ไวกิง
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ไวกิง (Viking) ในความหมายหลักหมายถึงชนเผ่านักรบ นักการค้าและนักตั้งถิ่นฐานจากนอร์เวย์ สวีเดนและเดนมาร์ก ซึ่งบุกรบชนะ ยึดครองและตั้งอาณานิคมอาณาเขตในส่วนใหญ่ของอังกฤษ นอร์มังดี และรัสเซียเมื่อระหว่างประมาณ พ.ศ. 1200 - พ.ศ. 1590 นอกจากนี้ยังบุกจู่โจมสเปน โมร็อกโกและอิตาลี ติดต่อการค้ากับไบแซนติอุม เปอร์เชียและอินเดีย ชาวไวกิงยังได้ค้นพบและยึดครองไอซ์แลนด์และกรีนแลนด์และเดินเรือไปถึงชายทวีปอเมริกาเหนืออีกด้วย
พวกไวกิงได้ "ยกพลขึ้นบก" ชายฝั่งนอร์ทัมเบรีย ตอนเหนือของประเทศอังกฤษเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 1336 บุกเผาทำลายโบสถ์แห่งลินดิสฟาร์นและฆ่าพระบาทหลวงจนหมด ในอีกสองปีต่อมาก็ได้รุกลึกเข้าไปในแผ่นดินใหญ่อังกฤษในพื้นที่ที่เป็นสก็อตแลนด์ปัจจุบัน บุกโจมตีไอร์แลนด์และตั้งราชอาณาจักรไวกิงที่เมืองดับลิน ลิเมอริกและวอเตอร์ฟอร์ด แม้เมื่อแรกพวกไวกิงจะทำลายวัดและฆ่าพระ แต่ในที่สุดชาวไวกิงได้เข้ารีตเป็นคริสต์ศาสนิกชน
ด้วยธรรมชาติของการเป็นนักจู่โจมทางเรือโดยทางทะเลซึ่งจะต้องเข้มแข็ง ดุดันและไม่กลัวอันตราย ชาวไวกิงจึงมีกิตติศัพท์หรือได้สมญาว่าเป็นพวกโหดเหี้ยมทารุณและเป็นนักทำลายล้าง แต่ในฐานะของพ่อค้าและนักปกครองอาณานิคม ชาวไวกิงนับได้ว่าเป็นผู้มีบทบาทและอิทธิพลสูงทางดีในด้านการพัฒนายุโรปยุคกลาง การตั้งถิ่นฐานโพ้นทะเลในยุคแรกๆ ของชาวไวกิงได้แก่การตั้งเมือง "ออร์กนีย์" และที่หมู่เกาะ "เช็ทแลนด์" ซึ่งอยู่ในการปกครองของนอร์เวย์เรื่อยมาและสิ้นสุดเมื่อ พ.ศ. 2015
ช่วงเวลาที่นับเป็น "ยุคไวกิง" อยู่ระหว่าง พ.ศ. 1336 - พ.ศ. 1609 ซึ่งสิ้นสุดยุคประมาณระหว่างยุคเชียงแสนและหริภุญชัย หรือก่อนสถาปนาราชวงศ์พระร่วงโดยพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ (พ.ศ. 1792) 183 ปี
[แก้] อ้างอิง
- Chambers Dictionary of World History, Chambers Harrap, New York 2000
- William, Hywell, Cassell's Chronology of World History, Weidenfel & Nicolson, London 2005
[แก้] ดูเพิ่ม
- พิพิธภัณฑ์ไวกิง "บอร์ก" ในนอร์เวย์[1]