สหประชาชาติ
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ก่อตั้ง | 24 ตุลาคม พ.ศ. 2488 |
ประเภท | องค์การระหว่างประเทศ |
สำนักงานใหญ่ | นครนิวยอร์ก, มลรัฐนิวยอร์ก, สหรัฐอเมริกา |
จำนวนสมาชิก | 192 ประเทศ |
ภาษาทางการ | อังกฤษ, ฝรั่งเศส, สเปน, รัสเซีย, จีน, อาหรับ |
เลขาธิการ | ปัน กี มุน (ตั้งแต่ พ.ศ. 2550) |
เว็บไซต์ | http://www.un.org/ |
สหประชาชาติ หรือ ยูเอ็น (อังกฤษ: United Nations หรือ UN ; ฝรั่งเศส: Organisation des Nations Unies ; สเปน: Organización de las Naciones Unidas ; อาหรับ: الأمم المتحدة ; จีน: 联合国 (聯合國 ; รัสเซีย: Организация Объединённых Наций) เป็นองค์การระหว่างประเทศที่ก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2488 หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง เป็นองค์การระหว่างประเทศที่กำเนิดขึ้นเป็นองค์การที่สองในคริสต์ศตวรรษที่ 20 ต่อจากสันนิบาตชาติ ปัจจุบันสหประชาชาติมีประเทศสมาชิกทั้งหมด 192 ประเทศ (เกือบทุกประเทศในโลก) จุดประสงค์คือการนำทุกชาติทั่วโลกมาทำงานร่วมกันเพื่อสันติภาพและการพัฒนาโดยอยู่บนหลักพื้นฐานของความยุติธรรม ศักดิ์ศรีของมนุษย์ และความกินดีอยู่ดีของทุกคน นอกจากนี้ยังให้โอกาสประเทศต่าง ๆ สร้างดุลแห่งการพึ่งพาอาศัยกันและรักษาผลประโยชน์ชาติในกรณีที่เกิดปัญหาระหว่างประเทศไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม มนุษยธรรม ให้ความสำคัญต่อสิทธิมนุษยชน และเป็นศูนย์กลางในการร่วมมือกันเพื่อเป้าหมายต่าง ๆ
จากจุดเริ่มต้นที่สหประชาชาติกำเนิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่สองโดยฝ่ายพันธมิตรผู้ชนะสงคราม ทำให้โครงสร้างขององค์การสะท้อนถึงสภาวะในขณะที่ก่อตั้ง สหประชาชาติมีสมาชิกถาวรในคณะมนตรีความมั่นคงอยู่ 5 ประเทศ อันประกอบด้วย สาธารณรัฐประชาชนจีน (แทนที่สาธารณรัฐจีน) ฝรั่งเศส รัสเซีย (แทนที่สหภาพโซเวียต) สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา สมาชิกถาวรทั้ง 5 ชาติมีอำนาจยับยั้งในมติใด ๆ ก็ตามขององค์การ
ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอมีผลกระทบต่อการตอบสนองและการตัดสินใจของสหประชาชาติ ความตึงเครียดในสงครามเย็นระหว่างสหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียตส่งผลต่อการดำเนินงานขององค์การในช่วง 45 ปีแรกหลังการก่อตั้ง เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองผ่านพ้นไป การปลดปล่อยอาณานิคมในทวีปแอฟริกา เอเชีย และตะวันออกกลาง ทำให้เกิดความท้าทายใหม่ ๆ ทุกด้านไม่ว่าจะเป็นด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม
แม้สงครามเย็นจะยุติลงไปแล้วเมื่อปี พ.ศ. 2534 สภาพภูมิรัฐศาสตร์ที่เปราะบางมากยิ่งขึ้น ทำให้บทบาทของสหประชาชาติถูกจับตามอง โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ความท้าทายที่สหประชาชาติกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน ได้แก่ สงครามกลางเมือง การหลั่งไหลของผู้ลี้ภัยออกนอกประเทศ การแพร่เชื้อเอดส์ ภาวะไร้เสถียรภาพของการเงินระหว่างประเทศ การก่อการร้ายระดับสากล และช่องว่างที่กว้างมากยิ่งขึ้นระหว่างประเทศยากจนกับประเทศร่ำรวย
