เอดส์
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
โรคเอดส์ หรือ โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง (Acqired Immune Deficiency Syndrome - AIDS) เป็นกลุ่มอาการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นเพราะร่างกายได้รับเชื้อไวรัสเอชไอวี (HIV) ซึ่งจะเข้าไปทำลายเม็ดเลือดขาว ที่เป็นแหล่งสร้างภูมิคุ้มกันโรค ทำให้ภูมิคุ้มกันโรคลดน้อยลง จึงทำให้ติดเชื้อโรคฉวยโอกาสแทรกซ้อนเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายขึ้น เช่น วัณโรคในปอด หรือต่อมน้ำเหลือง เยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อรา โรคผิวหนังบางชนิด หรือเป็นมะเร็งบางชนิดได้ง่ายกว่าคนปกติ ซึ่งสาเหตุของการเสียชีวิตมักเกิดขึ้นจากโรคติดเชื้อฉวยโอกาสต่างๆ เหล่านี้ ทำให้อาการจะรุนแรง และเสียชีวิตอย่างรวดเร็ว
ปัจจุบันโรคเอดส์มีการตรวจพบทั่วโลก และประมาณการว่ามีผู้เสียชีวิตเนื่องจากโรคเอดส์ อย่างน้อย 25 ล้านคน ตั้งแต่ถูกค้นพบในปี พ.ศ. 2524 (ค.ศ. 1981) นับเป็นโรคที่มีอันตรายสูงโรคหนึ่งของประวัติศาสตร์มนุษย์ชาติ ในปี พ.ศ. 2548 ประมาณการว่ามีผู้ติดโรคเอดส์ประมาณ 3.1 ล้านคน(ระหว่าง 2.8 - 3.6 ล้าน) ซึ่ง 570,000 คนของผู้ป่วยโรคเอดส์เป็นเด็ก (UNAIDS, 2005)
สารบัญ |
[แก้] อาการ
เชื้อเอชไอวีไม่ได้ทำร้ายผู้ป่วยโดยตรง แต่เกิดจากทำลายเม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟซัยท์ ที่มีชื่อว่า CD4 เมื่อเม็ดเลือดขาวชนิดนี้ต่ำลง จะทำให้ร่างกายขาดภูมิคุ้มกัน และเกิดอาการของโรคติดเชื้อฉวยโอกาสแทรกซ้อนในที่สุด
คุณสามารถช่วยแก้ไขปัญหานี้ได้! โดยการกดที่ปุ่ม แก้ไข ด้านบน จากนั้นแก้ไขภาษาให้สละสลวย และแก้ตัวสะกดให้ถูกต้อง ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คู่มือ และ นโยบายวิกิพีเดีย |
ต้องเข้าใจก่อนว่าวันที่เรารู้ผลเลือด HIV+ ไม่ได้หมายความว่าเราเริ่มได้รับเชื้อ เอช ไอ วี ในวันนั้น เพราะเราอาจรู้ผลเลือดหลังจากที่เรารับเชื้อมานานแล้วก็ได้ เมื่อเรารับเชื้อ เราจะมีสุขภาพไม่ต่างจากเดิมเลย เพราะเชื้อเอช ไอ วี จะทำลายภูมิคุ้มกันไปเรื่อยๆ จะไม่ทำให้เราป่วยในทันที อัตราเฉลี่ยของประเทศไทยตั้งแต่รับเชื้อ จนเริ่มป่วยใช้เวลา 7-10 ปี ในช่วงที่เรามีเชื้อเอชไอวีอยู่ในร่างกายแต่ไม่ป่วยเพราะเรายังมีภูมิคุ้มกันที่ยังควบคุม หรือจัดการกับเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกายได้ เรียกว่า เป็นผู้ติดเชื้อ และเมื่อภูมิคุ้มกันถูกทำลายเหลือจำนวนน้อย จนไม่สามารถควบคุม หรือจัดการกับเชื้อโรคบางอย่างได้ทำให้เราป่วยด้วยเชื้อโรคนั้นๆ เรียกว่าเราเริ่มมี ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง เป็นผู้ป่วยเอดส์ โรคที่เราป่วยเนื่องจากภาวะภูมิบกพร่อง เรียกว่า โรคฉวยโอกาส
แนวทางการดูแลผู้ติดเชื้อผู้ป่วยเอดส์ที่สำคัญในปัจจุบัน มีอยู่สองแนวทาง ที่ต้องให้การดูแลควบคู่กันไปคือ 1. การป้องกันและรักษาโรคฉวยโอกาส ในกรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะภูมิบกพร่อง หรือป่วยด้วยโรคฉวยโอกาส (ที่สำคัญคือ หลายโรคป้องกันได้ และทุกโรครักษาได้ ) 2. การรักษาด้วยยาต้านไวรัส เอช ไอ วี เพื่อลดปริมาณไวรัสในเลือดให้น้อยที่สุดและควบคุมปริมาณไวรัสให้อยู่ในระดับต่ำนานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งจะส่งผลให้ระดับภูมิคุ้มกันสูงขึ้น ลดโอกาสที่จะป่วยเป็นโรคฉวยโอกาส
สูตรเบื้องต้นในการดูแลตนเอง
สังเกตอาการ และสิ่งผิดปกติที่เกิดขึ้นกับตัวเรา อาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นเป็นการส่งสัญญานบอกของร่างกายว่าเกิดความไม่ปกติขึ้นแล้ว ซึ่งเป็นข้อมูลที่สำคัญมากๆ เพื่อใช้ประกอบในการวินิจฉัยโรค และประเมินการรักษา ถ้าวินิจฉัยได้เร็วและถูกต้อง มีโอกาสมากที่ผลการรักษาจะดี เพราะฉะนั้นในการพบแพทย์ เราต้องพยายามบอกรายละเอียดของอาการ โดยเฉพาะอาการสำคัญๆ ด้วยความชัดเจน
อาการที่ควรเอาใจใส่ คือ ไข้ การที่คนเราเป็นไข้ เป็นเหมือนสัญญานเตือนให้เรารู้ว่าข้างในร่างกายของเรากำลังต่อสู้กับเชื้อโรคบางอย่างอยู่ อย่าคิดว่าผู้ป่วยเอดส์มีไข้เป็นเป็นเรื่องธรรมดา โดยเฉพาะถ้าเรามีไข้สูง หรือไข้เรื้อรังนานเป็นเดือน
เราจะรู้ได้ยังไงว่าเรามีไข้ ถ้าเรามีปรอทวัดไข้ วัดทางปาก อมใต้ลิ้น นาน 3 นาที แล้วได้อุณหภูมิสูงกว่า 37.5 องศาเซลเซียส ถือว่ามีไข้ แต่ถ้าวัดได้สูงกว่า 38.5 องศาเซลเซียส แปลว่า มีไข้สูง แต่ถ้าเราไม่มีปรอทวัดไข้ คงใช้ได้แค่ประมาณการเท่านั้น ว่าไข้สูงหรือไข้ต่ำ
ข้อมูลที่จำเป็น 1. ระยะเวลาที่มีไข้ กี่วัน กี่สัปดาห์ 2. ลักษณะของไข้เป็นอย่างไร ไข้สูงหรือไข้ต่ำ มีไข้เป็นเวลา หรือตลอดเวลา 3. มีอาการอื่นร่วมด้วยหรือไม่ เช่น ไอ ท้องเสีย ปวดศีรษะรุนแรง ถ้ามี พร้อมมีไข้สูง ควรพบแพทย์ 4. เราควรฝึกบันทึกไข้ การบันทึกไข้เป็นข้อมูลที่ชัดเจนที่สุด เพราะลักษณะไข้บางอย่าง เป็นลักษณะเด่นของบางโรค เช่น ไข้ต่ำๆ เรื้อรัง เป็นลักษณะเด่นของวัณโรค
