เอฟ-22 แร็พเตอร์
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เอฟ-22 แร็พเตอร์ (F-22 Raptor) เครื่องบิน เอฟ-22 เป็นเครื่องบินเจ๊ตขับไล่ที่มีแผนแบบจะนำมาใช้ปฏิบัติการครองอากาศทดแทนเครื่องบิน เอฟ-15 เริ่มต้นในต้นเดือนตุลาคม ค.ศ. 1985 กองทัพอากาศสหรัฐได้กำหนดความต้องการเครื่องบินขับไล่ยุทธวิธีขั้นก้าวหน้า ADVANCE TACTICAL FIGHTER (ATF) ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1986 กองทัพอากาศสหรัฐได้คัดเลือก กลุ่มบริษัท 2 กลุ่ม โดยมีการคัดเลือกเครื่องบินต้นแบบ จากสองกลุ่มบริษัทได้แก่ กลุ่มของบริษัท เจนเนอรัล ไดนามิกส์/ล็อกฮีด/โบอิง (เจเนอรัล ไดนามิกส์ ควบรวมกับ ล็อกฮีดในภายหลัง) ที่ดำเนินการสร้างเครื่องต้นแบบ YF-22 กับ กลุ่มของ บริษัท แมคดอนเนลล์ ดักลาส/นอร์ทธอป ที่สร้างเครื่องต้นแบบ YF-23 เพื่อดำเนินการสาธิตและการรับรองเครื่องต้นแบบโดยต้องมีการดำเนินการออกแบบและบินทดลอง และในวันที่ 23 เมษายน ค.ศ. 1991 กองทัพอากาศสหรัฐฯได้ตัดสินใจเลือกเครื่องต้นแบบ YF-22 ในการดำเนินการ
เครื่องต้นแบบ YF-22 ได้มีการดำเนินการสาธิตและรับรองเครื่องต้นแบบนานกว่า 54 เดือน หรือ กว่า 4 ปีครึ่ง โดยมีการทดลองบินเครื่องต้นแบบ YF-22 กว่า 74 เที่ยวบิน รวมเวลาบิน 91.6 ชั่วโมง ทดสอบติดตั้งและยิงจรวดนำวิถีอากาศสู่อากาศ ไซด์ไวน์เดอร์ และ เอมแรม การเติมน้ำมันในอากาศ ทดสอบปรับแรงขับของเครื่องยนต์ขณะบิน ระบบอิเล็กทรอนิกส์อากาศ (AVIONICS) การทดสอบและปรับปรุงห้องนักบินโดยการทดลองใช้จริงร่วมกับกองทัพอากาศและกองทัพเรือสหรัฐฯ และการทดสอบวัดขนาดพื้นที่สะท้อนเรดาร์ กับขนาดจริงของเครื่องบิน ส่วนการทดสอบเครื่องยนต์ต้นแบบ ก็มีอยู่ 2 แบบคือ เครื่องยนต์ต้นแบบ YF-119 ของบริษัทแพทตแอนด์วิทนีย์ และ เครื่องต้นแบบ YF 120 ของบริษัท เจนเนอรัล อิเล็คตริก ผลการตัดสินของกองทัพอากาศสหรัฐ ได้เลือกเครื่องยนต์ต้นแบบ YF-119 สำหรับใช้กับเครื่องบินขับไล่ เอฟ-22 [1][2]
เอฟ-22 เป็นเครื่องบินครองความเป็นจ้าวอากาศ แต่ทางกองทัพอากาศสหรัฐฯ มีโครงการพัฒนาเอฟ-22 ให้เป็นเครื่องบินรบหลายภารกิจ และพัฒนาให้สามารถโจมตีภาคพื้นดินและทิ้งระเบิดได้ เป็นเอฟบี-22 เพราะด้วยความสามารถของเอฟ-22 ที่เป็นเครื่องบินที่ใช้เทคโนโลยีในการออกแบบและพื้นผิวเครื่องแบบพิเศษทำให้ล่องหน (Stealth) สามารถรอดพ้นจากการตรวจจับด้วยเรดาร์ สามารถบินเข้าไปสู่เป้าหมายด้วยความเร็วเหนือเสียงโดยไม่ต้องสันดาปท้ายและเข้าปฏิบัติการตามลำพังได้ การโจมตีเป้าหมายของเอฟ-22 นักบินจะนำเครื่องบินสู่เป้าหมายด้วยอัตราความเร็ว 1.5 มัค ที่ความสูง 18,000 เมตร เพื่อลดโอกาสการถูกตรวจจับและการต่อต้านจากอาวุธภาคพื้นดิน เป้าหมายการทำลายของเอฟ-22 คือฐานยิงอาวุธปล่อยนำวิถีเคลื่อนที่ และ เป้าหมายที่ต้องทำลายเร่งด่วนอื่นๆ[3]