ระบบสหประชาชาติอยู่บนพื้นฐานของ 6 องค์กรหลัก ได้แก่ สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ คณะมนตรีภาวะทรัสตีแห่งสหประชาชาติ สำนักงานเลขาธิการแห่งสหประชาชาติ และศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ นอกจากนี้ยังมีองค์กรอื่น ๆ อีกเช่น องค์การอนามัยโลก ยูเนสโก และยูนิเซฟ เจ้าหน้าที่ระดับสูงที่มักเป็นที่รู้จักและปรากฏตัวต่อสาธารณชนคือเลขาธิการสหประชาชาติ ปัจจุบันผู้ดำรงตำแหน่งนี้ คือ นายปัน กี มุน ชาวเกาหลีใต้ เข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2550 ต่อจากโคฟี อันนัน
สารบัญ |
[แก้] ภูมิหลัง
ก่อนที่สหประชาชาติจะถือกำเนิดขึ้น มีความพยายามรวมกลุ่มกันของชาติต่าง ๆ ทันทีหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งยุติลงโดยใช้ชื่อว่าสันนิบาตชาติซึ่งเกิดขึ้นจากสนธิสัญญาแวร์ซายส์ เป็นเพราะประชาชนจำนวนมากในฝรั่งเศส แอฟริกาใต้ สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา เชื่อว่าองค์กรโลกที่ประกอบด้วยชาติต่าง ๆ จะสามารถรักษาสันติภาพและป้องกันความน่าสะพรึงกลัวของสงครามอย่างที่เกิดในยุโรปช่วงปี พ.ศ. 2457-2461
เบื้องต้นสันนิบาตชาติมีสมาชิก 42 ประเทศโดยมีประเทศที่ไม่ได้อยู่ในยุโรปถึง 26 ประเทศ จุดหมายหลักของสันนิบาตชาติมี 2 ประการ คือ พยายามธำรงรักษาสันติภาพ แก้ปัญหากรณีพิพาทต่าง ๆ โดยอาศัยการเจรจาไกล่เกลี่ยและอาจใช้วิธีคว่ำบาตรหรือกำลังทหารถ้าจำเป็น กล่าวอีกนัยหนึ่งว่าป้องกันสมาชิกจากการรุกราน ประการที่สองคือส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรฐกิจและสังคม แต่การอุบัติขึ้นของสงครามโลกครั้งที่สองแสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวของสันนิบาตชาติซึ่งไม่มีกำลังทหารเป็นของตนเอง ต้องอาศัยความช่วยเหลือจากประเทศสมาชิก ขณะที่ประเทศสมาชิกเองก็ไม่เต็มใจที่จะใช้มาตรการต่าง ๆ นอกจากนี้ประเทศมหาอำนาจหลายชาติก็ไม่ได้ให้ความร่วมมืออย่างจริงจัง สันนิบาตชาติจึงถูกล้มเลิกในปี พ.ศ. 2489
[แก้] ประวัติ
ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองในปี พ.ศ. 2486 (ค.ศ. 1943) เริ่มมีแนวคิดก่อตั้งสหประชาชาติในระหว่างการประชุมของฝ่ายพันธมิตร โดยมีความชัดเจนมากขึ้นเมื่อ แฟรงคลิน ดี. รูสเวลต์ ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา และ วินสตัน เชอร์ชิลล์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ลงนามในกฎบัตรแอตแลนติก ทั้งสองเป็นผู้เริ่มใช้คำว่า "สหประชาชาติ (United Nations)"[1] และใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2485 (ค.ศ. 1942) หลังจาก 26 ประเทศลงนามในปฏิญญาสหประชาชาติ จากนั้นฝ่ายพันธมิตรจึงเรียกกองกำลังที่ร่วมมือกันต่อต้านเยอรมนี อิตาลี และญี่ปุ่นว่า "United Nations Fighting Forces"
วันที่ 27 สิงหาคม - 7 ตุลาคม พ.ศ. 2487 (ค.ศ. 1944) ตัวแทนจากฝรั่งเศส สาธารณรัฐจีน สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และสหภาพโซเวียต ได้เข้าร่วมประชุมเพื่อวางแผนการก่อตั้งสหประชาติที่ดัมบาตัน โอกส์ ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. การประชุมครั้งนั้นและต่อ ๆ มา ทำให้เกิดรากฐานความร่วมมือกันระหว่างประเทศเพื่อนำไปสู่สันติภาพ ความมั่นคง ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและสังคม โดยแผนเหล่านี้ได้ผ่านการถกเถียงอภิปรายจากรัฐบาลและประชาชนจากทั่วโลก