ไอ อาการไอ เป็นการบอกเราว่าอาจมีการผิดปกติเกิดขึ้นที่หลอดลม หรือปอดของเรา โดยร่างกายพยายามขับออกด้วยการไอ ข้อมูลที่จำเป็น 1. ลักษณะอาการไอ ไอแห้งๆ หรือไอมีเสมหะ 2. เสมหะมีสีอะไร เหลือง เขียว หรือขาว 3. เป็นระยะเวลานานเท่าไร 4. มีไข้ร่วมด้วยหรือไม่ อย่างไร
หอบเหนื่อย คือลักษณะของการหายใจเร็ว ลักษณะของการหอบเหนื่อยบอกได้ถึงการทำงานของปอด ข้อมูลที่จำเป็น 1. อาการหอบเหนื่อยเกิดขึ้นหลังการไอ หรือไม่ได้ทำอะไรก็หายใจหอบ 2. มีอาการหอบเหนื่อยนานเท่าไร 3. มีประวัติโรคประจำตัวหรือไม่ เช่น โรคหอบหืด หรือ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังจากการสูบบุหรี่ 4. มีอาการเขียวที่ริมฝีปาก ปลายมือปลายเท้าด้วยหรือไม่ เพราะอาการเหล่านี้บอกถึงร่างกายกำลังขาดอากาศ ต้องพบแพทย์ด่วน
ปวด ข้อมูลที่จำเป็น 1. บริเวณที่ปวด 2. ลักษณะของอาการปวด เช่นปวดแบบตื้อๆ ปวดเหมือนมีอะไรมาทิ่มแทง 3. ระยะเวลาที่ปวด ปวดมานานเท่าไร ปวดแบบเรื้อรังหรือเฉียบพลัน 4. อาการปวดสามารถบรรเทาด้วยยาแก้ปวดหรือไม่
ปวดศีรษะ ลักษณะการปวดศีรษะบางอย่าง บอกเราว่าอาจมีการผิดปกติในระบบประสาท ข้อมูลที่จำเป็นเพิ่มเติมนอกเหนือจากอาการปวดทั่วไป 1. อาการปวดศีรษะมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นหรือไม่ เมื่อเปรียบเทียบกับอาการปวดครั้งก่อนๆ 2. มีอาการคอแข็ง (ก้มคอแล้วเจ็บมาก) หรืออาการอื่นๆ เช่น ไข้ อาเจียนพุ่งร่วมด้วยหรือไม่ 3. ระดับความรู้สึกตัวเปลี่ยนหรือไม่ เช่น สับสน ซึมลง 4. การมองเห็นผิดปกติหรือเปลี่ยนไปหรือไม่ เช่น เห็นภาพซ้อน มัว
ท้องเสีย มี 2 แบบ คือ แบบเฉียบพลัน ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อจากอาหารหรือน้ำดื่มไม่สะอาดที่เรากินเข้าไป มักจะหายได้เอง ภายใน 7 วัน แบบเรื้อรัง ส่วนใหญ่มีอาการเกิน 2 สัปดาห์ขึ้นไป เกิดได้จากหลายสาเหตุ อาจเกิดจากยาที่เรากินอยู่ ทำให้เกิดอาการถ่ายเหลว หรือจากการติดเชื้อต่างๆในลำไส้
ซึ่งจะสังเกตได้ว่าอุจจาระมีมูกปนเลือด บางสาเหตุก็เป็นโรคที่รักษาได้ แต่บางสาเหตุก็รักษาไม่ได้ จำเป็นต้องดูแลตามอาการ เท่านั้น
ควรสังเกต จำนวนครั้ง ต่อวัน ลักษณะของอุจจาระ และจำนวนวันที่มีอาการท้องเสีย
