมื่อละครหลวงชั้นเล็กออกโรงปลายสมัยรัชกาลที่ ๔ คนทั้งปวงก็พากันชมเชยว่าเจ้าจอมมารดาทับทิมสามารถรรำได้งดงามกว่าคนอื่น ซึ่งเป็นละครชั้นเดียวกันเป็นอันมาก
เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๑๑ เจ้าจอมอายุได้ ๑๑ ปี พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ เสด็จสวรรคต และเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ เสด็จขึ้นครองราชย์แล้ว เจ้าจอมมารดาทับทิมก็ยังเป็นละครหลวงอยู่ และมีลีลาการฟ้อนรำเป็นที่เลื่องลือกันทั่วไป จนได้ชื่อว่าเป็นนางเอกละครหลวงที่ดีที่สุดคนหนึ่งต่อมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ชุบเลี้ยงเจ้าจอมมารดาทับทิมเป็นเจ้าจอม ประจวบกับเจ้าจอมมารดาเที่ยงออกไปอยู่วังกรมหมื่นราชศักดิ์สโมสร พระองค์หญิงโสมาวดี (กรมหลวงสมรรัตน์ศรเชษฐ) พระราชธิดาองค์ใหญ่ ซึ่งครอบครองตำหนักต่อมา รับเจ้าจอมมารดาทับทิมจากสำนักท้าววรคณานันท์ และจัดเรือนในบริเวณตำหนักหลังหนึ่งกับทั้งคนสำหรับใช้สอย ให้ครอบครองสมกับบรรดาศักดิ์ สาเหตุที่ต้องสละการแสดงละครนั้น เพราะเหตุว่าเจ้าจอมมารดาทับทิมทรงครรภ์ พระเจ้าลูกเธอ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สึงพระราชทานตำหนักเจ้านายให้อยู่เป็นอิสระอย่างเจ้าจอมมารดา
พระราชโอรสและธิดาทั้งหมดมีด้วยกัน ๓ พระองค์ คือ
๑. พระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดช (กรมหลวงนครชัยศรีสุรเดช)
๒. พระองค์เจ้าหญิงประเวศวรสมัย
๓. พระองค์เจ้าวุฒิชัยเฉลิมลาภ (กรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกร)
เจ้าจอมมารดาทับทิมมีอัธยาศัยดี เป็นที่ชอบแก่บุคคลโดยทั่วไป โดยเฉพาะกิริยามารยาทถือกันว่า เป็นแบบฉบับแห่งหญิงชาววังที่ดี ในที่สุดทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานเครื่องยศ ยกขึ้นเป็นสนมเอกอันนับว่าสูงกว่าเจ้าจอมมารดาสามัญ เจ้าจอมมารดาทับทิมประจำอยู่ในพระบรมมหาราชวัง จนกรมหลวงนครชัยศรีสุรเดชสำเร็จการศึกษาจากยุโรป กลับมาพร้อมกับกรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกร ซึ่งเสด็จไปศึกษาวิชาทหารเรือ เจ้าจอมมารดาทับทิมก็ไปอยู่วังของพระราชโอรสธิดาทั้งสามโดยเฉลี่ยเท่า ๆ กัน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ เสด็จสวรรคต เมื่อเจ้าจอมมารดาทับทิมมีอายุได้ ๕๓ ปี จึงเปลี่ยนไปเป็นบำเพ็ญวัตรหาความสุข ตามสมควรแก่ฐานะบรรดาศักดิ์ เช่นฟังเทศน์ ทำบุญและให้ทาน
อย่างไรก็ตาม เจ้าจอมมารดาทับทิมก็มีสิ่งที่แปลกกว่าคนอื่นอยู่อย่างหนึ่ง คือ ชอบไปเที่ยวตามหัวเมือง ถ้าอยู่กับบ้านกับวังนาน ๆ คล้าย ๆ กับจะเจ็บป่วย แต่ถ้าได้แปรสถานไปที่อื่น กลับฟื้นมีความสบายด้วยเหตุนี้เอง เมื่อใดที่พระโอรสธิดาสังเกตเห็นว่า เจ้าจอมมารดามีอาการไม่สบายเป็นปกติ ก็มักชวนแปรสถานไปที่อื่นอย่างน้อยปีละหนหนึ่ง
ทางฝ่ายทะเล เจ้าจอมมารดาทับทิมชอบไปที่สมุทรปราการ และที่หนองแกใต้หัวหิน ซึ่งกรมหลวงสิงหฯ มีสวนและทรงสร้างตำหนักที่พักไว้ที่นั่นโดยเฉพาะในฤดูร้อน เจ้าจอมมารดามักแปรสถานไปอยู่ที่นั่นเป็นเวลานาน ๆ แทบทุกปีสำหรับการไปต่างประเทศ เจ้าจอมมารดาเคยไปเยี่ยมพระโอรสและธิดาถึงปีนัง ทั้ง ๆ ที่อายุเกือบจะ ๘๐ อยู่แล้ว กลับชมว่าปีนังอากาศดี เลยพักอยู่ที่ตำหนักพระองค์หญิงประเวศถึง ๑๓ เดือน
ในการฉลองอายุครบรอบ ๘๐ ปี เจ้าจอมมารดาทับทิมไม่พอใจที่จะให้จัดทำขึ้นในกรุงเทพฯ ด้วยเหตุว่าได้เคยรับไว้กับพระพรหมมุนี (อ้วน) วัดบรมนิวาส ซึ่งเป็นเจ้าคณะสงฆ์มณฑลอีสาน ว่าจะสร้างสำนักวิปัสนาที่ในวัดสุปัฏน์ อุบลฯ จึงปรารภว่าจะไปทำบุญฉลองอายุที่เมืองอุบลฯ แต่ยังไม่ทันถึงกำหนดงานก็มีอาการทุพพลภาพยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน เกรงว่าจะเดินทางโดยรถไฟไปไกลไม่ได้ จึงล้มความคิดจะไปทำบุญฉลองอายุที่อุบลฯ เปลี่ยนเป็นบริจาคทรัพย์ตามที่จำนวนกะไว้ อาการทุพพลภาพที่ว่านี้ เป็นการเริ่มต้นของโรคชรา หมอก็รู้ว่ายากที่จะกลับฟื้นดีได้ แต่เจ้าจอมมารดาทับทิมว่า ใคร่จะแปรสถานไปรักษาตัวที่บางปะอิน ผู้รักษาพยาบาลเห็นว่าอาการร้ายแรง ถ้าแปรสถานจะทำให้โรคกำเริบก็ทัดทานไว้ แต่ไม่สำเร็จ เจ้าจอมมารดาทับทิมได้ลงเรือไปบางปะอินในวันที่ ๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๐
พระราชโอรสธิดา ซึ่งรีบเสด็จมาจากปีนังเมื่อทราบเหตุ พยายามจะให้กลับกรุงเทพฯ อีก แต่ไม่เป็นผลประหลาดก็ตรงที่ว่า เจ้าจอมมารดาทับทิมอยู่ที่บางปะอินได้ถึง ๗๙ วัน จึงถึงแก่อสัญญากรรม
|
สมเด็จพระบรมราชินีนาถ และ พระภรรยาเจ้า ใน รัชกาลที่ ๕ แก้ | ||||||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
|
|
พระมเหสี เจ้าจอมมารดา เจ้าจอม ใน รัชกาลที่ ๔ แก้ | ||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
|