เมื่อใกล้สิ้นสุดสงคราม การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยองค์การระหว่างประเทศ (United Nations Conference on International Organization -- UNCIO) เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2488 (ค.ศ. 1945) ที่นครซานฟรานซิสโก ตัวแทนจาก 50 ประเทศได้ลงนามในกฎบัตรสหประชาชาติเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน ยกเว้นโปแลนด์ที่ไม่สามารถส่งผู้แทนเข้าร่วมประชุมได้แต่ได้รับการพิจารณาให้เป็นสมาชิกดั้งเดิม รวมเป็น 51 ประเทศ แม้สันนิบาตชาติจะถูกล้มเลิกไป แต่อุดมการณ์ส่วนใหญ่และโครงสร้างบางประการได้ถูกกำหนดไว้ในกฎบัตรโดยได้รับการพัฒนาให้เหมาะสมกับโลกใหม่ที่ซับซ้อนมากขึ้น หลังจากกฎบัตรผ่านการลงนามจากสมาชิก สหประชาชาติจึงได้รับการสถาปนาอย่างเป็นทางการเมื่อกฏบัตรมีผลบังคับใช้ในวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2488 (ค.ศ. 1945)
เดิมสหประชาชาติใช้ชื่อเต็มในภาษาอังกฤษว่า United Nations Organization หรือ UNO แต่มักถูกเรียกว่า United Nations หรือ UN นับจากทศวรรษ 1950
[แก้] สมาชิก
ปัจจุบัน (มีนาคม 2550) สหประชาชาติมีสมาชิก 192 ประเทศ ประเทศที่ไม่ได้เป็นสมาชิก เช่น สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) หลังจากโอนที่นั่งให้กับสาธารณรัฐประชาชนจีนเมื่อ พ.ศ. 2514 สมาชิกล่าสุดคือประเทศมอนเตเนโกร เข้าเป็นสมาชิกเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2549[2]
[แก้] สำนักงานใหญ่
อาคารสำนักงานใหญ่สหประชาชาติ ก่อสร้างขึ้นบนที่ดินใกล้แม่น้ำอีสต์ในนครนิวยอร์ก เมื่อพ.ศ. 2492-2493 บริจาคโดยจอห์น ดี. ร็อกกีเฟลเลอร์ จูเนียร์ ด้วยมูลค่า 8.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และออกแบบโดยออสการ์ นีไมเออร์ สถาปนิกชาวบราซิล สำนักงานใหญ่สหประชาชาติเปิดทำการเมื่อวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2494 นอกจากนี้ยังมีสำนักงานตัวแทนที่สำคัญตั้งอยู่ในนครเจนีวา นครเฮก กรุงเวียนนา กรุงโคเปนฮาเกน ฯลฯ
สหประชาชาติมีธง ที่ทำการไปรษณีย์ และดวงตราไปรษณียากรของตนเอง ภาษาทางการที่ใช้มีอยู่ 6 ภาษา คือ อังกฤษ ฝรั่งเศส สเปน รัสเซีย จีน และภาษาอาหรับ(เพิ่มมาในปี พ.ศ. 2516) ส่วนคณะมนตรีนั้นใช้ 2 ภาษา คือ ภาษาอังกฤษ และฝรั่งเศส ประเทศสมาชิกของสหประชาชาติจะประชุมกันที่สมัชชาใหญ่ซึ่งอาจเปรียบได้กับรัฐสภาของโลก ไม่ว่าประเทศจะมีขนาดใหญ่หรือเล็ก ร่ำรวยหรือยากจน ต่างมีสิทธิออกเสียงได้เพียงเสียงเดียว แม้ว่าคำตัดสินของสมัชชาใหญ่มิได้ถือเป็นข้อผูกมัดแต่ก็เป็นมติที่มีน้ำหนักเท่ากับเป็นความเห็นของรัฐบาลโลก
[แก้] ภารกิจ
[แก้] รักษาสันติภาพและความมั่นคง