อาการที่ไม่ควรรอ (จำเป็นต้องหาสาเหตุเพื่อรักษาตามสาเหตุ) มีไข้สูง ปวดท้องรุนแรงร่วมด้วย มีอาการคลื่นไส้อาเจียนมาก หรือ ถ่ายมีมูกปนเลือด หรือ ไม่ดีขึ้นด้วยการดูแลเบื้องต้นและยังมีอาการถ่ายเหลวนานกว่า 1 สัปดาห์ หรือ มีภาวะขาดน้ำรุนแรง ซึ่งจะสังเกตจากริมฝีปากแห้ง ลิ้นแห้ง รู้สึกหิวน้ำ ตาลึกโบ๋ และผิวหนังแห้ง
แพ้ยา ผื่นที่พบบ่อยที่สุดคือผื่นแบบไข้หัด ผื่นลมพิษ มีลักษณะกระจายเท่าๆ กันทั้ง 2 ด้านของร่างกาย เกิดขึ้นหลังจากกินยา
แพ้ยารุนแรง มีอาการปากบวมพอง เหนื่อยหอบ หรือผิวหนังลอกทั้งตัว
การตรวจร่างกายตนเอง การตรวจร่างกายตนเองอย่างง่ายๆไม่จำเป็นที่จะต้องมีทักษะสูง อาศัยเพียงการสังเกต การดู การคลำ ก็เพียงพอแล้ว จะเริ่มตรวจที่ส่วนใดก่อนดี • ดูน้ำหนัก น้ำหนักมีการเปลี่ยนแปลงอย่างผิดสังเกตหรือไม่ ชั่งน้ำหนักอย่างน้อยเดือนละครั้งจะดีมาก และช่วงที่กำลังกินยารักษา ควรชั่งอาทิตย์ละครั้ง กรณีที่อ้วนขึ้น มีไขมันพอกหนาขึ้นเฉพาะส่วนรึเปล่าเพราะการกินยาบางอย่างทำให้อ้วนเฉพาะที่เช่น หน้าอก หน้าท้อง ต้นคอ กรณีที่น้ำหนักลดลง เป็นการลดลงอย่างรวดเร็วหรือค่อยเป็นค่อยไป เพราะการที่น้ำหนักลดลงในกลุ่มผู้ติดเชื้อมักจะมีสาเหตุมาจากการป่วยด้วยโรคฉวยโอกาส ไม่ใช่เป็นเรื่องธรรมดา โดยเฉพาะลดลง 5-10 กิโลกรัม ใน 1 เดือน • ตา อาการผิดปกติที่สำคัญ คือ การมองเห็นของตาทั้ง 2 ข้างเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ ทดสอบการมองเห็นโดยใช้มือปิดตามองทีละข้าง • ปากและช่องปาก สำรวจตั้งแต่ริมฝีปาก ภายในช่องปาก ลิ้น ข้างลิ้น ใต้ลิ้น เพดานอ่อน กระพุ้งแก้ม คอหอย เหงือกและฟัน ความผิดปกติที่พบบ่อยๆ คือ เชื้อราในปาก แผลร้อนใน เริม • ต่อมน้ำเหลือง มีอยู่ทั่วร่างกาย เช่นข้างคอทั้ง 2 ด้าน รักแร้ ขาหนีบ ปกติไม่ควรโต หากสังเกตพบว่าต่อมน้ำเหลืองโตขึ้นหรือคลำได้ และกดเจ็บ ควรไปปรึกษาแพทย์ • ท้อง ปกติท้องไม่ควรจะโต (คนที่อ้วนลงพุงถือว่าปกติ) อาจมีความผิดปกติบางอย่างที่ทำให้ ตับ ม้าม ต่อมน้ำเหลืองในช่องท้องโต เช่น วัณโรค • กำลังของแขนขา และการเคลื่อนไหว โดยการสังเกตอาการอ่อนแรง การรับรู้ความรู้สึกร้อนหนาว เจ็บปวดลดลงหรือไม่ การมองเห็น อาการชาตามบริเวณปลายมือ/เท้า อาการหลงลืม ความจำเสื่อม หรืออารมณ์แปรปรวน เช่น โกรธง่าย ก้าวร้าว จากที่ไม่เคยเป็น เป็นสัญญาณเตือนว่าอาจมีความผิดปกติของสมอง • ผิวหนัง สังเกตความผิดปกติเช่น ตุ่มคัน แผล ผิวหนังหลุดลอก แห้ง • การตรวจในร่มผ้า ผู้หญิงแนะนำให้ตรวจภายในทุกปี เพื่อตรวจหามะเร็งปากมดลูก และโรคฉวยโอกาสอื่นๆ