[แก้] การแบ่งงานการผลิตเครื่องบินเอฟ-22
- บริษัท โบอิง
- ส่วนท้ายของลำตัว
- ส่วนประกอบเครื่องยนต์กับลำตัว
- ปีก
- เรดาร์
- ระบบซอฟต์แวร์ในการปฏิบัติ
- ระบบฝึก
- บริษัท ล็อกฮีด แอร์โรนอติเกิล
- ลำตัวส่วนหน้า
- ส่วนขอบของลำตัวและปีก
- ส่วนแพนหางระดับ
- ส่วนแพนหางกระดิ่ง
- การประกอบรวมขั้นสุดท้าย
- การรวมระบบอาวุธ
- ระบบโปรเซสเซอร์
- บริษัท ล็อกฮีด ฟอร์ทเวิร์ธ
- ส่วนกลางของลำตัว
- ส่วนสงครามอิเล็กทรอนิกส์
- ระบบสื่อสารเดินอากาศพิสูจน์ฝ่าย
- ระบบบริหารอากาศยาน
- ระบบสนับสนุนอื่นๆ
- บริษัท แพรตแอนด์วิทนีย์
- เครื่องยนต์
[แก้] รายละเอียด เอฟ-22
- ผู้สร้าง ล็อกฮีด/โบอิง (สหรัฐอเมริกา)
- ประเภท เจ๊ตขับไล่ทางยุทธวิธีครองความเป็นจ้าวอากาศ ที่นั่งเดียว คุณสมบัติล่องหน (Stealth) พื้นผิวเครื่องบินสะท้อนเรดาร์น้อยจนรอดจากการตรวจจับของศัตรู
- เครื่องยนต์ 2 เครื่องยนต์ เทอร์โบแฟน แพรตแอนด์วิทนีย์ เอฟ119-พีดับลิว-100 ให้แรงขับเครื่องละ 35,000 ปอนด์
- กางปีก 13.56 เมตร
- ยาว 18.9 เมตร
- สูง 5.08 เมตร
- พื้นที่ปีก 78.04 ตารางเมตร
- น้ำหนักเปล่า 14,365 กิโลกรัม
- น้ำหนักวิ่งขึ้นสูงสุด 36,288 กิโลกรัม
- อัตราความเร็วปฏิบัติการ 1.7 มัค
- อัตราความเร็วขั้นสูง 2.42 มัค
- เพดานบินปกติ 19,812 เมตร
- รัศมีทำการรบ 700 กิโลเมตร
- อาวุธ ปืนใหญ่อากาศ วัลแคนเอ็ม 61 เอ 2ขนาด 20 มม. 1 กระบอก
- ภารกิจสกัดกั้นทางอากาศ
- อาวุธปล่อยนำวิถีอากาศสู่อากาศ พิสัยปานกลาง เอไอเอ็ม-120 แอมแรม จำนวน 6 นัด ในห้องบรรทุกอาวุธภายในลำตัว 2 ห้อง
- อาวุธปล่อยนำวิถีอากาศสู่อากาศ พิสัยใกล้ เอไอเอ็ม-9 ไซด์ไวน์เดอร์ จำนวน 2 นัด
- ภารกิจโจมตีภาคพื้นดิน
- ระเบิดนำวิถี จีบียู-32 เจแดม ขนาด 1,000 ปอนด์ 2 ลูก
- ระเบิดเอสดีบี ขนาด 250 ปอนด์ นำวิถีด้วยจีพีเอส
[แก้] อ้างอิง
- ↑ 1.0 1.1 http://en.wikipedia.org/wiki/F-22
- ↑ 2.0 2.1 อินทรีย์ สีเทา,แทงโก นิตยสารเพื่อคนรักการบินและเทคโนโลยี,มูลนิธิอนุรักษ์และพัฒนาอากาศยานไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์,กรุงเทพฯ,ปีที่ 5 ฉบับที่ 7 เมษายน 2540,หน้า 84
- ↑ 3.0 3.1 AIR WAR,แทงโก นิตยสารเพื่อคนรักการบินและเทคโนโลยี,มูลนิธิอนุรักษ์และพัฒนาอากาศยานไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์, กรุงเทพฯ,ปีที่ 10 ฉบับที่ 12 กันยายน 2545,หน้า 43
เอฟ-22 แร็พเตอร์ เป็นบทความเกี่ยวกับ ทหาร การทหาร หรืออาวุธ ที่ยังไม่สมบูรณ์ ต้องการตรวจสอบ เพิ่มเนื้อหา หรือเพิ่มแหล่งอ้างอิง คุณสามารถช่วยเพิ่มเติมหรือแก้ไข เพื่อให้สมบูรณ์มากขึ้น ข้อมูลเกี่ยวกับ เอฟ-22 แร็พเตอร์ ในภาษาอื่น อาจสามารถหาอ่านได้จากเมนู ภาษาอื่น ด้านซ้ายมือ |