ภารกิจหลักของสหประชาชาติคือการรักษาสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ เมื่อเกิดกรณีพิพาทระหว่างประเทศ หน้าที่ของสหประชาชาติคือให้คณะมนตรีความมั่นคงเข้าไปแทรกแซงโดยเปิดการเจรจาระหว่างคู่กรณีเพื่อให้ทั้งสองฝ่ายได้ทำความตกลงระงับความขัดแย้งอย่างสันติ ระหว่างการเจรจาคณะมนตรีความมั่นคงจะพิจารณาว่าความขัดแย้งดังกล่าวส่งผลกระทบต่อสันติภาพและความมั่นคงของโลกหรือไม่ และอาจเสนอแนะแนวทางต่าง ๆ เพื่อหาทางออก
หากการเจรจาไม่เป็นผลและเกิดการรุกรานด้วยกองกำลังติดอาวุธ คณะมนตรีความมั่นคงมีอำนาจบีบบังคับด้วยวิธีการต่าง ๆ ทั้งทางการทูต เศรษฐกิจ และการแทรกแซงทางทหาร เพื่อให้การปะทะกันยุติลง หลังมีข้อตกลงหยุดยิง อาจมีการส่งผู้รักษาสันติภาพเข้าไปยังพื้นที่ประเทศที่ขัดแย้งกันในกรณีที่ประเทศดังกล่าวยินยอม บางกรณีคณะมนตรีความมั่นคงอาจให้กำลังรบของประเทศสมาชิกเข้าแทรกแซงแต่ไม่ได้อยู่ในบังคับบัญชาของสหประชาชาติ
[แก้] สิทธิมนุษยชน
เป็นที่ยอมรับกันมากขึ้นว่าการละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นสาเหตุของความขัดแย้ง สหประชาชาติจึงได้จัดทำปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนมาตั้งแต่ พ.ศ. 2491 โดยมีจุดมุ่งหมายปกป้องพลเมืองให้รอดพ้นจากการถูกรังแก ปฏิญญาสากลระบุว่า "สิทธิมนุษยชนเป็นพื้นฐานแห่งเสรีภาพ ความยุติธรรม และสันติภาพในโลก" ประเทศที่ลงนามในปฏิญญานี้มีพันธะที่จะปฏิบัติตามข้อตกลงโดยให้สิทธิแก่สหประชาชาติในการควบคุมตรวจสอบว่า รัฐบาลของแต่ละประเทศได้เคารพในสิทธิมนุษยชนของพลเมืองหรือไม่
ปฏิญญาสากลกล่าวว่า ประชาชนทุกคนมีเสรีภาพ ไม่ควรถูกเลือกปฏิบัติอันเนื่องมาจากเชื้อชาติ ภาษา เพศ ศาสนา ความคิดเห็นทางการเมือง ความร่ำรวยหรือทรัพย์สิน มีอิสรภาพจากการตกเป็นทาส จากการถูกทรมาน ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน มีอิสรภาพและสิทธิที่จะได้การพิจารณาคดีในศาลอย่างยุติธรรม เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การนับถือศาสนา และการแสดงออก สิทธิที่ได้รับการศึกษา มีมาตรฐานการครองชีพอย่างเพียงพอ รวมทั้งการมีสุขภาพอนามัยดี มีที่อยู่อาศัยและอาหารเพียงพอ มีสิทธิในการทำงาน จัดตั้ง และเข้าร่วมในสหภาพแรงงาน
[แก้] อ้างอิง
- United Nations. Encyclopedia Britannica. 2001.
- ชุดการเรียนการสอนเรื่องสหประชาชาติ ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย, กรมวิชาการ, กระทรวงศึกษาธิการ, พ.ศ. 2540
[แก้] ดูเพิ่ม
- กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ
- กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ
- การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา
- ยูเนสโก
- สหภาพสากลไปรษณีย์
- สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ
- องค์กรอุตุนิยมวิทยาโลก
- องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ
- องค์การสิ่งแวดล้อมโลก
- องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ
- องค์การอนามัยโลก
[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น
- United Nations - เว็บไซต์อย่างเป็นทางการของสหประชาชาติ ((อังกฤษ))
- UN Thailand - สหประชาชาติในประเทศไทย ((อังกฤษ))
สหประชาชาติ | |
ระบบสหประชาชาติ |
|
องค์กร กองทุน หน่วยงาน |
|
แก้ |