การดูแลเบื้องต้นที่เราจัดการได้เลย ไม่ต้องรอหมอ อาการไข้ 1. ดื่มน้ำมากๆ 2. ถ้าไม่รู้สึกหนาว ให้เช็ดตัวลดไข้หรืออาบน้ำ 3. แต่ถ้ามีอาการหนาวสั่น ต้องให้ความอบอุ่นกับร่างกายก่อน เช่น ห่มผ้าหนาๆ กอดกระเป๋าน้ำร้อน 4. กินยาลดไข้ เช่น ยาพาราเซตตามอล 5. กรณีไข้สูง และมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ไอ ท้องเสีย ปวดศีรษะรุนแรง ควรพบแพทย์
อาการท้องเสีย อาการท้องเสียไม่ว่าจะมาจากสาเหตุใดก็ตาม การดูแลเบื้องต้นไม่ความแตกต่างกัน สิ่งสำคัญที่เราต้องสนใจดูแลจากการท้องเสีย คือ ภาวะขาดน้ำของร่างกาย 1. การดูแลให้ได้รับน้ำอย่างพอเพียง ควรกินน้ำเกลือผสมโออาร์เอสสำหรับผู้ที่เสียน้ำ อย่างน้อยวันละ 2.5-3 ลิตร หรือ 1 แก้วทุกครั้งที่ถ่าย ไม่แนะนำเกลือแร่สำหรับนักกีฬา 2. กินอาหารครั้งละน้อย แต่บ่อยครั้ง ควรรักษาน้ำหนักของร่างกายให้คงที่หรือเพิ่มขึ้น 3. ไม่ควรงดอาหาร ควรกินอาหาร จำพวก อาหารไข่ต่างๆ นมไขมันต่ำ โยเกิร์ต ซุปใส ปลาย่าง ปลานึ่ง เป็ด ไก่ วุ้น กล้วยหอม ขนมปังกรอบ ก๋วยเตี๋ยว เป็นต้น 4. งด ชา กาแฟ เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และน้ำอัดลม 6. ดูแลความสะอาดผิวหนังบริเวณที่ขับถ่ายให้สะอาด 7. ถ้ากรณีที่พบสาเหตุของอาการท้องเสีย ก็ต้องรักษาตามสาเหตุไปด้วย เช่น ท้องเสียจากการเป็นวัณโรคลำไส้ นอกจากที่เราดูแลเบื้องต้นแล้ว เราต้องกินยารักษาวัณโรคด้วย เมื่อรักษาวัณโรคได้ผล อาการท้องเสียควรจะดีขึ้น หรือหายไป การดื่มน้ำต้มสุกช่วยลดอุบัติการการท้องเสียจากอาหารและน้ำดื่มที่ไม่สะอาดได้มาก
การทำน้ำเกลือชาวบ้าน(โออาร์เอส) ใช้น้ำสุก 1 ขวด (ประมาณ 750 ซีซี) ผสมกับน้ำตาลทราย 2 ช้อนโต๊ะ (25-30 กรัม) และเกลือป่นครึ่งช้อนชา (1.7 กรัม) หรือจะใช้น้ำข้าวต้มใส่เกลือ (ใส่เกลือครึ่งช้อนชาในน้ำข้าว 1 ขวดก็ได้) ถ้ามีอาการอาเจียนแต่ยังดื่มน้ำเกลือหรือน้ำข้าวต้มได้ ให้คอยสังเกตให้ได้รับน้ำมากกว่าส่วนที่อาเจียนออกไป
อาการแพ้ยา 1. หยุดยาตัวที่แพ้ ควรจำ หรือจด ชื่อยาไว้ แล้วให้ยาแก้แพ้ คือ ซีพีเอ็ม 2. ดื่มน้ำมากๆ 3. หากมีอาการแพ้รุนแรงควรปรึกษาแพทย์ทันที 4. กรณีกินยาหลายตัว ให้หยุดยาทุกตัวพร้อมกัน และพบแพทย์โดยเร็ว โดยเฉพาะกลุ่มยารักษาวัณโรค ไม่ควรหยุดกินยาเองทีละตัว เพราะอาจทำให้เชื้อวัณโรคดื้อยาได้
อาการปวด หลักการควบคุมอาการปวด • กรณีที่ปวดนานๆ ครั้งสามารถกินยาเฉพาะเวลาที่ปวดได้ • กรณีที่ปวดเรื้อรัง ควรกินยาแบบเป็นเวลาสม่ำเสมอ เช่น กินทุก 4-6 ชั่วโมง หากยังควบคุมอาการปวดไม่ได้อาจปรับความถี่ของการกินยา เช่น จาก 4 ครั้งต่อวัน เป็น 6 ครั้งต่อวัน หรือปรึกษาแพทย์เพื่อเปลี่ยนยาที่แรงขึ้น การให้ยาในรูปของยากินเป็นวิธีที่ง่ายและสะดวกที่สุด การดูแลเบื้องต้น : 1. กินยาแก้ปวด • อาการปวดทั่วไป (ระดับ 1) ยาที่ใช้ได้แก่ พาราเซตตามอล ยาพาราเซต เป็นยาสามัญที่ใช้ได้กับอาการปวดทุกชนิดที่ไม่รุนแรง ในผู้ใหญ่กินครั้งละ 1-2 เม็ด ซ้ำได้ทุก 4-6 ชั่วโมง วันละไม่เกิน 8 เม็ด ถ้าควบคุมอาการปวดไม่ได้ อาจใช้ยา บรูเฟน แทน ขนาด 400 มก. 1 เม็ด 3 เวลา • อาการปวดระดับปานกลาง (ระดับ 2) ยาที่ใช้ได้แก่ พาราเซตผสมโคดีอีน ทรามอล • อาการปวดรุนแรง (ระดับ 3) ยาที่ใช้ได้แก่ มอร์ฟีนชนิดฉีด เทมจิสิก อมใต้ลิ้น ยากลุ่มนี้แพทย์จะเป็นผู้สั่งเท่านั้น 2. ให้อยู่ในท่าที่สามารถลดอาการปวด เช่น นอนหนุนหัวสูง งอตัว 3. อาจใช้การนวดเพื่อลดอาการปวด หรือใช้น้ำร้อน/น้ำเย็นประคบ
อาการชัก/หมดสติ การดูแลเบื้องต้น : 1. ขณะชักจัดให้ผู้ป่วยนอนตะแคงหน้าเพื่อป้องกันการสำลักอาหารและน้ำลาย จัดท่าให้หายใจได้สะดวก 2. ขณะชักอย่าพยายามใส่สิ่งของในปากผู้ป่วยเพราะจะทำอันตรายต่อลิ้น ฟันและขากรรไกรของผู้ป่วยได้ 3. ควรปล่อยให้ผู้ป่วยชักอย่างอิสระไม่ควรพยายามหยุดอาการด้วยการจับยึดแขนขาเพราะจะเกิดแรงต้านทำให้เกิดการบาดเจ็บได้ 4. ผู้ดูแลควรควบคุมสติ พยายามเคลื่อนย้ายสิ่งที่เป็นอันตรายต่อผู้ป่วยขณะชักออก 5. คลายสิ่งผูกรัดผู้ป่วย เช่น เสื้อผ้า เข็มขัด 6. ระวังอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นกับ ศีรษะ แขน ขา ของผู้ป่วยขณะชัก 7. เมื่อหยุดชัก ควรจัดท่านอนกึ่งคว่ำ จนกว่าผู้ป่วยจะรู้สึกตัว 8. เมื่อผู้ป่วยรู้สึกตัว อธิบายให้ผู้ป่วยเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นและอยู่ที่ไหน 9. พาผู้ป่วยไปพบแพทย์ และกินยาอย่างต่อเนื่อง 10. ถ้าผู้ป่วยหยุดชักแล้วยังไม่รู้สึกตัว รีบส่งโรงพยาบาลโดยด่วน
อาการไอและเหนื่อยหอบ การดูแลเบื้องต้น : 1. ดื่มน้ำมากๆ เพื่อให้เสมหะเหลวและขับออกง่ายและยังช่วยลดอาการไอได้ 2. ไม่ควรกินยากดอาการไอ เช่น ยาแก้น้ำดำที่มีส่วนผสมของฝิ่น เพราะจะทำให้เสมหะตกค้างอยู่ในปอด 3. ทุกครั้งที่เราจะไอ ควรปิดปาก 4. จัดท่านอน เช่นนอนหนุนหัวสูง ทำให้หายใจสะดวกขึ้น 5. อากาศในห้องพักควรถ่ายเทได้สะดวก หลีกเลี่ยงฝุ่น ควันบุหรี่
การดูแลตนเองกับปัญหาในช่องปาก 1. การดูแลสุขภาพปากและฟันเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด แปรงฟันหรือบ้วนปากให้สะอาดทุกครั้งหลังอาหาร การใช้น้ำอุ่นหรือน้ำเกลือเจือจางบ้วนปากสม่ำเสมอจะช่วยรักษาความสะอาดในช่องปาก เป็นการป้องกันและลดปัญหาในช่องปาก หรือถ้าหากเป็นแล้วก็จะช่วยบรรเทาอาการได้บ้าง 2 หมั่นตรวจดูช่องปากอยู่เสมอให้ทั่ว ถ้าพบความผิดปกติจะได้ทราบแต่เนิ่นๆ 3. รักษาตามสาเหตุ
อาการที่ผิวหนัง อาการทางผิวหนังให้การดูแลเบื้องต้นทั่วไปไม่ต่างกันคือ * มีแผลเปิด ทำความสะอาดแผลด้วยน้ำสะอาด และใช้เบตาดีน เพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน รักษาความสะอาดอยู่เสมอ หลีกเลี่ยงสบู่ที่มีสารเคมีรุนแรง * อาการคัน ถ้าจากผิวแห้งควรรักษาความชุ่มชื้นให้ผิวหนัง โดยไม่ใช้สบู่ที่แรงเกินไป ใช้น้ำมันมะกอกหรือโลชั่นทา หรือคันจากอาการของโรค ใช้ยาแก้แพ้ เช่น ซีพีเอ็ม อาทาแร็ก ห้ามใช้ครีมสเตรียรอยด์ เช่น ทีเอ ครีม เบ็ทโนเวท กับแผลเปิด เพราะจะทำให้แผลลุกลามมากขึ้น
เมื่อเราตัดสินใจจะไปโรงพยาบาล ควรเตรียมอะไรบ้าง 1. ควรเตรียมบัตรผู้ป่วยของโรงพยาบาลให้พร้อม รวมถึงบัตรสิทธิการรักษาต่างๆที่มี เพราะเจ้าหน้าที่จะสามารถค้นประวัติการรักษาของเราได้ กรณีที่ทำบัตรหาย ควรติดต่อที่ห้องบัตร ไม่ควรทำบัตรใหม่เพราะจะไม่สามารถต่อกับประวัติการรักษาเดิม 2. เตรียมข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับอาการและสิ่งผิดปกติที่เราสังเกตได้ แต่คงต้องมีความกระชับ และชัดเจน หากมีข้อมูลมากอาจใช้การจด หรือถ้าเราไม่กล้าอาจให้ญาติเป็นผู้ให้ข้อมูลแทน อย่าลืมเอายาที่กินอยู่ทั้งหมดให้แพทย์ดูด้วย 3 สอบถามแพทย์ถึงผลการวินิจฉัย และปรึกษาแผนการรักษา 4. เตรียมตัวเองให้พร้อม ถ้าจำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล 5. กรณีมีปัญหาเรื่องค่ารักษาพยาบาล สามารถติดต่อฝ่ายสังคมสงเคราะห์ของโรงพยาบาลได้ 6. กรณีต้องการย้ายโรงพยาบาล สามารถขอประวัติการรักษาของตนเองจากแพทย์ได้
หลักการใช้ยา เนื่องจากเมื่อเราป่วย เราอาจจะต้องกินยาจำนวนมาก การกินยาอย่างถูกต้อง และเหมาะสมตามความจำเป็น ช่วยให้ตับของเราไม่ต้องทำงานหนักมาก
เพราะยาส่วนใหญ่ถูกขับออกที่ตับ ดังนั้น เมื่อเราได้ยามา เราควรรู้ว่า
1. ยาแต่ละชนิดที่เรากำลังกินอยู่ เป็นยารักษาตามเชื้อสาเหตุ หรือเป็นยาบรรเทาอาการ • ไม่ควรจำยาจากรูปแบบของยา เพราะยาบางชนิดอาจมีหลายรูปแบบ โดยเฉพาะยารักษาตามสาเหตุ ควรจำยาจากชื่อยา ถ้าชื่อยาเป็นภาษาอังกฤษ และเราไม่ถนัดอ่าน อาจใช้การลอกตามตัวอักษร หรือเก็บซองยาที่เป็นยาสำคัญไว้เป็นตัวอย่าง
2. การกินยาบรรเทาอาการ เรากินเมื่อมีอาการ แต่การกินยาตามเชื้อสาเหตุในแต่ละโรค อาจมีระยะเวลาการรักษาแตกต่างกัน จำเป็นต้องกินยาให้ครบระยะเวลาของการรักษา
ถึงแม้ว่าอาการจะดีขึ้นแล้ว เช่น วัณโรค ต้องกินยานาน 6 เดือน ปอดอักเสบ พีซีพี กินยานาน 3 สัปดาห์ เป็นต้น การกินยาไม่ครบอาจทำให้เชื้อดื้อยาได้
3. ขนาดของยาส่วนใหญ่ให้ตามน้ำหนักตัว 4. ยากินใช้กิน ยาทาใช้ทา 5. การกินยารักษาตามสาเหตุ กินเมื่อได้รับการวินิจฉัยโรคแล้วเท่านั้น ไม่ควรแบ่งยากันกินโดยการดูจากอาการเพียงอย่างเดียว เพราะโรคหลายโรคมีอาการเหมือนกัน เช่น
วัณโรคลำไส้ และ ลำไส้อักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย มีอาการท้องเสียเหมือนกัน แต่ยาที่ใช้รักษาตามสาเหตุต่างกัน
[แก้] สาเหตุการเกิด
เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเอดส์ เข้ามาในร่างกาย โดย จากการมีเพศสัมพันธ์กันคนที่มีเชื้อ จากเข็มฉีดยาเสพติด หรือ ถ่ายทอดทางสายเลือด
[แก้] สถานการณ์โรคเอดส์ในประเทศไทย
ศูนย์ข้อมูลทางระบาดวิทยา สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค รายงานว่า กลุ่มอายุ 30 - 34 ปี มีผู้ป่วยสูงสุด ( ร้อยละ 25.86) รองลงมาได้แก่ อายุ 25 - 29 ปี โดยพบว่า กลุ่มอายุต่ำสุด คือ กลุ่มอายุเพียง 10-14 ปี ( ร้อยละ 0.29) เมื่อจำแนกตามอาชีพ พบว่า อาชีพรับจ้าง เป็นกลุ่มที่เป็นโรคเอดส์มากที่สุด รองลงมา คือ เกษตรกรรม , ว่างงาน , ค้าขาย และแม่บ้าน
ส่วนสาเหตุของการติดเชื้อเอดส์นั้น พบว่า ร้อยละ 83.97 ติดเชื้อเอดส์จากการมีเพศสัมพันธ์ รองลงมา คือ การฉีดยาเสพติดเข้าเส้น และติดเชื้อจากมารดา อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้ป่วยที่ไม่ทราบถึงสาเหตุ ถึงร้อยละ 7.30
ส่วนเชื้อฉวยโอกาส ที่สามารถตรวจพบในผู้ป่วยโรคเอดส์มากที่สุด ได้แก่ เชื้อ Mycobacterium tuberculosis ซึ่งเป็นเชื้อที่ก่อให้เกิดวัณโรค นั่นเอง
[แก้] ดูเพิ่ม
[แก้] อ้างอิง
เอดส์ เป็นบทความเกี่ยวกับ การแพทย์ ที่ยังไม่สมบูรณ์ ต้องการตรวจสอบ เพิ่มเนื้อหา หรือเพิ่มแหล่งอ้างอิง คุณสามารถช่วยเพิ่มเติมหรือแก้ไข เพื่อให้สมบูรณ์มากขึ้น ข้อมูลเกี่ยวกับ เอดส์ ในภาษาอื่น อาจสามารถหาอ่านได้จากเมนู ภาษาอื่น ด้านซ้ายมือ |